แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
ครั้งที่ ๘๐๘
ถ. การปฏิบัติธรรมที่ผมได้เคยมา โดยมากจะต้องมีการพิสูจน์ เป็นต้นว่า อาจารย์กล่าวว่า การเจริญวิปัสสนาที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดสถานที่ ผมเองทีแรกก็ยังสงสัย แต่ก็ได้พิสูจน์ ได้อ่านในคัมภีร์ ท่านก็บอกว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ท่านจะอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี จะอยู่เรือนว่างก็ดี จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะบิณฑบาต แม้กระทั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ให้มีสัมปชัญญะอยู่ เมื่อฟังบ่อยๆ เข้า เทียบกับอาจารย์แล้ว ก็ตรงกับคำที่อาจารย์บรรยายว่า ไม่จำเป็นจะต้องจัดสถานที่ ถ่ายอุจจาระก็ต้องให้มีสติ ถ้าหากว่าไม่มีสติจะรู้สึกว่า น่ารังเกียจ กลิ่นโสโครก ถึงกับต้องเอาบุหรี่เข้าไปสูบดับกลิ่นเหม็น แต่บางครั้งมีสติปัญญาขึ้นมาบ้างว่า กลิ่นนี่ก็อยู่ที่ตัวเรา ตัวเรานี้ก็เหม็น ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ ตรงกับคำสั่งสอนของ พระพุทธองค์ ไม่จำเป็นจะต้องไปหาสถานที่ที่ไหนๆ ถ้าพิจารณาหนักๆ บ่อยครั้งเข้า จิตก็จะสงบ ไม่จำเป็นต้องหาสถานที่อะไรเลย อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นสมถะได้ไหม พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน สิ่งโสโครกที่อยู่ในร่างกายเรา
สุ. ขณะใดที่จิตสงบ เป็นกุศล ซึ่งไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ขณะนั้นต้องเป็นกุศลที่เป็นไปในความสงบ หรือวิปัสสนาอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยอาการที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าไม่ใช่ ขณะที่ระลึกอย่างนั้นต้องเป็นสมถะ
อรรถของสมถะ คือ สงบ ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอุปจาระหรืออัปปนา เพราะฉะนั้น จะได้อบรมเจริญความสงบไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้ความสงบนั้นมั่นคงถึงขั้นไหน
ถ. ที่อาจารย์เคยบรรยายถึงปฐวีกสิณ พิจารณาดิน แต่ก่อนนั้นผมก็นึกอยู่เรื่อยว่า เคยเลี้ยงควาย เห็นควายกินหญ้า เราก็มากินเนื้อควายอีกที ตัวเราก็คือหญ้า ซึ่งตอนนั้นคิดว่า ถ้าหากเราหาเครื่องอะไรมาสักอย่างหนึ่ง และเอาหญ้าใส่ลงไป ทำให้เป็นเนื้อขึ้นมาโดยไม่ต้องเลี้ยงควายคงจะดี ตอนหลังมาฟังอาจารย์ให้พิจารณาว่าวัตถุต่างๆ ที่เรากิน สิ่งของต่างๆ ที่เรากินมาจากดิน ร่างกายตัวเราก็เป็นดิน เพิ่งมาคิดได้เดี๋ยวนี้เอง เป็นลักษณะของสมถะใช่ไหม
สุ. ขณะใดที่จิตสงบ เป็นกุศล ซึ่งไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล จะกล่าวว่าไม่สงบได้ไหม ไม่ได้ เพราะเป็นกุศล เมื่อเป็นกุศลก็สงบ ภาษาบาลีใช้คำว่า สมถะ เท่านั้นเอง
โดยมากไม่ได้เข้าใจความหมาย แม้แต่คำว่าสมถะก็เข้าใจว่า จะต้องเป็นการกระทำให้เกิดสมาธิจดจ้องที่หนึ่งที่ใด ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ ตรงกันข้ามขณะใดที่กุศลจิตเกิด แต่ไม่เป็นไปในทาน ในศีล ขณะนั้นต้องเป็นสมถะ หรือวิปัสสนาอย่างหนึ่งอย่างใด แล้วแต่จะเป็นสติปัฏฐาน หรือว่าจะเป็นอารมณ์ของสมถะ
ถ. ผมเคยอ่านเรื่องพระสาวก ที่พระพุทธองค์ให้เอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดดู และมีสิ่งปฏิกูลอะไรๆ คือ สมัยที่พระสาวกท่านเป็นกษัตริย์ ท่านก็ทรงช้าง ดูพลโยธากำลังจัดกระบวนทัพอยู่ เหงื่อออก ท่านก็เอาผ้าเช็ดหน้ามาเช็ดหน้า ผ้าเช็ดหน้าก็ดำ เพราะมีสิ่งโสโครก ท่านก็พิจารณาว่า ตัวเราไม่มีของที่สวยงามอยู่เลย มีแต่สิ่งโสโครก อานิสงส์เท่านี้ ตอนหลังท่านจึงมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เรื่องนี้เนื่องกันมาอย่างไร ขออธิบายด้วย
