แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
ครั้งที่ ๘๑๔
การที่จะระลึกถึงพระนิพพาน คือ อุปสมานุสสติ จะต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมก่อน จึงจะน้อมไปสู่สภาพซึ่งไม่ใช่ สังขารธรรม ไม่มีปัจจัย ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จะสงบจริงๆ ไหม คิดดู ไม่มีการเกิดเลย
เวลานี้เดี๋ยวก็เห็นแล้ว เกิดอีกแล้ว เดี๋ยวก็ได้ยินอีกแล้ว ไม่รู้จักจบ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมจะเห็นได้จริงๆ ว่า เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็เกิดอีก และก็ดับไป ไม่จบ จึงไม่สงบ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ไม่ใช่สังขารธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และไม่เกิดเท่านั้นที่จะสงบจริงๆ จะไม่มีการเดือดร้อนประการใดๆ เลย
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๙ มีข้อความที่แสดงลักษณะของนิพพาน ซึ่งตรงกันข้ามกับสังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งว่า
ควรรู้ยิ่งว่า ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน
นี่คือลักษณะที่จะน้อมไปสู่ธาตุที่สงบจริงๆ
ความเป็นไปเป็นสังขาร ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน
ถ้าเกิดแล้วจะไม่เป็นไปต่างๆ นานา เป็นไปได้ไหม จะยับยั้งเหตุปัจจัยที่จะไม่ให้เป็นไปอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่สภาพธรรมใดก็ตามเมื่อไม่เกิด จะให้เป็นไปอย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพธรรมนั้นไม่เกิด จึงไม่เป็นไป
เครื่องหมายเป็นสังขาร ความไม่มีเครื่องหมายเป็นนิพพาน
ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น เป็นเพียงธาตุรู้ สภาพรู้ แต่ยังมีเครื่องหมาย คือมีลักษณะให้รู้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้นั้นต่างกับสภาพของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ และลักษณะของรูปธรรมซึ่งเป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ยังมีลักษณะ คือมีเครื่องหมายให้รู้ว่า รูปนั้นเป็นอย่างนั้น รูปนี้เป็นอย่างนี้
ความประมวลมาเป็นสังขาร ความไม่ประมวลมาเป็นนิพพาน
ความสืบต่อเป็นสังขาร ความไม่สืบต่อเป็นนิพพาน
ความไปเป็นสังขาร ความไม่ไปเป็นนิพพาน
ความบังเกิดเป็นสังขาร ความไม่บังเกิดเป็นนิพพาน
ความอุบัติเป็นสังขาร ความไม่อุบัติเป็นนิพพาน
ความเกิดเป็นสังขาร ความไม่เกิดเป็นนิพพาน
ความแก่เป็นสังขาร ความไม่แก่เป็นนิพพาน
ความป่วยไข้เป็นสังขาร ความไม่ป่วยไข้เป็นนิพพาน
ความตายเป็นสังขาร ความไม่ตายเป็นนิพพาน
ความเศร้าโศกเป็นสังขาร ความไม่เศร้าโศกเป็นนิพพาน
ความรำพันเป็นสังขาร ความไม่รำพันเป็นนิพพาน
ความคับแค้นใจเป็นสังขาร ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพาน ฯ
พอที่จะสงบบ้างไหม เมื่อระลึกถึงสภาพที่ไม่เกิด ไม่เป็นไป ไม่ตาย ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่รำพัน ไม่เศร้าโศก เพราะว่าไม่เกิดขึ้น นั่นจึงจะสงบจริงๆ
การระลึกถึงคุณของนิพพาน เป็นการยากที่คนธรรมดาซึ่งไม่ได้อบรมเจริญปัญญาเลยจะเข้าใจในความหมายของนิพพานได้ แต่ถึงแม้ว่านิพพานจะเป็นธรรมที่รู้ยากและประจักษ์แจ้งยากยิ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หมดหนทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน
ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งลักนิพพานได้ ต้องเป็นผู้ที่อดทนจริงๆ และต้องเป็นผู้ที่ละเอียดตั้งแต่ขั้นการศึกษา และขั้นพิจารณาเหตุผลของสภาพธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของนิพพานได้ เพราะว่าสภาพธรรมที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้นั้น ต้องเป็นปัญญาตามลำดับขั้นที่ได้อบรม ไม่ใช่ว่าเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งนิพพานได้ และสภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริง คือ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ไม่ใช่นิพพาน ก็เป็นสิ่งทียังรู้แสนยาก
