รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 031
ตอนที่ ๓๑
แล้วก็คงจะไม่มีใครเอาอะไรมายึดเอาไว้ใช่ไหม ก็จะต้องไปจัดกระจายไปตามกาลเวลาด้วย
ต่อไปเป็นกระดูกที่มีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปก็จะเป็นกองกระดูกที่เรี่ยรายอยู่ เกินปีหนึ่งไปแล้ว ในที่สุดก็จะเป็นกระดูกผุเป็นจุล
นี่โดยนัยของมหาสติปัฏฐาน ก็เป็นเครื่องระลึก ไม่ว่าจะเป็นกายในลักษณะที่เป็นซากศพวันหนึ่ง ขึ้นพองไปจนกระทั่งถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเป็นกระดูกผุ ก็เป็นเครื่องที่ให้สติระลึกรู้ได้
ขอกล่าวถึง ข้อความในพระไตรปิฎกที่จะให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดระลึกถึงซากศพหรือว่าอสุภะเนืองๆ บ่อยๆ แล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างไรในการเจริญสติปัฏฐาน
สังยุตตนิกาย มหาวรรค อานาปานาทิเปยยาลที่ ๗ ข้อ ๖๔๐ แห่งโพชฌงค์ สาวัตถีนิทาน มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัฏฐิกสัญญาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็อัฏฐิกสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอัฏฐิกสัญญา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
(มีข้อความต่อไปถึงโพชฌงค์องค์อื่นๆ จนกระทั่งถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์)
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัฏฐิกสัญญา อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้แล กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ข้อความต่อไปเป็นปุฬุวกสัญญา วินีลกสัญญา วิกขิตตกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา พวกนี้เป็นเรื่องของสัญญา ทรงจำถึงลักษณะของซากศพลักษณะต่างๆ
ต่อจากนั้นก็เป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อานาปา อสุภสัญญา มรณสัญญา อาหาเรปฏิกูลสัญญา อนิจจสัญญา อนิจเจทุกขสัญญา ทุกเขอนัตตสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ไม่ควรรังเกียจ เป็นชีวิตปกติประจำวันที่สติสามารถที่จะแทรกตามรู้ได้ทุกประการ เพราะเหตุว่าแม้อัฏฐิกสัญญา การที่จะระลึกถึงกระดูกในลักษณะต่างๆ ก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นไปเพื่อความสังเวช เพื่อความละคลาย
ถ. บางท่านแนะนำว่า เวลาไปเผาศพ ก็ให้เจริญสติปัฏฐานในบรรพของ นวสีวถิกานี้ไปด้วย ผมก็บอกว่า ซากศพนี้เราไม่เห็นจะเจริญกันอย่างไร นอกจากคิดนึกเอาเอง อย่างนี้จะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ เผาศพไม่เห็น แต่ว่าอาจจะให้ระลึกได้ถึงลักษณะของซากศพน้อมมาสู่กายสิ เป็นที่น่าสงสัย แต่ว่าให้ทราบว่า ถ้าสติระลึกขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว ก็จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของกาย ความเกิดขึ้นความดับไปของนามและรูปในขณะนั้น คืออาศัยเป็นเพียงเครื่องระลึก ถ้าไม่ใช่งานศพก็คงไม่ระลึกใช่ไหม แต่ว่าถ้าผู้ที่เจริญเนืองๆ บ่อยๆ แม้ในขณะนี้ก็ระลึกได้
ขุททกนิกาย เถรคาถา กุลลเถรคาถา มีข้อความว่า
เราผู้ชื่อว่า กุลละ ไปที่ป่าช้าผีดิบ ได้เห็นซากศพหญิงคนหนึ่ง เขาทิ้งไว้ในป่าช้า มีหมู่หนอนฟอนกัดอยู่
ดูกร กุลลภิกษุ ท่านจงดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า มีของโสโครกไหลเข้า ไหลออกอยู่ อันหมู่คนพาลพากันชื่นชมนัก เราได้ถือเอาแว่นธรรม แล้วส่องดูร่างกายอันไร้ประโยชน์ ทั้งภายในและภายนอกนี้ สรีระเรานี้ฉันใด ซากศพนั้นก็ฉันนั้น ซากศพนั้นฉันใด สรีระเรานี้ก็ฉันนั้น ร่างกายเบื้องต่ำฉันใด ร่างกายเบื้องบนก็ฉันนั้น ร่างกายเบื้องบนฉันใด ร่างกายเบื้องต่ำก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เมื่อก่อนฉันใด ภายหลังก็ฉันนั้น ภายหลังฉันใด เมื่อก่อนก็ฉันนั้น
ความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนี้ย่อมไม่มีแก่เรา ผู้มีจิตแน่วแน่ พิจารณาเห็นธรรมแจ่มแจ้งโดยชอบ
เพียงเห็นซากศพนิดเดียว ระลึกตั้งมากมาย ห้ามไม่ได้ ไม่ใช่คิดนิดเดียว แต่ระลึกแล้วรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปได้