สุ. จิตและสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนี้ ต่างๆ กันไปแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย ถ้าท่านไม่เคยอบรมเจริญปัญญา ไม่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จะไม่มีปัจจัยที่จะให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น ซึ่งทุกท่านคิดได้ จะคิดอย่างท่านพระจูฬบัณฑกนี้ ก็คิดได้ แต่ไม่บรรลุธรรมอย่างท่านจูฬบัณฑก เพราะไม่ได้สะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่คิดอย่างนั้น แต่ว่าท่านผู้ฟังอาจจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่คิดอย่างอื่น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่สะสมมาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร ขณะไหน ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่วิจิตรแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
ถ. อยากจะปรึกษาจากอาจารย์ว่า การบูชานี้จะต้องมีรูปพระพุทธเจ้า และเครื่องดอกไม้ธูปเทียน จะต้องมีพร้อม หรือไม่ต้องมีก็ได้
สุ. คำถามคือ จำเป็นไหมที่จะต้องบูชาด้วยเครื่องบูชา เช่น ดอกไม้ธูปเทียน หรือว่าไม่จำเป็น เพียงแต่ระลึกถึงพระคุณเท่านั้นก็ได้ ใช่ไหม
ถ. คือ ถ้าหากว่าไม่มี ก็ไม่เป็นไร ใช่ไหม
สุ. แน่นอน ดีกว่ามี แต่ไม่ได้ระลึกถึงพระคุณ
ถ. ก็นึกด้วย และมีด้วย
สุ. บางท่านไม่เข้าใจพระคุณของพระผู้มีพระภาค แต่ว่ามีศรัทธาเลื่อมใสในการที่ทรงตรัสรู้ โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาจริงๆ ยังไม่เข้าใจในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณ เพราะฉะนั้น ก็บูชาพระผู้มีพระภาคด้วยอามิส คือ ดอกไม้และธูปเทียนด้วยจิตศรัทธา แต่สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจในพระคุณ ในพระธรรม ในคำสอน และระลึกถึงพระผู้มีพระภาคด้วยความเคารพ มีการกราบไหว้นมัสการตามธรรมเนียมประเพณีที่เคยกระทำมา ก็เป็นกุศลแล้วในขณะนั้น ดีกว่าผู้ที่เพียงบูชาด้วยศรัทธาแต่ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่ามีความเข้าใจในพระคุณของพระองค์หรือเปล่า
ถ. ก็จิตเป็นกุศลด้วยการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และมีรูปพระพุทธเจ้าด้วย อย่างนี้จะดียิ่งขึ้นไปกว่าไหม
สุ. ที่ดียิ่งจริงๆ คือ จิตในขณะนั้นเป็นกุศลที่ผ่องใสในขณะที่ระลึกถึงพระคุณ ไม่ใช่มีการมุ่งหวังว่า การกระทำอย่างใดจะดีกว่า ถ้าคิดว่าการกระทำอย่างไรจะดีกว่า อาจจะเป็นเพราะคิดถึงผลที่จะได้รับว่า ถ้ากระทำอย่างนั้นแล้วจะได้ผลมากกว่า ถ้าไม่กระทำจะได้ผลน้อยกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นไม่ใช่จิตที่ผ่องใส เพราะเป็นจิตที่คิดถึงผลที่จะเกิดจากการเคารพบูชาพระองค์ แต่ที่จะเป็นอานิสงส์จริงๆ คือ ระลึกถึงพระคุณ และกราบไหว้นมัสการด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่มีการเปรียบเทียบว่า จะได้ผลมาก หรือจะได้ผลน้อยถ้าไม่บูชาด้วยอามิส คือ ดอกไม้ธูปเทียน
มีชาวต่างประเทศที่เคยบวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งปกติท่านก็กระทำวัตรของพระภิกษุ ถึงแม้ว่าจะได้ลาสิกขาเป็นฆราวาสแล้ว ก็ยังจุดธูปเทียนบูชากราบไหว้ทุกคืน อยู่มาวันหนึ่งท่านผู้นั้นก็เกิดนึกเฉลียวใจว่า มีประโยชน์อะไรในการที่จะบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังเคยคิดอย่างนี้หรือเปล่า ในขณะที่จุดธูปเทียนหรือว่าบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยดอกไม้ และคิดว่าจะมีประโยชน์อะไรในการที่จะบูชาด้วยอามิสอย่างนี้
ถ. อยากจะให้อาจารย์แนะนำว่า ฉันทำผิดไปหรือเปล่า
