แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805


    ครั้งที่ ๘๐๕


    เป็นเศรษฐีมีเงิน ๘๐ โกฏิ เห็นคนบ้านนอกคนหนึ่งกำลังกินขนมเบื้อง ก็เกิดความอยากที่จะรับประทานบ้าง แต่ความตระหนี่มีมากกว่า คิดว่าถ้าบอกใครว่าอยากจะรับประทาน คนอื่นก็จะพลอยอยากไปด้วย เศรษฐีก็จะต้องสิ้นเปลืองวัตถุเป็นอันมาก ทั้งงา ทั้งข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อย เป็นต้น จึงอุตส่าห์อดกลั้นความกระหาย ไม่ยอมบอกใคร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อเวลาล่วงไปๆ เขาผอมเหลืองลงทุกที มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น แต่นั้น ไม่สามารถจะอดกลั้นความอยากไว้ได้ เข้าห้องแล้วนอนกอดเตียง เขาแม้ถึงความทุกข์อย่างนี้ ก็ยังไม่บอกอะไรๆ แก่ใครๆ เพราะกลัวเสียทรัพย์

    ลำดับนั้น ภรรยาเข้าไปหาเขาลูบหลังถามว่า

    ท่านไม่สบายหรือ นาย

    เศรษฐีตอบว่า

    ความไม่สบายอะไรๆ ของฉันไม่มี

    ภรรยาถามว่า

    พระราชากริ้วท่านหรือ

    เศรษฐีตอบว่า

    ถึงพระราชาก็ไม่กริ้วฉัน

    ภรรยาถามว่า

    เมื่อเป็นเช่นนั้น ความไม่พอใจอะไรๆ ที่พวกลูกชายลูกหญิง หรือปริชน มีทาสกรรมกรเป็นต้นกระทำแก่ท่าน มีอยู่หรือ

    เศรษฐีตอบว่า

    แม้กรรมเห็นปานนั้นก็ไม่มี

    ภรรยาถามว่า

    ก็ท่านมีความอยากในอะไรหรือ

    แม้เมื่อภรรยากล่าวอย่างนั้น เขาก็ไม่กล่าวอะไร คงนอนเงียบเสียงเพราะกลัวเสียทรัพย์ ลำดับนั้น ภรรยากล่าวกะเขาว่า

    บอกเถิดนาย ท่านอยากอะไร

    เขาเป็นเหมือนกลืนคำพูดไว้ ตอบว่า

    ฉันมีความอยาก

    ภรรยาถามว่า

    อยากอะไร นาย

    เศรษฐีตอบว่า

    ฉันอยากกินขนมเบื้อง

    ภรรยากล่าวว่า

    เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมท่านไม่บอกแก่ดิฉัน ท่านเป็นคนจนหรือ บัดนี้ ดิฉันจักทอดขนมเบื้องให้พอแก่คนที่อยู่ในสักกรนิคมทั้งสิ้น

    ภรรยาไม่มีความตระหนี่ เมื่อทราบว่าสามีอยากจะรับประทานขนมเบื้อง ก็พร้อมที่จะทำให้คนทั้งสักกรนิคมทีเดียว

    เศรษฐีกล่าวว่า

    ประโยชน์อะไรของเธอด้วยคนพวกนั้น พวกเขาทำงานของตนก็จักกิน (ของตน)

    ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เลย

    ภรรยากล่าวว่า

    ถ้ากระนั้น ดิฉันจักทอดขนมเบื้องให้พอแก่คนที่อยู่ในตรอกเดียวกัน

    เศรษฐีก็กล่าวประชดทีเดียวว่า

    ฉันรู้ความที่เธอเป็นคนรวยทรัพย์ละ

    ภรรยากล่าวว่า

    ดิฉันจะทอดให้พอแก่คนทั้งหมด (ที่อยู่) ในที่ใกล้เรือนนี้.

