รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 022


    ตอนที่ ๒๒

    ท่านปุกกุสาติบรรลุธรรมขั้นพระอนาคามีบุคคล แล้วเกิดเป็นพรหมในพรหมโลก เพราะเหตุว่าสิ้นสังโยชน์ ๕ แต่ว่าถ้าจะดูสูตรนี้โดยละเอียด จะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงพยากรณ์ว่า ท่านปุกกุสาติบรรลุธรรมขั้นพระอนาคามีบุคคลในขณะไหน ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะเข้าใจเองว่าอาจจะเป็นในขณะที่กำลังฟังธรรมก็ได้ แต่ในพระสูตรไม่ได้แสดงไว้ว่าท่านปุกกุสาติบรรลุธรรมในขณะไหน อาจจะเป็นในขณะอื่น ขณะที่กำลังเดินเพื่อหาบาตรจีวร ขณะที่แม่โคขวิด ขณะไหนได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นในขณะที่กำลังฟังหรือว่าฟังแล้วขออุปสมบทในพระธรรมวินัย

    ขอเปรียบเทียบกับพาหิยสูตร ในขุททกนิกาย อุทาน มีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ใกล้พระนครสาวัตถี กุลบุตรชื่อพาหิยทารุจีริยะ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี พาหิยกุลบุตรขอฟังธรรมในขณะที่ได้พบพระผู้มีพระภาค ครั้งที่ ๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะว่าพระองค์ยังเข้าไปสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต ครั้งที่ ๒ เมื่อพาหิยกุลบุตรกราบทูลขอฟังธรรม พระองค์ก็ตรัสเช่นเดิม ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูกรพาหิยะท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ลำดับนั้น จิตของพาหิยทารุจีริยะกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้วเสด็จหลีกไป เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ให้ภิกษุยกสรีระของท่านไปเผาพร้อมกับทำสถูปไว้ เพราะเหตุว่า ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สำหรับท่านพาหิยทารุจีริยะนี้ก็คงจะได้ทราบแล้วว่าท่านเป็นเอตทัคคะในการตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ว่าได้ทรงแสดงไว้ในสูตรนี้ว่า ท่านหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อของพระผู้มีพระภาค แต่ว่าการสิ้นชีวิตของท่านการปรินิพพานของท่านนั้นก็โดยลักษณะเดียวกัน คือ แม่โคขวิด

    นี่ก็เป็นเครื่องเปรียบเทียบให้เห็นว่า การบรรลุอริยสัจจธรรมนั้นเป็นปกติธรรมดา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญา ปัญญานั้นต้องรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงจะชื่อว่าปัญญา สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปัญญารู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้จะชื่อว่าปัญญาไหม กำลังเห็นในขณะนี้ปัญญารู้ได้ไหม กำลังได้ยินในขณะนี้ปัญญารู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้จะชื่อว่าปัญญาไหม ก็ไม่ชื่อว่าปัญญา เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ท่านก็จะได้ทราบด้วยตัวของท่านเองว่า ท่านเริ่มรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ ตามปกติธรรมดานี้บ้างแล้วหรือยัง ปกติธรรมดาจึงจะเป็นปัญญาที่รู้ได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วรู้ไม่ได้ กำลังเห็นก็รู้ไม่ได้ กำลังได้ยินก็รู้ไม่ได้ ที่ไม่รู้นั่นไม่ใช่ปัญญา แต่ว่าถ้าเป็นปัญญาแล้วต้องรู้ได้

    สำหรับพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระพาหิยะไม่ทราบว่ามีท่านใดข้องใจหรือเปล่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ๖ โลกหรือเปล่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น ทางไหน ทางตา เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง ทางไหน ทางหู เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ ทางไหน ทางจมูก ลิ้น กาย รวมหมดในพยัญชนะนั้น เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ทางใจ ในพยัญชนะได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทางตาใช้ศัพท์ว่าอะไร ทางหูใช้ศัพท์ว่าอะไร ทางจมูก ลิ้น กาย รวมใช้ศัพท์ว่าอะไร แล้วที่ว่าเมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น บอกให้รู้เฉพาะนาม หรือให้รู้เฉพาะรูปหรือเปล่า สักแต่ว่าเห็นบอกว่าให้รู้แต่นามหรือให้รู้แต่รูปหรือเปล่า ไม่ได้บอกเลย ที่ว่าเห็นจะเป็นสักแต่ว่าเห็นได้นั้น เพราะอะไร เพราะเหตุว่าสติรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงรู้ได้ว่า สักแต่ว่าเห็น เวลาเจริญสติปัฏฐานท่านผู้ฟังคงทราบว่า การที่ต้องเจริญเนืองๆ บ่อยๆ นั้นเพื่ออะไร เพื่อให้ปัญญารู้ชัด แล้วชิน จึงจะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้ายังไม่ชิน ก็ยังคงยึดถือ ขณะที่กำลังเห็นระลึกได้ครั้งสองครั้ง ขณะที่กำลังได้ยินก็ระลึกได้ครั้งสองครั้ง ขณะที่กลิ่นกำลังปรากฏ รสกำลังปรากฏ คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ เกิดขึ้นก็ระลึกได้บ้าง ๒ - ๓ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ยังไม่ชิน ยังไม่รู้สึกว่าเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป ทุกท่านรู้ว่าไม่ควรยึดถือนามรูปเลย ไม่ว่าเป็นนามใดๆ รูปใดๆ ทั้งสิ้น ก็ควรสักว่าเป็นนาม สักว่าเป็นรูปเท่านั้น แต่ว่าการที่จะสักแต่ว่าเป็นนามได้จริงๆ เป็นรูปได้จริงๆ นั้นจะต้องชิน รู้ชัดในลักษณะของนาม รู้ชัดในลักษณะของรูป วิธีที่จะให้ชินก็คือ สติระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ จึงจะเป็นสักว่านาม สักว่ารูปได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ พอระลึกสักครั้งนึงก็สักว่าเป็นนาม ระลึกที่รูปสักครั้งนึงก็สักว่าเป็นรูป อย่างนั้นไม่ได้ไม่ใช่ความจริง ความจริงปัญญาที่รู้ชั้ดจะต้องอาศัยการอบรมว่าสภาพใดเป็นนามสภาพใดเป็นรูป จึงจะเป็นนามเท่านั้น หรือว่าเป็นรูปเท่านั้นได้ ถ้ายังคงทางตาไม่รู้สีว่าเป็นแต่เพียงรูปที่ปรากฏทางตา รู้แต่เพียงเห็น จะไม่ชัดเจนเลยว่าลักษณะที่เห็นที่เป็นสภาพรู้นั้นต่างกับสีอย่างไร หรือทางหูก็เหมือนกัน ถ้าเพียงแต่พิจารณาได้ยิน โดยที่ไม่ได้พิจารณาเสียงเลย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่าที่เป็นสภาพรู้ทางหูคือลักษณะที่ได้ยินนั้น ต่างกับสภาพที่ปรากฏทางหูซึ่งเป็นลักษณะของเสียงอย่างไร ต้องรู้ชัดทั้ง ๒ อย่างจึงจะละ แล้วก็รู้สึกว่าเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูปได้ มีความรู้ที่ชัดเจนอย่างนั้นได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องของท่านปุกกุสาตินี้ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นเป็นปกติธรรมดา ขณะไหนก็ได้ ขณะที่กำลังเดินหาบาตร หาจีวรก็ได้ ขณะที่กำลังถูกโคขวิดก็ได้ สำหรับผู้ที่ได้อบรมอินทรีย์มาแก่กล้าแล้ว

