รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 035


    ตอนที่ ๓๕

    ถ้าเป็นผู้ที่ชื่อว่ามีสติแล้ว สติระลึกสิ่งใด สิ่งนั้นดับแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏต่อไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะรูป นามก็รู้ด้วย ในอานาปานบรรพ คงจะเห็นได้ว่า แม้ปีติที่เกิดก็รู้ สุขที่เกิดก็รู้

    ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สัมมาทิฏฐิไม่มี มรรคองค์อื่นก็เจริญไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็จะต้องอาศัยเกิดเพราะสัมมาทิฏฐิมีก่อน ถ้าสัมมาทิฏฐิไม่มีมรรคมีองค์อื่นๆ ก็เกิดไม่ได้

    และ คำว่า สังวร ก็หมายความว่า สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง อย่าลืมคำว่า ตามความเป็นจริง ด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นใครก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เห็นอะไรก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะมีชีวิตไม่ได้ แต่ว่าทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร รู้จักบุคคลต่างๆ ก็สังวรได้ สังวรตาได้ทั้งวัน หูได้ทั้งวัน จมูกได้ทั้งวัน ลิ้นได้ทั้งวัน กายได้ทั้งวัน ใจได้ตามปกติทุกอย่าง อย่าให้เกิดความเข้าใจผิดหรือว่าอย่าคิดว่าจะต้องผิดปกติ เพราะเหตุว่า ถ้าความเข้าใจยังคลาดเคลื่อนอยู่แต่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลยนี่เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด จะมีการบังคับให้เกิดความผิดปกติขึ้น คือว่าสิ่งที่เคยรู้ก็กลายเป็นไม่รู้ มีท่านผู้ฟังยังเข้าใจอยู่ว่า ในขณะที่เจริญสติปัฏฐานนั้น ถึงแม้จะเห็นบิดามารดาก็ไม่รู้ว่าเป็นบิดามารดา แต่นี่ไม่มีในพระไตรปิฎกเลย นี่เป็นความไม่รู้ นี่เป็นความผิดปกติ เรื่องของพระมหาติสสเถระได้เคยเรียนให้ทราบแล้ว อยู่ในหัวข้อของศีลนิเทส วิสุทธิมรรค อินทริยสังวรศีล ที่ได้กล่าวถึงหัวข้อของที่มาของเรื่องก็เพื่อที่จะให้ท่านทราบว่า ในการแสดงเรื่องของพระมหาติสสเถระนั้นต้องการให้ท่านเข้าใจข้อความนั้นอย่างไร คือ ในวิสุทธิมรรค ศีลนิเทส อินทริยสังวรศีล เป็นเรื่องของการสังวรอินทรีย์ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเห็น จะได้ยิน ก็ไม่หลงยึดถือติดในสิ่งนั้นว่าเป็นตัวตนนั่นเอง มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและก็ดับไปอย่างรวดเร็วนั้นตามความเป็นจริง ขอกล่าวถึงเรื่องของพระมหาติสสเถระอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านได้พิจารณาโดยละเอียด

