แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811


    ครั้งที่ ๘๑๑


    สุ. การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ธัมมวิจยะ คือ การที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็นอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม และขณะใดที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลแม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ปัญญาย่อมเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตสงบขึ้นมากกว่าก่อนที่ยังไม่ได้เจริญ สติปัฏฐาน และเมื่อสงบขึ้น ก็ไม่ได้ยึดถือความสงบนั้นว่าเป็นเรา เมื่อไม่ยึดถือสภาพที่ความสงบว่าเป็นเรา ก็ยิ่งสงบขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้สงบ และปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงลักษณะของจิตที่สงบ หรือเป็นลักษณะของความสงบที่สงบขึ้นเพราะเหตุใด และยังละการยึดถือความสงบในขณะนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้สมถภาวนาโดยนัยของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะต่างกับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจะมีความเข้าใจเพียงขั้นที่ว่า ขณะนั้นที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามปกติ จิตสงบ หรือไม่สงบ และรู้เหตุที่จะทำให้สงบขึ้น แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ถึงปัจจัยว่า ในขณะนั้นสงบหรือไม่สงบเพราะอะไร หรือว่าเมื่อสงบแล้วสงบขึ้นอีกเพราะอะไร และก็ไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    โดยมากก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าก่อนที่จะเจริญสมถภาวนา คือ การอบรมจิตให้สงบบ่อยขึ้นจริงๆ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดมักจะต้องการทำสมาธิ แต่เวลาที่เข้าใจลักษณะของจิตที่สงบว่าต้องเป็นกุศล ถ้าไม่ใช่กุศลจะสงบไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เป็นไปในทาน คือ การระลึกถึงทานบ้าง การระลึกถึงศีลบ้าง โดยเป็นผู้ที่มีปกติสละมัจฉริยะ หรือว่าเป็นผู้ที่มีปกติวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมีความสงบเวลาที่ระลึกถึงทาน หรือว่าระลึกถึงศีล

    แต่เพราะความเป็นผู้ที่สามารถสละความตระหนี่ เป็นผู้ที่วิรัติทุจริตด้วย และเป็นผู้ที่สงบเวลาที่ระลึกถึงจาคะหรือระลึกถึงศีล และปัญญาก็รู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศลจึงสงบ การรู้อย่างนี้ทำให้ท่านไม่ต้องการที่จะไปทำสมาธิ เพราะรู้ว่าอารมณ์ในขณะนั้นไม่ใช่อารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบ เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญาที่สามารถรู้ว่า ลักษณะของความสงบต้องเป็นสภาพของจิตที่เป็นกุศล ไม่ใช่เป็นสภาพของจิตที่ต้องการโดยไม่เข้าใจหรือไม่รู้ลักษณะของจิตเลยว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศลเพราะอะไร

    ถ. การเห็นตามที่อาจารย์บรรยาย คือ ที่เห็น เฉพาะที่เห็น สักแต่ว่าสี หรือเห็นแต่เพียงรูปารมณ์ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่เห็นอย่างนั้น จะเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ผมอยากจะให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงที่เป็นคน เป็นสัตว์ มีความเกิดดับของจิตที่เร็วมากอย่างไร

    สุ. จับด้ามมีดทีเดียว จะให้ด้ามมีดสึกได้ไหม

    ถ. เป็นไปไม่ได้

    สุ. เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจับบ่อยๆ เรื่อยๆ วันหนึ่งก็ค่อยๆ สึกไป ฉันใด เมื่อทราบว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเพราะกำลังปรากฏ แต่เวลาที่ไม่เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะทันทีที่เห็นก็นึกรู้ทันทีว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นวัตถุ เป็นบุคคล เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่างๆ นั่นเห็นผิด ขณะนั้นปัญญายังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ซึ่งยากแก่การที่จะรู้ชัดถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่น้อมไปที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ ถ้าไม่คิดอะไรเลย ไม่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน จะไม่มีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เมื่อหลับตาแล้วไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อลืมตาก็มีเพียงสิ่งที่ปรากฏโดยยังไม่ทันคิดถึงรูปร่างสัณฐาน นั่นคือความหมาย อรรถที่แท้จริงของสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา

    เมื่อไม่เคยอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดอย่างนี้มานานเหลือเกินในอดีต จะให้กำลังเห็นและเกิดรู้แจ้งทันทีว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการจะจับด้ามมีดทีเดียวและจะให้ด้ามมีดสึกไป แต่ถ้ามีสติเกิดขึ้นรู้ว่า ทางตานี้ยังเห็นเป็นคนอยู่ ยังเห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ อยู่ ก็เกิดระลึกได้ว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา น้อมไปที่จะรู้อย่างนั้นบ่อยๆ เนืองๆ

    จะเร่งรีบทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าอวิชชาที่สะสมมาในอดีตมีมาก และสติก็เพิ่งจะเริ่มระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะให้แจ่มแจ้งประจักษ์ทีเดียวเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเหตุที่ยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เพราะขาดการศึกษาที่จะน้อมไปรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสภาพที่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา มีรูปอื่นปรากฏเวลากระทบสัมผัส แต่ทางตาจะแข็งด้วยไม่ได้ จะอ่อนด้วยไม่ได้ จะเย็นด้วยไม่ได้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้น น้อมไปที่จะรู้ในขณะที่กำลังเห็นบ่อยๆ จนกว่าจะชิน

    ถ. กว่าที่เราจะทราบว่า เป็นคน เป็นสัตว์ วิถีจิตเกิดอย่างไรบ้าง

    สุ. จักขุปสาทเกิดดับอย่างรวดเร็วที่กลางตา รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ ก็เกิดดับอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน แต่ว่านามธรรมเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่ารูปใดๆ ก็ตามซึ่งเป็นสภาวรูป เป็นรูปที่มีลักษณะจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ก่อนเห็นก็ต้องมีใช่ไหม ขณะที่ยังไม่เห็น มี ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่การได้ยิน ไม่ใช่การได้กลิ่น ไม่ใช่การรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นเป็นภวังคจิต เพราะถ้ากำลังได้ยินอย่างนี้ จะให้เกิดเห็นต่อจากการได้ยินทันทีไม่ได้

    เวลาที่ยังไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย และจะมีวิถีจิตที่เกิดเห็น จิตก่อน นั้นต้องเป็นภวังคจิต หมายความว่าเป็นจิตซึ่งไม่ได้รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๖ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จักขุปสาทก็เกิดพร้อมกับภวังคจิต รูปารมณ์ก็เกิดพร้อมกับภวังคจิต แต่ไม่มีใครประจักษ์การเกิดของจักขุปสาท หรือการเกิดของรูปารมณ์ เพราะในขณะนั้นเป็นภวังคจิตซึ่งไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย เหมือนในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่ฝัน ไม่ใช่คนตาย เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่เกิดดับสืบต่ออยู่อย่างรวดเร็ว ทุกขณะก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การคิดนึก หรือการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร

    จักขุปสาทเกิดแล้วยังไม่ดับ รูปารมณ์เกิดแล้วยังไม่ดับ ภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะจิตเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม เมื่อภวังคจิตที่เกิดพร้อมกับจักขุปสาทและ รูปารมณ์ที่กระทบภวังคจิตนั้นดับไปแล้ว การกระทบของรูปารมณ์ที่กระทบกับ จักขุปสาท ที่กระทบกับภวังคจิต เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไปไหว หมายความว่า พร้อมที่จะรู้อารมณ์ทางทวารที่กระทบ แต่ว่ายังไม่รู้ทันที ยังเป็นภวังคจิตอยู่ ซึ่งภวังคจิตที่เกิดต่อจากอตีตภวังค์ที่กระทบกับรูปารมณ์นั้น ชื่อว่าภวังคจลนะ ยังเป็นภวังค์ ยังไม่สามารถที่จะเห็นได้ทันที นี่ชั่วอีกขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป

    เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายก็เกิดขึ้น เมื่อภวังคจิตที่เป็นภวังคจิตดวงสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปจะไม่เป็นภวังคจิต หมายความว่าจะเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจุติ คือ ตาย จะต้องแยกให้รู้ลักษณะของจิตว่า ขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก แต่จิตก็เกิดดับ คือ หลังจากที่ปฏิสนธิแล้วก็มีภวังคจิตซึ่งเกิดดับคั่นกับการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และการคิดนึก อยู่ตลอดเวลา

