แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801


    ครั้งที่ ๘๐๑


    สุ. ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และเลือกไม่ได้ว่า เมื่อระลึกแล้วจะเป็นสมถะคือสงบ หรือว่าจะเป็นสติปัฏฐานที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า แม้ความตระหนี่ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้จาคะคือการสละก็เป็นกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ารู้ว่าทุกอย่างไม่เที่ยงอย่างนี้ แต่ยังหวัง ยังติด ยังรอคอยผล ขณะนั้นมีทางเดียว คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะห้ามการติดในผลหรือหวังในผลก็ไม่ได้ สำหรับคนที่ยังมีโลภะอยู่

    ด้วยเหตุนี้สมถภาวนาจึงไม่ใช่การอบรมเจริญที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพียงแต่เป็นขั้นของปัญญาที่สามารถจะให้จิตสงบได้เวลาที่ระลึกในอารมณ์ของสมถะด้วยความแยบคายอย่างถูกต้อง แม้ไม่ใช่พระอริยบุคคล ถ้ากุศลจิตเกิดในขณะที่ระลึกอย่างแยบคายและไม่ผูกพันในผล ขณะนั้นสงบ และเมื่อเปรียบเทียบรู้ลักษณะของจิตที่สงบว่าต่างกับจิตที่ไม่สงบ ปัญญานั้นย่อมเป็นเหตุที่จะทำให้กุศลจิตเกิดและสงบยิ่งขึ้นได้ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ พอนึกถึงก็เพลินไปแล้วกับผลที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า

    เรื่องของการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งถึงปรินิพพาน จึงเป็นการแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ขัดเกลาอกุศลให้ลดน้อยลงจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า และสำหรับชีวิตของปุถุชน ทุกท่านจะเห็นได้ว่า มีกิเลสนานาประการมากมายซึ่งยังไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ซึ่งการที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ต้องเป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า จึงสามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของอกุศลใดๆ ท่านผู้ฟังก็น่าจะพิจารณาว่า อกุศลนั้นๆ ท่านยังมีอยู่มากหรือน้อย เพื่อที่จะได้ขัดเกลา

    สำหรับเรื่องของจาคานุสสติซึ่งเกี่ยวข้องกับมัจฉริยะ อกุศลธรรมที่ไม่สามารถสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นได้ หรือว่าเป็นสภาพที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นสมบัติของตนทั่วไปแก่คนอื่น ซึ่งเรื่องของความยากในการที่จะสละความตระหนี่ แต่ละท่านก็คงจะพิจารณาจิตใจของท่านเองได้ว่า การที่จะสละความตระหนี่นั้น ไม่ง่ายเลย

    ขุททกนิกาย ชาดก ทสรรณกชาดก ข้อ ๑๐๐๗ข้อ ๑๐๑๓ มีข้อความว่า

    พระราชาแห่งแคว้นมคธตรัสถามว่า

    บุรุษคนนี้กลืนดาบมีคมกล้า อันเป็นดาบในทสรรณกรัฐ ดื่มกินเลือดผู้อื่นที่ถูกต้องแล้วในท่ามกลางบริษัท เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่าการกลืนดาบนี้ยังมีอีกไหม ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สิ่งที่คิดว่าทำยาก ก็ยังมีสิ่งอื่นที่ทำยากกว่า เพราะมีบุรุษคนหนึ่งที่สามารถจะกลืนดาบที่มีคมกล้าที่ดื่มกินเลือดของผู้อื่นแล้วในท่ามกลางบริษัท ซึ่งดูเป็นการกระทำที่ยากมาก เพราะฉะนั้น พระราชาจึงตรัสถามว่า มีอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าอย่างนี้ไหม

    อายุรบัณฑิตกราบทูลว่า

    บุรุษกลืนดาบอันดื่มกินเลือดของผู้อื่นที่ถูกต้องได้เพราะความโลภ ก็ผู้ใดพูดว่าจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ คำพูดของผู้นั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบนั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่ายนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด.

