รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 038


    ตอนที่ ๓๘

    กิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ลึกมาก ถึงแม้ว่าจะอยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกลเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร แต่ถึงอย่างนั้นกิเลสย่อมไม่หมด เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร หรือแม้จะได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่ทำให้กิเลส หมดไปได้

    ถ้าเช่นนั้นประพฤติปฏิบัติเช่นไร กิเลสจึงจะหมดไปได้ เพราะเหตุว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ละเอียดแล้วก็ลึกมาก ถ้าไม่รู้ชีวิตจริงๆ เป็นปกติ ที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะละคลายกิเลสได้เลย

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    ทรงกล่าวให้ไปอยู่ป่าหรือไม่ บางทีท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ในขณะที่เจริญสติปัฏฐานนั้นพูดไม่ได้ คิดอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ในขณะที่พูดเป็นนามหรือเปล่า เป็นรูปหรือเปล่า ปกติคิดหรือเปล่า หรือใครคิดจะห้ามใครว่าไม่ให้คิด หรือบางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าคิดแล้วก็ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ขณะใดที่คิดขึ้นมาจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเป็นอนัตตา ความคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ใครรู้ ผู้เจริญสติจึงจะรู้ ผู้หลงลืมสติไม่รู้ ผู้ที่บังคับไว้ก็ไม่รู้ เป็นตัวตนที่บังคับ ที่กั้นไว้

    ขุททกนิกาย เถรีคาถา อัญญตราเถรีคาถา ซึ่งเป็นคาถาของมารดาท่านพระสุมังคละ มีข้อความที่จะให้เห็นว่า มารดาของท่านพระสุมังคละนั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในขณะไหน ท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วในอดีต

    ในสมัยพระผู้มีพระภาคสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเกิดในตระกูลยากจนขัดสน ในพระนครสาวัตถี ท่านมีบุตรชายคนโต ซึ่งภายหลังได้เป็นพระอรหันต์ คือ ท่านพระสุมังคละเถระ สำหรับตัวท่านเองนั้นไม่ปรากฏนาม นอกจากเรียกกันว่า มารดาท่านพระสุมังคละ

    ภายหลังที่ท่านบวชเป็นภิกษุณีแล้ว วันหนึ่งขณะที่ท่านระลึกถึงความทุกข์ยาก เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ ท่านรู้สึกเศร้าใจ ขณะนั้นเกิดญาณปัญญา บรรลุอรหันต์ แล้วได้กล่าวคาถาว่า

    เราพ้นแล้ว พ้นแล้วด้วยดี เป็นผู้พ้นดีแล้วจากสาก จากสามีผู้หาความละอายมิได้ซึ่งเราไม่ชอบใจ จากการทำร่มของสามีที่เราไม่ชอบใจ จากหม้อข้าว จากความขัดสน เราได้ตัดราคะ และโทสะขาดแล้ว เราเข้าไปอาศัยโคนไม้ เพ่งฌานอยู่โดยความสุขว่า สุขหนอ คิดถึงอดีตเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เมื่อครั้งที่ได้รับความทุกข์ยากนานาประการ แล้วก็บรรลุอรหันต์ในขณะนั้น

    สำหรับคาถาของท่านพระสุมังคลเถระ ซึ่งเป็นบุตรของอัญญตราเถรีภิกขุณี มีข้อความว่า

    เราพ้นดีแล้ว เราพ้นดีแล้ว เราเป็นผู้พ้นดีแล้วจากความค่อมทั้ง ๓ คือ เราพ้นแล้วจากการเกี่ยวข้าว จากการไถนา จากการถางหญ้า ถึงแม้ว่ากิจมีการเกี่ยวหญ้าเป็นต้น จะอยู่ในที่ใกล้ๆ เรานี้เอง แต่ก็ไม่สมควรแก่เราทั้งนั้น ท่านจงเจริญฌานไปเถิด สุมังคละ จงเจริญฌานไปเถิด สุมังคละ ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด สุมังคละ

    ฟังผิวเผินก็อาจจะสงสัยว่า ใครเป็นผู้พูด พูดกับใคร แล้วทำไมพูดกับตัวเองอย่างนี้ และข้อความนั้นก็ดูเหมือนกับให้เป็นผู้ที่เจริญฌาน

