แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807


    ครั้งที่ ๘๐๗


    ข้อความอีกตอนหนึ่ง ใน อุโภอัตถสูตร ข้อ ๒๐๑ มีว่า

    จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ในสัมปรายภพ ๑ ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ

    คือ ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือศีล หรือความสงบ หรือสติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งนั้น

    ต่อไปเป็น เทวตานุสสติ คือ การระลึกถึงเทวดา ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบด้วยการระลึกถึงเทวดาที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิได้ ก็มีแต่พระอริยสาวกจำพวกเดียว สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยสาวก จะระลึกถึงเทวดาในลักษณะใด ในเมื่อคุณของเทวดายังไม่มีในตัวท่านอย่างสมบูรณ์และแน่นอน เพราะผู้ที่เป็นปุถุชนยังมีอกุศลเป็นปัจจัยที่จะให้กระทำอกุศลกรรมอันเป็นเหตุที่จะให้เกิดในอบายภูมิ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดา ก็มีในคุณธรรมของท่านผู้ที่เป็นอริยสาวกแล้ว เพราะฉะนั้น ศรัทธาของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก ศีลของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก สุตะ การฟังธรรม การเข้าใจธรรมของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก จาคะ การสละความตระหนี่ของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก และปัญญาของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก ก็ต้องต่างกับผู้ที่เป็นปุถุชน เพราะฉะนั้น เวลาที่พระอริยสาวกระลึกถึงคุณของเทวดาซึ่งก็เป็นคุณธรรมของท่านด้วย จิตของท่านก็สงบ สามารถที่จะมีความสงบอย่างมั่นคงถึงความเป็นอุปจารสมาธิได้

    แต่ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนลองคิดดูว่า วันหนึ่งๆ ท่านคิดถึงเทวดาบ้างหรือเปล่า และเวลาที่คิดถึงเทวดา คิดถึงอะไรของเทวดา ไม่ได้คิดถึงคุณใช่ไหม ไม่ได้คิดถึงคุณธรรม คือ ศรัทธา หรือศีล หรือสุตะ หรือจาคะ หรือปัญญา

    ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่ใช่ของง่าย และไม่ใช่เรื่องที่ว่า ไม่มีปัญญารู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าจิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร ก็ไปจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เช่น ลมหายใจ หรือว่าวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด และคิดว่าในขณะที่กำลัง จดจ้องนั้นจิตสงบ แต่ขณะนั้นไม่ใช่ความสงบเลย ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลซึ่งต่างกับอกุศล เพราะความสงบต้องเป็นกุศล อกุศลแม้ว่าเป็นโลภะอย่างบางเบาสักเท่าไร ก็ไม่ใช่ความสงบ

    สำหรับอานิสงส์ของเทวตานุสสติ คือ ผู้นั้นเมื่อระลึกถึงคุณของเทวดา จิตย่อมสงบ เพราะว่าประกอบด้วยศรัทธาและปีติ แม้ในคุณธรรมของตนเอง ซึ่งเสมอกับคุณธรรมของเทวดา

    ถ. ถ้าเรารู้สึกถึงคุณของเทวดา ซึ่งมีศีล ศรัทธา จาคะ สุตะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ เป็นสัปปุริสธรรม ๗ เมื่อระลึกแล้ว เทวดานั้นจะตอบแทนบุญคุณของเราที่ระลึกถึงอย่างไรบ้าง

    สุ. ทำไมจะให้เทวดามาตอบแทน

    ถ. ก็ต้องมีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เทวดาก็ต้องมีความเอ็นดูสงสาร

    สุ. ต้องคิดถึงการได้การเสีย

    ถ. ก็ไม่ว่าจะเสียหรอก ไม่เสียอะไร

    สุ. ลงทุนระลึกถึง

    ถ. ระลึกถึง จะเรียกว่าเสียอย่างไร

    สุ. ก็หวังจะได้ เทวดาจะช่วยอะไรบ้าง

    ถ. ผมเรียนถามอาจารย์ แต่ผมไม่ได้หวัง

    สุ. ระลึกเพื่อให้จิตสงบ ถ้ายังหวัง ก็ไม่ใช่ความสงบ

    ถ. ไม่ได้หวัง แต่อยากทราบว่า เทวดานั้นจะกรุณาอะไรเรา

    สุ. อยากทราบนี่ ไม่หวังหรือ

    ถ. ก็ตามธรรมดา บุคคลเราที่ประพฤติดี ความดีก็มี เราก็นึกว่า ท่านจะมีอะไรให้บ้าง

    สุ. ถ้าคิดถึงคุณของมนุษย์ที่เคยมีอุปการคุณมาก่อน หวังที่จะให้บุคคลนั้นช่วยอีกหรือเปล่า ยังไม่ข้ามภพข้ามภูมิไปเกี่ยวข้องกับเทวดา สำหรับมนุษย์ด้วยกันนี้ คนที่เคยมีอุปการะเกื้อกูล เวลาที่ท่านระลึกถึง ท่านยังอยากจะได้รับอะไรตอบแทนจากบุคคลนั้นอยู่หรือเปล่า ยังไม่ต้องไปถึงเทวดา