    เรื่องเล่าว่า หญิงสะใภ้แห่งตระกูลหนึ่งทะเลาะกับสามี ตกแต่งประดับกายงามราวกับนางฟ้าออกจากเมืองอนุราธแต่เช้า เดินไปบ้านญาติ เมื่อระหว่างทางได้เห็นพระมหาติสสเถระซึ่งเดินจากเจติยบรรพตเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอนุราธ หญิงนั้นเกิดมีจิตวิปลาสหัวเราะดังขึ้น พระมหาติสสเถระก็แลดูว่าเสียงอะไร เห็นฟันของหญิงนั้นก็ระลึกถึงความเป็นอสุภะ บรรลุอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง เมื่อสามีของนางเดินติดตามมา พบพระเถระก็ถามว่า เห็นหญิงเดินไปทางนี้บ้างไหม พระมหาติสสเถระกล่าวตอบว่า ท่านไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปทางนี้ เห็นแต่ร่างกระดูกเดินไป ข้อความนี้จะแสดงให้เห็นอินทริยสังวรของมหาติสสเถระ เพราะเหตุว่า อยู่ในตอนศีลนิเทส อินทรียสังวรศีล ซึ่งการที่จะสังวรอินทรีย์ได้นั้น ก็จะต้องมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตามความเป็นจริง ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจตามปกติ ขอให้ดูว่า พระมหาติสสเถระทำกิจเป็นปกติในชีวิตประจำวันหรือไม่ ข้อนี้ก่อนที่จะต้องสังเกตว่า พระมหาติสสเถระทำกิจเป็นปกติในชีวิตประจำวันหรือไม่ ท่านเดินจากบิณฑบาตในเมืองอนุราธ เดินจากเจติยบรรพต จากภูเขาไปบิณฑบาตในเมืองอนุราธเป็นปกติ สังวรอินทรีย์ได้ไหม แล้วเดินจากเขาเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอนุราธ ถ้าไม่รู้หนทางคือเห็นแล้วไม่รู้ว่าอะไร จะเดินไปถูกไหม ก็คงจะถูกหนาม ตกหล่ม ตกบ่อหรือไม่จะเป็นอันตรายเป็นแน่ถ้าท่านไม่ทราบหนทาง เพราะเหตุว่า ถ้าการสังวรอินทรีย์นั้นหมายความว่า เห็นแล้วไม่รู้ว่าอะไร ท่านจะเดินไปไหนไม่ได้เลยโดยลักษณะนั้น แต่นี่ทั้งๆ ที่เป็นอินทริยสังวรก็เป็นปกติ เพราะเหตุว่าท่านเจริญสติรู้ลักษณะของนามรูปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจตามปกติธรรมดา สติสามารถที่จะแทรกระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งปวงได้ นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เวลาที่หญิงนั้นเกิดจิตวิปลาส หัวเราะดังขึ้น พระมหาติสสเถระก็แลดูว่าเสียงอะไร ปกติไหม ถ้าเกิดมีเสียงอะไรประหลาดขึ้นที่นี่ ทุกคนก็ได้ยินดูไหมว่าเสียงอะไร เป็นธรรมดา เป็นปกติ สังวรอินทรีย์ได้ไหม เพราะเหตุว่า สังวรอินทรีย์ด้วย เป็นปกติ อย่าลืม มีนามมีรูปอยู่ตลอดเวลาไม่ต้องห่วงเลย เพียงแต่ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสังวรทางตา ทางหูก็เป็นสังวรทางหู ทางจมูกก็เป็นสังวรทางจมูก ทางลิ้นก็เป็นสังวรทางลิ้น ทางกายก็เป็นสังวรทางกาย ทางใจที่รู้เรื่องก็เป็นนามชนิดหนึ่ง ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ ก็เป็นการสังวรทางใจ ไม่ใช่ตัวตนเลย แล้วก็มีนามรูปเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ แล้วแต่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไร จนชิน เมื่อพระมหาติสสเถระเห็นฟันของหญิงนั้น ก็ระลึกถึงความเป็นอสุภะ บรรลุอรหันต์ ท่านเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือว่าท่านเจริญสมถภาวนาจึงได้บรรลุอรหันต์ การเจริญสมถภาวนานั้นทำให้จิตสงบไม่รับรู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนอกจากอารมณ์ของสมถกรรมฐานเท่านั้น ถ้าเป็นอสุภกรรมฐานโดยนัยของสมถภาวนา ก็จะมีนิมิตแล้วแต่ว่าจะเป็นอสุภะในลักษณะใดทำให้จิตแนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้น ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ว่าผู้ที่ถึงแม้ว่าจะเคยอบรมเจริญสมถภาวนาในความเป็นอสุภะจะเป็นบรรพใดก็ตามแต่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้นในขณะที่สภาพของจิตสงบเกิดขึ้น ก็รู้ชัดว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และนามธรรมก็ไม่ใช่ไม่ดับ ต้องประจักษ์ความไม่เที่ยงของนามและรูปจึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ ถ้าพระมหาติสสเถระเคยแต่เจริญอสุภกรรมฐาน โดยนัยของสมถภาวนาแล้วจะไม่รู้ลักษณะของนามและรูปใดๆ เลย ท่านไม่สามารถที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ ถึงแม้ว่าผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามเจริญนึกถึงความเป็นอสุภะของกาย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะให้จิตสงบเป็นฌานจิต แต่คนที่ปกติเป็นผู้หลงลืมสติ แม้ว่าจะเห็นทุกๆ วัน คนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง ตัวเองบ้าง นามใดๆ รูปใดๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่สติควรจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป สติก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่าความเป็นปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลสเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นผู้ที่ระลึกถึงความเป็นอสุภะในขณะที่กำลังเห็น ทำให้เกิดความสังเวช สติระลึกได้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นจะเป็นผู้ที่เคยเจริญสมถภาวนานัยของอสุภบรรพ หรือว่าเจริญสติปัฏฐานนัยของอสุภบรรพ ก็ไม่มีความต่างกัน ถ้าผู้นั้นรู้ลักษณะของนามและรูป อย่างพระมหาติสสเถระ ถึงแม้ว่าท่านจะเคยเจริญอสุภกรรมฐาน กรรมฐานในเรื่องของกระดูกอัฐิมาก่อนก็จริงแต่ท่านจะต้องเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของนามและรูป และเวลาที่เกิดระลึกถึงความเป็นอสุภะของกระดูกฟัน ท่านก็จะต้องรู้ความเป็นนามเป็นรูปในขณะนั้น แล้วจึงจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่ว่าเพียงเจริญอสุภกรรมฐานโดยนัยของสมถภาวนาแล้วก็เป็นสมาธิเป็นฌานจิตและก็จะบรรลุอรหันต์ อย่างนั้นไม่ได้ ถึงแม้ว่าในขณะที่ท่านระลึกถึงความเป็นอสุภะ สังวรทางใจเกิดรู้ลักษณะของนามรู้ลักษณะของรูปในขณะนั้น ละคลายกิเลส บรรลุความเป็นอรหันต์ เพราะปัญญาที่รู้ชัดตามความเป็นจริงในขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีอินทรีย์สังวรนั้นไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าใครเป็นบิดา มารดา เห็นอะไรก็ไม่รู้ อย่างนั้นแล้ว จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย การเจริญสติปัฏฐานที่ให้เจริญสติ เนืองๆ บ่อยๆ ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเป็นในลักษณะนั้นแล้ว ผู้นั้นไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ รับประทานอาหารก็ไม่ถูกทุกอย่างหมดไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้จริงๆ เพราะฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจอินทริยสังวรกับการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้องด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเกิดปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง ในพระธรรมวินัยทรงแสดงไว้เสมอ รู้ชัดในลักษณะของธรรมชาตินามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ถ้าผู้ใดระลึกรู้เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงใช่ไหม ทุกๆ วันที่มีชีวิตอยู่ เป็นความจริงใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าปัญญารู้ชัดในธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ชื่อว่า เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงใช่ไหม สิ่งที่ท่านผู้ฟังไม่ควรจะลืมเลย ที่จะต้องเตือนท่านบ่อยๆ ไม่ให้ความเข้าใจของท่านคลาดเคลื่อนไปก็คือว่า ปัญญานั้นไม่ใช่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ บางทีถ้าเรียนให้ท่านพูดฟังทราบว่า ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็อาจจะไม่เตือนใจท่านเท่ากับที่จะกล่าวว่า ปัญญาไม่ใช่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ใครจะไปรู้อะไรยังไงเมื่อไหร่ที่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่ใช่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นระดับไปของนามและรูปเป็นอุทยัพพยญาณได้ เพราะเหตุว่าทุกๆ ขณะตามปกติ เป็นนามเป็นรูป ผู้ที่จะไปจากการเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปได้ ผู้นั้นปัญญาต้องสมบูรณ์เจริญจนกระทั่งรู้ชัดเพื่อเป็นมหาวิปัสสนาจริงๆ จึงจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป ที่เกิดดับตามปกติได้ เพราะฉะนั้นถ้าแม้แต่ในขณะที่กำลังเห็นตามปกติ ได้ยินตามปกติ คิดนึกตามปกติ สติก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามปกติเลย ก็อย่าเพิ่งคิดว่าจะไปประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปเป็นอุทยัพพยญาณได้ ปัญญาต้องสมบูรณ์เป็นขั้นๆ จริงๆ ต้องเป็นความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้ ปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ไม่ใช่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    สำหรับเรื่องของสถานที่ ก็คงจะต้องขอเน้นอีก เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจให้ชัดจริงๆ ว่าในพระไตรปิฎกได้ทรงแสดงไว้ว่าอย่างไร ข้อความเล็กๆ น้อยๆ ในพระไตรปิฎกไม่ควรจะข้ามไป เพราะเหตุว่าจะช่วยทำให้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง แล้วก็จะช่วยทำให้ความคิดความเข้าใจของท่านที่เคลื่อนไป หมกมุ่น หรือว่าไปหวัง ไปมุ่งที่สถานที่ ให้ถูกต้องขึ้นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึง อุทุมพริกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น นิโครธปริพาชก อาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ประมาณ ๓,๐๐๐ ครั้งนั้น สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่ายวันหนึ่งเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค สันธานคฤหบดีดำริว่า เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควรเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคยังกำลังทรงหลีกเร้นอยู่ แม้ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจ ก็ไม่ใช่สมัยที่จะพบ ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจก็ยังหลีกเร้นอยู่