    เป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน ไม่ว่าผู้นั้นจะเคยเจริญอบรมอานาปานสติ หรือเป็นมหัคคตจิต เคยเจริญฌาน ได้ฌาน อบรมมาแล้วอย่างไร สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นปกติธรรมดา จะกล่าวว่าเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวไม่ได้ ให้ทาน รักษาศีล กระทำกิจการงานทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในขณะนั้นเจริญสติด้วย

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัตติสูตรที่ ๑ (ข้อ ๕๖) มีข้อความว่า

    เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า

    ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ

    เทวดาเข้าใจว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ

    บางคนกลัวเหลือเกินว่า นี่เป็นโลภะ ทำไม่ได้ นั่นไม่ใช่ชีวิตจริงๆ แล้ว กิจการใดที่กระทำไป เพราะเป็นปัจจัยที่สะสมมาให้กระทำเช่นนั้นก็กระทำ แต่เจริญสติรู้ลักษณะของนาม รู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริง เพื่อละสักกายทิฏฐิ

    ไม่ว่าท่านผู้ใดจะเคยเข้าใจอย่างไร ก็ขอให้ได้พิจารณาธรรมด้วยความละเอียด ที่เทวดากล่าวคาถาทูลพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาซึ่งมีความต่างกันกับเทวดา แต่โดยความเพียรแล้วเหมือนกัน

    เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ

    ในขณะนี้ เป็นผู้ที่ถูกประหารด้วย ราคะ โทสะ โมหะ อยู่เสมอในวันหนึ่งๆ แต่ถ้าไม่เจริญสติก็ไม่รู้ เพียงเห็นวัตถุ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความชอบ โลภะ อีกอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความไม่ชอบ โทสะ รวดเร็วเหลือเกิน ทางตา ไปทางหู ไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่ถูกประหารด้วยโลภะ โทสะ โมหะอยู่ตลอดเวลา จึงควรมีสติเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ แสดงให้เห็นว่า ไม่ควรรีรอ สติควรเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสูญญตสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอานนท์มีข้อความว่า

    ดูกร อานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม

    ในขณะเดิน รู้นามอะไร รู้รูปอะไร เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง คนกำลังเดิน เห็นไหม ได้ยินไหม ได้กลิ่นไหม รสอาจจะปรากฏได้ไหม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง คิดนึก สุขทุกข์ ซึ่งเป็นของจริงมีไหม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม

    ขอให้สังเกตพยัญชนะที่ว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเรา ไม่ใช่ว่าไม่เกิด เกิดได้ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น จึงจะชื่อว่า อภิชฌาและโทมนัสไม่ครอบงำ แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนั้น ก็เป็นด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็ถูกครอบงำด้วยอภิชฌาและโทมนัส เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังเดิน แล้วให้รู้สึกตัวในขณะที่เดิน ในมหาสติปัฏฐานก็มี แต่เพื่อให้เข้าใจว่า การรู้สึกตัวในขณะเดินนั้นคืออย่างไร ข้อความในสูตรนี้ ก็ได้แสดงให้ทราบแล้ว

    สำหรับข้อความต่อไป ก็โดยนัยเดียวกัน มีข้อความว่า

    หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน เธอย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนอน

    ในขณะที่นอน รู้นามอะไร รู้รูปอะไร จะเป็นทางตาก็ได้ หูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ใจก็ได้ แต่เป็นผู้ที่อภิชฌาและโทมนัสไม่ครอบงำ เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    สำหรับเรื่องการยืน การนั่ง การนอน ก็โดยนัยเดียวกัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด เธอย่อมใสใจว่า เราจักไม่พูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

    ข้อความต่อไปกล่าวว่า เรื่องอะไรบ้างที่ไม่เป็นประโยชน์ซึ่งไม่ควรพูด

    ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด และเธอใส่ใจว่า เราจักพูด เรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของๆ ตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด

    ถ้าเป็นผู้ที่สะสมอกุศลไว้มากมายเหลือเกินทั้งกายทุจริต วจีทุจริต ไม่ขัดเกลา การที่จะขวนขวายในการฟัง ในความเพียร ในการขัดเกลา ในการเจริญสติ ก็ย่อมจะไม่มีด้วย

