แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800


    ครั้งที่ ๘๐๐


    ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไป เพื่อที่จะได้รู้ถึงเหตุอันแท้จริงว่า ความตรึกซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความพอใจนั้น ความตรึกนั้นมีอะไรเป็นเหตุ

    ท่านผู้ฟังเคยพิจารณาคิดอย่างละเอียดอย่างนี้ไหม ในขณะที่มีความยินดีพอใจไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เคยใคร่ครวญถึงเหตุของเหตุที่จะทำให้เกิดความพอใจนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะดับความยินดีพอใจนั้นได้ เพราะไม่รู้เหตุ แม้แต่ท้าวสักกะจอมเทพก็ยังกราบทูลถามว่า ความตรึกมีอะไรเป็นเหตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร จอมเทพ ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด ฯลฯ

    สัญญา คือ ความจำ ปปัญจธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้าในการเจริญกุศล สัญญา ความจำ เกิดกับจิตทุกขณะ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลสัญญา ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นกุศลสัญญา ขณะใดที่เกิดร่วมกับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ว่าเที่ยง ขณะนั้นสัญญานั้นก็เป็นอัตตสัญญา นิจจสัญญา และเป็นสุขสัญญาด้วย เวลาที่เกิดกับสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา

    เมื่อไรจะมีสัญญาที่ไม่ใช่อกุศลสัญญา ที่เป็นอนิจจสัญญา ทุกขสัญญา อนัตตสัญญาตามความเป็นจริง เพราะสัญญาจะต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสติไม่เกิด การตรึกก็ตรึกไปในรูปร่างสัณฐานและก็มีการยึดถือจดจำว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ และสัญญาก็จำอย่างนั้นมาเรื่อยๆ ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การที่จะให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กุศลสัญญาจะต้องเกิดกับสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่กำลังปรากฏ พร้อมปัญญาที่ศึกษาเริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนขณะใด สัญญาในขณะนั้นจึงจำลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นอนัตตสัญญา และการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์อนิจจลักษณะ คือ สภาพที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นและก็ดับไป เมื่อนั้นก็จะเป็นอนิจจสัญญา

    เพราะฉะนั้น สัญญามีมาก แต่ว่าเมื่อเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลสัญญา

    ถ. ความตระหนี่ มีอะไรเป็นสมุฏฐานให้เกิด

    สุ. ความพอใจ

    ถ. อีกข้อหนึ่ง คือ ความตระหนี่เกิดจากการที่เราให้ และของเราหมด เราก็เกิดความตระหนี่

    สุ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความริษยาและความตระหนี่มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ

    ถ. แต่ว่าคนที่เกิดความตระหนี่ คือ ให้แล้วกลัวว่าของตัวเองจะหมด

    สุ. นั่นคือ มีอารมณ์อันเป็นที่รัก คือ รักของเป็นเหตุ และเวลาที่ตระหนี่ ก็คือ มีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ คือ ไม่ให้กับคนที่ไม่รัก คนที่รักไม่กลัวหมด ใช่ไหม เท่าไรก็ให้ได้ ถึงจะหมดก็ยังให้ สำหรับคนที่เป็นที่รัก

    เพราะฉะนั้น ทั้งความริษยาและความตระหนี่จึงมีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ ความตระหนี่เป็นอกุศล ผู้ที่จะดับอกุศลจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองและต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ปุถุชนไม่ใช่พระโสดาบัน พระโสดาบันไม่ใช่พระสกทาคามี พระสกทาคามีไม่ใช่พระอนาคามี พระอนาคามีไม่ใช่พระอรหันต์ คุณธรรมต่างกันเป็นขั้นๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    เมื่อยังไม่ได้ดับความตระหนี่เป็นสมุจเฉท ความตระหนี่ก็เกิดขึ้น ถ้าไม่เคยฟังธรรมเลย ไม่เคยอบรมเจริญสมถะหรือวิปัสสนาเลย ย่อมมีความคิดต่างๆ นานาที่เป็นอกุศล กลัวทรัพย์หมด ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นสมถภาวนา แทนที่จะเกิดความตระหนี่ต่อไป ก็จะเปลี่ยนความคิดเป็นความเมตตากรุณาได้ และถ้าเป็นวิปัสสนาก็จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของความตระหนี่ ซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วในขณะนั้นตามเหตุตามปัจจัย ลักษณะของความตระหนี่เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น