    ในขณะนี้เองภวังคจิตก็มีคั่นอยู่ แต่ไม่ปรากฏเลย เสมือนกับว่ามีการเห็นตลอดเวลา และก็มีได้ยินสลับเป็นครั้งคราว ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วจนปรากฏเหมือนกับว่ามีหลายๆ อย่างปรากฏพร้อมๆ กัน

    เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปเป็นวิถีจิต ถ้าใช้คำว่าวิถีจิต ก็หมายความว่าเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร

    ถ้ารู้อารมณ์ทางตาโดยอาศัยจักขุปสาท ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ดวงก็ตามที่รู้อารมณ์ทางตาโดยอาศัยจักขุปสาท เป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมด ถ้าเป็นการได้ยินทางหู ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ดวงก็ตามที่อาศัยโสตปสาทเกิดขึ้นรู้เสียง จิตเหล่านั้นทั้งหมดชื่อว่า โสตทวารวิถี คือ เป็นวิถีจิตที่รู้อารมณ์โดยอาศัยหูเป็นทวารหรือเป็นทางรู้ สำหรับ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน แต่จะขอยกเฉพาะจักขุทวารที่ถามถึงว่า ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งต่างๆ จิตเกิดดับอย่างไร

    วิถีจิตที่เกิดหลังจากภวังคุปัจเฉทะ ยังไม่ใช่จักขุวิญญาณ คือ ยังไม่ได้กระทำกิจเห็น แต่ว่าจิตนั้นโดยพยัญชนะแปลจากภาษาบาลีว่า อาวัชชนะ หมายความถึง รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ แต่ถ้าใช้ในภาษาไทย การรำพึงนี้ดูเป็นเรื่องยาว แต่ว่าจิตแต่ละดวงเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    วิถีจิตแรก ดวงที่ ๑ ของจักขุทวารวิถี กระทำอาวัชชนจิต คือ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่จักขุทวาร ด้วยเหตุนั้นจึงทรงบัญญัติเรียกจิตนั้นว่า อาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางจักขุทวาร ก็เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่จักขุทวารและก็ดับไป เร็วที่สุด ชั่วขณะเดียว เมื่อดับแล้วเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ในขณะนี้ดูเหมือนว่ามีแต่จักขุวิญญาณที่กำลังเห็น แต่แท้ที่จริงแล้วจักขุวิญญาณเกิดเพียงชั่วขณะเดียวและดับไปอย่างรวดเร็ว

    เมื่อจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว วิถีจิตซึ่งเป็น จักขุทวารวิถี คือ จิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าไม่เห็นแต่ก็รู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับ เกิดขึ้นรับ คือ รู้อารมณ์นั้นต่อจากจิตที่เห็น เพราะฉะนั้น จึงทรงบัญญัติจิตนั้นว่า สัมปฏิจฉันนจิต คือ จิตที่รับรูปารมณ์ รู้รูปารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณ

    ขณะนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เวลานี้สัมปฏิจฉันนะก็เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ แต่ไม่มีใครไปพิจารณาลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ เพราะลักษณะของสัมปฏิจฉันนะไม่ปรากฏ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏและดับไปอย่างรวดเร็ว จิตที่พิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารนี้ ทรงบัญญัติว่า สันตีรณจิต

    เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น มนสิการอารมณ์นั้นตามการสะสมที่สะสมมาว่า มนสิการแล้วโลภมูลจิตจะเกิดในอารมณ์นั้น หรือว่าโทสมูลจิตจะเกิดในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือว่ากุศลจิตจะเกิดในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา

    ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ที่จะให้มโนทวาราวัชชนจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ ตัดสินอารมณ์นั้นให้เป็นกุศล ทั้งๆ ที่ทุกคนอยากจะมีกุศลจิตมากๆ แต่ถ้าสะสมอกุศลมา โวฏฐัพพนะก็มนสิการให้โลภมูลจิตเกิดต่ออย่างรวดเร็วเป็นปกติ ๗ ขณะ