ในวิสุทธิมรรค ศีลนิทเทส อินทริยสังวรศีล เป็นเรื่องของท่านพระภิกษุที่ท่านไม่หลงติดในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ คือเรื่องพระมหาติสสเถระ มีเรื่องเล่าว่า
หญิงสะใภ้แห่งตระกูลหนึ่งทะเลาะกับสามี แล้วตกแต่งประดับกายงามราวกะนางฟ้า ออกจากเมืองอนุราชะแต่เช้า เดินไปบ้านญาติ ในระหว่างทางได้เห็นพระมหาติสสเถระซึ่งเดินจากเจติยบรรพตเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอนุราชะ หญิงนั้นเกิดมีจิตวิปลาสหัวเราะเสียงดังขึ้น พระมหาติสสะเถระก็แลดูว่าเสียงอะไร ท่านเห็นฟันของหญิงนั้น ก็ระลึกถึงความเป็นอสุภะ บรรลุอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง
เมื่อสามีของหญิงนั้นเดินติดตามหญิงนั้นมา พบพระเถระก็ถามว่า เห็นหญิงเดินไปทางนี้บ้างไหม พระมหาติสสะเถระก็กล่าวตอบว่า ท่านไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปทางนี้ เห็นแต่ร่างกระดูกเดินไป
แสดงว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นซากศพเท่านั้นจึงจะระลึกได้ ท่านที่อบรมเนืองๆ นี้ แทนที่จะเห็นเป็นอย่างนี้ ก็เห็นเหมือนป่าช้าผีดิบก็ได้ นั่งกันอยู่ ยืนกันอยู่ ยิ้มหัวเราะกันอยู่ อีก ๕๐๐ ปี แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องเสมือนกับ ป่าช้า แต่ว่าเวลานี้ยังไม่เป็นอย่างนั้นเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องเป็นวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมก็จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่สามารถระลึกได้ มีสัญญาที่จะทำให้สติระลึกได้ ก็ได้อบรมมา แล้วก็ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดว่า เป็นปกติในชีวิตประจำวันไหม หรือว่าต้องแยกไปสู่ที่หนึ่งที่ใดแล้วจึงสามารถจะจะบรรลุอรหันต์ได้ เพราะเหตุว่า พระมหาติสสเถระท่านเดินเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอนุราธะเป็นปกติ เดินไปก็เจริญสติได้ และท่านได้เห็นหญิงคนหนึ่งซึ่งมีจิตวิปลาส หัวเราะดังขึ้น พระมหาติสสเถระก็แลดูว่าเสียงอะไร ขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน ได้ยินเสียงปกติ ธรรมดาที่สุด เดินไปก็เป็นปกติ เจริญสติได้ ถ้าไม่เจริญสติจะบรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นในที่นั้นได้อย่างไร ท่านก็ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ แล้วก็เวลาที่มีเสียงปรากฏท่านก็ยังแลดูเพื่อจะรู้ว่าเป็นเสียงอะไร แต่เพราะเหตุว่าท่านได้อบรม สะสมในเรื่องอัฏฐิกสัญญา ก็ทำให้เห็นความเป็นอสุภะ มีโยนิโสมนสิการ ละคลายได้ทั้งหมด ดับอาสวะกิเลสได้ บรรลุความเป็นอรหันต์ในที่นั้น ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติแล้ว ไม่ใช่ไม่เคย แต่เพราะยังมีเยื่อใย ยังไม่ละ จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้าซึ่งไม่ทราบจะเป็นที่หนึ่งที่ใดก็ได้ ประสบพบเห็นอะไรก็ได้ จะเห็นหญิงที่แต่งตัวสวยอย่างกะนางฟ้าก็ได้ ที่ในเมืองอนุราธะก็ได้ กำลังเดินบิณฑบาตก็ได้ ได้ทุกอย่างแล้วแต่ว่าสติจะสมบูรณ์ อินทรีย์แก่กล้า มีโยนิโสมนสิการ ที่จะทำให้ละคลายได้เมื่อไหร่
เวลาที่สามีของหญิงนั้นถามท่านว่า เห็นหญิงเดินไปทางนี้บ้างไหม ท่านก็กล่าวตอบว่า ท่านไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปทางนี้ เห็นแต่ร่างกระดูกเดินไป นี่คือการไม่ใส่ใจ ไม่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะว่าท่านระลึกถึงสภาพที่เป็นอสุภะในลักษณะนั้น ท่านระลึกถึงลักษณะของความเป็นอย่างนั้น ก็เหมือนอย่างเวลานี้ที่ให้ระลึก เป็นกระดูก เป็นอะไรทั้งนั้น ที่นั่งอยู่ที่นี่ เปลี่ยนสภาพให้เป็นแต่กระดูกทั้งนั้นก็ได้
สำหรับสมถกรรมฐานนั้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับมหาสติปัฏฐานนั้นอีกอย่างหนึ่ง สติเป็นเครื่องให้ระลึกเท่านั้น แล้วก็ดับไป แล้วแต่ลักษณะของนามใดรูปใดจะเกิดต่อ สติที่ได้เจริญอบรมมาแล้วอย่างดี ก็รู้ลักษณะของนามและรูปนั้นตามความเป็นจริง อาศัยเป็นเครื่องระลึกเพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ในขณะนั้น ขณะที่กำลังเดิน แล้วก็ได้ยินเสียง แล้วก็เห็น ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่แทงตลอดในขณะนั้น บรรลุความเป็นอรหันต์ไม่ได้ แล้วแต่ว่าท่านจะเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา แต่ว่าการที่จะบรรลุความเป็นพระอรหัน์ตนั้นจะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานแน่นอน ไม่ใช่ว่าท่านเจริญฌานแล้วก็บรรลุอรหัตด้วยฌาน ไม่ใช่ ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน
มีคำถามของท่านผู้ฟังที่ถามว่า การสอนให้เราละการยึดโดยพิจารณาซากศพแล้วละคลายกิเลสนั้น เช่นการแต่งกาย ยึดความสวยงามเพื่อให้ผู้อื่นดูแล้วสะอาดตา และความเรียบร้อย จะขัดต่อการเข้าสังคมทางโลกปัจจุบันอย่างไร ถ้าจะปฏิบัติธรรมเพื่อละ
พุทธบริษัทมี ๔ เลือกได้ว่าจะเป็นพุทธบริษัทประเภทไหน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ครองเรือน ไม่ครองเรือน ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ แล้วแต่ความสามารถว่าจะต้องการอย่างไร แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดคือว่า พุทธบริษัทสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าเจริญเหตุสมควรแก่ผล โดยที่ว่า ทุกคนก็รู้ตัวเองตามความเป็นจริง ถึงจะละการยึดถือนามรูปที่เกิดขึ้นกับตนเพราะเหตุปัจจัยได้
เวลานี้เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ข้อสำคัญที่สุดตอนนี้ ต้องรู้ว่าได้หรือไม่ได้ เพราะเป็นตัวของท่านจริงๆ ไม่ใช่ว่าต้องคอย หรือว่าต้องคิดถึงสถานที่ เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าจะคิดถึงสถานที่ ก็ไปไม่ได้ ก็ยังนั่งอยู่อย่างนี้ ใช่ไหม เป็นตัวของท่านจริงๆ ที่นั่งอยู่ขณะนี้ ก็เจริญสติปัฏฐานเดี๋ยวนี้ในขณะนี้ เพื่อรู้ชัดนามและรูปที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทราบ เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไม่ให้รู้จักตัวเอง แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐาน อย่างที่ให้เรียนได้ทราบแล้วว่า สำหรับบางท่านเป็นสุขขาปฏิปทา บางท่านเป็นทุกขาปฏิปทา แล้วแต่การสะสม ใครสะสมโทตะมาแรงกล้า โทสะเกิดบ่อยๆ สติก็จะต้องระลึกรู้ว่า โทสะที่กำลังเกิดปรากฏจะเผ็ดร้อน จะรุงแรง จะมากมายสักเท่าไหร่ก็ตาม ผู้ที่จะละการยึดถือโทสะเป็นตัวตนได้ ก็จะต้องระลึกรู้ในขณะที่โทสะกำลังปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ของแต่ละบุคคลก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล จึงจะสามารถที่ละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ แต่ถ้าท่านผู้ใดไปทำให้สงบ ในขณะที่กำลังสงบ ไม่ได้รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในขณะนี้ ซึ่งในขณะนี้ คือปัจจุบัน ไม่ใช่ในขณะอื่น
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเป็นห่วงว่า การเจริญกุศลของท่านจะไม่ครบ เพราะเหตุว่าท่านมีศีลและท่านก็เจริญปัญญาคือเจริญสติปัฏฐาน ท่านคงขาดสมาธิ ซึ่งแต่ก่อนที่จะได้ฟังสติปัฏฐาน ก็เป็นผู้ที่เจริญสมาธิบ้าง เจริญสมาธิมาแล้วด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนจากการเจริญสมาธิ มาเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้นั้นก็เข้าใจว่า ท่านได้ขาดกุศลไปประเภทหนึ่ง คือท่านมีศีลแล้วก็มีปัญญาแต่ว่าขาดสมาธิ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งท่านเสียดายการที่กุศลของท่านจะไม่ครบ เพราะฉะนั้นท่านก็ทำสมาธิสักครึ่งชั่วโมง แต่ขอให้ทราบว่า ในมรรคมีองค์ ๘ นั้นมีสัมมาสมาธิที่เกิดพร้อมกับสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่ว่าผู้เจริญสติปัฏฐานจะไม่มีสมาธิ ไม่ใช่ว่าจะขาดคุณธรรมหรือว่าจะขาดกุศลไปขั้นหนึ่ง ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ในขณะนั้นมีสัมมาสมาธิเกิดร่วมกับสติ เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ และที่ชื่อว่า เป็นสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ นั้น เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิ คนต่างกันของสัมมาสมาธิที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ กับสมาธิอื่นๆ นั้นก็คือว่า สมาธิอื่นๆ ไม่ละความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน แต่สัมมาสมาธิที่เกิดพร้อมกับสติที่รู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น เป็นสัมมาสมาธิที่ละการเห็นผิดการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นในขณะใดที่ระลึกรู้ลักษณะของนาม ระลึกรู้ลักษณะของรูป ในขณะนั้นมีสัมมาสมาธิที่ละการยึดถืองานรูปว่าเป็นตัวตน ต่างกับสมาธิอื่นๆ ที่ไม่ได้ละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าขาดสมาธิ ในขณะที่สติระลึกรู้นามใดรูปใด ในขณะนั้นก็มีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่ต้องไปเจริญสมาธิอีกต่างหาก ซึ่งตลอดเวลาที่ท่านผู้นั้นนั่งทำสมาธิครึ่งชั่วโมง ไม่รู้ลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย ซึ่งแทนที่ท่านจะใช้เวลาทำสมาธิให้จดจ้องเพื่อให้จิตสงบ สติก็อาจจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ รูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้มากมายหลายขณะ ซึ่งจะอุปการะเกื้อกูลให้เกิดปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏมากขึ้น แล้วก็สามารถที่จะละคลายได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม ก็มีต่างกันตามระดับของความเข้าใจ
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 01
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 02
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 03
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 04
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 05
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 06
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 07
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 08
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 09
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 10
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 011
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 012
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 013
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 014
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 015
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 016
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 017
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 018
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 019
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 020
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 021
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 022
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 023
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 024
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 025
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 026
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 027
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 028
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 029
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 030
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 031
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 032
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 033
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 034
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 035
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 036
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 037
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 038
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 039
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 040