    คือ ไม่ให้ทุกคนในตรอกเดียวกัน เพียงแต่ให้เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ เศรษฐีก็กล่าวอีกว่า

    ฉันรู้ความที่เธอเป็นคนมีอัธยาศัยกว้างขวางละ

    คือ อัธยาศัยคนละอย่างจริงๆ

    ภรรยากล่าวว่า

    ถ้ากระนั้น ดิฉันจะทอดให้พอแก่ชนสักว่าลูกเมียท่านเท่านั้นเอง

    บุคคลอย่างนี้ไม่น่าที่จะเป็นพระโสดาบันได้ใช่ไหม แต่ว่าเศรษฐีและภรรยาก็ได้สะสมปัญญามาพร้อมที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลในชาตินั้นเอง

    เศรษฐียังไม่พอใจ แม้ว่าภรรยาจะทอดให้เพียงตัวเศรษฐี ภรรยาและลูกเท่านั้น

    เศรษฐีกล่าวว่า

    ประโยชน์อะไรของเธอด้วยคนพวกนั้น

    ก็เศรษฐีอยากกินคนเดียว เศรษฐีก็คิดว่า น่าจะทำให้เศรษฐีคนเดียวเท่านั้น เมื่อเศรษฐีกล่าวอย่างนั้น ภรรยาก็กล่าวว่า

    ก็ดิฉันจะทอดให้พอแก่ท่านและดิฉันหรือ

    คือ ให้พอเพียง ๒ คนเท่านั้นเองหรือ เศรษฐีก็กลับถามว่า

    เธอจักทำทำไม

    ไม่ได้คิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ว่า เมื่อตัวเศรษฐีก็ยังอยากจะรับประทานขนมเบื้อง ทำไมภรรยาซึ่งเป็นคนทอดจะไม่เกิดความอยากบ้าง เพราะฉะนั้น แม้เมื่อภรรยากล่าวว่า ก็ดิฉันจะทอดให้พอแก่ท่านและดิฉันหรือ คือเพียง ๒ คนเท่านั้นหรือ เศรษฐีก็ยังอุตส่าห์ถามว่า เธอจักทำทำไม ภรรยาก็รู้อัธยาศัย จึงตอบว่า

    ถ้ากระนั้น ดิฉันจะทอดให้พอแก่ท่านผู้เดียวเท่านั้น

    เศรษฐีกล่าวว่า

    เมื่อเธอทอดขนมที่นี้ คนเป็นจำนวนมากก็ย่อมหวัง (ที่จะกินด้วย) เธอจงเว้นข้าวสาร (ที่ดี) ทั้งสิ้น ถือเอาข้าวสารหักและเชิงกรานและกระเบื้อง และถือเอาน้ำนม เนยใส น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยหน่อยหนึ่ง แล้วขึ้นไปชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น แล้วทอดเถิด ฉันคนเดียวเท่านั้น จักนั่งกิน ณ ที่นั้น

    นี่สำหรับตัวเองก็ยังให้เอาข้าวสารชั้นเลว คือ ข้าวสารหัก

    นางรับคำว่า

    ดีละ

    แล้วให้ทาสีถือสิ่งของที่ควรถือเอาขึ้นไปสู่ปราสาท แล้วไล่ทาสีไป ให้เรียกเศรษฐีมา เศรษฐีนั้นปิดประตูใส่ลิ่มและสลักทุกประตูตั้งแต่ประตูแรกมา แล้วขึ้นไปยังชั้นที่ ๗ ปิดประตูแล้วนั่ง ณ ชั้นที่ ๗ นั้น ฝ่ายภรรยาของเขาก็ติดไฟที่เชิงกราน ยกกระเบื้องขึ้นตั้งแล้วเริ่มทอดขนม.

    ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานเถระมาแต่เช้าตรู่ ตรัสว่า

    โมคคัลลานะ ในสักกรนิคม (ซึ่งตั้งอยู่) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ เศรษฐีผู้มีความตระหนี่นั่นคิดว่า เราจักกินขนมเบื้อง จึงให้ภรรยาทอดขนมเบื้องบนปราสาท ๗ ชั้น เพราะกลัวคนเหล่าอื่นเห็น เธอจงไป ณ ที่นั้น แล้วทรมานเศรษฐีทำให้สิ้นพยศ ให้สามีภรรยาแม้ทั้งสองถือขนม และน้ำนม เนยใส น้ำผึ้งและน้ำอ้อย แล้วนำมายังพระเชตวันด้วยกำลังของตน วันนี้เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูป จักนั่งในวิหารนั่นแหละ จักทำภัตตกิจด้วยขนมเท่านั้น

