แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793


    ครั้งที่ ๗๙๓


    สุ. ถ้าคนสมัยนี้กล่าวว่า ให้รู้เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว หรือนามเดียว หรือรูปเดียวเท่านั้น จะชื่อว่ารู้ลักษณะที่แท้จริงของนามธรรมได้ไหม ถ้ารู้จริงแล้วทำไมทางตาไม่รู้ ในเมื่อทางตาก็เป็นนามธรรม เมื่อรู้จริงแล้วทำไมทางหูไม่รู้ ในเมื่อทางหูก็เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ ประจักษ์แจ้งในธาตุรู้ อาการรู้ ทำไมไม่รู้ว่า ขณะที่คิดนึกก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้เรื่องรู้คำเท่านั้นเอง ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ก็คือสภาพรู้ ธาตุรู้นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้น การที่จะทดสอบปัญญาของท่านเองว่ารู้จริงหรือเปล่า ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใดทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ถ้ารู้จริงก็ต้องรู้ในลักษณะของนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมที่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก นั่นจึงจะเป็นการเข้าใจถึงอรรถ ลักษณะที่แท้จริงของธรรมโดยการประจักษ์

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระอานนท์ถามว่า

    ดูกร ท่านพระอุทายี จักษุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปหรือ ฯ

    ท่านพระอุทายีไม่มีความสงสัยในเรื่องรูป เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องรูปเปิดเผย ประกาศแล้วโดยปริยายต่างๆ เพราะฉะนั้น ท่านพระอุทายีก็รู้เรื่องของจักขุ คือ ตา และรูป คือ รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา

    ท่านพระอุทายีกล่าวว่า

    อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    เหตุและปัจจัยที่อาศัยจักษุวิญญาณเกิดขึ้น พึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้ จักษุวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ ฯ

    ท่านพระอุทายีกล่าวว่า

    ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ ฯ

    ในขณะที่ได้ยิน ไม่มีเห็น นี่คือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่คิดนึก ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยินเลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้เรื่อง สภาพรู้กำลังคิดเรื่องที่กำลังรู้อยู่ในขณะนั้น นี่คือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์จึงถามท่านพระอุทายีว่า เมื่อ จักขุวิญญาณคือการเห็นเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุคือตาและสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อจักขุและรูปซึ่งไม่เที่ยงดับไปแล้ว การเห็นจะมีได้อย่างไร การเห็นก็ต้องดับไป

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้จริงๆ กว่าจะถึงนิพพิทาญาณ ปัญญาจะต้องเจริญจนกระทั่งรู้ถึงปัจจัยเป็นปัจจยปริคคหญาณ ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปที่สืบต่อกันเป็นสัมมสนญาณ ประจักษ์การเกิดดับแต่ละลักษณะเป็นอุทยัพพยญาณ และประจักษ์ความดับไปไม่เที่ยงเป็นภังคญาณ ซึ่งกว่าจะถึงนิพพิทาญาณ ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมก็จะเข้าประตูนิพพานด้วยประตูหนึ่ง โดยเพียงการรู้ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งขณะนั้นเป็นการจำสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นวัตถุหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะว่ายังควบคุมประชุมกันอยู่ ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    และที่ท่านพระอุทายีกล่าวว่า ไม่ปรากฏเลย ท่านผู้มีอายุ โดยเหตุผลว่า ถ้าจักขุปสาทคือรูปดับไป สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป การเห็นก็ย่อมไม่ปรากฏ

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    แม้โดยปริยายนี้แล จักษุวิญญาณนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก เปิดเผย ประกาศแล้วว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฯลฯ

    ข้อความต่อไปเป็นข้อความซ้ำโดยนัยเดียวกัน ตั้งแต่โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณ คือ การลิ้มรส กายวิญญาณ คือ การรู้โผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย ตลอดไปจนกระทั่งถึงมโนวิญญาณ ซึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธัมมารมณ์