สุ. พระไตรปิฎกทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะให้ ผู้ศึกษาได้เข้าใจยิ่งขึ้น ปฏิบัติถูกยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องมีศรัทธาในการฟัง เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตามพระไตรปิฎกให้มากขึ้น
ถ. ฉันอยากทราบเท่านั้น อยากจะทำให้ดี
สุ. ถ้าทำดีก็คือว่า ต้องศึกษาให้มากขึ้น และเข้าใจเหตุผลให้มากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ต้องทราบว่า การปฏิบัติบูชาเลิศกว่าอามิสบูชา
ถ. ดอกไม้ธูปเทียนอย่างที่อาจารย์ทำ ก็ชอบทำอย่างนี้
สุ. ก็ทำ มีศรัทธาที่จะทำอย่างนั้น จิตผ่องใสอย่างนั้น ก็ทำอย่างนั้น
ถ. นึกอยู่ในใจ ไม่มีธูป ไม่มีเทียน ไม่มีอะไร อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน
สุ. ได้ อย่ากังวล อย่าให้เกิดเป็นอกุศลจิต เพราะการปฏิบัติบูชา ปฏิบัติเมื่อไร ขณะไหนก็ได้ทั้งนั้น
ถ. ถ้ามี ก็ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นอีกหน่อยใช่ไหมหรืออย่างไร ฉันอยากรู้
สุ. ไม่เปรียบเทียบได้ไหม จะดีขึ้นอีกหน่อย ก็คือปฏิบัติ ทานบ้าง ศีลบ้าง ก็ยิ่งดีขึ้นอีกหน่อยหนึ่งๆ โดยปฏิบัติตามกำลังศรัทธาของแต่ละท่าน แล้วแต่ว่าจิตของท่านผู้ใดจะผ่องใสด้วยการถวายดอกไม้ จิตของท่านผู้ใดจะผ่องใสด้วยการถวายธูปเทียน เครื่องบูชาสักการะตามขั้น แต่ที่จะดียิ่งขึ้นก็คือว่า มีการฟังธรรม มีศรัทธามั่นคงขึ้น รักษาศีล ปฏิบัติธรรมมากขึ้น นั่นดีที่สุด
ถ. บางทีไม่สบายขึ้นมา ก็พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณเท่านั้นแหละ จะมีประโยชน์หรือเปล่าไม่ทราบ
สุ. ฟังธรรมและเข้าใจ กับการถวายดอกไม้ธูปเทียน อย่างไหนจะดีกว่ากัน
ถ. ฉันไม่ทราบจริงๆ จึงได้มาปรึกษาท่านอาจารย์
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ปฏิบัติธรรมเลิศกว่าอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา คือ ศึกษาและปฏิบัติธรรมเลิศกว่า
ถ. อามิสบูชา
สุ. คือ ดอกไม้ ธูปเทียน แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านผู้ใดมีศรัทธาที่จะถวายดอกไม้ ธูปเทียน ก็จะไม่ถวาย แล้วแต่กุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร แต่ให้ทราบว่า อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาเลิศกว่า
ถ. คุณของเทวดาตามที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ แต่ในพระสูตรบางแห่งมีว่า คุณของเทวดานั้น คือ หิริและโอตตัปปะ เพราะฉะนั้น อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด
สุ. หิริโอตตัปปะก็ต้องมีด้วย จะมีศรัทธาโดยปราศจากหิริโอตตัปปะไม่ได้ หรือจะมีแต่หิริโอตตัปปะโดยขาดศรัทธาก็ไม่ได้ โดยสภาพธรรมแล้วเกิดพร้อมกัน แล้วแต่ว่าในเหตุการณ์ใด ขณะใด สภาพธรรมใดจะปรากฏ เช่น ในขณะที่ควรจะมีความละอาย และความเกรงกลัวบาป เห็นโทษของบาป ศรัทธาก็ไม่ปรากฏให้เห็น แต่ว่าลักษณะของความละอาย คือ หิริ จะเกิดขึ้นปรากฏ
ถ. เวลาระลึกถึงคุณของเทวดา หิริโอตตัปปะของเทวดานั้น เราควรจะระลึกด้วยหรือไม่
สุ. ที่จะระลึกถึงคุณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ หิริโอตตัปปะ ทั้งหลายเหล่านี้ คือ เมื่อตนเองมี หรือว่าระลึกเพื่อที่จะให้ตนเองมีมากขึ้น ไม่ใช่ระลึกถึงคนอื่น และปล่อยให้เป็นของคนอื่นไป ของเราไม่มี