    นั่นเป็นวิถีจิตทางจักขุทวารวิถี อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นเห็นและรู้สิ่งที่ปรากฏต่อโดยที่ไม่ใช่เห็น แต่ว่าอารมณ์เป็นแต่เพียงรูปารมณ์ที่ปรากฏ ยังไม่รู้เลยว่าเป็นคน หรือเป็นสัตว์ วิถีนี้มีก่อน เมื่อดับไปหมดแล้ว พร้อมทั้งตทาลัมพนะซึ่งเกิดต่อจากชวนะ ๗ ขณะซึ่งเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ภวังคจิตเกิดต่อ ไม่มีใครทราบเลยว่า ภวังคจิตเกิดดับไปเท่าไรก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์นั้นต่อจากทาง จักขุทวารวิถี

    มโนทวารวิถีแรกที่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพียงแต่รับ คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ให้ขาดตอน ท่านจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม ไม่ได้มีแต่จิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นจักขุทวารวิถีจิตเท่านั้น เพราะจักขุทวารวิถีจิตจะเป็นกี่ดวงก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และมีภวังค์คั่นอย่างมาก และก็มีมโนทวารวิถีจิตรับรู้รูปารมณ์ เช่นเดียวกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวาร ปรากฏเสมือนการสืบต่อซึ่งไม่ขาดตอนเลย จนกระทั่งเวลานี้ท่านไม่สามารถจะแยกได้ว่า ช่วงไหนเป็นปัญจทวารวิถีที่รู้ รูปารมณ์ ช่วงไหนเป็นมโนทวารวิถีที่รู้รูปารมณ์ซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่ง รูปารมณ์ที่ปรากฏ ปรากฏไม่มีการขาดตอนเลย

    นี่เป็นความรวดเร็วของวิถีจิต จากทางปัญจทวาร เป็นภวังคจิต และเป็นการรู้อารมณ์ที่เป็นรูปารมณ์ต่อทางมโนทวาร ซึ่งวิถีแรกยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร และก็เป็นภวังคจิตอีก ไม่ทราบว่ากี่ขณะ หลังจากนั้นมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นเพราะสัญญาเจตสิกที่จำ และวิตกเจตสิกที่เกิดพร้อมกันตรึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร

    ถ. คือ ทางจักขุทวารเกิดไปตลอดสายครั้งหนึ่ง จนถึงภวังคจิต มโนทวารก็รับอารมณ์ต่อ

    สุ. ต่อกันสนิท ไม่ปรากฏให้รู้เลยว่า ช่วงไหนเป็นปัญจทวารวิถี ช่วงไหนเป็นภวังคจิตซึ่งไม่เห็นเลย และช่วงไหนเป็นการรู้รูปารมณ์ทางมโนทวารต่อจากทางปัญจทวาร

    ถ. ตอนที่มโนทวารรับอารมณ์ต่อจากทางจักขุทวาร ทางมโนทวารจะต้องเกิดหลายครั้งหลายหนจนกว่าจะรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    สุ. จนกว่าจะตรึกถึงรูปร่างสัณฐานพร้อมสัญญาที่จำ แต่ดูเสมือนว่าทันทีใช่ไหม จักขุวิญญาณก็ไม่ปรากฏว่าดับ

    ถ. ตามปกติสามัญธรรมดา พอเห็น ก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์

    สุ. สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงกับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญ สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่กำลังปรากฏ ต่อเมื่อใดปัญญาอบรมเจริญจนกระทั่งประจักษ์ชัดจริงๆ ว่า วิถีจิตทาง ปัญจทวาร ไม่ใช่วิถีจิตทางมโนทวาร เมื่อนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏก็จะปรากฏเพียง แต่ละลักษณะ ทางตากับทางหูไม่ปนกันเลย เพราะมีมโนทวารวิถีจิตเกิดคั่น ปรากฏความขาดตอนของรูปที่ปรากฏทางตาและเสียงที่ปรากฏทางหู จึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏอย่างแท้จริง จะต้องรู้อย่างนี้ด้วย

    สุ. ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ยังเป็นตัวตน จะกล่าวว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลสักเท่าไรก็เป็นแต่เพียงคำพูด แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตนเพราะสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ. เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และยากเหลือเกินที่จะเข้าถึงสภาวธรรมอย่างนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๘๑๑ – ๘๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564