แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783


    ครั้งที่ ๗๘๓


    สุ. อย่าเพิ่งคิดว่า ท่านเข้าใจอรรถของนามธรรมจริงๆ เพราะนั่นเป็นแต่เพียงเรื่องว่า นามธรรมคืออะไร แต่ที่จะเพิ่มความเข้าใจ ความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมยิ่งขึ้น จะต้องมีการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ กำลังจำได้เดี๋ยวนี้ กำลังรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะเกิดขึ้นจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม จริงๆ โดยประจักษ์ลักษณะของนามธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ จะต้องเกิดจากการระลึกได้ และศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมโดยไม่เลือก โดยไม่เจาะจง เพราะถ้าเจาะจงที่จะรู้เพียงนามธรรมเดียว ก็จะเกิดความสงสัยในนามธรรมอื่นได้ ซึ่งสภาพของนามธรรมไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็มีลักษณะที่สาธารณะเหมือนกันหมด คือ เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เช่น ขณะที่กำลังเห็น เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังได้ยินก็เป็นสภาพรู้ แต่ว่ารู้เสียงที่ปรากฏทางหู กำลังได้กลิ่น นามธรรมก็เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้กลิ่นที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่จะให้ปัญญาเข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ จึงต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทั้งหลายที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง จนกระทั่งประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะหมดความสงสัยในอาการรู้ ในธาตุรู้ ในสภาพรู้ ซึ่งไม่ว่าจะรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น ยังไม่ต้องไปคิดเรื่องเกิดดับ หรืออะไรทั้งหมด

    ถ. คือ รู้ทางตาก็เพียงว่ารู้ รู้ทางหูก็เพียงว่ารู้ รู้ทางจมูก รู้กลิ่นก็เพียงว่ารู้ แสดงว่ารู้นี้มีอยู่หนึ่งเดียวใช่ไหม

    สุ. เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละขณะและก็ดับไป แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะยังไม่รู้ว่า เป็นนามธรรมอย่างไรในขณะที่กำลังเห็น เป็นนามธรรมอย่างไรในขณะที่กำลังได้ยิน ในขั้นต้นจะต้องระลึกศึกษา รู้ในอรรถ รู้ในลักษณะในสภาพของธาตุรู้ อาการรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงเข้าใจเฉยๆ แต่ต้องสามารถรู้ได้ว่า ลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ทางตาไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏให้เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ปรากฏได้เพราะว่ามีสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงปรากฏ

    ถ. คำว่ารู้นี้มีหนึ่งเดียวใช่ไหม รู้ทางตาก็เพียงเฉพาะรู้

    สุ. ขณะหนึ่ง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แต่ว่าเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้นั่นเอง ที่ใช้คำว่า นามธรรม

    ถ. ที่รู้เป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ถ้าเช่นนั้นก็คงมี ๒ ใช่ไหม มีรูปกับนาม แต่คำว่ารู้นี้มีอยู่หนึ่งเดียวใช่ไหม

    สุ. เราไม่จำเป็นจะต้องใช้คำว่าหนึ่งเดียว เพียงแต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ และก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีลักษณะต่างๆ กันไป

    ถ. การที่จะรู้นี้ จะรู้ไปถึงรูปธรรมด้วยหรือเปล่า

    สุ. การที่จะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. เวลานี้ก็มีอยู่แล้ว ปรากฏตามความเป็นจริง

