รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 033
ตอนที่ ๓๓
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดมีมาก ความเห็นผิด หรือว่าการพ้นผิดก็มี
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อสัปปุริสสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษ และอสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย จักแสดงสัตบุรุษ และสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ คือ มิจฉามรรคทั้ง ๘ นั่นเอง
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด รู้ผิด พ้นผิด บุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งมั่นชอบ รู้ชอบ พ้นชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษผู้ยิ่งกว่าสัตบุรุษ
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานสำคัญที่สุด ถ้าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติไม่มีแล้ว สัมมาสติก็เกิดไม่ได้เลย ที่สัมมาสติจะเกิดได้ ทุกอย่างจะถูกได้ ก็เพราะสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจถูกในข้อประพฤติปฏิบัติในอริยมรรค ในสิ่งที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังนิ่ง กำลังคิด กำลังประกอบกิจการงานต่างๆ สัมมาสติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ เมื่อมีความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ สัมมาสติก็ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ ไม่ต้องไปทำอะไรอีก สติเริ่มระลึกเพื่อรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อความรู้ชัด ไม่ใช้เพื่อการไปดูให้เห็น ถ้าไปดูให้เห็นแล้วไม่รู้เลยใช่ไหม ทุกขณะที่เกิดความรู้ ละความไม่รู้
สัมโมหวิโนทนีย์ สัจจวิภังค์นิทเทส มัคคสัจจ์ มีข้อความว่า
สติแทรกไปถึงธรรมทั้งปวง ทั้งที่อุปการะและไม่อุปการะแก่สมาธิ
เพราะฉะนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าท่านผู้ใดทราบลักษณะของสติ ขณะที่โลภะเกิด ขณะที่โทสะเกิด ขณะที่กำลังเห็น สติแทรกไปถึงธรรมทั้งปวง ทั้งที่อุปการะและไม่อุปการะแก่สมาธิ
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อุทุมพริกสูตร (ข้อ ๑๘) มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น นิโครธปริพาชกอาศัยอยู่ในปริพาชิการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่ายวันหนึ่ง เพื่อจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สันธานคฤหบดีดำริว่า
เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควร เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระ-ภาคกำลังทรงหลีกเร้นอยู่ แม้ภิกษุทั้งหลายก็อบรมใจ ก็ไม่ใช่สมัยที่จะพบภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจยังหลีกเร้นอยู่
น่าสงสัยพยัญชนะนี้ไหม คนธรรมดายังต้องมีเวลาพัก เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไปหาก็ต้องรู้กาลว่า ควรจะไปในขณะไหน ในขณะที่พักผ่อน หรือว่า ในขณะที่เป็นเวลาสมควรที่จะพบปะกับผู้อื่น ข้อความในพระสูตรมีว่า
สันธานคฤหบดี เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว จึงคิดว่า ควรจะไปหานิโครธปริพาชก ยังปริพาชิการามของพระนางอุทุมพริกา แล้วสันธานคฤหบดีก็เข้าไป ณ ที่นั้น เมื่อเข้าไปแล้ว ได้ปราศรัยสนทนากันแล้ว นิโครธปริพาชกก็ได้กล่าวกะสันธานคฤหบดีว่า พระผู้มีพระภาคไม่กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว อุปมาเหมือนแม่โคบอด เที่ยววนเวียนเสพที่อันสงัด ณ ภายในฉะนั้น เอาเถิดคฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกข้าพเจ้าพึงสนทนากับพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจะพึงบีบรัดพระองค์ท่าน เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่าฉะนั้น
คิดว่าพระผู้มีพระภาคนั้นเสพแต่เฉพาะที่สงัด ไม่กล้าเสด็จเที่ยวเข้าไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับการเจรจาของสันธานคฤหบดีกับนิโครธปริพาชกนี้ด้วยพระทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ เสด็จลงจากภูเขาคิชกูฏ เสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ นิโครธปริพาชกก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์แล กล่าวการหน่ายบาปด้วยตบะ ติดการหน่ายบาปด้วยตบะอยู่ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์มีอย่างไรหนอแล
นี่เป็นคำถามของนิโครธปริพาชกที่คิดว่า เพียงคำถามข้อเดียวก็จะบีบรัดพระผู้มีพระภาคได้ เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่าฉะนั้น ซึ่งพวกนิโครธปริพาชกก็พยายามที่จะละกิเลสด้วยตบะ แต่ว่าตนเองก็ติดในตบะนั้น
เพราะเหตุว่า ไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งแล้วละ แต่เป็นการทรมานตัวด้วยประการต่างๆ ทั้งในภัตตาหาร จีวร ทุกอย่าง ทุกประการ แล้วก็คิดว่า วิธีนั้นเป็นวิธีละกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็ติดอยู่ในวิธีนั้นเอง แต่ก็ได้กราบทูลถามว่า
การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์มีอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ มีใจความว่า ตบะที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น จะต้องบริโภคอาหารที่หยาบ แล้วก็ใช้ผ้าห่อศพ ทรมานตัวด้วยประการต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่การหน่ายที่บริบูรณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นิโครธ เรากล่าวอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะ แม้ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้แล เพราะว่าบุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ ย่อมถือมั่นตบะ ย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภ สักการะ สรรเสริญ มุ่งละสิ่งไม่ควร แต่ส่วนสิ่งใดควรก็ลืมสติ ติดสิ่งนั้น ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก ติผู้ไม่มีตบะอย่างตน (คือ บุคคลที่เสพอาหารที่ประณีต พวกที่บำเพ็ญตบะก็ติบุคคลเหล่านั้นว่า ไม่เหมือนกับตน ไม่มีตบะอย่างตน)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลผู้มีตบะ เมื่อพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่ผ่อนตามปริยายซึ่งควรจะผ่อนตาม อันมีอยู่ ประกอบด้วยทิฏฐิอันดิ่งถึงที่สุด เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิเอง เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ยาก
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมต่อไป แล้วตรัสว่า
ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ ผู้ใดเป็นอาจารย์ของท่านได้อย่างนี้ ผู้นั้นแหละจงเป็นอาจารย์ของท่าน
ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอุทเทส (คือ เสื่อมจากการเล่าเรียน) จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุทเทสใดของท่านได้อย่างนี้ อุทเทสนั้นแหละจงเป็นอุทเทสของท่าน
ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอาชีวะ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็อาชีวะของท่านนั่นแหละจงเป็นอาชีวะของท่าน
ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมเหล่านั้นแหละจงเป็นส่วนอกุศลของท่านกับอาจารย์
ดูกร นิโครธ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมเหล่านั้นแหละจงเป็นกุศลของท่านกับอาจารย์
ดูกร นิโครธ ด้วยประการดังนี้แล เรากล่าวอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก หามิได้ เราปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอุทเทส จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรมซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรมซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่
ดูกร นิโครธ ก็อกุศลธรรมอันเป็นเครื่องเศร้าหมอง มีปกติทำภพใหม่ มีความ กระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล เป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ซึ่งท่านยังละไม่ได้มีอยู่ ที่เราจะแสดงธรรมเพื่อละเสีย ธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมอง อันท่านปฏิบัติแล้วอย่างไรจักละได้ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความผ่องแผ้วจักเจริญยิ่ง ท่านจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์แห่งมรรคปัญญา และความไพบูลย์แห่งพละปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ เหมือนถูกมารดลใจ ฉะนั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า พวกโมฆบุรุษเหล่านี้แม้ทั้งหมดถูกมารดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่งไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิดพวกเราจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง ๗ วันจักทำอะไร
ที่กล่าวว่า ๗ วันจักทำอะไร คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า
พระองค์จักทรงแสดงธรรมซึ่งเขาประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนแล้ว ก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอด ๖ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๑ เดือนบ้าง กึ่งเดือนบ้าง จงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจักสั่งสอน เราจักแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ตลอด ๗ วัน
นี่เป็นพระมหากรุณาที่ได้ทรงแสดงธรรมกับพวกปริพาชกว่า พระองค์จะทรงแสดงธรรมตลอด ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน หรือแม้ ๗ วัน ซึ่งถ้าเขาปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น ก็จะทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า พวกโมฆะบุรุษเหล่านี้ แม้ทั้งหมดถูกมารดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่งไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิด พวกเราจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง ๗ วันจักทำอะไร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบรรลือสีหนาท ในปริพาชิการามของพระนางอุทุมพริกาแล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ปรากฏอยู่บนเขาคิฌกูฏ สันธานคฤหบดีเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ในขณะนั้นเอง ดังนี้แล