    ท่านผู้ฟังจะเห็นประโยชน์ไหมว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียด โดยตลอด ในเรื่องของวิญญาณทั้งหลายซึ่งเป็นนามธรรม ถ้าใครสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยสติปัฏฐานเดียว พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมอื่นเพื่อประโยชน์อะไรที่จะให้รู้ในลักษณะของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ ความจำ ต่างๆ มากมาย เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึก ให้ปัญญารู้ชัดจนกระทั่งดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ความสงสัย ความคลางแคลง ความไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการแสดงโดยเปล่าประโยชน์จริงๆ ถ้าผู้นั้นสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยไม่ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริง และข้อความที่กล่าวนั้นก็แสดงถึงความเคลือบแคลงสงสัยแล้วว่า นามอื่นทางอื่นรู้ไม่ได้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่พูดว่า ให้รู้เพียงรูปเดียวหรือนามเดียว

    ข้อความต่อไป

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ดูกร ท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าไปสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรัง ในป่านั้น พึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นได้ ฉันใด ดูกร ท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตน หรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

    เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรน ก็ปรินิพพานโดยแน่แท้ ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

    จบ สูตรที่ ๗

    ขอให้พิจารณาข้อความตอนท้ายที่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกร ท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าไปสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรัง ในป่านั้น

    ยังเป็นต้นกล้วย ยังเป็นท่าเป็นทาง รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน

    พึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก

    ต้องเพิกถอนสิ่งที่เคยยึดถือว่า รวมกันประชุมกันเป็นวัตถุ เป็นตัวตน เป็นท่าทางออก

    แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นได้

    จึงจะละการยึดถือว่าเป็นต้นกล้วย

    เหมือนกับโคทั้งตัว ถ้าไม่ลอกหนังออก ไม่ตัดส่วนต่างๆ ชิ้นต่างๆ ออก ก็ยังคงเห็นว่าเป็นโค ตราบใดที่ยังควบคุมประชุมกันอยู่ จดจำไว้เป็นท่าทาง เป็นอาการหนึ่งอาการใด ก็ยังคงเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นวัตถุ เป็นบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นตัวเป็นตนอยู่ ต่อเมื่อใดรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจึงจะไม่ยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหมือนกับการที่ลอกกาบออก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นได้ ฉันใด ดูกร ท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตน หรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

    ชัดเจนไหม ในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้มีท่าทางอะไรเลย

    ทางตาเป็นอายตนะหนึ่ง คือ จักขายตนะ เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าตราบใดยังเป็นคนกำลังนั่ง ที่จะบอกว่าไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นแต่เพียงความคิด นึกเอาว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ประจักษ์

    ที่จะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะที่เห็น เพียงเห็น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หลังจากนั้นจึงตรึก หรือจำสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ และจึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แม้ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่รู้ ที่จำ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และก็หมดไปแล้ว

    ทางหูกำลังได้ยิน ไม่มีความทรงจำเหลือค้างอยู่จากทางตาว่า กำลังเห็นคนนั่งอยู่ หรือกำลังคุยกัน กำลังพูด เพราะขณะนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ได้ยินซึ่งเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้นั้นรู้เสียงเท่านั้น ไม่รู้อื่นเลย หลังจากนั้นจึงมีการคิดถึงคำหรือเรื่องหลังจากที่ได้ยินเสียงต่ำเสียงสูงนั้นแล้ว ซึ่งขณะนั้นสติและปัญญาก็รู้ว่า แม้ขณะที่รู้คำ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่รู้ เมื่อประจักษ์อย่างนี้จริงๆ จึงจะถอนความเป็นตัวตน แม้ในขณะที่เห็นสิ่งต่างๆ และจะเข้าใจในอรรถ ความหมาย ของคำว่า ความสงบในภายใน เพราะจิตไม่ได้ออกไปยุ่งเกี่ยวกับภายนอกที่เป็นตัวตน คน สัตว์เลย ไม่ว่าขณะใดที่จะมีการเห็น สติเกิด ปัญญารู้ชัดในขณะนั้น เป็นความสงบในภายใน เพราะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สงบ