    ถ. ก็ไม่ได้หวังตอบแทน

    สุ. ก็ไม่ต้องคิด

    ถ. จะไปห้ามความนึกคิดได้หรือ

    สุ. ก็ระลึกถึงเท่านั้น แล้วแต่ใครจะตอบแทนหรือไม่ตอบแทน ไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะต้องรอผลหรืออะไร ถ้าท่านจะระลึกถึงคุณของใคร ก็ระลึกถึงเท่านั้น ก็เป็นกุศลแล้วในขณะที่ระลึกถึง

    มนุษย์ในโลกนี้ เวลาที่ระลึกถึงคุณที่ท่านมีอุปการะแก่บุคคลอื่น หรือว่าบุคคลอื่นมีอุปการะต่อท่านก็ตาม ขณะที่ระลึกด้วยจิตที่รู้สึกในคุณนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลของตัวท่าน แต่ว่าท่านหวังที่จะให้บุคคลในโลกนี้ที่ท่านนึกถึงมาปฏิการะ หรือมาตอบแทนอะไรบ้างหรือเปล่า ฉันใด การระลึกถึงคุณของเทวดาก็เหมือนกัน ฉันนั้น ไม่ใช่เมื่อระลึกถึงคุณของท่านแล้ว ท่านก็จะต้องมากระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทนที่ระลึกถึงคุณของท่าน

    ถ. นึกว่าเทวดาจะมีการสงสารมนุษย์บ้าง

    สุ. คนละภูมิ จะช่วยกันอย่างไร จะให้เทวดามาช่วยอย่างไร

    ถ. ถ้าอย่างนั้น คนเราธรรมดาก็ไม่ต้องนึกถึงเทวดา

    สุ. นึกถึงคุณที่กระทำให้เป็นเทวดา หรือว่าคุณธรรมของเทวดา และก็เกิดศรัทธา มีการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น เพื่อที่จะให้มีคุณธรรมอย่างนั้น เวลาที่ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ซึ่งท่านเองก็จะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างเดียวกัน คือ อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะให้ถึงความบริสุทธิ์ และก็ให้มีความกรุณาต่อบุคคลอื่นด้วย เมื่อระลึกแล้วจะให้พระพุทธเจ้ามาตอบแทนอะไรหรือเปล่า

    ถ. แต่พระพุทธเจ้าเรานับถือ

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลที่ระลึกถึงคุณของคนอื่น คุณธรรมของบุคคลที่ควรจะระลึกถึง เพราะคนที่จะเกิดเป็นเทวดาต้องเป็นผลของกุศล ต้องมีคุณธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาได้ ตรงกันข้ามกับบุคคลที่เกิดในนรก ไม่ใช่เกิดเพราะกุศล ไม่มีคุณธรรมที่จะให้เกิดในเทวโลก แต่ที่จะเกิดเป็นเทวดาได้นั้น จะต้องมีคุณธรรมของเทวดา เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกคุณธรรม ธรรมฝ่ายดี ก็ย่อมจะอุปการะให้ผู้ที่ระลึกถึงคุณนั้นเห็นประโยชน์ เห็นคุณของความดี และประพฤติปฏิบัติดี ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ

    ถ. เทวดาไม่ได้ตอบแทน

    สุ. ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าคิดถึงเรื่องตอบแทน ไม่สงบแน่ๆ ในขณะนั้น

    ระลึกถึงคุณแล้วปีติ ผ่องใส ถ้าท่านเองก็มีคุณธรรมของเทวดาอยู่ด้วย เป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้ที่มีศีล เป็นผู้ที่มีสุตะ มีจาคะ มีปัญญา แต่ยังน้อยเหลือเกินถ้าไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมให้เพิ่มขึ้น ทั้งศรัทธา ทั้งศีล ทั้งสุตะ ทั้งจาคะ ทั้งปัญญา อย่าเพิ่งรู้สึกว่าพอ อย่าคิดว่าศรัทธาของท่านพอแล้ว ศีลพอแล้ว สุตะพอแล้ว จาคะพอแล้ว ปัญญาพอแล้ว ยังไม่พอ เมื่อรู้ว่ายังไม่พอ ก็อบรมเจริญขึ้น เพื่อจะให้ถึงความเป็นพระอริยะ หรือถึงคุณธรรมของผู้ที่จะเกิดเป็นเทวดา ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศล

    ถ. พูดถึงอนุสสติที่กล่าวมานี้ กระผมก็มีที่สติเกิดขึ้น คือ ระลึกถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมาแต่วัยเด็ก ก็เกิดปีติและมีความสุขขึ้นมา สติประเภทนี้จะจัดอยู่ในประเภทไหน คิดถึงเรื่องราวที่เป็นมาในอดีต

    สุ. ในเรื่องที่เป็นกุศลหรืออกุศล

    ถ. ทั้งกุศลและอกุศล

    สุ. ต้องแยกกัน ในขณะที่ระลึกถึงอกุศล จิตใจเป็นอย่างไร ในขณะที่ระลึกถึงกุศล จิตใจเป็นอย่างไร ในขณะที่ระลึกถึงอกุศลแล้วเห็นโทษ เห็นภัย เห็นอันตรายที่ได้กระทำอกุศลนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เกิดพร้อมสติที่เห็นอกุศลเป็นอกุศล

    เวลาที่คิดถึงกุศล แต่ว่าไม่ได้เกิดความสงบ หรือไม่ได้เกิดศรัทธา ไม่ได้เกิดปีติ แต่ว่าเกิดความติดข้องในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น แล้วแต่สภาพของจิตที่ระลึก ที่คิดถึง ว่าจิตที่คิดถึงนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล

    ถ. อย่างระลึกเรื่องอกุศล คือ ผมได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไปมาก และผมก็ระลึกรู้ว่า ตอนนั้นเป็นความโง่ของผมที่ได้กระทำอย่างนั้น ก็เกิดปีติขึ้นมา

    สุ. เกิดปีติที่รู้ความจริง ใช่ไหม ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่จะไม่ทำอีก ที่เห็นโทษ

    ถ. จัดเข้าในประเภทไหน

    สุ. ขณะนั้นก็เป็นกุศล เป็นการระลึกถึง แล้วแต่ว่าจะเป็นทาน หรือเป็นศีลในอดีตก็ได้ แต่ถ้าจิตไม่สงบอย่างมั่นคง กุศลนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา เป็นประเภทภาวนาได้ แต่ไม่ใช่ถึงอุปจารสมาธิ เป็นการสงบชั่วขณะ

    ทานกุศลและศีลกุศลเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาฉันใด ลักษณะของความสงบของจิตที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวก็เกิดขึ้นได้ฉันนั้น ตามการสะสมที่มีมา แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นจะอบรมเจริญให้มาก ให้มั่นคง จนกระทั่งถึงขั้นสมาธิ แต่ก็เป็นไปในความสงบของจิตซึ่งเป็นภาวนา

    ถ. เป็นภาวนาได้

    สุ. เป็นความสงบของจิต เพียงแต่ว่าเป็นชั่วขณะ ไม่ใช่ติดต่อกันจนกระทั่งเป็นสมาธิ ขณะที่เกิดเมตตาขึ้นขณะหนึ่ง ขณะนั้นจิตสงบ ถ้าไม่เป็นไปด้วยกายและวาจาซึ่งเป็นทานหรือศีล ขณะนั้นก็ต้องเป็นไปในภาวนา แต่ว่าเล็กน้อย เพียงชั่วขณะ ไม่ถึงความมั่นคงที่เป็นสมาธิ เพราะส่วนมากเวลาพูดถึงภาวนามักจะเข้าใจว่า ต้องเป็นถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ แต่ชั่วขณะที่ฟังธรรมด้วยกุศลจิตที่เข้าใจธรรมแล้วสงบ ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เป็นไปในภาวนา

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีการระลึกได้ถึงคุณและโทษของกุศล ของอกุศล ขณะนั้นก็เป็นธรรมเหมือนกัน เป็นการเข้าใจธรรม เป็นการรู้ธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลที่เป็นไปในภาวนา เพราะไม่เป็นไปในทานและในศีลทางกาย ทางวาจา

    การฟังธรรม การแสดงธรรม การสนทนาธรรม การกล่าวธรรม ล้วนเป็นกุศลซึ่งเป็นไปในภาวนา เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เป็นกุศลที่เป็นไปในเรื่องของปัญญา

    สมถะ คือ ความสงบ ไม่ได้มุ่งหมายถึงขั้นที่เป็นสมาธิขั้นอุปจาระหรืออัปปนาสมาธิ เพราะความหมายของสมถะ คือ ความสงบ เพราะฉะนั้น กุศลจึงมีขั้นทาน ขั้นศีล และขั้นสมถภาวนาซึ่งเป็นความสงบ และขั้นวิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา ถ้าสติเกิดในขณะนี้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เป็นปัจจัยที่จะให้ปัญญาแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ฉันใด ถ้าเกิดจิตที่สงบประกอบด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา หรือเป็นความเข้าใจธรรม ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เป็นความสงบ เพราะว่าไม่ใช่อกุศล และถ้ามีมากๆ ขึ้น เจริญขึ้น อบรมให้ตั้งมั่นคงขึ้น ก็จะถึงสมาธิตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นผลของการอบรมเจริญสมถภาวนา คือ ถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ นั่นเป็นผลของสมถภาวนา