    ท่านผู้ฟังถามว่า ขณะแรกที่เห็นพระพุทธรูป ทางตาเห็นสี เป็นของจริงไหม จริงเพียงชั่วนิดเดียวแล้วก็รู้ว่าเป็นพระพุทธรูป เกิดความสงสัยว่า ที่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั้นจริงไหม ทุกท่านก่อนที่เจริญสติปัฏฐาน พิสูจน์ได้ไหม จริงหรือเปล่าที่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูป ความรู้นั่นจริงไหม ที่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปก็เป็นความรู้ที่มีจริง เป็นของจริงที่สติสามารถที่จะแทรกไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้ อย่ากลัวเรื่องของสติเลย เป็นนามธรรมที่สามารถที่จะระลึกรู้แทรกไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้ จิตเห็นก็มีหน้าที่เพียงเห็นสี เจริญสติไม่ได้ จิตเห็น จิตได้ยินมีหน้าที่ได้ยิน จะเอาจิตได้ยินไปเจริญสติเป็นมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ ได้ยินก็มีหน้าที่รู้เสียง แต่มรรคมีองค์ ๘ การเจริญสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่เห็น ระลึกรู้ลักษณะที่ได้ยินได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังพูด จิตที่ทำให้รูปไหวไป ปรากฏเป็นวจีวิญญัติ เป็นเสียงที่มีความหมายต่างๆ จิตนั้นก็ทำหน้าที่อย่างนั้น แต่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของเสียงก็ได้ ของสภาพคิดนึกก็ได้ ของนามของรูปใดๆ ที่กำลังปรากฏก็ได้ แทรกได้หมดตามอารมณ์ทุกอารมณ์ เป็นปกติธรรมดา ข้อสำคัญที่สุดของผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็คือว่าจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าการเจริญสติเป็นปกติ ถ้าเกิดจะทำขึ้นให้ผิดปรกติสักนิดเดียว นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

    ไม่ใช่มีแค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แค่ลิ้มรส แค่รู้โผฏฐัพพารมณ์ ไม่ได้มีแค่นั้น ชีวิตวันหนึ่งๆ ไม่ใช่มีเพียงแค่นั้น มีนามที่รู้ความหมายของสิ่งที่เห็น รู้ชื่อ รู้คำสมมติบัญญัติด้วย จริง เพราะฉะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

    เข้าใจคำว่าปัจจุบันผิด เพราะเหตุว่า สังขารธรรมทั้งหลายได้แก่ จิต เจตสิก รูป จิตมีกี่ชนิด จิตไม่ใช่มีแต่จิตเห็น ไม่ใช่มีแต่จิตได้ยิน ไม่ใช่มีแต่ทวิปัญจวิญญาณจิต จิตอื่นก็มีมากมาย โลภมูลจิต โทสมูลจิต มหากุศลจิต ก็ล้วนแต่เป็นจิตทั้งนั้น ที่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปนี่จิตอะไร เป็นจิตหรือไม่ใช่จิต สภาพรู้ทั้งหมดเป็นจิต เป็นจิตประเภทไหน กามาวจรจิต อยู่ในมหาสติปัฏฐานไหม อยู่ในมหาสติปัฏฐาน แล้วทำไมจะไม่เป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไหม จิตทุกประเภท เจตสิกทุกชนิด รูป เป็นสังขารธรรม คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะเป็นเครื่องให้สติระลึกได้ แล้วทำไมจะไปกั้นปัจจุบันธรรม อะไร ที่ไหน อย่างไร ให้ผิดจากความเป็นจริง ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ได้ศึกษาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเลย เพราะฉะนั้น การศึกษา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง สอบทาน เทียบเคียง กับทั้งสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง แล้วที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกด้วย จะปรากฏว่าไม่ค้านกันเลย เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างไรก็ได้ทรงแสดงไว้อย่างนั้น ถ้าเป็นธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ท่านผู้ที่ตรวจสอบทานดูก็จะเห็นได้ว่า ตรงกับสภาพความเป็นจริง

    เป็นความรู้ของท่านผู้นั้นที่รู้ชัดอย่างนั้นในขณะนั้น ไม่ใช่ไปเอาปัญญาคนอื่นมาใช้ได้ง่ายๆ อย่างนั้นไม่ใช่ หมายความว่าเป็นความรู้ชัดของบุคคลผู้นั้นในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้คนอื่นเอาไปใช้ ต้องเป็นปัญญาของผู้นั้นเองที่รู้ชัดอย่างนั้น

    มหาสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก คราวก่อนได้พูดถึงเรื่องธาตุมนสิการบรรพให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงให้พิจารณา กายในกาย ทั้งภายในภายนอก โดยความเป็นธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งท่านที่ไม่ได้พิจารณาพยัญชนะ ไม่ได้ฟังธรรมด้วยความไตร่ตรอง อาจจะไม่ทราบว่า ท่านเคยเข้าใจถูกต้องตรงตามนี้หรือเปล่า ทำไมจึงได้ยกธาตุมนสิการบรรพขึ้นเป็นบรรพหนึ่งในการพิจารณาเห็นกายในกาย ลองคิดดู ทำไมจึงได้ยกธาตุมนสิการบรรพ คือการพิจารณา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นบรรพหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่กายนี้มีอะไรเป็นใหญ่เป็นประธาน มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นั่นเอง ลมหายใจที่ปรากฏกระทบ มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไหม ก็มี หรือว่าปฏิกูลมนสิการบรรพ การระลึกที่ความเป็นปฏิกูลของผม ของขน ของเล็บ ของฟัน ของหนังเหล่านั้น เป็นต้น มีธาตุทั้ง ๔ นี้ไหม มี เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ความจริงก็จะต้องรู้ลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ ลักษณะที่ปรากฏทางกายให้รู้ได้ มีอะไร ท่านที่เจริญสติตอบได้ไหม ลักษณะที่กายที่ปรากฏให้รู้ได้ คือลักษณะอะไรในขณะที่เจริญสติ ในขณะที่สติกำลังระลึกที่กายมีลักษณะอะไรปรากฏให้รู้ได้ ก็ต้องมีธาตุเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ว่าบางท่านไม่เคยระลึกอย่างนี้เลย กำลังนั่งระลึกที่ไหน รูปนั่ง ไม่ได้คิดถึงธาตุมนสิการบรรพเลย แล้วบางท่านยังกล่าวด้วยว่าไม่ให้รู้ที่แข็ง ที่อ่อน ที่ร้อน ที่เย็น ที่ตึง ที่ไหว ที่ปรากฏที่กาย บางท่านกล่าวว่าอย่างนี้ แต่ว่าขอให้ดูว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธาตุมนสิการบรรพแสดงไว้ว่าอย่างไร ตรงกันไหมกับความคิดความเข้าใจของท่าน ขณะที่กำลังยืน ถ้าท่านมีสติระลึกที่กาย ลักษณะใดปรากฏ ตึง หรือไหว หรืออ่อน หรือแข็ง หรือร้อน รูปต่างๆ เหล่านี้ปรากฏไหม เป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ แต่ไม่รู้ ไปรู้ที่รูปยืน มีไหมในพระไตรปิฏก รูปยืน ทำไมไม่ตรวจสอบดู รูปที่กำลังยืนมีลักษณะอะไรที่จะต้องรู้ แล้วทำไมกล่าวว่าไม่ให้รู้ที่แข็งที่ปรากฏที่กระทบ อย่างนั้นจะตรงกับธาตุมนสิการบรรพที่เป็นธาตุดินไหม ไม่ตรง แล้วเจริญอะไร ไม่ได้ตรงกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ได้ตรงกับมหาสติปัฏฐานเลย