เมื่อจบพระธรรมเทศนาที่ได้ทรงแสดงกับนิโครธปริพาชกแล้ว ผลคือปริพาชกไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลยสักคนเดียว ไม่ใช่คนที่ได้ฟังธรรมแล้วจะเชื่อ หรือเห็นถูก ประพฤติปฏิบัติตามทุกคน ไม่ว่าในสมัยไหน บางท่านอาจจะตรึกนึกคิดถึงธรรมที่ได้ฟังในภายหลัง เมื่อไตร่ตรองให้ได้เหตุผลก็คงอุปการะเกื้อกูลได้ แล้วเห็นว่าจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงถูกต้อง สำหรับท่านที่ไม่ยึดติดในความเห็นผิด ท่านฟังเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองก็ทิ้งความเห็นผิดได้ทันที แต่สำหรับบางท่านที่ยึดไว้มาก ติดมาก ถึงแม้ว่าจะได้ฟังธรรมก็ยากที่จะละได้
การเจริญสติรู้อะไร ขณะไหน ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน อย่าผละไปที่เป็นอารมณ์ปัจจุบัน ถ้าผละไปก็ไม่มีทางรู้ความจริงที่เกิดจากทุกๆ ขณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติปัฏฐานทุกท่านที่ปัญญาเจริญขึ้นก็จะยิ่งรู้ความเป็นปัจจัยของนามและรูปละเอียดขึ้น แล้วก็ละคลายมากขึ้น ปรากฏการเกิดดับสืบต่อที่เป็นสัมมสนญาณก่อน แล้วถึงจะละคลายแล้วก็ประจักษ์การเกิดดับที่เป็นอุทยัพพยญาณได้ แต่ไม่ใช่ว่าด้วยความไม่รู้อะไรเลยรู้ อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะความต่างกันของนามและรูป เพียงรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป ยังไม่คลาย ยังไม่สามารถที่จะเกิดปัญญาประจักษ์การเกิดดับของนามรูป เห็นเป็นโทษ เห็นเป็นภัย แล้วก็ละคลายได้มากขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์เพียงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของนามและรูป โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ละนามแต่ละรูปทางมโนทวาร ไม่ปรากฏความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนแล้วก็เลือกไม่ได้ด้วยที่จะกะเกณฑ์ให้ประจักษ์รูปนั้นนามนั้นสำหรับทุกๆ คน แล้วแต่ว่าถ้าปัญญาของใครที่ได้สะสมการเจริญสติปัฏฐาน สมบูรณ์ที่จะเกิดนามรูปปริจเฉทญาณในขณะนี้
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 01
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 02
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 03
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 04
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 05
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 06
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 07
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 08
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 09
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 10
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 011
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 012
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 013
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 014
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 015
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 016
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 017
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 018
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 019
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 020
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 021
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 022
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 023
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 024
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 025
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 026
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 027
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 028
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 029
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 030
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 031
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 032
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 033
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 034
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 035
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 036
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 037
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 038
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 039
- รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 040