แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
ครั้งที่ ๘๒๔
ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน กำลังน้อมระลึกในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่สภาพนั้นยังไม่ได้ปรากฏโดยการไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เพียงแต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติกำลังน้อมไปในเรื่องของสภาพธรรมนั้น เพื่อที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริง ที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเมื่อความเข้าใจนั้นสมบูรณ์ เหตุพร้อมเมื่อไร ลักษณะของสภาพธรรมนั้นย่อมปรากฏตามความเป็นจริงโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่ละลักษณะ นี่คือการอบรมเจริญไปเรื่อยๆ คือ ไม่ลืมที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ทางหูในขณะได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติทุกอย่าง เป็นการอบรมไปเรื่อยๆ ความรู้ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย และจะเห็นได้ว่า เป็นความรู้ จริงๆ จะไม่ไปรู้อื่น นอกจากรู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ทางหูในขณะนี้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้เอง
อย่าให้อกุศล หรือว่าโลภะพาไปแสวงหาที่จะรู้อารมณ์อื่น เพราะที่จะเป็นความรู้จริงๆ ต้องเป็นความรู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ขุททกนิกาย อุทาน จูฬวรรคที่ ๗ ภัททิยสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๔๗ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระลกุณฐกภัททิยะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยเอนกปริยาย ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระลกุณฐกภัททิยะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยเอนกปริยาย จิตของท่านพระลกุณฐกภัททิยะหลุดพ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระลกุณฐกภัททิยะผู้อันท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยเอนกปริยาย จิตของท่านพระลกุณฐกภัททิยะหลุดพ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วในสิ่งทั้งปวง ในเบื้องบน ในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก ฯ
จบ สูตรที่ ๑
ไม่มีใครรู้เลยว่า ท่านพระลกุณฐกภัททิยะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่กำลังฟังท่านพระสารีบุตรชี้แจง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเป็นอันมาก นอกจากพระผู้มีพระภาคในขณะนั้น
ภัททิยสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๔๘ มีข้อความต่อไปว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
... ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรสำคัญท่านพระลกุณฐกภัททิยะว่า เป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา โดยอเนกปริยาย ยิ่งกว่าประมาณ
พระเสขะ หมายความถึงผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแต่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ คือบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งท่านจะต้องศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นขั้นๆ บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะเป็นผู้ที่ไม่ศึกษา เป็นพระอเสขบุคคล
ในขณะที่กำลังแสดงธรรมให้ท่านพระลกุณฐกภัททิยะฟัง ท่านพระสารีบุตรไม่ทราบว่า ท่านพระลกุณฐกภัททิยะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังคิดว่าเป็นพระเสขบุคคลอยู่
ข้อความต่อไปมีว่า
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
บุคคลตัดวัฏฏะได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานอันเป็นสถานที่ไม่มีตัณหา ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้ว ย่อมไม่ไหลไป วัฏฏะที่บุคคลตัดได้แล้ว ย่อมไม่เป็นไป นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ
จบ สูตรที่ ๒
สำหรับท่านพระลกุณฐกภัททิยะ ท่านเป็นพระภิกษุที่มีอดีตกรรมทำให้ในชาตินั้นท่านเป็นคนค่อม มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู พวกภิกษุดูหมิ่นโดยมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่คิดว่า ท่านจะเป็นผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งมีข้อความกล่าวไว้ใน ลกุณฐกภัททิยสูตร ข้อ ๑๕๑
