แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798


    ครั้งที่ ๗๙๘


    สุ. เรื่องของกาย วาจา เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังอย่างมาก แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ยากที่จะเห็นว่า ขณะใดควรงดเว้น แม้แต่เพียงคิด หรือนึก ยังไม่ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา

    อย่างบางท่านที่ท่านสะสมมาที่จะมีวจีทุจริตทางวาจา อาจจะเป็นผรุสวาจาเวลาที่ขาดเมตตา สติเกิดขึ้นรู้ว่าขณะนั้นไม่มีเมตตาเลย และก็รู้ว่า เดี๋ยวจะมีทุจริตกรรมทางวาจาเกิดต่อแน่ๆ แต่ก็ยับยั้งไม่ได้ ใช่ไหม

    และไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตหรืออกุศลกรรมใดๆ ก็ตาม เมื่อมีปัจจัยย่อมเกิดขึ้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล จะให้หมดอกุศลกรรมที่จะทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีปัจจัยซึ่งจะให้เกิดเจตนาที่เป็นอกุศลที่จะทำทุจริตกรรม ไม่ขณะหนึ่งก็ขณะใด ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

    ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะวิรัติอกุศลกรรมได้อย่างที่ต้องการ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้กระทำทุจริตกรรมเกิดขึ้นขณะใด ก็กระทำทุจริตกรรมไปในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังล่วงศีลอยู่มาก และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานน้อย ย่อมจะหวั่นไหวแน่นอนเวลาที่ระลึกถึงทุจริตกรรมของตน ที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่กำลังคิดถึงสิ่งที่เคยทำมาแล้ว เป็นแต่เพียงสัญญา ความจำเท่านั้น ปัญญาไม่มีกำลังพอที่จะรู้ชัดในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ย่อมหวั่นไหว เดือดร้อนใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว แต่ถ้า ผู้นั้นอบรมเจริญสติปัฏฐานยิ่งขึ้น จะมีปัญญาที่สามารถรู้ทันทีว่า แม้ขณะที่คิดอย่างนั้น ก็เป็นสภาพนามธรรมที่เกิดเพราะความจำที่คิดขึ้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนจริงๆ

    ความหมายของไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนจริงๆ ในนามธรรม และรูปธรรมแต่ลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น ปัญญาต้องรู้จริงๆ ในขณะนั้น ถ้าในขณะนี้ยังไม่ใช่ปัญญาขั้นนั้น ก็เป็นขั้นเข้าใจเท่านั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่คิด เพราะว่าการคิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ สัญญา ความจำ และวิตกซึ่งตรึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดแล้วแต่การสะสมมา

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะอบรมเจริญปัญญาให้มั่นคงจนกระทั่งไม่ว่าจะคิดด้วยความเดือดร้อนใจประการใด หรือว่าด้วยกุศลขั้นใดก็ตาม ในขณะนั้นต้องสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมในขณะนั้น รู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ต้องรู้จริงๆ ในขณะที่ปัญญาเกิด และการละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตนนี้ จะทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นขึ้นอีก และก็ละคลายอีก และก็รู้ชัดขึ้นอีก และก็ละคลายอีก

    การรู้เป็นเหตุให้เกิดละ และเมื่อละแล้วก็ย่อมจะรู้ชัดขึ้น และก็ละคลายได้มากขึ้น และก็รู้ชัดมากขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ

    ถ. เจตนา การให้ทาน เจตนามี ๓ กาล คือ ปุพพเจตนา มุญจนเจตนา และอปราปรเจตนา เพราะฉะนั้น เจตนามี ๓ กาล การเหยียบมดตายนี้ ปุพพเจตนาไม่มี มุญจนเจตนาไม่มี แต่อปราปรเจตนาจะต้องมี เพราะรู้ว่ามดนี้เราเหยียบตาย

    สุ. ตายแล้ว มีเจตนาทีหลังหรือ

    ถ. เจตนาเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้ว่ามดตาย ขณะนั้นก็มีเจตนาเจตสิกประกอบด้วย