    ถ. มีอยู่อีกลักษณะหนึ่ง คือ ไม่อยากให้คนอื่นดีกว่าเรา หรือว่าคนอื่นก็ไม่อยากให้เราดีกว่าเขา อะไรทำนองนี้ เป็นความตระหนี่หรือเปล่า

    สุ. ทำไมถึงช่างคิดเป็นอกุศลอย่างนั้น

    ถ. เป็นความตระหนี่หรือไม่

    สุ. ตระหนี่คำสรรเสริญ เป็นความคิดที่ผิดมาก เพราะฉะนั้น ยังไม่ใกล้ความเป็นพระอริยเจ้า ไม่มีพระโสดาบันบุคคลที่จะไม่อยากให้คนอื่นบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลด้วย ไม่มีพระโสดาบันบุคคลที่จะหวงแหนความเป็นพระโสดาบันบุคคลไว้เฉพาะตัว ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่สงเคราะห์ที่จะให้บุคคลอื่นได้รู้แจ้งสภาพธรรมเพื่อบรรลุความเป็นพระโสดาบันบุคคลด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังมีความตระหนี่แรงอย่างนั้น ก็ยากเหลือเกินที่จะดับกิเลสได้ เพราะเมื่อตนเองรักตนเอง ฉันใด ต้องการให้ตนเองเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและธรรมอย่างไร ทำไมไม่คิดถึงบุคคลอื่นว่า ก็ย่อมเหมือนกัน และก็ควรที่จะเป็นอย่างนั้นทุกคนด้วย โลกจะได้มีความสุข แทนที่จะมีความตระหนี่กันทั้งนั้น หรือว่าจะมีความริษยากันทั้งนั้น ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความสุขหรือความสงบเลย ตรงกันข้าม ถ้าทุกคนตระหนี่น้อยลง ริษยาน้อยลง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ก็เป็นการดีที่ไม่มีใครริษยาใคร และไม่มีใครตระหนี่ใคร

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ถ้าให้กับคนที่รักก็ให้ได้ บางครั้งถ้าของมีน้อยก็ให้ไม่ได้เหมือนกัน ในครั้งพุทธกาลมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ จูเฬกสาฎกพราหมณ์ มีผ้าอยู่ผืนเดียว ทั้งผัวทั้งเมียมีผ้าห่มอยู่ผืนเดียว เวลาที่ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าพราหมณ์นั้นไปได้ ส่วนเมียไปไม่ได้เพราะไม่มีผ้า เมื่อได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วรู้สึกซาบซึ้งเหลือเกินว่า พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมไพเราะทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด นึกหาไทยธรรมที่จะถวายก็ไม่มี มีผ้าอยู่ผืนเดียว เมื่อคิดจะถวาย ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเรามีผ้าอยู่ผืนเดียว ก็ถวายไม่ได้ เมื่อถวายไม่ได้ก็นั่งเฉยๆ ฟังต่อไป พอถึงมัชฌิมยามก็ซาบซึ้งในพระธรรมเทศนาอีก นึกจะถวายอีก และก็นึกได้ว่ามีผ้าผืนเดียว ถวายไม่ได้อีก จนกระทั่งถึงยามสุดท้ายนึกจะถวาย และตัดสินใจถวายได้ เมื่อตัดสินใจถวายก็ชักผ้าออกมา พร้อมกันนั้นก็ร้องตะโกนว่า เราชนะแล้วๆ

    ในที่นั้นมีพระเจ้าปเสนทิโกศลนั่งฟังธรรมอยู่ด้วย เมื่อได้ยินว่า เราชนะแล้วๆ ก็ตรัสถามว่า ชนะนั้นชนะอะไร พราหมณ์นั้นก็ตอบว่า ชนะกิเลสของตัวเอง ต่อสู้กับกิเลสมาตลอดทั้งคืน ชักผ้าออกทีไรก็นึกถึงว่ามีอยู่ผืนเดียวทุกที จนกระทั่งเวลานี้ถวายได้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ประทานผ้าให้หลายต่อหลายคู่ ฉะนั้นที่อาจารย์กล่าวว่า ให้ของกับคนที่รักได้ พระผู้มีพระภาคก็เป็นที่รัก เคารพ แต่ว่าของมีน้อย ก็ให้ไม่ได้

    สุ. รักใครที่สุด

    ถ. รักตัวเอง

    สุ. ก็เป็นคำตอบอยู่แล้ว เมื่อเทียบเป็นขั้นๆ ถ้าสามารถที่จะสละให้กับบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ก็สละให้กับบุคคลซึ่งเป็นที่รักมาก และตามลำดับลงมา