    ที่กายนี้ท่านที่มีสติระลึกได้ ขอให้ตอบตามความเป็นจริงว่ามีลักษณะของรูปใดปรากฏ ลักษณะทีละลักษณะตามความเป็นจริง มิฉะนั้นจะไม่ทรงยกธาตุมนสิการบรรพไว้ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเลย แต่ยกไว้เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ไม่ว่าจะกำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังเดิน หรือว่าจะมนสิการในความเป็นปฏิกูลของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องรู้ลักษณะของรูปที่กายตามความเป็นจริง เห็นกายในกายโดยความเป็นธาตุ แล้วเป็นรูปปรมัตถธรรมใน ๒๘ รูปไหม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นไหม เป็นรูปที่ควรรู้ไหม เพราะปรากฏ มีใครบ้างไม่เย็น ไม่ร้อน ไม่อ่อน ไม่แข็ง รูปต่างๆ เหล่านี้ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วไม่ควรรู้หรือ ทำไมกล่าวว่าไม่ให้รู้ที่แข็ง ไม่ให้รู้ที่อ่อน ไม่ให้รู้ที่ร้อน ไม่ให้รู้ที่เย็น เสียงเหมือนกันเป็นรูปที่ปรากฏหรือเปล่า เมื่อเป็นรูปที่ปรากฏควรรู้ไหม หรือว่าไม่ควรรู้ สิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้จะชื่อว่าปัญญาได้ไหม ปรากฏตลอดวันตลอดเวลาที่มีการได้ยิน แล้วไม่ให้รู้เสียง ไม่ให้รู้รูปที่ปรากฏทางหู แล้วจะให้รู้รูปอะไร ไม่ให้รู้รูปสี ไม่ให้รู้รูปเสียง ไม่ให้รู้รูปแข็ง รูปอ่อน รูปร้อน รูปเย็น ที่ปรากฏ แล้วจะให้รู้อะไร สิ่งที่ปรากฏไม่รู้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจนขึ้น ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกในที่ต่างๆ เพื่อให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ ที่กาย ที่ท่านควรจะระลึกรู้นั้น ควรจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งใดตามความเป็นจริงที่ปรากฏที่กาย ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค จตุตถวรรคที่ ๔ ในปุพพสูตร (ข้อ ๔๐๔) มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตราบเท่าที่เรายังไม่ได้ทราบชัดตามความเป็นจริงซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออกแห่งธาตุเหล่านี้เพียงใด เราก็ปฏิญาณไม่ได้ว่า เราเป็นผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เพียงนั้น แต่เมื่อใดเราได้ทราบชัดตามความเป็นจริงซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออกแห่งธาตุ ๔ เหล่านี้ เมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์

    อนึ่ง ญาณทัสสนะได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้การเกิดอีกย่อมไม่มี ดังนี้

    แม้พระผู้มีพระภาคเองยังตรัสว่า ตราบเท่าที่พระองค์ยังไม่ได้ทราบชัดตามความเป็นจริงซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ ซึ่งเครื่องสลัดออกโดยความเป็นเครื่องสลัดออกแห่งธาตุเหล่านี้ คือ ธาตุทั้ง ๔ เพียงใด พระองค์ก็ปฏิญาณไม่ได้ว่า เป็นผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก

    ชินเกินไปใช่ไหม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่เห็นมีอะไรเลย บางท่านก็บอกอย่างนั้น จับดูกต้องก็แค่อ่อน แค่แข็ง สัมผัส ประเดี๋ยวก็เย็น ประเดี๋ยวก็ร้อน ก็เท่านั้นเอง แล้วอย่างไรอีกๆ บางท่านก็ถามอย่างนั้น ดูเหมือนไม่พอเลย แข็งๆ เย็นๆ ร้อนๆ ที่ปรากฏที่กาย ต้องการอย่างอื่นมากมาย แล้วอย่างไรอีก แล้วอะไรอีก แล้วทำอย่างไรอีก แต่ว่ารู้ชัด รู้จริง จนกระทั่งละคลายแล้วหรือยัง ที่อ่อนที่แข็ง ที่เย็นที่ร้อน ที่เคร่งตึงไหว ที่กายตามปกติ ข้ามไปใช่ไหม ไม่ได้รู้ชัดซึ่งความแช่มชื่นโดยเป็นความแช่มชื่น ซึ่งโทษโดยความเป็นโทษ

    เวลาที่กระทบสัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง มีความสุขเกิดขึ้นบ้างไหม มีความทุกข์เกิดขึ้นบ้างไหม ไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเท่านั้น ไม่พอ ผู้เจริญสติที่รู้แค่เพียง ธาตุดิน ธาตน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นั้นไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ในนามในรูปทั้งปวง ไม่สามารถที่จะละการยึดถือนามรูปทั้งปวงว่า เป็นตัวตนได้ สติจะต้องเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น รู้ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เกิดจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าความทุกข์ที่เกิดจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมก็ตาม ผู้ที่เจริญสติจะต้องรู้ชัดในนามในรูป แล้วก็รู้วิธีที่จะละคลายการยึดถือมั่นในนามรูปด้วย

    เพราะฉะนั้น ท่านที่วันหนึ่งๆ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ปรากฏ เคยระลึกจริงๆ บ้างหรือเปล่า ที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน หรือว่าไม่รู้ ไปรู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฏก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    19 มิ.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