    แต่ที่ไม่สงบ เพราะว่ามีคนมากมาย พอเห็นนิดเดียว ถ้าเป็นคนที่เคยมีสัมพันธ์ หรือว่ามีเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกันมา ก็มีเรื่องมาก แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยรู้จัก เรื่องก็สั้น พอเห็น ผ่านไป คิดนิดเดียวก็หมดแล้ว ไม่ได้ติดตามไปถึงเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด

    อย่างในขั้นของปาติโมกข์สังวรศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ควรแก่สมณะ คือ เพศบรรพชิต ผู้สงบ แม้แต่การมอง ก็มองชั่วแอก เพราะว่าเป็นการให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ควรจะคิดวิจิตรเป็นคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะรู้และเข้าใจถึงเหตุผลว่า จะเห็นอะไรก็ตาม ก็มีความรู้สึกเพียงว่าเห็น จะชั่วแอกหรือไม่ชั่วแอกก็ตามแต่ แต่เห็นแล้วก็จบ หมดแล้ว ก็จะทำให้ไม่มีความผูกพัน เยื่อใย ความคิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาที่จะเป็นเครื่องข้อง เครื่องกังวล ไม่ให้ระลึกรู้ลักษณะที่แท้จริงว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เห็นแล้วก็ไม่สนใจในนิมิต ในอนุพยัญชนะ เพราะถ้าสนใจ ความติดข้องพัวพันด้วยโลภะ อภิชฌา ก็มีมาก หรือว่าถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่พอใจ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดความไม่ยินดี ซึ่งทำให้ไม่สามารถละการยึดถือสภาพนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะฉะนั้น ค่อยๆ ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ในสภาพที่กำลังเห็น ก็มีความสงบในภายใน เมื่อปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่า ที่เคยเห็นเป็นโลกภายนอกมีคนมากมายนั้น ก็เป็นแต่เพียงความคิด ถ้าไม่คิดจะมีคนมากมายไหม เพียงเห็นแล้วก็หมด แต่เพราะเคยคิดมานาน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมคิด แล้วแต่ว่าท่านจะอยู่ในโลกของความคิดอย่างไร แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ละคนคิดก็ไม่เหมือนกัน ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา

    เห็นดอกไม้ ท่านหนึ่งพอใจว่าสวย อีกท่านหนึ่งว่าไม่สวย เพราะฉะนั้น สวย หรือไม่สวย ก็อยู่ในความคิดของแต่ละคน โลกที่แท้จริงเป็นโลกของความคิด ของท่าน แล้วแต่ว่าท่านจะคิดอย่างไร ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ จะรู้ชัดว่า ท่านไม่ได้อยู่กับคนหลายคนเลย แต่ท่านอยู่กับความคิดเท่านั้น แล้วแต่ว่าท่านจะคิดอะไร

    ถ้าท่านมีความทุกข์ ทราบได้เลยว่า ทุกข์เพราะความคิดของท่าน สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ แต่ท่านเป็นทุกข์มากเพราะคิด เพราะฉะนั้น ความคิดของท่านนั่นเองเป็นโลกของความทุกข์ที่เกิดขึ้น ถ้าท่านเป็นสุข ก็โดยนัยเดียวกัน ดังนั้นไม่ควรหลงลืมที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงความคิด

    อย่างบางท่านดูโทรทัศน์เรื่องที่ชอบใจ เป็นสุข ซึ่งแท้ที่จริงเห็นแล้วคิด เพราะฉะนั้น ที่ท่านเป็นสุข เป็นสุขจากความคิดหลังจากที่ท่านเห็น ถ้าท่านไม่คิด ก็ไม่มีโลกนั้นอยู่ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในขณะใดก็ตาม โลกของท่านก็คือความคิดของท่านนั่นเอง เพราะฉะนั้น โลกแต่ละขณะ จึงเป็นนามธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ จะไปรู้ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน และจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรม แต่ในขณะที่คิดก็ไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงโลกของความคิด ซึ่งคิดแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความสงบในภายใน ไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ความสงบในภายในเกิดขึ้นเพราะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีอะไร มีแต่สภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ. ความสุขความทุกข์เป็นเรื่องของความคิด แต่ผมไม่เข้าใจว่า มีใครอยากจะคิดทุกข์ ทุกข์นี้ไม่มีใครอยากได้ เพราะฉะนั้น คิดให้เป็นทุกข์นั้น คิดอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่คิดให้เป็นทุกข์ แต่มีเหตุปัจจัยให้คิด และเป็นทุกข์