    สุ. ปรากฏอยู่ แต่ยังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ต้องอบรม ไม่ต้องเจริญอะไร เพราะว่ารู้แล้ว แต่ที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ในขณะนี้ แสดงว่ายังไม่ได้อบรมปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะเห็นเป็นเพียงรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สติเกิดขึ้นระลึกบ้างไหม ถ้าสติไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้ศึกษาจริงๆ ไม่ได้น้อมไปรู้จริงๆ ว่า ที่เคยเข้าใจว่ากำลังอยู่ในห้องนี้กับคนหลายคนมากหน้าหลายตา ก็เป็นเพียงสภาพที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    ที่เคยเห็นเป็นคนหนึ่งคนใด เวลาที่สติเกิด ปัญญาเจริญขึ้น จะต้องรู้ความต่างกันว่า ขณะที่กำลังเห็นนั้น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หลังจากนั้นแล้วเป็นเพียงความจำที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่จำได้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ในขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ความเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหมดสิ้นไปได้ ก็ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น รู้ความต่างกันของขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏกับขณะที่จำ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร เมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรมที่ต่างกัน ก็จะไม่ยึดถือในความจำ ในความคิดซึ่งเกิดหลังจากเห็น รู้ว่า ที่เข้าใจว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั้น เพราะความจำในสิ่งที่เห็นทำให้ตรึกนึกไปว่าเป็นบุคคลนั้นหรือเป็นวัตถุสิ่งนี้

    เพราะฉะนั้น ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนจะหมดสิ้นไปได้ เมื่อรู้ความต่างกันของขณะที่เห็น กับขณะที่จำได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร

    เช่นเดียวกับทางหู ขณะที่ได้ยินกับขณะที่รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยิน ก่อนเจริญสติดูเหมือนว่าไม่มีทางจะแยกออกจากกันได้เลย เพราะทันทีที่ได้ยินก็เข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยิน แต่เวลาที่อบรมเจริญสติแล้ว ที่จะไม่มีความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็เพราะรู้ว่า ขณะที่ได้ยิน ขณะนั้นได้ยินแต่เสียง ไม่ใช่ขณะที่กำลังนึกถึงคำเป็นเรื่องต่างๆ ตามเสียงที่ได้ยิน

    ก่อนเจริญสติดูเหมือนว่าจะแยกออกจากกันไม่ได้เลย ได้ยินกับเข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยิน แต่เวลาที่เจริญสติแล้ว ความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคลจะค่อยๆ ลดน้อยลง เพราะปัญญาเพิ่มขึ้นรู้ว่า ในขณะที่ได้ยินเสียงไม่ใช่ในขณะที่รู้หรือเข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้หรือเข้าใจความหมายนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ เสียงต่างๆ ที่ได้ยิน แล้วแต่ว่าจะได้ยินเสียงสูง เสียงต่ำอย่างไร ก็เป็นปัจจัยให้เกิดการคิดนึกตามเสียงที่ได้ยินนั้น และก็ดับไป แม้แต่การคิดการนึกนั้น

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนอยู่ในโลกของความคิด ที่จะว่าเป็นโลก เป็นคนนี้ เป็นคนนั้น เป็นเรื่องนี้ เป็นเรื่องนั้น ก็เพราะว่ามีจิตที่คิดอย่างนั้นเกิดขึ้น ถ้าจิตคิดนึกไม่เกิด ในวันหนึ่งๆ จะมีแต่เพียงการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู การได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก การลิ้มรสที่ปรากฏทางลิ้น การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และก็ไม่มีโลกอะไรเลย ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าความจำในสิ่งที่เห็นมี ความจำในเสียงที่ได้ยินมี ทำให้เมื่อเห็นแล้วก็คิดทันที เมื่อได้ยินแล้วก็คิดทันที เพราะฉะนั้น ในขณะที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็อยู่ในโลกของความคิดของบัญญัติ การสมมติสิ่งที่ได้เห็นได้ยินนั้น เป็นตัวตน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ

    เห็นสิ่งเดียวกัน แล้วแต่ความคิดจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าจะเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือปัญญา

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายจะปรากฏตามความเป็นจริงได้ ต้องปรากฏแก่ผู้ที่อบรมเจริญสติและปัญญา ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จึงจะค่อยๆ ลดน้อยลงจากสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันนี่เอง

    ถ. ถ้าอย่างนั้น คำว่ารู้ ก็มีอยู่เพียงแค่รู้ และก็ดับสัญญาหมด ใช่ไหม

    สุ. ในขณะที่กำลังระลึกรู้ มีความจำเกิดร่วมด้วย เพราะสัญญาเจตสิกเกิดทุกขณะจิต แต่จำถูก ไม่ใช่จำผิด เริ่มเข้าใจว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน สัญญาในขณะนั้นเริ่มเป็นอนัตตสัญญา

