แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
ครั้งที่ ๘๒๑
มีการตรึกนึกถึงสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อที่จะเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ได้หลายประการ เช่น ถ้าท่านระลึกได้ว่า ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะหนี หลีก เลี่ยง พ้นไปจากสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่มีใครหนีไปได้เลย กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นในขณะนี้ ไม่มีใครหลบหลีกการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ นี่คือสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่เคยปรากฏและก็รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์นั้น แท้ที่จริงหาใช่คน สัตว์ วัตถุ สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง
ระลึกได้ไหมอย่างนี้ นี่คือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏทางตาที่ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะประจักษ์จริงๆ นี่คือ การเริ่มที่จะละอัตตา ที่เห็นสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตามปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เห็นในขณะอื่นเลย แต่ขณะที่กำลังเห็นจริงๆ อย่างนี้ ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไร
ตราบใดที่ทางตายังไม่ระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่ประจักษ์ความเกิดดับของอะไรทั้งสิ้น เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องรู้ตามลำดับ ต้องละคลายตามลำดับ และเมื่อเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เข้าถึงอรรถจริงๆ ของสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าทางตาก็เป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ว่าทางหูก็เป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางจมูกก็เป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางลิ้นก็เป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางกายก็เป็นเพียงสภาพรู้ และทางใจก็เป็นเพียงสภาพรู้
การที่จะเข้าถึงอรรถลักษณะของสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ ไม่ว่านามธรรมนั้นจะมีอาการปรากฏอย่างไรก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง และแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ
ถ. อาจารย์กล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ให้รู้ แต่เมื่อเราอบรมอวิชชามานาน เห็นครั้งใดก็ตรึกไปในกิริยาอาการของรูปนั้นๆ เช่น เห็นลำโพง เห็นพื้น เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นครั้งใดก็รู้ว่านี่เป็นเก้าอี้ นี่เป็นลำโพงทันที แต่อาจารย์ให้มนสิการใหม่ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ก็หมายความว่า เมื่อเห็นลำโพงก็ไม่ได้ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะของลำโพง แต่นึกในใจว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่างนั้นใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่นึกเป็นคำ ขณะที่นึกเป็นคำ สภาพธรรมเคลื่อนไปจากการศึกษาสภาพของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะขณะนั้นจิตกำลังนึกถึงคำ ไม่ใช่ขณะที่กำลังพิจารณา สังเกต สำเหนียก น้อมไปรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา สภาพที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้น คือ กำลังปรากฏ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ
ถ. ก็จริงอยู่ ขณะที่นึกว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็เป็นการนึกคิด แต่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ นี้ นึกคิดในทางที่ถูก ก็เป็นการปฏิบัติขั้นหนึ่ง ใช่ไหม
สุ. ขณะนั้นเป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสมถะ เป็นความสงบ เพราะขณะนั้นนึกถึงธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการศึกษาที่เป็นไตรสิกขา ที่พิจารณาสังเกตสภาพปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นสัมมาสติขั้นหนึ่ง เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกขั้นหนึ่ง แต่เป็นขั้นความสงบ
ถ. ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ เวลาสภาพธรรมปรากฏทางตา ก็ยังไม่ประจักษ์ ในเมื่อมีการรู้สึกตัวแล้ว ก็นึกถึงสภาพธรรมว่า การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางหู นึกในใจอย่างนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ ดีกว่า ผู้ที่เห็นแล้วหลงลืมสติ ใช่ไหม
สุ. เป็นประโยชน์ เพราะว่าเป็นกุศล และผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องมีความละเอียดที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นยังไม่ใช่การพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นการตรึกนึกถึงธรรมที่กำลังปรากฏ การรู้อย่างนี้จะช่วยทำให้เวลาที่ไม่นึกแต่เห็น ก็น้อมไปที่จะรู้โดยไม่ได้นึก น้อมไปรู้