เพราะฉะนั้น การที่สามารถจะประจักษ์แจ้งหรือเข้าใจลักษณะของนิพพานได้ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จริงๆ ก่อน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ผู้นั้นก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจแม้ลักษณะของนิพพาน
เรื่องของการประจักษ์แจ้ง เป็นเรื่องที่ต้องอบรมปัญญาให้รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมจนสามารถที่จะละคลายกิเลสตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดปัญญาคมกล้าสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน แม้ว่าปัญญานั้นจะเพิ่มขึ้น ชัดขึ้น แทงตลอดในลักษณะของสังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นและดับไป แต่กิเลสยังไม่สามารถที่จะดับได้ ถึงแม้ว่าปัญญาจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมจนละคลายสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ จนกว่าปัญญาที่สมบูรณ์ที่เป็นโลกุตตรธรรมจะเกิดพร้อมกับมรรคจิต รู้แจ้งพระนิพพาน และทำกิจปหานกิเลสในขณะนั้น กิเลสจึงจะดับได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กิเลสดับยากจริงๆ ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กิเลสทั้งหลายย่อมดับไม่ได้ ซึ่งกิเลสที่จะดับก่อนนั้นต้องเป็นสักกายทิฏฐิ การเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน พร้อมกันรวมกันว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกถึงลักษณะของนิพพาน จะต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของนิพพานก่อน จิตจึงจะน้อมไปที่จะสงบเวลาที่ระลึกถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับสังขารธรรมทั้งหลายที่กำลังเกิดและดับอยู่ในขณะนี้
บางท่านอาจจะบอกว่า เบื่อการเกิด เห็นโทษ เห็นภัยของการเกิด แต่ถ้าปัญญายังไม่รู้ว่า ขณะนี้อะไรเกิด มีอะไรกำลังเกิดและดับอยู่ในขณะนี้ ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ก็เป็นแต่เพียงความคิดที่เบื่อ ที่หน่ายในการที่จะต้องเกิดแล้วเกิดอีก ซึ่งก็ไม่มีอะไร เพราะถึงแม้จะมีทรัพย์สมบัติมากมายสักเท่าไร ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ และก็มีการเกิดอีก ใหม่อีก เพราะฉะนั้น การเบื่ออย่างนั้น ยังไม่ใช่การหน่ายโดยการรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ที่กำลังเห็นในขณะนี้ ที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้เอง สภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมที่เกิดและก็ดับ แต่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิด ถ้ามีความรู้สึกว่า เป็นเราที่จะต้องเกิดอีก ก็ยังไม่ใช่ความเห็นถูก แจ่มแจ้ง ชัดเจนในลักษณะของสภาพธรรมที่จะถึงพระนิพพานได้
การที่จะถึงพระนิพพาน จะต้องศึกษา และพิจารณาจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ซึ่งจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม และอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า
เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะรู้แจ้ง ประจักษ์ชัดเจนในลักษณะของนิพพาน ไม่ใช่เรื่องที่พูดเล่นๆ แต่ว่าเป็นเรื่องจริงที่สามารถจะประจักษ์แจ้งได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อดทนจริงๆ ที่จะเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจถูก ตั้งแต่ขั้นการฟัง และขั้นการพิจารณา จนกระทั่งถึงขั้นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น มีทางเดียว คือ จะต้องระวังที่จะไม่ใจร้อน ที่จะเร่งรีบไปถึงนิพพาน โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงต้องการ ยังเป็นทาสของตัณหา ยังเป็นทาสของความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะไม่มีใครที่สามารถจะรู้แจ้งประจักษ์ลักษณะของนิพพานโดยการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ได้
