รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 06


    ตอนที่ ๖

    และมีข้อความต่อไปในสมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า

    จริงอยู่ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ สำหรับคนที่มีนาสิก (จมูก) ยาว ย่อมกระทบโพรงจมูกเป็นไป สำหรับคนที่มีนาสิกสั้น ย่อมกระทบริมฝีปากเบื้องบนเป็นไป

    ผู้ที่กำลังมีสติระลึกรู้ส่วนของลมหายใจที่กำลังกระทบจะรู้ว่า กระทบที่ส่วนไหน ในโพรงจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

    นอกจากนั้นการเจริญอานาปานสติยังมีความละเอียดที่ว่า ถ้าไม่มีสติที่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่สามารถจะเจริญอานาปานสติได้ เพราะมีอุปกิเลสที่จะทำให้จิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นต้นว่า เวลามีสติที่ลมกำลังกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือริมฝีปากเบื้องบนก็ดี ลักษณะของลมนั้นละเอียดมาก ซึ่งก่อนการพิจารณาลมย่อมหยาบ เมื่อพิจารณาแล้ว ลมจะละเอียดขึ้นๆ เพราะจิตสงบขึ้นๆ

    และในการพิจารณานั้นก็แยกเป็น ๒ ทาง ถ้าเป็นสมถภาวนา เวลาที่จิตสงบเป็นขั้นอุปจารสมาธิ ก็ยังจัดว่าเป็นลมหยาบ ทั้งๆ ที่เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ต่อเมื่อใดเป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดว่าเป็นลมละเอียด

    สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น ในขณะที่เริ่มพิจารณาก็เป็นลมหยาบ เพราะปรากฏให้รู้ลักษณะนั้นได้ แต่เวลาที่พิจารณาสภาพของลมโดยลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่เป็นตัวตน เป็นลักษณะของธาตุ ลักษณะของธาตุนั้นประณีตกว่า เมื่อรู้ลักษณะของธาตุที่เป็นลมหายใจ และเวลาที่มีความรู้ของนามรูปปริจเฉทญาณ ความรู้ขั้นนามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ความรู้ขั้นปัจจัย ปัจจยปริคคหญาณก็ดี ลมที่ปรากฏนั้นก็หยาบกว่าความรู้ขั้นที่รู้ความเกิดขึ้นและดับไปที่เป็นไตรลักษณะของญาณขั้นสูงต่อไป เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสติ มีสัมปชัญญะ และเป็นผู้ที่รู้จักวิธีที่จะไม่ให้ขาดสติจริงๆ ทั้งโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา และโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน

    ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมาธิหรือสมถภาวนา ก็จะต้องพิจารณาลักษณะของลมเช่นเดียวกัน แต่ว่าจุดประสงค์ต่างกัน ความรู้ต่างกัน เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการเจริญอานาปานสติสมาธิซึ่งเป็นสมถภาวนานั้น เพื่อให้จิตสงบจากนิวรณ์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ปัญญารู้ลักษณะแล้วละ เพราะฉะนั้นแยกกันอยู่ตลอดเวลา ทุกขั้นของการพิจารณาลมหายใจ แต่ว่าถ้าเวลาพิจารณาแล้วก็พิจารณาที่ลมกระทบทั้งสองนัย คือทั้งสติปัฏฐานและทั้งสมถภาวนา

    ลมต้องประณีตขึ้นตามจิตที่ประณีต เพราะเหตุว่า ลมหายใจนั้นเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน อุปจารสมาธิ หยาบกว่าอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ลมที่เกิดจากอุปจารสมาธิจิต ก็หยาบกว่าลมที่เกิดจากอัปปนาสมาธิจิต

    สำหรับข้อความที่ว่า ให้มีสติระลึกที่ลมกระทบ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ถ้าไม่ระลึกที่นั่นก็จะขาดสติ หรือสติจะไม่มั่นคง สมาธิจะไม่มั่นคง ถ้าโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา ถ้าคิดที่จะจดจ้องติดตามลมหายใจ คือ คิดถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกด้วยความต้องการ ขณะนั้นจิตก็จะกวัดแกว่งไม่สงบ หรือแม้แต่ความคิดปรารถนานิมิตที่จะให้เกิดขึ้นกับลมหายใจ ในขณะที่ปรารถนาจะให้เกิดนิมิตนั้น จิตก็หวั่นไหว ดิ้นรน

    แม้การเจริญสมถภาวนาก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า กำหนดพิจารณาอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาที่ลมกระทบ มีความต้องการที่จะติดตามลมนั้นไป ความต้องการนั้นก็จะทำให้จิตไม่สงบ กวัดแกว่ง หรือแม้แต่ต้องการให้นิมิตเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นอุปกิเลส ซึ่งไม่ใช่เป็นการระงับความต้องการ ไม่ใช่การระงับกามฉันทนิวรณ์

    ถ้าเป็นนัยของการเจริญวิปัสสนา ต้องรู้เท่าทันจิต แม้ขณะที่สติระลึกรู้ลมที่ละเอียดที่กำลังปรากฏ ถ้ายังมีความผูกพันต้องการ จดจ้อง ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของอัตตา

    เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสติที่ระลึกแล้วก็รู้ชัด แล้วก็ละ แล้วก็คลาย นั่นเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา

    ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา มีข้อความเรื่องสติระลึกที่ลมกระทบว่า

    ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่น

    คำว่า ตั้งสติไว้มั่น คือ เป็นผู้ที่มีสติ ไม่หลงลืมสติ บางคนคิดว่า จะต้องให้เป็นสมาธิ สงบทีเดียว แต่ทุกครั้งที่พยัญชนะว่า ตั้งสติไว้มั่น หมายความถึง เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ

    ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่นที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปาก ไม่ได้ใส่ใจถึงลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ออกหรือเข้า ลมอัสสาสะปัสสาสะ ออกหรือเข้าจะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยชน์สำเร็จ และบรรลุถึงผลวิเศษ เหมือนบุรุษตั้งสติไว้ด้วยสามารถฟันเลื่อยอันผูกที่ต้นไม้ เขาไม่ได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป ฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้ คือ ไม่ต้องติดตาม เพราะว่าถ้าติดตาม ต้องการรู้ จดจ้องลม จะทำให้จิตกวัดแกว่ง เพียงแต่มีสติรู้ลมที่ปรากฏที่กระทบ นั่นเป็นการรู้ลักษณะของลมหายใจ

    สำหรับเรื่องของการเจริญอานาปานสติที่ว่า จะต้องเจริญให้ถูก มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้

    ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา ได้พูดถึงความละเอียดของอุปกิเลสซึ่งมีถึง ๑๘ ประการ แต่จะขอกล่าวเพียง ๖ ประการเท่านั้น สำหรับอุปกิเลสที่จะมีในขณะที่เจริญอานาปานสตินั้น คือ

    เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจออก จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายใน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจเข้า จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายนอก ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจออก การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจเข้า การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความหลงในการได้ลมหายใจเข้า แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจออกครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ความหลงในการได้ลมหายใจออก แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจเข้าครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

    ถ้าพอใจ หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจออกในขณะที่หายใจเข้า หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจเข้าในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ทำให้สติตั้งมั่น

    และที่ว่า ถ้าตามลมหายใจเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จิตถึงความฟุ้งซ่านนั้น ใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีข้อความเรื่องเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของลมหายใจไว้ด้วยว่า

    การใช้สติไปตามนั้น ไม่ใช่ด้วยสามารถการไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ก็ลมออกภายนอกมีนาภีเป็นเบื้องต้น มีหทัยเป็นท่ามกลาง มีนาสิกเป็นที่สุด ลมเข้าภายในมีปลายนาสิก คือ ปลายจมูกเป็นเบื้องต้น มีหทัย คือ หัวใจเป็นท่ามกลาง มีนาภี คือ ท้องเป็นที่สุด

    คือ ตามไปทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ทั้งกาย ทั้งจิตย่อมมีความกระวนกระวาย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตฟุ้งซ่านในภายใน เมื่อกำหนดลมหายใจออกบ้าง ลมหายใจเข้าบ้าง หรือจิตย่อมฟุ้งซ่านในภายนอก เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะติดตามได้ถูกต้องทุกระยะ

    ซึ่งในข้อนี้ก็อุปมาเรื่องเลื่อย ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อความที่ว่า

    หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งระยะเวลา

    ทั้งๆ ที่เป็นลมที่ละเอียด แต่ค่อยๆ แผ่ไป สำหรับผู้ที่มีสติ เวลาที่ลมกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือว่าริมฝีปากเบื้องบนก็ดี จะมีลักษณะของลมที่ปรากฏส่วนหนึ่ง ถ้าลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออกยาว การแผ่ไป หรือการกระทบส่วนนั้นก็มากหรือยาว ทั้งๆ ที่เป็นลมละเอียด เมื่อพิจารณาเห็นกาย คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ยาวสั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณ จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย

    ต้องพิจารณาด้วยสติ ต้องรู้ชัดด้วยญาณในลักษณะของลม จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย

    ต่อไปข้อความที่ว่า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า

    ความหมายคือ ย่อมศึกษา จักทำให้แจ่มแจ้งซึ่งกองลมหายใจออก หายใจเข้าทั้งสิ้น คือ ไม่ให้ขาดสติ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ แต่เดี๋ยวก็ไม่รู้ ขาดสติแล้ว หลงลืมสติแล้ว เพราะเหตุว่าลมหายใจละเอียดมาก บางคนลมอาจจะปรากฏตอนต้น แต่ท่ามกลางกับที่สุด คือ ตอนกลางกับตอนปลายไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งก็เพราะความละเอียดของลมหายใจ

    ให้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า

    หมายความว่าเป็นผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของลมที่เข้า ลมที่ออกโดยไม่ขาดสติ แต่ไม่ใช่ให้ไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด โดยลักษณะของเบื้องต้นเป็นปลายจมูก ท่ามกลางเป็นหทัย แล้วก็ปลายของลมหายใจเป็นนาภี ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอานาปานสติย่อมศึกษา ย่อมพิจารณา ย่อมเสพ ด้วยการที่จักรู้แจ้งกองลมหายใจทั้งปวง จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า

    ลมหายใจออกจะกระทบก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ แต่ว่ารู้นิดหนึ่งก็หมดไป ลงลืมสติ ขาดสติอีกได้ แต่จะรู้แจ้งกองลมทั้งปวงไม่ว่าจะออกจะเข้าขณะใด ก็เป็นผู้ที่ศึกษา พิจารณาลมที่ออกที่เข้าทั้งปวง ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    24 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