    ถ้ามีความโลภเกิดขึ้น จะให้ทำอะไรก็ได้แม้กลืนดาบ

    แต่เพียงแต่จะพูดว่า จะให้ ก็ไม่ง่ายแล้วใช่ไหม ถ้าท่านมีสมบัติอยู่ในความครอบครอง ลองคิดดู แม้แต่จะพูดว่าจะให้ ก็ยังยากกว่าการที่จะกลืนดาบซึ่งดื่มกินเลือดของคนอื่น ซึ่งความตระหนี่ก็ย่อมมีขั้นตอนต่างๆ ด้วย

    พระราชาตรัสถามว่า

    อายุรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดในอรรถธรรมได้แก้ปัญหาแล้ว บัดนี้ ฉันจะถาม ปุกกุสบัณฑิตบ้าง เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่าคำพูดนั้นยังมีอยู่หรือ ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน

    การที่จะให้พูดว่าจะให้ นี่ก็ยาก แต่ต้องมีการยากยิ่งกว่านั้นอีก ซึ่งปุกกุสบัณฑิตทูลว่า

    ชนทั้งหลายย่อมไม่รักษาคำพูดไว้ คำที่พูดนั้นก็ไม่มีผล ผู้ใดให้ปฏิญญาไว้ว่า จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่อยากได้สิ่งนั้นคืน คำพูดของผู้นั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ และกว่าคำพูดว่าจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้นั้นเสียอีก เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด

    ถึงแม้ว่าพูดออกไปแล้วว่าจะให้ แต่ก็คงมีมากมายหลายท่านที่ไม่สามารถจะกระทำอย่างที่พูดได้ด้วยเหตุของความตระหนี่ เพราะฉะนั้น ที่พูดว่าจะให้ ก็ยากที่จะพูด และถึงแม้ว่าได้พูดไปแล้ว การที่จะรักษาคำพูดโดยการให้จริงๆ เหมือนอย่างที่พูด ก็ลองพิจารณาว่า จะเป็นสิ่งที่ยากกว่าไหม แต่ว่าถึงแม้อย่างนั้น จะมีอะไรที่ยากกว่านี้อีกไหม

    พระราชาตรัสถามว่า

    ปุกกุสบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดในอรรถธรรมได้แก้ปัญหาแล้ว บัดนี้ ฉันจะถาม เสนกบัณฑิตบ้าง เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่านั้นยังมีอีกหรือ ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน

    เสนกบัณฑิตทูลว่า

    บุรุษควรจะให้ทาน จะน้อย หรือมากก็ตาม ก็ผู้ใดให้ของรักของตนแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนภายหลัง ข้อนั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ กว่าคำว่าจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ และกว่าการให้ของรักนั้นเสียอีก เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด

    เยื่อใยของความตระหนี่ยังมีเหลืออยู่ แม้จะพูดว่า จะให้ ซึ่งยากที่จะพูด และได้ให้ตามที่พูดก็ยาก แต่ว่าเมื่อให้แล้ว ที่จะไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง ไม่เสียดายนั้นยิ่งยากกว่า นั่นแสดงถึงเยื่อใยของความตระหนี่ที่มี แม้ว่าให้ไปแล้ว

    ทุกท่านพิจารณาสภาพของจิตใจได้ว่า ความเหนียวแน่นของอกุศลธรรมแต่ละชนิดมีปรากฏให้เห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากแก่การละ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลยก็ย่อมเป็นสิ่งที่ยาก และเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจนกระทั่งเกิดปัญญาจริงๆ รู้แจ้งสภาพธรรมจริงๆ จึงสามารถดับกิเลสได้

    พระราชาตรัสว่า

    อายุรบัณฑิตได้แก้ปัญหาแก่ฉันแล้ว อนึ่ง ปุกกุสบัณฑิตก็ได้แก้ปัญหาแก่ฉันแล้ว เสนกบัณฑิตแก้ปัญหาครอบงำปัญหาเสียทั้งหมด ฉันใด ฉันก็ให้ทานนั้นแล้ว หาควรจะเดือดร้อนภายหลังไม่ ฉันนั้น

    จบ ทสรรณกชาดกที่ ๖

    แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงสภาพลักษณะของจิตใจอย่างละเอียดเพื่อที่จะให้เห็นว่า การที่จะดับกิเลสต้องเป็นเรื่องที่จริง และสามารถดับได้ แต่ว่ายาก เพราะแม้แต่ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาบารมีมาในอดีต จนกระทั่งถึงในชาติสุดท้ายที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ความตระหนี่ก็ยังไม่หมดไปจากจิตใจ ซึ่งถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาจะเห็นชีวิตของหลายท่านที่แม้ว่าจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นความตระหนี่ก็ยังมีกำลังอยู่มาก

    ถ. ความตระหนี่ ผมยอมรับว่าตัวผมมีมาก บางครั้งสละโดยที่ตัวเองยังมีความตระหนี่มาก แต่เจริญสติปัฏฐานขณะนั้นก็รู้ว่าความตระหนี่เกิดบ่อยครั้งทีเดียว สละแล้วภายหลังเกิดความเสียดายก็บ่อยครั้ง แต่ว่าสละ แม้แต่ในชีวิตประจำวัน ผมก็เลี้ยงนกทุกเช้า บางเช้าก็ผ่องใส มีความเมตตา บางเช้าก็เกิดความตระหนี่ มีเหตุให้เกิดความตระหนี่ เสียดาย แต่ก็สละเพิ่มให้มากกว่าเก่า เพื่อทำลายความตระหนี่นี้ เพื่อไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก สติเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง

    เมื่อก่อนเคยทำงานอยู่แห่งหนึ่ง นายจ้างเป็นคนรวยมาก แต่ก็ตระหนี่มาก เขารับประทานอาหารอย่างประณีต เวลาที่อาหารเหลือก็ยกมาให้ผมกิน ผมก็เกิดมานะ คิดว่า ไม่อยากรับประทานอาหารที่เขากินเหลือ แต่การศึกษาธรรม ฟังอาจารย์สุจินต์มามาก สติก็นึกได้ถึงสภาพมานะที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเมตตาว่า เขามีศรัทธาอยู่เพียงเท่านั้น เราก็อนุโมทนาในศรัทธาในเมตตาจิตของเขาเท่าที่เขามีนั่นแหละ เมื่อเขายกมาจานหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะดีกว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันด้วยซ้ำ ผมก็กินหมดจาน ไม่มีเหลือทุกครั้ง เป็นการฉลองศรัทธาของเขา ไม่เช่นนั้นเขาจะเสียใจ

    สุ. ชีวิตจริงย่อมปรากฏลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะตามความเป็นจริง ไม่ว่าของตนเองหรือของบุคคลอื่น และเมื่อเป็นผู้ที่พิจารณาธรรม ย่อมเห็นอกุศลว่าเป็นอกุศลซึ่งควรที่จะขัดเกลา ถ้าเป็นอกุศลของคนอื่นที่ได้สะสมมาจนปรากฏลักษณะสภาพที่ให้เห็นว่าเป็นอกุศลที่มีกำลัง ผู้ที่พิจารณาธรรมย่อมเห็นว่า เป็นโทษ ที่ควรเกรงกลัว แม้แต่ตนเองก็ควรที่จะขัดเกลาอกุศลประเภทนั้นที่มีอยู่ในจิตใจของเราด้วย เพราะถ้าไม่ขัดเกลา ก็อาจจะทับถมมากขึ้นจนกระทั่งปรากฏเป็นลักษณะเดียวกับผู้ที่ได้กล่าวถึงก็ได้

    ถ. เมื่อวันพระที่แล้ว หนูก็ไปรักษาอุโบสถที่วัดร่วมกับคนแก่ ขณะที่ทานข้าวกลางวัน คุณยายทานอาหารและมีเศษเหลือ มีคนจะเอาไปให้แมว แต่คุณยายบอกว่า อย่าเลย ยังมีเนื้อเหลือมากอยู่ แสดงว่าท่านมีความตระหนี่ หนูอยากจะทราบว่า เป็นอันตรายต่อศีลอุโบสถไหม

    สุ. ศีลไม่ขาด แต่ขาดกุศลที่เป็นเมตตากรุณา ไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับการล่วงศีล ศีลยังอยู่ครบ แต่ขาดคุณธรรมที่ควรเจริญคู่กันไปกับการรักษาศีลด้วย เพราะว่าจุดประสงค์ของการรักษาศีลอุโบสถนั้น เพื่อขัดเกลากิเลสมากกว่าเพียงการรักษาศีล ๕ เพราะเห็นโทษของการที่ยังติดอยู่ในชีวิตของฆราวาส เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักษาศีลอุโบสถ เป็นผู้ที่เพียรทำจิตให้สะอาดขึ้นดังเช่นพระอรหันต์ แม้ในชั่ววันหนึ่งหรือคืนหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ไม่ทราบจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถ ก็ไม่ได้ขัดเกลากิเลสอื่นที่ควรจะขัดเกลาด้วย