    สุ. เจตนาอะไร มดตายแล้ว จะมีเจตนาอะไร

    ถ. ก็รู้ว่ามดตายแล้ว

    สุ. ก็รู้ แต่เจตนาอะไรกับตายแล้ว จะฆ่าให้ตายอีกทีหรืออย่างไร ตายทีเดียวไม่พอ ตายแล้วต้องตายอีกหรือ ตายแล้วก็แล้วไป ก็ตายแล้ว

    ถ. เรื่องการจดจ้อง คือ สภาพธรรมเกิดขึ้น ๒ อย่าง ไล่เลี่ยกันอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ขณะนี้ผมได้ยินเสียงอาจารย์พูด ขณะเดียวกันต่อจากนั้นโดยรวดเร็ว ได้เห็นรูปด้วย แต่ถ้าเราจะระลึกนามธรรมและรูปธรรมที่เกี่ยวกับเสียงอย่างเดียว โดยไม่ระลึกนามธรรมและรูปธรรมที่เกี่ยวกับการเห็น จะถือว่าเป็นการจดจ้องหรือเปล่า

    สุ. มีความเข้าใจถูกใช่ไหมว่า การรู้ลักษณะของสภาพธรรม สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทางไหนก็ได้โดยไม่ใช่เลือก รู้อย่างนี้หรือเปล่า

    นี่เป็นขั้นรู้ และเวลาที่สติเกิดจริงๆ ที่ถูกต้อง ก็ควรที่จะศึกษาเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ แต่อย่างที่ทุกท่านทราบ คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ในช่วงขณะที่ไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ย่อมมีความคิดแทรกคั่นได้ว่า ขณะนั้นจงใจหรือเปล่า ใช่ไหม

    เจตนานี้พูดกันบ่อย เหมือนชื่อ แต่ว่าความจริงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ ในขณะนั้นที่รู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่จงใจ ไม่ใช่เรา นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า แม้ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง นี่คือการไม่เลือก ต้องไม่เลือกจริงๆ อาจจะเกิดคิดสงสัยขึ้นมาว่า จงใจหรือเปล่า ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพคิดและก็หมดไป และก็มีลักษณะของสภาพธรรมอื่นปรากฏให้สติระลึกศึกษาได้

    จะมีความสงสัย จะมีความไม่แน่ใจ จะมีความคิด จะมีการตรึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามเหตุตามปัจจัยที่ยังข้องใจ ยังสงสัย ยังไม่หมดความลังเล จนกว่าสติจะระลึกศึกษาเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นหนทางเดียวที่จะละความสงสัยและการจดจ้อง เพราะรู้ว่าถ้าลักษณะนั้นปรากฏ มีจริงๆ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งแล้วก็ดับไป ไม่ต้องเดือดร้อน

    แต่ที่เดือดร้อน เพราะว่าปัญญายังไม่รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เลือกไม่ได้จริงๆ ถ้ายังยึดถือสภาพธรรมอะไรว่าเป็นตัวตน ก็จะต้องศึกษาสภาพธรรมนั้น รู้สภาพธรรมนั้นแหละ จนกว่าจะหมดความสงสัยในสภาพที่ปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น หรือว่าเป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น

    ขณะนี้กำลังกระทบสัมผัส อาจจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว หรือจะเป็นทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยินก็ได้ ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ ว่า เป็นลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมซึ่งปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ต้องสามารถที่จะแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมออกจากกันได้ จึงจะหมดความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง เมื่อครั้งเจริญสติใหม่ๆ ขณะใดที่สติไม่เกิด รู้สึกว่ามีความต้องการ อยากจะให้สติเกิด สมมติว่าถือดินสออยู่อย่างนี้ ก็เอามือบีบเข้าไปที่ดินสอให้รู้สึกแข็ง แต่ความจริงขณะนั้นสติระลึก เข้าใจว่าเป็นสภาพของเจตนา

    สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ก่อนที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยปรากฏ หรือว่าไม่เคยสนใจ แต่ว่าสภาพธรรมนั้นก็ปรากฏ อย่างปกตินี่ลักษณะของเจตนาจะปรากฏไหม โดยมากจะเป็นการคิด เดี๋ยวจะกลับบ้าน ก่อนกลับบ้านจะทำอะไรบ้าง นี่เป็นความคิด ใช่ไหม ซึ่งทุกท่านก็บอกว่านี่คือความตั้งใจ และตามที่ได้ศึกษามาก็ทราบว่า ลักษณะของเจตนานั้นเป็นสภาพที่จงใจหรือตั้งใจ

    โดยมากท่านผู้ฟังจะคิดว่า ขณะที่คิดนั้นเป็นความตั้งใจ แต่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ลักษณะอาการที่ตั้งใจก็ปรากฏได้ ลักษณะที่เป็นความเพียรก็ปรากฏได้ ลักษณะที่เป็นฉันทะก็ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปกติเคยยึดถือขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ว่าเป็นตัวตน นั่นในขณะที่รู้ชื่อ ว่ายึดขันธ์ ๕

    แต่เวลาที่สภาพธรรมจริงๆ ปรากฏ ก็จะเห็นได้ว่า สังขารขันธ์ที่เคยยึดถือว่า เป็นเรานั้นมีอะไรบ้าง ฉันทะ ความพอใจ โลภะ ความติดข้อง โทสะ ความโกรธ หรือว่าวิริยะ ความเพียร ซึ่งโดยการศึกษาทราบว่า เมื่อเจตสิกที่ไม่ใช่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิกแล้วก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น วิริยะก็ดี เจตนาก็ดี โลภะก็ดี โทสะก็ดี เป็นสังขารขันธ์ และก็เคยยึดถือสังขารขันธ์นั้นว่าเป็นเราโดยชื่อ แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ก็จะเห็นได้ว่า สังขารขันธ์เป็นสังขารขันธ์ คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ สติระลึกศึกษา รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้วท่านก็จะละเพียงการยึดถือในรูปขันธ์บางรูป และวิญญาณขันธ์บางประเภท แต่การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ใช่ละเฉพาะการยึดถือในรูปขันธ์และวิญญาณขันธ์

    ถ้าตราบใดยังไม่รู้ชัดในลักษณะของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ด้วย จะไม่หมดการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ถ. สังขารขันธ์ คือ การปรุงแต่งที่เป็นปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารใช่หรือไม่

    สุ. นั่นโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท สังขารมีหลายความหมาย เช่น สังขารธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป เป็นสังขารธรรม

    สำหรับสังขารขันธ์ แยกปรมัตถธรรม ๔ เป็นขันธ์ ๕ คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก ๑ ประเภท หรือ ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ประเภท หรือ ๑ ดวง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ ๑ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ ที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์

    ในปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ ที่ว่าสังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณคือปฏิสนธิจิตนั้น ถือเอาเฉพาะเจตนาเจตสิก ๑ ในสังขารขันธ์ ๕๐ เพราะว่าเจตนาเป็นตัวกรรมที่ปรุงแต่งเป็นปุญญาภิสังขาร เป็นกุศล อปุญญาภิสังขาร เป็นอกุศล และอเนญชาภิสังขาร คือ อรูปฌานกุศล

    เพราะฉะนั้น โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้หมายถึงสังขารขันธ์ทั้ง ๕๐ ประเภท แต่หมายเฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวที่เป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาท

    ขณะที่เวทนา ความรู้สึกปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่ผัสสะ ไม่ใช่เจตนา ไม่ใช่ฉันทะ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ เป็นลักษณะสภาพของความรู้สึกเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สังขารขันธ์

    เวลาที่จำได้ กำลังจำ กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่สังขารขันธ์ แต่ว่าเจตสิกอื่นปรุงแต่งให้เป็นกุศล หรืออกุศล