แม้แต่การที่จะบรรลุ ก็ปกติธรรมดาอย่างนี้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็ยังไม่ทราบว่า พระภิกษุที่ท่านแสดงธรรมด้วยนั้น ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว
ยากไหม หรือง่าย ต้องศึกษาอดีตชาติของพระสาวกแต่ละท่านจริงๆ และท่านจะไม่ท้อใจ เพราะแต่ละท่านได้อบรมเจริญปัญญามาเป็นแสนกัปกว่าจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า
กัปหนึ่งๆ นานมาก เพราะฉะนั้น แต่ละภพ แต่ละชาติที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็เป็นผู้ที่ละเอียด ไม่เข้าใจข้อปฏิบัติผิด จะทำให้วันหนึ่ง ทุกท่านสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และไม่เข้าใจข้อปฏิบัติผิด
มีท่านผู้หนึ่งที่ได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านฟังมาหลายปี ซึ่งบางครั้งท่านก็เกิดท้อใจที่ฟังไม่รู้เรื่อง ท่านบอกว่า บางครั้งฟังไม่เข้าใจจริงๆ แต่ว่าท่านก็ฟังต่อไปอีกๆ จนในที่สุดวันหนึ่งท่านก็บอกว่า ท่านเข้าใจแล้วว่าสติปัฏฐานคืออย่างไร และสิ่งที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้ที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมนั้นต่างกันอย่างไร เป็นขั้นเข้าใจหลังจากที่ได้ฟังมาน และเวลาที่สติของท่านเกิดบ้าง ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ คือ ท่านสังเกตแล้วท่านรู้ว่า เวลาที่ สติเกิดแต่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล จะมีความเป็นตัวตนที่เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล แสดงให้เห็นว่า ยังไม่ใช่การประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่แม้กระนั้น สติที่ระลึกได้ในสภาพธรรมธรรมที่เป็นอกุศลและเปลี่ยนไปเป็นกุศล ท่านผู้นั้นก็ยังรู้ว่า ขณะนั้นเป็นตัวตนที่เปลี่ยน แม้ว่าสติเกิด
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเกื้อกูลกับกุศลธรรม ทุกขั้น จะเกื้อกูลกับสติที่จะให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นสติขั้นไหน
อย่างที่ท่านผู้ฟังเมื่อสักครู่นี้เล่าถึงประสบการณ์ของท่านว่า ท่านสังเกตความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ๓ ทวาร นั่นก็เป็นความละเอียดแล้วใช่ไหมที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เงียบ ไม่มีเสียง ขณะที่กำลังปรากฏทางตา เสียงไม่มี เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าสติเกิด หรือน้อมไปที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรม จะรู้ได้จริงๆ ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏ จะคิดด้วยในขณะนั้นไม่ได้จริงๆ เสียงกำลังปรากฏ ขณะนั้นมีแต่สภาพที่รู้เฉพาะเสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะคิดด้วยในขณะนั้นไม่ได้ ปัญญาจะค่อยๆ ละเอียดขึ้นที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมสติที่ระลึกในขั้นของการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วแต่ว่าจะเพิ่มความรู้ขึ้นมากน้อยอย่างไรที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นขณะที่รู้โดยไม่ใช่คิด
อย่างขณะที่เสียงปรากฏ เริ่มจะน้อมไปรู้จริงๆ ว่า ในขณะนั้นไม่มีคิดแน่นอน ในขณะที่เสียงเท่านั้นปรากฏ เพื่อที่จะได้แยกรู้ว่า สภาพที่กำลังรู้เสียง มี ในขณะที่เสียงปรากฏ เป็นเพียงสภาพรู้เท่านั้นเอง แม้ว่าสภาพนามธรรมและรูปธรรมจะเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ โดยใครจะรู้หรือไม่รู้ตาม แต่เวลาใดที่สติเกิด ขณะนั้นจะมีการระลึกได้บ้างที่จะศึกษา เพิ่มความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง ที่เป็นรูปธรรมบ้างตามความเป็นจริงที่ปรากฏ
และท่านผู้ที่บอกว่า เวลาที่สติของท่านเกิด ท่านก็เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล แต่ก็รู้ว่าในขณะนั้นยังเป็นตัวตน ยังไม่ใช่สภาพนามธรรมที่เปลี่ยน ท่านก็เล่าต่อไปว่า เวลาที่ท่านมีเรื่องโกรธเคืองคนอื่น ท่านมักจะตัดใจคิดเสียว่า แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของตน ไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนกรรมกันได้ แต่ทั้งๆ ที่คิดอย่างนั้น ท่านก็คิดอย่างประชดๆ เป็นไปได้ไหม นี่ชีวิตจริงๆ