    ขอให้สังเกตพยัญชนะที่ว่า และเธอใส่ใจว่า เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อสงบกิเลส เพื่อดับกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้

    เพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ใช่ให้รู้เล็กน้อย ขอให้พิจารณาด้วยว่า การประพฤติปฏิบัติ การเจริญสติปัฏฐานของท่านนั้นเป็นไปตามที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระธรรมวินัยหรือไม่

    และสำหรับข้อความที่ว่า เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของๆ ตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี การเจริญสติปัฏฐานเป็นการให้ท่านมักน้อย เป็นการให้ท่านไม่คลุกคลีจากการที่เคยยึดถือ กังวลในญาติมิตรสหาย ทุกสิ่งทุกประการ ทรัพย์สมบัติต่างๆ ท่านมาวัด มาฟังธรรมเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สงัด สงบจากการคลุกคลีหรือการผูกพันไหม ถ้าคลุกคลีก็อยู่บ้าน ถึงอยู่บ้าน การฟังธรรมก็เป็นการที่จะไม่คลุกคลีอยู่นั่นเองทั้งๆ ที่อยู่บ้าน แต่เมื่อฟังธรรมก็ไม่ใช่ว่าเป็นการให้คลุกคลีหรือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของการคลุกคลี แต่ว่าเป็นเรื่องของการไม่คลุกคลี

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องการคิด ข้อความมีว่า

    หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตก เห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม คือ เนกขัมมวิตก อัพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้ตัวในการตรึก

    วันหนึ่งๆ นี่คิดบ่อยเหลือเกิน ถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลยว่า ที่คิดนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล แต่ถ้าเจริญสติทราบได้จริงๆ ว่า จิตในขณะนั้นเป็นความกังวลด้วยโลภะ หรือด้วยความขัดเคืองใจ หรือเป็นเพราะโมหะก็ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่จิตเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ตรึกไปในเรื่องของความพอใจบ้าง ในเรื่องของความไม่พอใจบ้าง ในขณะนั้นไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตดวงนั้นเลย ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้ สำหรับผู้ที่หลงลืมสติมานาน และเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส กิเลสทำให้หลงลืมสติ ทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติก็เกิดระลึกได้ เป็นเนกขัมมวิตก ระลึกรู้ลักษณะของนาม หรือรูปในขณะใด ขณะนั้นออกจากกามที่จะเป็นไปในการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ด้วยการที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นเนกขัมมวิตก เป็นอพยาปาทวิตก เป็นอวิหิงสาวิตก

    หรือว่า ในขณะที่เป็นกุศลจิต สติเกิดขึ้น เว้นการตรึกที่เป็นกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก เมื่อสติเกิดขึ้นเว้นในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ใช่มีปกติเจริญสติ ในขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง หรือว่าเป็นรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นนาม หรือเป็นรูป ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จึงจะรู้ได้

    ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นชัดว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องรู้อะไร อย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระอานนท์เรื่องกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ นี้แลกามคุณ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแล ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา เพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง

    ดูกร อานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า มีอยู่แล เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า

    ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้แล้ว แต่ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา เพราะกามคุณ ๕ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เราละได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕

    กล่าวไว้ชัดเจนทีเดียวว่า รู้สึกตัวในกามคุณ ๕ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพารมณ์ มีความพอใจ ผู้เจริญสติรู้ชัด แล้วก็ละคลายมากขึ้นๆ จนตนเองก็ทราบว่า หมดแล้ว ไม่มีแล้วความพอใจในกามคุณ ๕ ไม่ใช่วิธีอื่น การที่จะละความพอใจในกามคุณ ๕ ได้ไม่ใช่ว่าไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดโทสะ แล้วจะเป็นวิธีที่จะละความพอใจในกามคุณ ๕ แต่เป็นเพราะพิจารณา รู้ชัดว่ามีอยู่ พิจารณารู้ชัดต่อไปๆ เรื่อยๆ แม้ในขณะที่ไม่มีก็รู้ แม้ในขณะที่ดับหมดเป็นสมุจเฉทแล้วก็รู้ เพราะว่าสติระลึก รู้ชัด ว่าไม่เกิดอีกแล้วเพราะอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    3 มิ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