รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 021


    ตอนที่ ๒๑

    นี่เป็นเรื่องของรูปร่างกายซึ่งเกิดจากกรรมบ้าง เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง ส่วนธาตุไฟที่มีอยู่ในร่างกายก็ไม่ใช่จะให้คุณเสมอไป ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ ให้อบอุ่น ให้มีชีวิตยังไม่เน่า ยังไม่เปื่อยก็จริง แต่ก็มีธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมด้วย ทุกคนต้องแก่ชรา ก็ธาตุไฟนั่นอีกแหละที่เผาทำให้ทรุดโทรม ทำให้เหี่ยวแห้ง ทำให้ผิวพรรณวรรณะเปลี่ยน ทำให้ผมเปลี่ยน เพราะเหตุว่าธาตุไฟทำให้ร่างกายทรุดโทรม

    นอกจากนั้น ธาตุไฟที่มีอยู่ในร่างกาย เวลาที่ไม่ได้ส่วนสัดที่พอเหมาะก็ทำให้กระวนกระวาย เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ร้อนจัด ปวดศรีษะ ตัวร้อน พวกนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุไฟทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่มีอยู่ในร่างกายนั้น นอกจากปฏิกูลแล้ว ยังต้องบำรุงรักษากันอยู่เสมอ อุปมาเปรียบเหมือนกับอสรพิษ ๔ ตัว ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องกัด ทั้งๆ ที่ทะนุบำรุงอย่างมากมาย ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเจ็บไม่มีป่วยไข้แน่ แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ถึงแม้ว่าจะเฝ้าทะนุบำรุงรักษาสักเท่าไรก็ตาม มิวันใดก็วันหนึ่ง ก็จะต้องให้โทษทำให้เกิดความกระสับกระส่ายกระวนกระวายได้ และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วถึงความย่อยไปด้วยดี ก็ได้แก่ ธาตุไฟ เช่นเดียวกัน

    ต่อไปเป็นธาตุลม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุ ก็วาโยธาตุเป็นไฉน คือ วาโยธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็วาโยธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายใน

    ก็วาโยธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้แล เป็นวาโยธาตุทั้งนั้น พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ แล้วจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้

    มีอยู่ในร่างกายทั้งนั้น ลมที่พัดไปมาในร่างกาย ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ธาตุดินก็ไม่ใช่ ธาตุน้ำก็ไม่ใช่ ธาตุไฟก็ไม่ใช่ ธาตุลมก็ไม่ใช่ รวมกันแล้วยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ก็เป็นความเข้าใจผิดที่ยึดถือธาตุลักษณะต่างๆ ที่มาประชุมรวมกัน

    สำหรับธาตุลม มี ๖ ลักษณะที่ทรงแสดงไว้ คือ

    ลมพัดขึ้นเบื้องบน ๑ ลมพัดลงเบื้องต่ำ ๑ ลมในท้อง ๑ ลมในไส้ ๑ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ๑ ลมหายใจออกลมหายใจเข้า ๑

    สำหรับสมุฏฐานของลมมีต่างๆ กัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตนเลย

    ต่อไป คือ อากาศธาตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุ ก็อากาศธาตุเป็นไฉน คือ อากาศธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อากาศธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบายของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาศธาตุภายใน

    ก็อากาศธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้แล เป็นอากาศธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาศธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอากาศธาตุ แล้วจะให้จิตคลายกำหนัดอากาศธาตุได้

    ในกายมีอากาศธาตุคั่นอยู่ เป็นช่องว่างละเอียดทุกปรมาณูทีเดียว ที่ทำให้ร่างกายนี้แตกย่อยยับเป็นส่วนๆ เป็นชิ้นๆ อย่างละเอียดได้ เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทั่วไปในร่างกาย แล้วประโยชน์ของการที่ทรงแสดงอากาศธาตุก็เพื่อจะให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วที่หลงยึดถือ คือ อากาศธาตุด้วย เป็นส่วนว่างในร่างกาย แต่เพราะอาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกัน ทำให้สำคัญยึดถือส่วนที่มาประชุมรวมกันที่อากาศนี้เองว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    อุปมาเหมือนกับที่ว่างแห่งหนึ่ง มีแต่อากาศ ยังไม่มีไม้ ยังไม่มีอิฐ ยังไม่มีปูน ยังไม่มีเชือก ยังไม่มีเถาวัลย์ ยังไม่มีวัตถุที่จะมาก่อสร้างให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็ไม่เกิดความยึดถือว่าเป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอาคารต่างๆ แต่พอเอาอิฐ เอาไม้ เอาปูน เอาเชือก เอาเถาวัลย์ เอาดินเหนียว หรือเอาอะไรก็ตามมาประกอบขึ้นในที่นั้น อากาศธาตุที่ว่างในที่นั้นก็มีส่วนอื่นมาประชุมรวมเกิดขึ้นให้สำคัญผิดว่า เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอาคารต่างๆ ฉันใด ที่กายนี้ก็เหมือนกัน ส่วนแท้ๆ ส่วนหนึ่งที่มีก็คืออากาศธาตุ แต่ว่ามีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มารวมมาปนอยู่ด้วย ก็เลยทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ประการต่อไป คือ วิญญาณธาตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ต่อนั้น สิ่งที่จะเหลืออยู่อีก ก็คือ วิญญาณอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุคคลย่อมรู้อะไรๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