    ถ. ใน พระอภิธรรมปิฎก เล่ม ๒ ขันธวิภังค์ ในหมวดของรูป ๒๘ รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้ และเป็นรูปละเอียด เป็นรูปไกล รูปนั้นคือ อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป และกวฬิงการาหารเป็นที่สุด สงสัยว่า ทำไมจึงเห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้

    สุ. รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป และมีเพียงรูปเดียวเท่านั้นที่เห็นได้ คือ รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา อีก ๒๗ รูป บางรูปเป็นรูปที่กระทบได้ บางรูปกระทบไม่ได้ แต่ทั้ง ๒๗ รูปนั้นเห็นไม่ได้เลย เช่น เสียง เป็นต้น มีจริง ปรากฏ กระทบกับ โสตปสาท แต่ว่าไม่มีใครเห็นเสียง กลิ่นก็เป็นรูปที่มีจริง กระทบได้ แต่ไม่มีใครเห็นกลิ่น เพราะฉะนั้น นอกจากรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาแล้ว แม้ว่ารูปอื่นเป็นรูปที่มีจริง ๒๗ รูป ทั้ง ๒๗ รูปนั้นไม่ปรากฏทางตา คือ มองไม่เห็น และถ้าไม่ใช่รูปที่ปรากฏ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปเหล่านั้นก็ไม่ใช่รูปที่กระทบได้

    ถ. ขออนุโมทนา

    สุ. เรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะพิสูจน์รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดและลึกซึ้ง เช่น รูปารมณ์ สภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา เพียงฟังอย่างนี้รู้สึกว่าจะไม่ยาก เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ความรู้ในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้อบรมเจริญ สติปัฏฐานจนปัญญาคมกล้าสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

    ทางตามีการเห็น แสดงว่ามีรูปารมณ์แน่ๆ แต่ว่าเวลาที่เห็น เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จนกระทั่งเกิดความสงสัยว่า รูปารมณ์นั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร

    เพราะฉะนั้น รูปารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อลืมตาแล้วเห็น โดยที่ยังไม่ได้นึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย นั่นเป็นลักษณะแท้ๆ ของรูปารมณ์ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีวัตถุใดๆ ทั้งสิ้นในรูปารมณ์ที่ปรากฏ ลักษณะแท้ๆ ของ รูปารมณ์ต้องเป็นเพียงรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาจริงๆ

    น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของรูปารมณ์ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จนละคลายการยึดถือสิ่งที่เคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ และรู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา หาคน หาสัตว์ หาวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดในรูปารมณ์ไม่ได้เลย แต่ที่จำได้ว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นเป็นความจำที่เกิดพร้อมกับการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งก็จะพิสูจน์ได้ ขณะที่ลืมตานี้ ถ้ามีคนถามว่าเห็นอะไร ถ้าตอบว่าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็หมายความว่ากำลังนึกถึงสิ่งนั้น ทำไมไม่ตอบสิ่งอื่นทั้งๆ ที่สิ่งอื่นก็ปรากฏ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น หลอดไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นรูปารมณ์ที่ปรากฏ แต่ทำไมไม่เห็นสิ่งนั้น ก็เพราะว่าไม่ได้ตรึก ไม่ได้นึกถึง ไม่ได้จำในรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น การที่จะบอกว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ในรูปารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด แต่หมายความว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งเป็นความรู้ชัดจริงๆ แม้ในขณะที่กำลังลืมตาแล้วเห็น ก็รู้ความต่างกันในลักษณะของนามธรรมที่เห็นกับนามธรรมที่คิดนึก จำสิ่งที่ปรากฏ และรูปที่ปรากฏก็รู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแน่นอน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า มีรูป ๒๘ รูป แต่ทางตามีรูปเดียวที่ปรากฏ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า รูปารมณ์ หรือวัณณะ หรือสี หรือแสง จะใช้คำอะไรก็ได้ ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยที่รูปอีก ๒๗ รูป มี แต่ไม่ปรากฏทางตา

    และรูปที่ปรากฏทางหู ก็ไม่ใช่รูปที่ปรากฏทางตา เวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้จริงๆ ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏ ชั่วขณะที่เสียงปรากฏจริงๆ ขณะนั้นไม่มีเห็น ไม่มีคิดนึก เสียงปรากฏกับสภาพที่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจะมีเห็นรวมอยู่ หรือว่าจะมีรูปารมณ์รวมอยู่ในเสียงที่ปรากฏไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๘๐๑ – ๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564