    ถ้าฟังเพียงผิวเผิน จะรู้สึกอย่างไร หรือว่าเข้าใจถูก ดีแล้วว่าพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์กำลังพักผ่อน ไม่ใช่เวลาที่จะรบกวน เพราะว่าทุกคนก็ต้องพักผ่อนใช่ไหม หรือว่าสามารถที่จะพบปะติดต่อกับท่านได้ทั้งวันทั้งคืน แล้วก็ขอให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งถึงความคิดของสันธานคฤหบดี ในพยัญชนะที่ว่า เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควร เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน ในขณะนั้นใช่ไหม แต่เดี๋ยวก็จะไปเฝ้า ไม่ใช่ว่าจะไม่ไป และดำริของสันธานคฤหบดีที่ว่า แม้ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจก็ไม่ใช่สมัยที่จะพบ ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจยังหลีกเร้นอยู่ แต่ไม่ใช่ว่า จะไม่ไปหา เดี๋ยวก็จะไป เพียงแต่ว่ายังไม่ไปเดี๋ยวนี้เท่านั้นเอง เพราะเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่สมควร ยังเวลาที่พักผ่อนอยู่ พอท่านพักผ่อนได้เวลาที่สมควรแล้ว ก็จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จะไปหาพระภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าพระภิกษุเหล่านั้นกำลังเข้าวิปัสสนาอยู่ ใครจะไปรบกวนไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านเจริญสติเป็นปกติ แต่ว่าไม่ใช่เวลาสมควรที่จะไปพบ แต่ว่าไม่ใช่ว่าทั้งวันจะไปพบไม่ได้ แต่ถึงเวลาจะไปพบก็ไปพบตามเวลาปกติ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในพระสูตร หรือในพระธรรมเทศนา ในพระไตรปิฎกก็ควรที่จะได้พิจารณาให้เข้าใจให้ถูกต้องทำความเป็นจริงถึงการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ที่ท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันของท่าน เพื่อท่านเองที่ต้องการจะเจริญสติปัฏฐานจะได้ไม่เข้าใจผิดหรือว่าไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนไป สำหรับข้อความที่จะขอยกขึ้นกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปุณโณวาทสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นท่านพระปุณณะออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่

    ซึ่งพระผู้มีพระภาค ก็ได้ตรัสให้ท่านพระปุณณะใส่ใจให้ดี

    แล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทว่า ไม่ให้ติด ไม่ให้เพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน

    ซึ่งพระปุณณะก็ไปที่ชนบทชื่อ สุนาปรันตะ ซึ่งเป็นที่ๆ ผู้คนดุร้าย หยาบช้า แล้วท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่นั้น แสดงธรรมในพรรษา มีคนกลับใจเป็นอุบาสก ๕๐๐ เป็นอุบาสิกา ๕๐๐ แล้วท่านเองก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน

    อีกสูตรหนึ่ง ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ราหุลสังยุตต์ จักขุสูตร มีข้อความคล้ายคลึงกัน (พยัญชนะที่ว่า เป็นผู้เดียวหลีกออก) ว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นท่านพระ ราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่

    ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านพระราหุลขอกัมมัฏฐานพระผู้มีพระภาค ก็จะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงโอวาทว่าอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    29 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