    ดูกรภิกษุ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

    เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

    เป็นปกติธรรมดา ทุกอย่างที่สติระลึกรู้ได้ ไม่ว่าสุขเวทนาเกิดขึ้น รู้ว่าสุขเวทนาเกิดเพราะอาศัยปัจจัยอะไร ถ้าทุกขเวทนาเกิด ก็รู้ว่าทุกขเวทนานั้นอาศัยปัจจัยอะไร ถ้าความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุขเวทนาเกิด ก็รู้ว่าอทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกเฉยๆ นั้นเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยอะไร เวลาดับไป รู้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่มีปัญญา ถ้าใครเจริญสติปัฏฐานแล้วไม่รู้พวกนี้เลย ความรู้สึกเฉยๆ เกิดขึ้นก็ไม่รู้ ความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่รู้ จะชื่อว่าเจริญปัญญาได้ไหม การรู้แจ้งอริยสัจจะต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุขเวทนา หรือว่าอทุกขมสุขเวทนา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไรก็ทราบ เพราะเนื่องมาจากทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และเมื่อดับก็รู้ด้วยว่า สุขเวทนานั้นดับหมดแล้ว ทุกขเวทนานั้นดับหมดแล้ว หรือว่าอุเบกขาเวทนานั้นดับหมดแล้ว

    ต่อไปขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติ ว่าทรงมุ่งหมายอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน และไส้อื่น ย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด ดูกรภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล บุคคลเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด และรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือ ความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง

    เวลานี้มีสุขเวทนาบ้าง มีทุกขเวทนาบ้าง มีอทุกขมสุขเวทนาบ้าง แต่ถึงปัญญาขั้นที่รู้ว่า เมื่อสิ้นชีวิตลง แล้วก็ไม่มีสุขเวทนาอีกเลย ไม่มีทุกขเวทนาอีกเลย ไม่มีอุเบกขาเวทนาอีกเลย นั่นจึงจะเป็นความสงบที่แท้จริง ถึงอันนี้หรือยัง ถ้าไม่ถึงอันนี้ก็ไม่ใช่ปัญญาที่ประเสริฐยิ่ง เพราะเหตุว่าปัญญาที่ประเสริฐยิ่งจะต้องเป็นปัญญาที่รู้อย่างนี้ คือ รู้ว่าเบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตเพราะตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมด ที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ เพราะเหตุนั้นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง

    สำหรับเรื่องต่อไปก็เกี่ยวเนื่องกัน

    ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณ ไม่กำเริบ ดูกรภิกษุ เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพานนั้นจริง

    ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้ ก็สัจจะนี้ คือ นิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง อนึ่งบุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงเป็นอันพรั่งพร้อมสมาทานอุปธิเข้าไว้ อุปธิเหล่านั้นเป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็จาคะนี้ คือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

    สัจจะที่ประเสริฐก็เป็นการรู้แจ้งนิพพาน หรือนิพพานนั่นเองเป็นสัจจะ คือ ไม่เลอะเลือน เปลี่ยนแปลง แปรปรวน เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถึงความเป็นสัจจะอย่างยิ่ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง คือ ผู้ที่รู้แจ้งสิ่งที่ไม่เลอะเลือน ส่วนจาคะก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็สละวัตถุ บางครั้งก็สละกิเลส แต่ถ้าสละจริงๆ เป็นการสละอย่างยิ่ง เป็นการสละที่ประเสริฐแล้ว ต้องสละอุปธิ คือ กิเลส และขันธ์ ไม่มีการยึดถือ สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง

    ข้อความต่อไป เรื่องความสงบอย่างยิ่ง มีว่า

    อนึ่งบุคคลนั้นแลยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรมนั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือ ความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง

    ข้อที่เรากล่าวถึงดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยเนื้อความนี้กล่าวแล้ว