    แต่ถ้าเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ก็จะทำให้เกิดผล คือ วิปัสสนาญาณ ซึ่งเป็นการแทงตลอดสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น แต่ละขณะก็เป็นไปในทางสมถะ หรือในทางสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนา แล้วแต่ว่าผลจะเกิดขึ้นหรือยัง ถ้าเป็นผลของสมถภาวนาก็เป็นสมาธิขั้น ต่างๆ ถ้าเป็นผลของวิปัสสนาก็เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ซึ่งต้องจัดเป็น สมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่เป็นไปในทานและศีล

    ถ. ลักขณูปนิชฌาน กับอารัมมณูปนิชฌาน มีความแตกต่างกันอย่างไร สุ. อารัมมณูปนิชฌาน หมายความถึงการอบรมเจริญสมถภาวนาซึ่งเป็นการเพ่ง หรือเผานิวรณธรรมด้วยสมาธิคือความสงบขั้นอุปจาระหรือขั้นอัปปนา แต่ถ้าเป็นลักขณูปนิชฌาน คือ การเพ่ง หรือการเผาวิจิกิจฉา ความสงสัย อวิชชา ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. หมายความว่า อารัมมณูปนิชฌาน ใช้กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ หรือว่า อานาปานสมาธิ หรือว่าอนุสสติ ๑๐ แต่สำหรับลักขณูปนิชฌาน จะเป็นความสงบที่เกิดจากลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    สุ. เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะเข้าใจแม้ลักษณะของความสงบที่เป็นสมถะ ที่เป็นความสงบ และจะเข้าใจลักษณะของปัญญาที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และถ้ามีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสืบต่อกันได้พร้อมทั้งสงบมากขึ้น ขณะนั้นผู้นั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นประกอบด้วยความสงบที่มั่นคง

    เพราะฉะนั้น ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า บางท่านรู้แจ้งอริยสัจพร้อมด้วยองค์ของฌานขั้นต่างๆ ประกอบด้วยองค์ของฌานที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌานโดยนัยของปัญจกนัย และบางท่านก็ไม่ได้ถึงความสงบมั่นคงที่เป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็สามารถที่จะรู้ในลักษณะของความสงบที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องปกติ และที่จะไม่ให้ปรากฏความสงบเป็นไปไม่ได้ เพราะขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นต้องสงบ และถ้าปัญญามีกำลังสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมสืบต่อกันได้ ขณะนั้นความสงบก็มั่นคงขึ้น หรือว่าขณะใดที่จิตสงบ แม้ว่าจะไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่สติและปัญญาก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของความสงบ ความสงบก็มั่นคงขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการพยายามทำให้สงบ แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย แม้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่สงบเลย หรือว่าสภาพธรรมนั้นเป็นกุศลซึ่งความสงบไม่มั่นคงเลย หรือลักษณะนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยความสงบที่มั่นคง หรือว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นปัญญาที่ประกอบด้วยความสงบที่มั่นคงมาก สติก็จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนั้นได้ จึงละการยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นแม้สติ แม้ความสงบ แม้ปัญญาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เรื่องของการละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เหมือนกับทุกๆ ขณะในชีวิตที่เกิดขึ้นวิจิตรต่างๆ กันไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าท่านเป็นผู้ที่พิจารณาจิตของท่านเอง จะเห็นสภาพของจิตว่า มีอาการต่างๆ นานาจริงๆ มีความวิจิตรเป็นไปในขณะที่เห็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ได้ยินเสียงอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง หรือว่าคิดนึกตรึกไปเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง เป็นความวิจิตรต่างๆ กัน ซึ่งไม่มีใครสามารถจะกระทำให้เกิดขึ้นได้เลยนอกจากเหตุปัจจัยที่สะสมมาเป็นปัจจัยให้คิด เป็นปัจจัยให้เกิดลักษณะอาการของจิตต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงของลักษณะของความวิจิตรของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย เพราะขณะนี้ความวิจิตรของจิต ของสภาพธรรมที่เกิดกับจิตก็ต่างกับขณะก่อน เมื่อวันก่อน เมื่อปีก่อน เมื่อเดือนก่อน หรือขณะต่อไป ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ความวิจิตรของจิตจะปรากฏในลักษณะใด แต่ไม่ว่าสภาพธรรมใดเกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย ปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะต้องรู้ลักษณะความต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๘๐๑ – ๘๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564