    แม้พระเถระก็รับพระดำรัสของพระศาสดาว่า

    ดีละ พระเจ้าข้า

    แล้วไปยังนิคมนั้นด้วยกำลังฤทธิ์ทันทีทีเดียว เป็นผู้นุ่งห่มเรียบร้อย ได้ยืนอยู่ที่ช่องสีหบัญชรแห่งปราสาทนั้น เหมือนรูปแก้วมณีลอยเด่นอยู่กลางอากาศเทียว

    ชั้นที่ ๗ ก็ไม่เป็นไร ท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านก็ไปยืนอยู่ที่ตรงหน้าต่างของประสาทชั้นที่ ๗

    เพราะเห็นพระเถระนั้นแล ดวงหทัยของมหาเศรษฐีก็สั่นสะท้าน เขาคิดว่า เรามาที่นี่ เพราะกลัวบุคคลทั้งหลายผู้มีรูปอย่างนี้นั่นแล แต่สมณะนี้ยังมายืนอยู่ที่ช่องหน้าต่างได้ เมื่อไม่เห็นเครื่องมือที่ตนควรจะฉวยเอา เดือดดาลทำเสียงตฏะๆ ประดุจก้อนเกลือที่ถูกโรยลงในไฟ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

    สมณะ ท่านยืนอยู่ในอากาศจักได้อะไร แม้จงกรมแสดงรอยเท้าในอากาศซึ่งหารอยมิได้อยู่ ก็จักไม่ได้เหมือนกัน

    ไม่มีศรัทธาเลย เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะยืนอยู่ก็ยังกล่าวว่า ยืนอย่างนี้จักได้อะไร และถึงแม้ว่าจะสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ คือ จงกรมและแสดงรอยเท้าไว้ในอากาศซึ่งหารอยไม่ได้ ก็จะไม่ให้ขนม

    ข้อความต่อไป

    พระเถระจงกรมกลับไปกลับมาในที่นั้นนั่นแล

    เศรษฐีกล่าวว่า

    ท่านจงกรมอยู่จักได้อะไร แม้นั่งด้วยบัลลังก์ในอากาศ ก็จักไม่ได้เช่นกัน

    พระเถระจึงนั่งคู้บัลลังก์

    ลำดับนั้นเศรษฐีกล่าวกะท่านว่า

    ท่านนั่งในอากาศจักได้อะไร แม้มายืนที่ธรณีหน้าต่างก็จักไม่ได้

    พระเถระได้ยืนอยู่ที่ธรณี (หน้าต่าง) แล้ว

    ลำดับนั้นเขากล่าวกะท่านว่า

    ท่านยืนที่ธรณี (หน้าต่าง) จักได้อะไร แม้บังหวนควันแล้วก็จักไม่ได้เหมือนกัน

    แม้พระเถระก็บังหวนควัน ปราสาททั้งสิ้นได้มีควันเป็นกลุ่มเดียวกัน

    อาการนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาเป็นที่แทงตาทั้งสองของเศรษฐีด้วยเข็ม (ด้วยความร้อนของควัน) เศรษฐีไม่กล่าวกะท่านว่า แม้ท่านให้ไฟโพลงอยู่ก็จักไม่ได้ เพราะกลัวไฟไหม้เรือน

    ไม่กล้าที่จะกล่าวอย่างนั้น ไม่กล้าที่จะท้าทายต่อไป

    แล้วคิดว่า สมณะนี้จักเป็นผู้เกี่ยวข้องอย่างสนิท ไม่ได้แล้วจักไม่ไป เราจักให้ถวายขนมแก่ท่านชิ้นหนึ่ง แล้วจึงกล่าวกะภรรยาว่า

    นางผู้เจริญ เธอจงทอดขนมชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งให้แก่สมณะ แล้วจงส่งท่านไปเสียเถอะ

    ไม่มีทางอื่นเลยที่จะให้ท่านไปเสีย ให้ท่านทำอะไร ท่านก็ทำทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ทางเดียว คือ ให้ขนมชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ท่านจะได้ไปเสีย

    นางหยอดแป้งลงในถาดกระเบื้องนิดเดียว (แต่) ขนม (กลาย) เป็นขนมชิ้นใหญ่ ได้พองขึ้นเต็มทั่วทั้งถาด ตั้งอยู่แล้ว เศรษฐีเห็นเหตุนั้นกล่าวว่า