แม้ว่าการรู้แจ้งพระนิพพานเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ก็สามารถที่จะอบรม ศึกษา และพิจารณาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจลักษณะของนิพพานจริงๆ ได้ แต่ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด ท่านผู้ฟังสามารถจะเข้าใจลักษณะของนิพพานได้ไหม เพราะลักษณะของนิพพานนั้นละเอียดมาก
อรูปธรรมทั้งหลาย คือ นามธรรม ละเอียดกว่ารูปแน่นอน ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ เสียงปรากฏ แต่นามธรรมซึ่งเป็นสภาพเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง คือ สภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฏทางหู สภาพรู้ย่อมละเอียดกว่ารูปที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่รู้จริงๆ ไม่ศึกษา ไม่พิจารณา ไม่สังเกตที่จะเพิ่มความรู้ว่า ที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะเห็น เพราะเป็นสภาพรู้ น้อมไปที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรม แต่ว่านามธรรมที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี นามธรรมที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหูก็ดี ก็ยังไม่ละเอียดเท่ากับนามธรรมซึ่งเป็นสภาพความสงบของจิต โดยเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน
ความละเอียดของนามธรรม คือ อรูปธรรมเหล่านั้น ย่อมละเอียดประณีตขึ้นเป็นลำดับขั้น แต่ก็ยังมีรูปเป็นอารมณ์ ยังไม่ละเอียดเท่ากับฌานจิตซึ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเห็นแม้โทษของรูป ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตที่สงบในขณะที่เป็น รูปปัญจมฌาน เพราะฉะนั้น การที่จะบรรลุอรูปฌาน สภาพของจิตต้องละเอียดมากกว่ารูปปัญจมฌาน แต่แม้กระนั้น สภาพของนิพพานย่อมละเอียดกว่าสังขารธรรม ธรรมทั้งหลายซึ่งมีการเกิดขึ้น
แต่ถ้าในขณะนี้ยังไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะนึกถึงลักษณะความละเอียด ความสุขุม ความประณีตของนิพพาน ก็ยากที่จะเป็นไปได้ แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติจริงๆ เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเวลาที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมจะรู้ได้ว่า ยังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพรู้ ในธาตุรู้ที่เป็นนามธรรม แต่เริ่มจะเข้าใจแล้วว่า มีสภาพรู้จริงๆ
ค่อยๆ น้อมไปทีละน้อยที่จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็น เป็นเพียงสภาพรู้ ที่กำลังได้ยิน เป็นเพียงสภาพรู้ ที่กำลังนึก กำลังคิด กำลังรู้ กำลังเข้าใจ เป็นสภาพรู้แต่ละขณะ แต่ละลักษณะ
เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม และพิจารณาลักษณะของรูปธรรมซึ่งต่างกับนามธรรม ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ก็เป็นหนทางที่จะน้อมไปเข้าใจในลักษณะของนิพพานซึ่งละเอียดประณีต เพราะไม่มีการเกิดขึ้น
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ที่กล่าวข้างต้น แสดงให้รู้ถึงลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับ สังขารธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่ว่า
ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน
แม้แต่พยัญชนะสั้นๆ อย่างนี้ ท่านผู้ฟังก็จะต้องพิจารณาเพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ขณะใดก็ตามที่เห็น ถ้าไม่มีการเกิดขึ้น จะไม่มีการเห็น ถ้าไม่มีเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่มีการได้ยินเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมในชีวิตประจำวัน สภาพธรรมเหล่านั้นมีการปรุงแต่งเกิดขึ้นจึงเป็นสังขาร และเมื่อเป็นสังขารแล้ว ที่จะไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในสังขารที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วย่อมเป็นที่ตั้งของความพอใจ แต่ความพอใจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าสภาพนั้นไม่มีการเกิดขึ้น เมื่อสภาพนั้นไม่มีการเกิดขึ้น จะให้มีโลภะในสภาพธรรมที่ไม่เกิด ย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมนั้นที่ไม่เกิด มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขารธรรมที่มีการเกิดขึ้น ในพระไตรปิฎกจึงกล่าวว่า
ควรรู้ยิ่งว่า ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน
ความเป็นไปเป็นสังขาร ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน
ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่เป็นไป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นกุศลหรืออกุศล มีการคิดนึกตรึกตรองเป็นไปต่างๆ นานา ในอารมณ์ที่ปรากฏ พิสูจน์ได้ในขณะนี้ที่สติไม่เกิด เป็นไปแล้วกับสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเมื่อมีการเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็ย่อมเป็นไป สืบเนื่องต่อไป
เครื่องหมายเป็นสังขาร ความไม่มีเครื่องหมายเป็นนิพพาน
เครื่องหมาย คือ ลักษณะ หรือนิมิตของอาการที่ปรากฏ เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นได้ยินต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องหมาย คือ เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม
เพราะฉะนั้น นิพพานไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่มีลักษณะอาการเครื่องหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด จึงสงบยิ่ง และเมื่อสภาพธรรมใดประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน สภาพธรรมนั้นย่อมดับหรือปราศจากกิเลส เพราะประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น
ความประมวลมาเป็นสังขาร ความไม่ประมวลมาเป็นนิพพาน
เวลานี้เมื่อมีการเกิดขึ้น ก็ย่อมมีการประมวลมาเป็นกุศลต่างๆ เป็นอกุศล ต่างๆ เป็นเจตนาต่างๆ เป็นความคิดนึกต่างๆ นี่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าลักษณะของนิพพานหยุดการประมวลมาทั้งหมด เพราะสภาพธรรมนั้นไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการประมวลมา ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีการเป็นไป
ความสืบต่อเป็นสังขาร ความไม่สืบต่อเป็นนิพพาน
ชีวิตของแต่ละท่านนี้ไม่จบ เมื่อเกิดมาแล้วก็สืบต่อเรื่อยมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงขณะนี้ และจะต้องสืบต่อไป และเรื่องในวันหนึ่งๆ มีจบบ้างไหม เรื่องนี้จบไปชั่วคราว เรื่องนั้นเกิดมาต่อ และก็จบไปอีกชั่วคราว เรื่องเก่าก็เกิดมาต่อ และก็จบไปอีกชั่วคราว เรื่องใหม่ก็เกิดมาต่อ เต็มไปด้วยการสืบต่อซึ่งไม่มีการจบ เพราะเมื่อเกิดมาแล้วก็ต่อไปๆ เหตุการณ์ต่างๆ ก็ต่อไปอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
ถ้าคิดถึงขณะจิต ยิ่งเห็นความรวดเร็วของการสืบต่อ ทันทีที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่หยุดเลย เกิดอีก สืบต่อทันทีอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่พิจารณาถึงความรวดเร็วของขณะจิตที่เกิดสืบต่อ ในชีวิตประจำวันก็ย่อมจะเห็นแต่เรื่องราวต่างๆ ที่สืบต่อจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีวันจบ ในสังสารวัฏฏ์ฎ์
จบชาตินี้แล้ว สืบต่อทันทีที่ปฏิสนธิ และก็มีเรื่องต่อไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งถึงจุติ และก็ไม่จบอีก เพราะทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็สืบต่อ ก็มีเรื่องที่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบ จนกว่าจะรู้แจ้งประจักษ์ในสภาพธรรมที่ไม่สืบต่อ หยุด เพราะไม่เกิดอีก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๘๑๑ – ๘๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840