    ทั้งๆ ที่ได้ฟังแล้ว จะให้กุศลจิตเกิดอย่างใจก็เป็นไปไม่ได้ อย่าลืมว่า แล้วแต่สังขารขันธ์จะปรุงแต่ง ยามที่ ๑ ได้ฟังธรรมแล้ว ก็มีปัจจัย คือ ปัญญาซึ่งเกิดจากความเข้าใจธรรมปรุงแต่ง แต่ว่ายังไม่พร้อมที่การสละจะเกิดขึ้นในปฐมยาม เมื่อฟังต่อไป ยังไม่พร้อมที่จะอุทิศถวายในยามที่ ๒

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การฟังธรรม การอบรมเจริญกุศล ไม่ใช่ว่าจะได้ผลดังปรารถนาทันทีว่า ฟังแล้วก็สละได้ทันที ละกิเลสได้ทันที ดับความตระหนี่ได้ทันที กุศลจิตในการที่จะเจริญในทานหรือภาวนาต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ทันที ต้องแล้วแต่ สังขารขันธ์จะปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ทราบว่า มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น แต่ต้องปรุงแต่งมานานเหลือเกิน ไม่ใช่ว่าภายในเวลาที่เล็กน้อย

    เรื่องของจาคะ คือ การที่สามารถจะสละกิเลสคือความตระหนี่ โดยไม่หวังผล โดยไม่ผูกพันในผลของการสละนั้น จึงจะทำให้จิตใจสงบและบริสุทธิ์ได้

    ระลึกถึงทานที่เคยให้ ก็พิจารณาสำรวจจิตใจของท่านว่า สงบ หรือไม่สงบ ขณะใด เพราะอะไร เพราะการขัดเกลากิเลสโดยการอบรมเจริญสมถภาวนา หมายความถึงขณะนั้นจิตสงบเพราะระลึกถึงจาคะ การสละวัตถุ ซึ่งก็เหมือนกับการที่สามารถสละกิเลสได้ เพราะว่าไม่ได้หวังผล หรือว่าไม่ได้มีจิตผูกพันในผลที่จะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จิตจะสงบจนถึงอุปจารสมาธิ จึงต้องเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป ซึ่งท่านสละกิเลสคือความเห็นผิด การยึดถือกุศลและอกุศลเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะว่าในขณะที่กระทำทานกุศล ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ก็เป็นเราที่ให้ทาน แต่ถ้าสติเกิดขึ้น รู้ทันทีว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป ไม่เที่ยงเลย แม้แต่กุศลเจตนาซึ่งเป็นไปในขณะนั้นก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและก็ดับไป จนกว่าการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะทั่วจริงๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเมื่อเวลาที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ระลึกถึงทานของท่าน จิตก็ย่อมสงบได้ ซึ่งอาจจะมั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ คือ ไม่ถึงฌานจิต

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ลักษณะของความสงบที่จะมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต เป็นขั้นที่ยาก เพราะแม้ว่าจะให้ถึงอุปจารสมาธิก็ยังยาก โดยเทียบตัวบุคคลที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลว่า เมื่อระลึกถึงทาน ความสงบนั้นก็ยังไม่มั่นคงที่จะเป็นอุปจารสมาธิได้ เพราะฉะนั้น ความสงบที่จะเป็นอุปจารสมาธิจริงๆ ต้องสงบอย่างมั่นคงจริงๆ

    ถ. การเจริญสมาธิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ชีวิตประจำวันต้องหมั่นตรวจสอบว่า ศีลหรือทานกุศลของเราเพิ่มขึ้นดีขึ้นหรือเปล่า ต้องตรวจสอบอย่างนี้หรือเปล่า

    สุ. มิฉะนั้นแล้ว เวลาที่ระลึกถึงศีลก็ไม่สงบ ถ้าเป็นผู้ที่ทุศีล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีศีล รักษาศีลเป็นปกติ หรือแม้แต่จาคะที่จะเป็นจาคานุสสติ ผู้ที่จะอบรมให้จิตสงบเวลาที่ระลึกถึงการให้ ต้องเป็นผู้ที่สามารถสละให้บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญจาคานุสสติ ระลึกถึงทานและจาคะคือการสละกิเลส ความตระหนี่ได้ ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ให้ทานเลย ก็สามารถที่จะระลึกถึงการสละ และเกิดความสงบขึ้น เพราะการกระทำย่อมแสดงออกถึงสภาพของจิต