    ศรัทธาก็ดี สติก็ดี ปัญญาก็ดี ในขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ในขณะที่เป็นกุศลนี้จิตผ่องใสปราศจากอกุศล เป็นเพราะกิจและลักษณะของศรัทธาเจตสิก ในขณะนั้นจะต้องมีสติคือการระลึกรู้ในอารมณ์ ในเรื่องที่กำลังได้ยินได้ฟัง และในขณะที่กำลังเข้าใจ สภาพที่เข้าใจนั้นคือปัญญา แต่เมื่อมีกำลังอ่อน ยังไม่ใช่ปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้ ก็จะต้องปรุงไป ฟังไป พิจารณาไป ระลึกไป ศึกษาไป ปรุงไปเรื่อยๆ จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถจะรู้แจ้งในนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นในขณะนั้น ด้วยการปรุงแต่งของสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์นั่นเอง แต่ไม่ใช่ด้วยการปรุงแต่งของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ รูปขันธ์ และวิญญาณขันธ์

    ถ. สมมติว่า พรุ่งนี้จะมีการเลี้ยงพระ และเราเป็นเจ้าของสถานที่ เจ้าของงานก็คิดไป ตรองไปว่า จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้สำหรับพรุ่งนี้ ก็คือการปรุงแต่ง และขณะนั้นสติระลึกรู้สภาพของการนึกคิดนั้นขึ้นมาทันที อย่างนี้จะเรียกว่า มีสติรู้สังขารขันธ์ไหม

    สุ. สังขารขันธ์ ไม่ใช่ชื่อ เป็นสภาพของเจตสิกซึ่งปรุงแต่งทุกๆ ขณะ ขณะที่กำลังคิดในขณะนี้ สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้คิดอย่างนี้ เวลาที่เป็นกุศลจิต สังขารขันธ์ทั้งหลายที่สะสมมาฝ่ายกุศลก็ปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม เพราะถ้าปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าใครจะคิดอะไร ขณะไหน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง เกิดขึ้นและก็ดับไป

    เรื่องของจาคานุสสติ เป็นเรื่องของการอบรมให้สงบ ปราศจากอกุศล ซึ่งเป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ปกติทุกท่านย่อมทราบว่า ขณะใดที่สติไม่เกิด ขณะนั้นย่อมต้องเป็นอกุศล ซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วเหลือเกิน ในขณะที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้มีการพิจารณาธรรมหรือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือไม่ได้ระลึกเป็นไปในอารมณ์ที่ให้สงบได้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    เรื่องของการภาวนา คือ การอบรมจิตใจ ซึ่งต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวันที่จะให้จิตสงบโดยนัยของสมถภาวนา หรือว่าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นวิปัสสนา เช่น ในขณะนี้มีการฟังธรรม ขณะที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ท่านจะทราบหรือไม่ทราบ แต่ก็เป็นลักษณะของกุศลธรรมซึ่งประกอบด้วยสติในขณะที่เข้าใจและพิจารณาธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ถ้าไม่ใช่สติที่ระลึกเป็นไปในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ไม่ใช่ทาน และไม่ใช่ศีล แต่เป็นลักษณะความสงบของจิต

    แต่การที่จะอบรมความสงบของจิตในวันหนึ่งๆ ก็ไม่ใช่จะมีการฟังธรรมอยู่ เรื่อยๆ หรือว่ามีการเข้าใจธรรมจากการได้ฟัง หรือการพิจารณาธรรมที่เคยได้ฟัง เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า การเข้าใจถูกต้องในอารมณ์ของ สมถภาวนา จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกเป็นไปในอารมณ์ใดที่จะทำให้สงบ

    ท่านผู้ฟังทุกท่านต้องเคยให้ทานมาแล้ว เมื่อให้ไปแล้ว เคยระลึกถึงทาน การให้และจิตใจสงบบ้างไหม นี่คือชีวิตปกติประจำวันตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เคยระลึกถึงทานที่เคยให้แล้ว วันหนึ่งอาจระลึกได้ว่า ถ้าระลึกถึงทานที่ได้กระทำอย่างถูกต้องแล้ว จิตจึงจะสงบ แต่ถ้าระลึกและก็เกิดความพอใจ ความหวังในผลที่จะเกิดขึ้นจากการให้ ซึ่งอาจจะเป็นในปัจจุบันชาตินี้หรือในชาติต่อๆ ไป และก็เกิดความติดข้องผูกพันในผลของทานที่จะเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็ไม่สงบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๗๙๑ – ๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564