ถ. ขั้นแรกควรจะเป็นอย่างนั้นไปก่อน ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยัง พิจารณาไม่ได้ เพราะการเกิดดับเร็ว
สุ. ขอประทานโทษ อย่าเพิ่งใช้คำว่า เกิดดับเร็ว แต่ให้เห็นว่าอวิชชามีมากแค่ไหน ให้เห็นกำลังของอวิชชา ไม่ใช่ว่าสภาพธรรมไม่มี มี ปรากฏ แต่ไม่สามารถจะรู้ได้เพราะอวิชชา เพราะฉะนั้น จะเริ่มเห็นอวิชชาของตัวเองที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริงว่ามากมายสักแค่ไหน นี่คือ ความรู้ที่จะรู้ว่า แต่ละคนมีอวิชชามาก แม้สภาพธรรมปรากฏก็ยังไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะอบรมเจริญวิชชา ความรู้ขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ความรู้เกิด ขณะนั้นต้องต่างกับอวิชชาที่ไม่รู้ และไม่ใช่รู้อื่น รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง จึงจะละความเป็นตัวตน และก็ละอวิชชาได้
บางท่านก็มีผู้ถามถึงพยัญชนะ เช่นคำว่า วัตถุกาม กับ กิเลสกาม ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือเข้าใจสติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะของวัตถุกามและกิเลสกาม ไม่ใช่เพียงรู้ชื่อ รู้คำ หรือรู้คำอธิบาย ถ้าบุคคลนั้นกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่ง สิ่งใด หรือเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็นดอกไม้สวยๆ ดอกไม้สวยเป็นที่พอใจ คือ เป็นวัตถุกาม ความพอใจในดอกไม้สวยที่เห็นเป็นกิเลสกาม
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ชื่อ หรือคำอธิบายที่จะไปจดจำ หรือไปท่อง แต่ในขณะเห็น วัตถุกามขณะใด กิเลสกามขณะใด ย่อมประจักษ์ชัด ในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่กระทบสัมผัส มีธรรมทั้งหมด พิสูจน์ให้รู้ความจริงโดยไม่ต้องไปท่องชื่อ เพราะว่าเดี๋ยวก็ลืม แต่ว่าขณะใดที่หลงลืมสติ มีความยินดีพอใจเกิดในสิ่งหนึ่งสิ่งใด วัตถุซึ่งเป็นที่พอใจนั้นเป็นวัตถุกาม ส่วนสภาพความยินดีพอใจในขณะนั้น เป็นกิเลสกาม
คามิกะ นี่ผมไม่ได้แปลเอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา วชิรญาณ แปลไว้ในนักธรรมตรี โท เอก
วัตถุกาม แยกเป็นวัตถุ กับกาม
วัตถุ แปลว่า วัสดุ หรือสิ่งของ
กาม แปลว่า ความใคร่
กิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมอง
ท่านแปลไว้อย่างนี้ วัตถุกาม วัสดุสิ่งของที่น่าใคร่ แต่กิเลสกาม คือ กิเลสเป็นเหตุใคร่ ท่านแปลไว้ ผมจำไว้เท่านั้นเอง
สุ. บางท่านมีข้อสงสัยในธรรมละเอียดลออมาก เช่น ท่านผู้หนึ่ง ท่านถามว่า เวลามะพร้าวตกลงมา ทำไมไม่ลอยกลับไป คือ ความสงสัยในธรรมมีมากและก็บอกว่า ควรจะอธิบายได้ เพราะทางโลกเขาก็ยังอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดมะพร้าวที่ตกลงมาถึงได้ไม่ลอยกลับคืนไป ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งนั้น แต่ความสงสัยจะเห็นได้ว่า ช่างมากมายและละเอียดลออไปเสียทุกเรื่อง
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะแยกได้ว่า โลกของความคิดเรื่องธรรมเป็นอย่างหนึ่ง เรื่องของสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏจริงๆ นั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างบางท่านกล่าวว่า ทางตาที่เห็นมีทั้งส่วนกว้าง ส่วนยาว ส่วนลึก ใช่ไหม นี่โลกไหน โลกของความคิดถึงส่วนกว้าง ส่วนยาว ส่วนลึก หรือว่าโลกของเห็น ต้องแยกกัน เพราะว่าแต่ก่อนนี้ เคยชินอยู่กับโลกของความคิด คิดทุกอย่าง คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ส่วนกว้าง ส่วนยาว ส่วนลึกของสิ่งที่เห็น
ทางหู ก็คิดถึงคลื่นเสียงว่า กว่าจะมากระทบกับอะไรๆ เป็นเรื่องที่ท่านเคยศึกษามา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หัวใจ เส้นเลือด ปอด ตับ ทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นโลกของความคิด แต่ว่าขณะที่กำลังรู้ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่คิด
อย่างเห็นนี่ เห็นแล้ว ไม่ใช่คิดถึงส่วนกว้าง ส่วนยาว ส่วนลึกอะไรเลย แต่ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้นเท่านั้น และต่อไปที่จะเห็นเป็นสัดส่วนต่างๆ ส่วนกว้าง ส่วนยาว ส่วนลึก นั่นเป็นโลกของความคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น หรือขณะที่ได้ยินก็เช่นเดียวกัน เสียงปรากฏกับสภาพที่รู้เสียงในขณะนั้น ไม่ใช่เสียงปรากฏกับสภาพที่กำลังคิดเรื่องคลื่นเสียง ในขณะที่กำลังคิดเรื่องคลื่นเสียง เสียงไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้เสียง ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น อย่าปนกัน ถ้าจะเข้าใจลักษณะของ ปรมัตถธรรม สภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นแต่ละขณะที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องของธรรม