    ถ. หมายความว่า มีแค่รู้อย่างเดียวเท่านั้น คือ รู้อยู่ในรู้นั่นเอง ใช่ไหม

    สุ. รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้นๆ

    ถ. ผู้ที่เจริญสติ เจริญปัญญา จะต้องพิจารณาในรูปด้วยหรือเปล่า

    สุ. การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อมีรูปปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และไม่รู้ว่าเป็นเพียงรูปที่ปรากฏ เช่น ขณะที่กำลังเห็นลืมความจริงว่า เป็นแต่เพียงรูปที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นรูปที่ปรากฏทางตาไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงเลย แต่ปรากฏเป็นตัวตน เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญสติที่จะน้อมไปเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ถอดถอนความเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดและวัตถุสิ่งต่างๆ ออกจากขณะที่กำลังเห็น นั่นคือการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    ถ. ระหว่างที่สติระลึกรู้ คำว่า อัตตา ตัวตน ก็ไม่มี เพราะว่าจิตรู้อยู่อย่างเดียว

    สุ. ยังไม่หมดทันที เพียงแต่เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น รู้ชัดขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ต้องมีขณะที่ปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นด้วย มิฉะนั้นก็เป็นการนึกคิดเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้เป็นแต่เพียงรูปธรรม หรือว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นแต่เพียงธาตุรู้ แต่ว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยังไม่ได้ปรากฏให้ประจักษ์ชัดจริงๆ เพราะว่าจะต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    ถ. เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น รู้จริง เห็นจริง ก็มีแต่เพียงสภาพที่รู้เท่านั้น อย่างอื่นไม่มี

    สุ. มีนามธรรมและรูปธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ขณะนั้นจะมีแต่นามธรรมปรากฏอย่างเดียวไม่ได้ จะมีรูปธรรมปรากฏอย่างเดียวไม่ได้

    ถ. ก็เห็นทั้งรูป เห็นทั้งนาม นามรูปปริจเฉทญาณ

    สุ. ศึกษาจนกว่าปัญญาจะรู้ชัดถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ขณะนี้มีนามธรรมทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึก ทั้งรู้สึก แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของแต่ละนามธรรม เพียงนามธรรมเดียว ทีละนามธรรม ชัดเจนตามความเป็นจริง

    มีรูปที่ปรากฏทางตา มีเสียงที่ปรากฏทางหู มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏทางกาย แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมของรูปธรรมและนามธรรมเหล่านี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งทีละลักษณะขาดจากกันตามความเป็นจริงที่จะไม่รวมกันเป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ถ. ขณะที่ระลึกรู้นี่ สิ่งนั้นยังปรากฏอยู่ใช่ไหม

    สุ. กำลังศึกษา แต่ยังไม่ประจักษ์การขาดตอนของลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ของรูปธรรมแต่ละลักษณะ ขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เวลาที่เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะประจักษ์เพียงทีละลักษณะอย่างรวดเร็ว เหมือนความรวดเร็วของทางตา ทางหู ทางกาย และทางใจในขณะนี้ที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันตามความเป็นจริง

    ถ. อย่างนั้นผู้ที่เจริญสติต้องอาศัยรู้จากรูป เข้าใจในรูป

    สุ. ในชีวิตประจำวันมีสภาพธรรมที่เป็นรูปปรากฏ ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เสียงที่กำลังได้ยินก็เป็นรูป เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏในขณะที่กระทบก็เป็นรูป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูป มีรูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริง

    ถ. ถ้าปัญญารู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ถ้าหากไม่ไปรู้สิ่งอื่น สิ่งแวดล้อมอื่น จะละคลายอัตตาตัวตนได้ไหม

    สุ. จะมีอะไรที่เป็นสิ่งแวดล้อมต่างหากไปจากนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. ก็รูปธรรม สิ่งที่ปรากฏ ที่ท่านอาจารย์บอกแล้ว