    (ชะรอย) หล่อนจักหยิบแป้งมากไป

    ดังนี้แล้ว ตักแป้งหน่อยหนึ่งด้วยมุมทัพพีแล้วหยอดเองทีเดียว ขนมเกิดใหญ่กว่าขนมชิ้นก่อน เศรษฐีทอดขนมชิ้นใดๆ ด้วยอาการอย่างนั้น ขนมชิ้นนั้นๆ ก็ยิ่งใหญ่โตทีเดียว เขาเบื่อหน่าย จึงกล่าวกะภรรยาว่า

    นางผู้เจริญ เธอจงให้ขนมแก่สมณะนี้ชิ้นหนึ่งเถอะ

    เมื่อนางหยิบขนมชิ้นหนึ่งจากกระเช้า ขนมทั้งหมดก็ติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน นางจึงกล่าวกะเศรษฐีว่า

    นาย ขนมทั้งหมดติดเนื่องเป็นอันเดียวกันเสียแล้ว ดิฉันไม่สามารถทำให้แยกกันได้

    แม้เขากล่าวว่า ฉันจักทำเอง แล้วก็ไม่อาจทำได้ ถึงทั้งสองคนจับที่ริม (แผ่นขนม) แม้ดึงออกอยู่ ก็ไม่อาจให้แยกออกจากกันได้เลย

    ครั้นเมื่อเศรษฐีนั้นปล้ำอยู่กับขนม (เพื่อจะให้แยกกัน) เหงื่อก็ไหลออกจากสรีระแล้วความหิวกระหายก็หายไป ลำดับนั้นเขากล่าวกะภรรยาว่า

    นางผู้เจริญ ฉันไม่มีความต้องการขนมแล้ว เธอจงให้แก่สมณะเถิด

    นางฉวยกระเช้าแล้วเข้าไปหาพระเถระ

    พระเถระแสดงธรรมแก่คนแม้ทั้งสอง กล่าวคุณพระรัตนตรัย แสดงผลทานที่บุคคลให้แล้วเป็นอาทิ ให้เป็นดังพระจันทร์ในพื้นท้องฟ้าว่า

    ทานที่บุคคลให้ ย่อมมีผล ยัญที่บุคคลบูชา ย่อมมีผล

    เศรษฐีฟังธรรมนั้นแล้วมีจิตเลื่อมใส กล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ ท่านจงมานั่งฉันบนบัลลังก์นี้เถิด

    พระเถระกล่าวว่า

    มหาเศรษฐี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ด้วยตั้งพระหฤทัยว่า จักเสวยขนม เมื่อท่านมีความชอบใจ เศรษฐี ท่านจงให้ภรรยาถือเอาขนมและวัตถุอื่นมีน้ำนมเป็นต้น พวกเราจักไปสู่สำนักของพระศาสดา

    เศรษฐีกล่าวว่า

    ก็บัดนี้ พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหนเล่า ขอรับ

    พระเถระกล่าวว่า

    ประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ในที่สุดแห่งที่ ๔๕ โยชน์จากที่นี้ เศรษฐี

    เศรษฐีกล่าวว่า

    ท่านผู้เจริญ พวกเราจักไปสิ้นหนทางไกลมีประมาณเท่านี้ จะไม่ล่วงเลยเวลาอย่างไร

    พระเถระกล่าวว่า

    มหาเศรษฐี เมื่อท่านมีความชอบใจ เราจักนำท่านทั้งสองไปด้วยกำลังของตน หัวบันไดปราสาทของท่านจักมีในที่ของตนนี่เอง แต่เชิงบันไดจักมีที่ซุ้มประตูพระเชตวัน เราจักนำไปสู่พระเชตวัน โดยกาลชั่วเวลาลงจากปราสาทชั้นบนไปยังชั้นล่าง

    เขารับว่า

    ดีละ ขอรับ

    พระเถระทำหัวบันไดไว้ในที่นั้นนั่นเอง แล้วอธิษฐานว่า ขอเชิงบันไดจงมีที่ซุ้มประตูพระเชตวัน บันไดก็ได้เป็นแล้วอย่างนั้นนั่นแล พระเถระให้เศรษฐีและภรรยาถึงพระเชตวันเร็วกว่ากาลที่ลงไปจากปราสาทชั้นบนลงไปยังชั้นล่าง