การสะสมของสังขารขันธ์ คือ เจตสิก ๕๐ ดวง หรือ ๕๐ ประเภท ที่ไม่ใช่เวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์ ย่อมเกิดขึ้น และปรุงแต่งแต่ละขณะ เพราะการสะสม แต่ละขณะมีทั้งสะสมสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมบ้าง กุศลธรรมบ้าง เวลาที่ฟังธรรมก็เข้าใจว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน และเวลาที่ใครทำผิด หรือกระทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรม ไม่เชื่อฟัง ก็ต้องรับกรรมนั้นไปเอง แม้ว่าจะคิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปราศจากความไม่แช่มชื่น เพราะแม้จะคิดอย่างนั้น ก็คิดอย่างประชดๆ คือ ให้รับกรรมของแต่ละคนที่กระทำไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตของตน ในลักษณะสภาพที่เป็นกุศลว่าเป็นกุศล ในลักษณะสภาพที่เป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล จึงจะละอกุศลธรรมได้
เคยมีไหม ท่านผู้อื่น ที่คิดประชดๆ อย่างนี้ ซึ่งท่านผู้นั้นก็ทราบว่า ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพอที่จะละความประชด ไม่อยากคิดอย่างประชดๆ เลย อยากจะคิดอย่างผ่องใสจริงๆ แช่มชื่นจริงๆ ละคลายเยื่อใยความติดข้องจริงๆ ในขณะนั้น แต่ก็รู้ว่า ไม่สามารถจะเป็นอย่างที่ต้องการได้ นอกจากจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมจริงๆ เป็นรูปธรรม จริงๆ และปัญญาที่รู้อย่างนี้จะทำให้เกิดความเมตตาจริงๆ ผ่องใสจริงๆ ปราศจากความไม่แช่มชื่นได้จริงๆ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิดถึงขั้นที่จะละคลายกิเลสให้ยิ่งขึ้น ก็จะเห็นสภาพธรรมที่เกิดสลับกันตามปกติตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่กุศลเกิดขึ้นก็ยังมีอกุศลเกิดสืบต่อได้อย่างรวดเร็วในลักษณะต่างๆ ตามการสะสมของสังขารขันธ์ คือ เจตสิกต่างๆ ที่แต่ละท่านได้สะสมมา
สำหรับท่านพระลกุณฐกภัททิยะ ท่านเป็นพระภิกษุที่มีอดีตกรรมทำให้ในชาตินั้นท่านเป็นคนค่อม มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู พวกพระภิกษุดูหมิ่นโดยมาก เพราะฉะนั้น ก็ไม่คิดว่าท่านจะเป็นผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์
สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ทรงแสดงว่า ผู้นั้นย่อมไม่เป็นผู้ที่โอ้อวด ไม่ใช่ผู้ที่มีมารยา
อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต วิหารสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการนี้ เธอทั้งหลายจงฟัง ... ฯลฯ
คือ การบรรลุรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และสัญญาเวทยิตนิโรธ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการเป็นไฉน เรากล่าวว่ากามทั้งหลายย่อมดับในที่ใด และท่านเหล่าใดดับกามทั้งหลายได้แล้วๆ อยู่ ในที่นั้นท่านเหล่านั้นไม่มีความหิว ดับแล้ว ข้ามได้แล้ว ถึงฝั่งแล้ว ด้วยองค์ฌานนั้นเป็นแน่ ผู้ใดพึงถามอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายย่อมดับในที่ไหน และใครดับกามทั้งหลายได้ แล้วๆ อยู่ เราไม่รู้ผู้นี้ เราไม่เห็นผู้นี้ เธอทั้งหลายพึงตอบผู้นั้นอย่างนี้ว่า
ดูกร อาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ กามทั้งหลายย่อมดับในปฐมฌานนี้ และท่านเหล่านั้นดับกามได้แล้วๆ อยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอไม่เป็น ผู้โอ้อวด ไม่มีมารยาเป็นแน่ พึงชื่นชมยินดีภาษิตว่า ดีแล้ว ครั้นแล้วพึงนมัสการกระทำอัญชลีเข้าไปนั่งใกล้ ฯ
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีใครถามว่า กามทั้งหลายย่อมดับในที่ไหน และใครดับกามทั้งหลายได้แล้ว เราไม่รู้ผู้นี้ เราไม่เห็นผู้นี้ จะตอบว่าเป็นคนนั้น หรือเป็นคนนี้ หรือว่าควรจะตอบว่าอย่างไร แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงตอบผู้นั้นอย่างนี้ว่า ดูกร อาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน จะเป็นใครก็ได้ที่อบรมเจริญข้อปฏิบัติที่ถูก จนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งเป็นรูปฌาน ๔ หรือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ อันดับสุดท้ายของอนุปุพพวิหารสมาบัติ ท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่ดับกามได้แล้ว โดยที่ไม่ต้องเอ่ยชื่อ หรือไม่ต้องบอกว่า ท่านผู้นี้อยู่สำนักนั้นท่านรู้แจ้งนิพพาน หรือว่าท่านบรรลุฌานสมาบัติที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรืออรูปฌานขั้นหนึ่งขั้นใด นั่นจึงจะเป็นผู้ที่ไม่โอ้อวด และไม่มีมารยา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840