    คำว่า สงบ บางท่านเวลาที่อ่านพระสูตรอาจคิดว่า หมายความถึงสมาธิ แต่ความจริงไม่ใช่ ความสงบที่ประเสริฐ ความสงบที่แท้จริง คือ สงบจากกิเลสทั้งปวง ขออ่านตอนสุดท้ายให้จบ เพื่อจะได้ทราบว่า ในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้น เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ผลของพระธรรมเทศนาจะเป็นอย่างไรบ้าง ข้อความตอนสุดท้ายมีว่า

    ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดาพระสุคตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์แล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มีพระภาคด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ

    ดูกรภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกิน โดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย

    ไม่ว่าใครทำผิด ถ้าสำนึกแล้วก็แก้ตัว หรือว่ากระทำคืน คือ จะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย ไม่ใช่ผิดก็ปล่อยให้ผิดต่อไป อย่างนั้นจะถึงความเจริญในอริยวินัยไม่ได้ ไม่ว่าจะผิดพลาดพลั้งไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม แล้วรู้ว่าได้กระทำผิด ก็ไม่กระทำต่อไป แล้วกระทำสิ่งที่ถูก เริ่มสิ่งที่ถูกต่อไป นั่นย่อมถึงความเจริญในอริยวินัยได้

    ท่านพระปุกกุสาติกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ

    ท่านพระปุกกุสาติกราบทูลว่า

    ยังไม่ครบพระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุ ตถาคตทั้งหลายจะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบอุปสมบทไม่ได้เลย

    ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติผู้กำลังเที่ยวหาบาตรจีวรอยู่ ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้นทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติอย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    บรรลุธรรมได้ไม่จำกัดสถานที่ ขอให้เข้าใจธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ไม่ให้รู้เรื่อง ไม่ให้เข้าใจ ถ้าอย่างนั้นแล้วพระธรรมเทศนาจะไม่เกื้อกูลแก่ผู้ฟังเลย โดยมากท่านผู้ฟังเข้าใจว่า ขณะที่กำลังพูด หรือขณะที่ฟังรู้เรื่องนั้น เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถ้าท่านเข้าใจอย่างนั้น นั่นเป็นความเข้าใจของท่านเอง หรือว่าตรงกับพระธรรมวินัย ในพระสูตร ในพระวินัย ในพระอภิธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ บางท่านก็เข้าใจว่าขณะที่กำลังพูดต้องมีนามที่คิดนึกที่ต้องการพูดอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยให้รูปไหวไปกระทบส่วนต่างๆ ทำให้เกิดเสียงต่างๆ นั่นไม่ผิด แต่ให้ทราบว่าขณะที่กำลังเห็น จิตเห็นก็เห็นเท่านั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ขณะที่จะทำให้รูปไหวเป็นคำพูดต่างๆ จิตนั้นก็เป็นปัจจัยทำให้รูปไหวไปเท่านั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น หรือว่าเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏ จิตนั้นก็ระลึกลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ไม่ใช่ก้าวก่ายปะปนสับสนกัน ไม่ใช่เอาจิตได้ยินมาเจริญสติ หรือว่าไม่ใช่เอาจิตที่ทำให้รูปไหวไปกระทบกันเกิดเสียงเป็นวาจาต่างๆ ไม่ใช่เอาจิตนั้นมาเจริญสติ จิตใดมีหน้าที่เป็นปัจจัยให้รูปชนิดใดเป็นอย่างไร จิตนั้นก็เป็นปัจจัยให้รูปชนิดนั้นเป็นอย่างนั้น แต่สติเกิดพร้อมกับจิตที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปใดๆ ในขณะไหนก็ได้ แทรกไปตามอารมณ์ทุกชนิดได้ ไม่ใช่เวลาพูดเตรียมตัว และพยายามบังคับ พยายามระวังกิริยาอาการต่างๆ ให้ผิดปกติไป ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นเป็นความตั้งใจที่จะทำ แต่ไม่ใช่เป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปใดๆ ที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านปุกกุสาติบรรลุธรรมขั้นพระอนาคามีบุคคล แล้วเกิดเป็นพรหมในพรหมโลก เพราะเหตุว่าสิ้นสังโยชน์ ๕ แต่ว่าถ้าจะดูพระสูตรนี้โดยละเอียด จะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงพยากรณ์ว่า ท่านปุกกุสาติบรรลุธรรมขั้นพระอนาคามีบุคคลในขณะไหน ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเข้าใจเอง ว่าอาจจะเป็นในขณะที่กำลังฟังธรรมก็ได้ แต่ในพระสูตรไม่ได้แสดงไว้ว่าท่านปุกกุสาติบรรลุธรรมในขณะไหน อาจจะเป็นในขณะอื่น ขณะที่กำลังเดินหาบาตรจีวร ขณะที่แม่โคขวิด ขณะไหนได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นในขณะที่กำลังฟังหรือว่าฟังแล้วขออุปสมบทในพระธรรมวินัย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    3 มิ.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