    สุ. เพราะฉะนั้น จะมีอะไรที่เป็นสิ่งแวดล้อมต่างออกไปจากนามธรรมและรูปธรรม ในเมื่อมีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    ถ. เช่น มหาภูตรูปนี้ ต้องอาศัยไหม

    สุ. ปรากฏทางกายไหม รูปกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางกาย

    ถ. ความเข้าใจของดิฉัน รูปธรรมนี้ไม่มีสิ่งอะไรที่จะดีขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้น จะละคลายได้อย่างไร ถ้าหากไม่เห็นจริง

    สุ. นั่นคิด แต่เวลานี้ทางตาดีไหม รูปที่ปรากฏ

    ถ. ปรากฏทางตามี

    สุ. ดีไหม

    ถ. ก็เฉยๆ

    สุ. เฉยๆ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็ไม่ได้

    ถ. ก็รู้อย่างเดียว

    สุ. รู้อะไร

    ถ. สติระลึกรู้ ที่นั่งก็มี

    สุ. รู้อะไร

    ถ. รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี ถ้าสติระลึกรู้ที่นั่ง ก็จะเห็นได้ว่า มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ถ้าสติระลึกรู้ทางหู ก็คือเสียงปรากฏ

    สุ. นามธรรมและรูปธรรมไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ต้องศึกษารู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงพระสังฆรัตนะ ซึ่งการที่บุคคลใดจะมีศรัทธาประพฤติปฏิบัติธรรมในเพศของบรรพชิต เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงสอนให้ ผู้นั้นถึงความเป็นพระภิกษุอย่างแท้จริง เพราะการอบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทั้งเพศฆราวาสและบรรพชิต แต่ว่าบุคคลใดที่มีศรัทธาถึงกับจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมในเพศบรรพชิต ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อพระธรรมวินัยจริงๆ ในการที่จะขัดเกลากิเลส ที่จะให้สามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ถ้าจิตใจยังเป็นฆราวาส และบวชเป็นพระภิกษุโดยหวังที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่สภาพของจิตไม่ถึงความเป็นพระภิกษุ เป็นแต่เพียงจิตระดับของฆราวาสเท่านั้น และผู้นั้นไม่อบรมเจริญปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยตามเพศของบรรพชิต จริงๆ ผู้นั้นก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตจริงของแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงโอวาทอย่างมากที่จะให้ผู้ที่มีศรัทธาที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ได้มีจิตใจที่เป็นพระภิกษุจริงๆ

    และเพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเห็นคุณของพระสงฆ์หรือสังฆรัตนะ ที่ท่านมีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิต ซึ่งยากกว่าการที่จะเป็นเพศฆราวาส ขอกล่าวถึงข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬอัสสปุรสูตร ข้อ ๔๗๙ ซึ่งมีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของหมู่อังคราชกุมาร เขตอังคชนบท ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่า สมณะๆ ก็แหละพวกเธอ เมื่อเขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร ก็ปฏิญญาว่า พวกเราเป็นสมณะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอนั้นมีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ จึงควรศึกษาอยู่ว่า ข้อปฏิบัติที่ดียิ่งของสมณะอันใดมีอยู่ เราทั้งหลายจะปฏิบัติข้อปฏิบัติอันนั้น เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเราก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้น ของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากในเพราะพวกเรา อีกอย่างหนึ่งเล่า บรรพชานี้ของพวกเราก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ

    เพียงเท่านี้ท่านผู้ฟังก็จะเห็นว่า ผู้ที่เป็นสมณะที่แท้จริงจะต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือ จักปฏิบัติให้สมชื่อสมณะ ซึ่งเป็นเหตุให้ไทยธรรมของทายกจักมีผลมาก เป็นการเกื้อกูลอนุเคราะห์กับทายกผู้ให้ไทยธรรมด้วย ถ้าได้ประพฤติอย่างนี้แล้ว บรรพชาจักมีผล จักไม่เป็นหมัน คือ สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๗๘๑ – ๗๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564