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องมีความละเอียดที่จะรู้ความต่างกันว่า ความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ความคิดเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพนึกถึงคำ นึกถึงเรื่อง นึกถึงสี นึกถึงเสียง นึกถึงสิ่งต่างๆ ได้ทุกอย่าง แต่ว่าขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน กำลังเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ หลังจากนั้นมีการคิดทันที แล้วแต่ว่าจะคิดถึงรูปร่าง สัณฐาน คิดถึงชื่อ หรือคิดถึงเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ให้รู้ความต่างกันของแต่ละขณะตามความเป็นจริงว่า ทุกขณะในชีวิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไปทันทีอย่างรวดเร็ว
แต่ถ้าสติไม่เกิด จะไม่ปรากฏความดับ เพราะการเกิดสืบต่อของสภาพธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ประจักษ์การดับไปของสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว เพราะมีการเกิดสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ จะประจักษ์การเกิดและดับไปของสภาพธรรมแต่ละขณะได้อย่างไร เพราะสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก เช่น ทางตาเห็นแล้วก็มีการคิดนึกสืบต่อไปทันที เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์การเกิดดับได้ ต้องรู้สภาพธรรมที่ต่างกันเสียก่อนว่า ขณะที่เห็นจริงๆ ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดหรือนึกถึง
ถ. ขอให้อาจารย์อธิบายเกี่ยวกับ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล
สุ. เวลานี้มีเอกัคคตาเจตสิกกระทำกิจการงานอยู่ทุกขณะ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น ขณะนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตรู้อารมณ์เดียว อย่างขณะที่กำลังเห็น จะไม่พร้อมกับขณะที่กำลังได้ยิน สภาพธรรมที่กระทำกิจตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏทางตาในขณะที่เห็น นั่นคือลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก
ถ. ในไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิในที่นี้หมายความถึงสมาธิอะไร
สุ. หมายความถึงสัมมาสมาธิ ที่เกิดพร้อมกับสัมมาสติซึ่งระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ถ. เป็นสมถะหรือวิปัสสนา
สุ. ถ้าเป็นในมรรคมีองค์ ๘ ต้องเป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนา ไม่ใช่รู้เรื่องแล้วสงบ แต่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร ข้อ ๒๒๒ มีข้อความที่กล่าวถึงลักษณะของนิพพานว่า
จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ ๒ ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอ ยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลาย มีตัณหา เป็นต้น ให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จัก (ดับ) เย็น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ พระตถาคต ผู้มีจักษุผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ประกาศไว้แล้ว อันนิพพานธาตุอย่างหนึ่งมีในปัจจุบันนี้ ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ส่วนนิพพานธาตุ (อีกอย่างหนึ่ง) เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวงอันมีในเบื้องหน้า ชื่อว่าอนุปาทิเสส ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้ มีจิตหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ชนเหล่านั้นยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นกิเลส เพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ เป็นผู้คงที่ ละภพได้ทั้งหมด ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๗
นี่คือความหมายของนิพพาน ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ถึงแม้ว่าจะดับกิเลสหมด แต่ว่ายังไม่ได้ดับขันธ์ เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงดับกิเลสหมด แต่ยังเห็น ยังได้ยิน ยังทรงแสดงธรรม ยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น เวลาที่ทรงตรัสรู้อริยสัจเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและดับกิเลส สภาพธรรมที่ไม่มีการเกิดอีกเลยของกิเลสทั้งหลาย เป็น สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะยังมีการเกิดของขันธ์ แต่ว่าไม่มีการเกิดของกิเลส ส่วนเวลาที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง คือ เมื่อปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกเลย เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
เพราะฉะนั้น นิพพานมี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสส และอนุปาทิเสส ซึ่งต้องไม่ปนกับสอุปาทิเสสบุคคลและอนุปาทิเสสบุคคล ที่จะได้กล่าวถึงต่อไปใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สอุปาทิเสสสูตร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840