    ถ. หมายความว่า มีปัจจัยเกิดขึ้น

    สุ. ให้คิด และเป็นทุกข์

    ถ. มีสมบัติพลัดพรากไป หรือว่าแทงม้าเสีย กลับมาถึงบ้านก็คิดว่า วันนี้เสียไปเท่านั้นเท่านี้ การแทงม้าเป็นปัจจัยให้กลับมาคิดที่บ้าน

    สุ. ถ้าไม่คิดเรื่องเสียม้า มีความทุกข์ไหม กลับไปบ้านก็เห็น แต่ไม่คิดเรื่องเสียม้า จะทุกข์ไหม

    ถ. ไม่ทุกข์

    สุ. ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นจริงๆ ได้ยินจริงๆ และทิ้งไป ก็ไม่มีโลกของความทุกข์ความสุขที่เป็นเรื่องเป็นราว แต่ขณะใดที่เห็น และมีปัจจัยให้คิด ปัญญาจึงต้องรู้ว่า ในขณะที่คิด เป็นแต่เพียงความคิดจริงๆ ม้าไม่มีในขณะนั้น มีแต่ความจำเรื่องม้าที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น

    ถ. ข้อนี้เข้าใจ แต่ที่ท่านอรรถกถาอธิบายไว้ว่า ประตูเมืองทั้ง ๔ คือ สติปัฏฐาน ๔ ท่านหมายความว่าอย่างไรที่ว่า เจริญสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด ก็เข้าถึงใจกลางเมือง คือ พระนิพพาน

    สุ. อย่าลืมว่า ในขณะที่โลกุตตรจิตจะเกิด ถ้าโลกุตตรจิตจะเกิดเดี๋ยวนี้ ท่านผู้ฟังจะรู้ได้ไหมว่า ขณะนี้เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้เลือก เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ท่านอบรมเจริญสติปัฏฐานวันนี้ อีก ๑๐ ปีข้างหน้า สมมติว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้โลกุตตรจิตเกิดขึ้น ท่านจะรู้อารมณ์ในอีก ๑๐ ปีไหมว่าอะไรจะเกิดในขณะไหน และปัญญาพร้อมที่จะรู้แจ้งนิพพาน หลังจากที่สติระลึกเป็นไปในกาย หรือเป็นไปในเวทนา หรือเป็นไปในจิต หรือเป็นไปในธรรม อย่าลืมความเป็นอนัตตา และปัญญาจริงๆ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งดับความสงสัย

    การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องดับวิจิกิจฉานุสัย

    อนุสัย หมายความถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ขณะนี้ที่ไม่ทราบว่า เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น ถ้าปัญญาที่รู้ไม่เกิดขึ้น อะไรจะดับความสงสัยได้ เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่เพียงดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ยังดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจด้วย และการดับก็ต้องมีเหตุ คือ ปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นขณะใด ก็ละคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

    ถ. หมายความว่า การเจริญสติปัฏฐาน เบื้องต้นต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔

    สุ. ในอรรถกถามีกล่าวไว้ว่า ในเบื้องต้นนั้น มีนานาอารมณ์ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์เดียว

    ถ. ที่ท่านอุปมาประตูทั้ง ๔ หมายถึงว่า ก่อนโลกุตตรจิตเกิดขึ้น

    สุ. ใช่ ก่อนโลกุตตรจิต ขณะนั้นแล้วแต่ว่า ใครจะมีกายเป็นอารมณ์ หรือมีเวทนาเป็นอารมณ์ หรือมีจิตเป็นอารมณ์ หรือมีธรรมเป็นอารมณ์

    ถ. หมายถึงอารมณ์ในขณะนั้นขณะเดียว ขณะอื่นไม่เกี่ยว

    สุ. แน่นอน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๗๙๑ – ๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564