    สามีภรรยาแม้ทั้งสองคนนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วกราบทูลกาล พระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่โรงฉันแล้ว ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้แล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มหาเศรษฐีได้ถวายทักษิโณทกแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ภรรยาใส่ขนมในบาตรของพระตถาคตเจ้าแล้ว แม้มหาเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยาก็บริโภคขนมพอแก่ความต้องการ ความหมดสิ้นของขนมไม่ปรากฏเลย แม้เมื่อเขาถวายขนมแก่ภิกษุในวิหารทั้งสิ้นและ (ให้) แก่คนกินเดนทั้งหลายแล้ว ความหมดสิ้นไป (แห่งขนม) ก็ไม่ปรากฏอยู่นั่นเอง เขาทั้งสองจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขนมหาถึงความหมดไปไม่

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    ถ้ากระนั้นท่านทั้งสองจงทิ้งเสียที่ซุ้มประตูพระเชตวัน

    เขาทั้งสองก็ทิ้งที่เงื้อมซึ่งไม่ไกลซุ้มประตู (พระเชตวัน) แม้ทุกวันนี้ ที่นั้นก็ยังปรากฏชื่อว่า เงื้อมขนมเบื้อง

    มหาเศรษฐีพร้อมด้วยภรรยาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว

    ในกาลจบอนุโมทนา สามีและภรรยาแม้ทั้งสองดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ขึ้นบันไดที่ซุ้มประตู (พระเชตวัน) แล้ว สถิตอยู่ที่ปราสาทของตนทีเดียว ตั้งแต่นั้นมา เศรษฐีได้เกลี่ยทรัพย์จำนวน ๘๐ โกฏิในพระพุทธศาสนานั่นแหละ

    ตอนท้ายของข้อความเรื่องของโกสิยเศรษฐี เป็นความสมบูรณ์ของคาถา พระธรรมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงถึงการที่บรรพชิตเข้าไปสู่สกุล และเป็น ผู้ที่ได้รับภัตตาหารบ้าง หรือปัจจัยต่างๆ บ้างโดยสมควร ไม่ใช่โดยไม่สมควร คือ ไม่ใช่ทำให้ผู้ให้เดือดร้อน แต่ว่าเป็นไปตามศรัทธา และเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้อย่างมาก

    ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของโกสิยเศรษฐีซึ่งเป็นเศรษฐีที่มีความตระหนี่มาก แต่ว่าท่านได้สะสมเหตุปัจจัยที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า บุคคลใดหรือแม้แต่ตัวของท่านเอง จะได้เคยฟัง พระธรรม เคยอบรมเจริญปัญญา หรือว่าเคยสะสมอกุศลประเภทใดมามากน้อยเท่าไร แต่ว่าชีวิตจริงในปัจจุบันชาตินี้ เวลาที่ท่านพิจารณาตัวเอง ท่านจะรู้ถึงการสะสมในอดีตของท่านว่า ท่านสะสมอกุศลประเภทใดมามากน้อยอย่างไร และสะสมการอบรมเจริญสติ เจริญปัญญามามากน้อยเพียงไร

    ในยุคนี้ไม่มีตัวอย่างอย่างท่านโกสิยเศรษฐีปรากฏ แต่ก็อาจจะมีตัวอย่างบุคคลที่ท่านได้พบเห็น หรือแม้แต่ตัวของท่านเองที่จะพิจารณาในเรื่องของอกุศลทั้งหลาย แต่ละประเภทอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ คือ การขัดเกลา การละคลายจนถึงการดับอกุศลเป็นสมุจเฉท เพราะถ้าไม่รู้จักอกุศลตามความเป็นจริง ไม่มีทางเลยที่ท่านจะรู้ว่าท่านมีอกุศลมากน้อยเท่าไร และทุกวันนี้อกุศลเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งการที่จะขัดเกลาจนกระทั่งดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท จะต้องอาศัยปัญญาที่มีกำลังจริงๆ จึงจะดับได้

    ในเรื่องของความตระหนี่ซึ่งทุกท่านที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าท่านเห็นโทษ ก็ย่อมจะทำให้มีการขจัดระงับอกุศลทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นมาก ไม่ให้สะสมต่อไป จนกระทั่งยากแก่การที่จะดับได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๘๐๑ – ๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564