    ถ้าท่านไม่ได้สละวัตถุเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น และจะระลึกถึงจาคะ การสละความตระหนี่โดยการให้ จิตขณะนั้นไม่มีกำลังพอที่จะสงบ เพราะท่านไม่ได้เป็นผู้ที่มีปกติสละให้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้มีปกติสละให้ จึงจะมีกำลังที่จะทำให้จิตสงบมั่นคงเวลาที่ระลึกถึงการสละให้เพื่อให้บุคคลอื่น

    ผู้ที่สละความตระหนี่บ่อยๆ จนเป็นอุปนิสัย และระลึกถึงการสละความตระหนี่ด้วยการให้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่จะมีอัธยาศัยน้อมไปเสมอในจาคะ

    สังเกตได้จากคนที่อยู่ด้วยกันหลายคน ในระหว่างญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ควรจะสละจริงๆ จะรู้ได้เลยว่า ใครมีอัธยาศัยสะสมมาในการสละ เป็นคนที่สละทันทีได้ ในขณะที่คนอื่นอาจจะช้า หรือว่าลังเล หรือไม่สละ เพราะฉะนั้น คนที่สละให้บ่อยๆ ย่อมเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในจาคะ เป็นผู้ที่ ไม่โลภ เพราะสามารถสละสิ่งที่คนอื่นยังติดข้องอยู่ แต่คนนั้นก็ยังสามารถที่จะสละได้ และเป็นผู้ที่สามารถอนุโลมตามความเมตตาที่เกิดขึ้น เพราะบางท่านอาจจะเกิด กุศลจิต มีความเมตตา มีความกรุณาในสัตว์อื่นในบุคคลอื่นจริง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะสละ มีไหมอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญจาคะ การสละความตระหนี่บ่อยๆ ย่อมเป็นผู้ที่แกล้วกล้า เมื่อสามารถสละได้ด้วยความปีติจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความอิ่มใจ บันเทิงใจเวลานึกถึงการสละของตน มากกว่าผู้ที่ไม่สามารถที่จะสละได้ หรือว่าไม่มีอัธยาศัยน้อมไปในจาคะ ในการสละ

    ถ. การตระหนี่ถี่เหนียวเป็นองค์ประกอบของโลภะ หรือโทสะ

    สุ. เพราะมีความพอใจเป็นเหตุ เวลาที่เกิดความพอใจก็มีความหวงแหน และเวลาที่ไม่สละ ก็เพราะมีอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก คือ บุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักในขณะนั้น

    ถ. ความตระหนี่ตัดสินตอนที่จะให้หรือเปล่า

    สุ. ตอนที่หวงแหน ไม่ให้ เวลาที่เกิดตระหนี่แล้ว ไม่สละ

    ถ. ก็มีปฏิฆะอยู่

    สุ. คือ ไม่พอใจในบุคคลนั้น และมีความยินดีในสิ่งที่เป็นวัตถุของตน เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า มีอารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ

    ถ. การให้และผูกพันในผลจะเรียกว่า จาคะ ได้ไหม สมมติว่า รู้ว่า ทำดีและความดีต่างๆ จะให้ผลที่ดี เช่น การให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้ว่า ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราก็พยายามทำดี เพื่อให้ชาติหน้าจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา นางฟ้าต่างๆ เป็นการผูกพันในผล จะเรียกว่า จาคะ ได้ไหม

    สุ. และก็กลับมาเป็นอย่างนี้อีก

    ถ. ก็ยังดีกว่าไปสู่อบาย

    สุ. แต่ไปไม่นานก็กลับมาเป็นอย่างนี้อีก หนีไม่พ้นโลกมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีปัจจัย ลองคิดดู ในชีวิตนี้ สำหรับการเกิดในมนุษย์ภูมิ มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา แต่ก็ทนได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    การที่จะได้รับผลของทาน โดยการได้รับสิ่งที่พอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายในโลกนี้ หรือแม้ในสวรรค์ ก็ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเกิดมีขึ้นแล้วก็ย่อมหมดไป แม้จะได้มากมายสักเท่าไรก็ตาม และไม่ใช่ว่าทุกท่านไม่เคยเกิดในสวรรค์ หรือไม่ใช่ว่าทุกท่านจะไม่ไปเกิดในสวรรค์ แต่ให้ทราบว่า ไม่นานก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก เพราะจะต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังติดในผลของทาน ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่ความสงบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๗๙๑ – ๘๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564