สำหรับเรื่องของเทวตานุสสติ เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงชีวิตของชาวสวรรค์บนสวรรค์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ถ้าท่านมีคุณธรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดา ท่านจะเป็นเทพที่เหมือนอย่างเทวดาในพระไตรปิฎกที่ทรงแสดงไว้หรือไม่ ซึ่งใน ทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร ข้อ ๒๔๗ เมื่อครั้งที่พระอินทร์ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในตอนต้นเพื่อตรัสถามปัญหา และพระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์เรื่องความริษยาและความตระหนี่ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนคร ราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ฯ
ก็สมัยนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้บังเกิดความขวนขวายเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงพระดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงเห็น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่ง พราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า
ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ในแคว้นมคธ ถ้ากระไรพวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ฯ
ถ้าเป็นเทวดาที่สนใจในธรรม ก็ย่อมขวนขวายที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อที่จะได้ฟังธรรม เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นในธรรม แต่ก็คงจะมีเทวดาอีกมากเหมือนกันเช่นเดียวกับในโลกมนุษย์ซึ่งไม่ได้สนใจในธรรม และไม่ได้ขวนขวายที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วย
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมาตรัสว่า
ดูกร พ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ในแคว้นมคธ พวกเราควรจะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปัญจสิขคันธรรพบุตรทูลรับท้าวสักกะจอมเทพแล้ว ถือเอาพิณมีสีเหลืองดังผลมะตูมคอยตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพแวดล้อมไปด้วยพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีปัญจสิขคันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้หายไปในชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งพระนครราชคฤห์ในแคว้นมคธ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดออกเข้า ฉะนั้น ฯ
ก็สมัยนั้น เวทิยกบรรพตและพราหมณคามชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนักด้วย เทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย และได้ยินว่าพวกมนุษย์ในหมู่บ้านโดยรอบพากันกล่าวอย่างนี้ว่า วันนี้ไฟติดเวทิยกบรรพตเข้าแล้ว วันนี้ไฟไหม้เวทิยกบรรพต วันนี้เวทิยกบรรพตไฟลุกโพลง เพราะเหตุไรเล่า วันนี้เวทิยกบรรพตและพราหมณคามชื่อ อัมพสัณฑ์จึงสว่างไสวยิ่งนัก มนุษย์พวกนั้นพากันตกใจ ขนพองสยองเกล้า ฯ
สมัยนี้ไม่มีโอกาสได้เห็นอย่างนี้อีกแล้ว ไม่มีบรรดาเทวดาทั้งหลายมาเฝ้า พระผู้มีพระภาค เพราะทรงปรินิพพานแล้ว และถ้าเป็นบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่บุคคลที่ควรจะมาเพื่อที่จะได้พบ ไม่เหมือนกับการอุตส่าห์มาจากทางไกล คือ จากสวรรค์ เพื่อที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกะปัญจสิขคันธรรพบุตรว่า
ดูกร พ่อปัญจสิขะ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้เพ่งฌาน ทรงยินดีในฌาน ในระหว่างนั้นทรงเร้นอยู่ อันผู้เช่นเรายากที่จะเข้าเฝ้า ถ้ากระไรพ่อควรจะให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้ว ภายหลังพวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ
ผู้ที่เป็นเทพย่อมรู้กาละที่สมควรว่า เมื่อไรควรจะเฝ้า และเมื่อไรไม่ควรจะเฝ้า เพราะว่าในขณะนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงหลีกเร้นอยู่ คือ เป็นผู้ทรงยินดีในฌาน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๘๐๑ – ๘๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840