แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
ครั้งที่ ๘๒๖
ถ. ขอเรียนตามตรง ผมยังมองไม่เห็นว่าพระนิพพานนั้นจะสุขอย่างไร แต่ที่มีศรัทธาศึกษาธรรม รู้อย่างเดียวว่า ถ้ากิเลสลดลง รู้สึกว่าจะมีความสุข และคนไหนที่มีกิเลสน้อยจะเป็นคนที่น่ารักที่สุด น่าคบที่สุด ผมมีความรู้เท่านี้ แต่ขั้น พระนิพพานยังคิดไม่ออกว่า จะมีความสุขลึกซึ้งขนาดไหน
สุ. เป็นความจริง จนกว่าจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป จึงจะเห็นว่า สภาพธรรมที่เกิดดับนั้นเป็นทุกข์ แต่สภาพธรรมที่ตรงกันข้าม คือ สภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เป็นสุขจริงๆ
ตราบใดที่สภาพธรรมในขณะนี้กำลังเกิดดับอยู่ แต่ไม่ประจักษ์ในความเกิดดับ ย่อมยังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ และย่อมยังไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่า นิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นสุขได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน ปัญญาจึงจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเป็นปัญญาของท่านผู้ฟังเอง ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดกับท่าน ซึ่งปัญญานั้นจะเป็นปัญญาที่รู้จริงเหมือนกันหมด คือ รู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถที่จะรู้สัจจะ หรือสัจธรรม ความจริงของสภาพธรรมแต่ละขณะได้
ก่อนที่สติจะเกิด เป็นโลกของสมมติสัจจะ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ พิจารณา ตรึกตรองในเหตุในผลของเรื่องราวต่างๆ ดูเสมือนว่าเรื่องราวต่างๆ นั้นเป็นจริง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นจริง คือ ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนโดยสมมติ ก็เป็นความจริงของสมมติเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เข้าใจในสมมติสัจจะ กับปรมัตถสัจจะอยู่นั่นเอง
แต่เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้ความต่างกันของ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ว่าต่างกับเรื่องราวที่คิดนึก
ทุกคนคิด ไม่ใช่ไม่คิด ท่านพระสารีบุตรคิด ท่านพระภัททิยะคิด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคิด ไม่ใช่ว่าความคิดไม่ใช่ของจริง สภาพจิตที่คิดมีจริง แต่ว่าท่านเหล่านั้นรู้ความต่างกันของปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะว่า สมมติสัจจะเป็นความจริงในเรื่องที่คิด แต่ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะซึ่งเป็นความจริงที่มีลักษณะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ทุกท่านคงเคยดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ มีเรื่องราวใช่ไหม ในหนัง ในละคร ในหนังสือ ในโทรทัศน์ จริงหรือเปล่า ลองคิดดู มีบุคคลต่างๆ ในโทรทัศน์ ในหนังสือ ในละคร ในหนัง ในความคิดของท่านคนเหล่านั้นเป็นบุคคลจริงๆ หรือเปล่า ชื่อนั้นจริงๆ หรือเปล่า และคนหนึ่งก็ชื่ออีกอย่างหนึ่งจริงๆ หรือเปล่า ในหนังมีหลายคน มีชื่อต่างๆ คนนี้ก็ชื่ออย่างนี้ คนนั้นก็ชื่ออย่างนั้น แต่จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เทียบเคียงได้กับการที่จะเข้าใจสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะว่า ต่างกัน
สมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ อะไรมี อะไรไม่มี ถ้าจะพูดถึงหนัง ละคร หรือว่าหนังสือที่อ่าน ก็ยังไกลไป เพราะขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ เปลี่ยนมาถึงเดี๋ยวนี้เลย เดี๋ยวนี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ คนนี้ชื่อนั้น คนนั้นชื่อนี้ จริงหรือเปล่า จริง หรือไม่จริง
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงแม้ท่านพระสารีบุตร ท่านพระภัททิยะ ท่านก็คิดถึงท่านพระมหาโมคคัลลานะ คิดถึงท่าน พระมหากัสสปะ ความคิดมี และท่านรู้ด้วยว่า ในขณะนั้นสภาพจริงๆ คือ ปรมัตถสัจจะที่คิด แต่ว่าเรื่องที่คิด เช่น ระลึกถึงท่านพระสารีบุตร หรือว่าระลึกถึงท่านพระมหาโมคคัลลานะ หรือว่าระลึกถึงท่านพระอานนท์ ในขณะนั้นท่านรู้ว่า เป็นสมมติสัจจะ เพราะฉะนั้น การที่จะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาต้องรู้ทั่วจริงๆ หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือ ในหนัง ในละคร หรือขณะที่กำลังเห็น หรือขณะที่กำลังตรึกนึกถึงบุคคลต่างๆ ก็รู้ว่า สมมติสัจจะเป็นอย่างไร ปรมัตถสัจจะเป็นอย่างไร จึงจะเห็นความไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในขณะนั้นได้
ถ้ายังไม่รู้ความจริง จะเอาตัวตนออกได้อย่างไร ในขณะที่กำลังดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือ เห็นคน พบปะเพื่อนฝูงต่างๆ เพราะฉะนั้น แม้ขณะที่กำลังดูละคร ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงได้ เพราะในขณะนั้นมีปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน
ขณะที่หลงลืมสติ ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เวลาที่รู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ย่อมรู้ว่าสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ เพราะฉะนั้น การคิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยซึ่งปัญญาจะต้องรู้จนละการยึดถือสภาพที่คิดว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ยากที่จุดนี้ แม้ว่าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ หรือน้อมไปศึกษา น้อมไปสู่ปรมัตถ์นี้ ระลึกทีไรสมมติสัจจะขึ้นมาแทนทุกที ระลึกทีไรสมมติสัจจะปรากฏทางใจเข้ามาคั่น คือ ตัวตนเข้ามาคั่นตลอดเวลาที่สติเกิด ซึ่งขณะนั้นก็รู้ เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจที่สุด บางครั้งก็รู้บ้าง แต่เจริญสติทุกครั้งแทบจะมีตัวตนแทรกอยู่ตลอดเวลา
สุ. ดีที่รู้ และที่ว่าเป็นตัวตนนั้น คือ สักกายทิฏฐิ การที่เห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏ
ถ. รู้สึกว่า เป็นปกติที่รวดเร็วเหลือเกิน เป็นปกติของเรา สติของเราบางครั้งก็เป็นปรมัตถ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นตัวตนมากกว่า
สุ. ขออนุโมทนาที่รู้ เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมไป ซึ่งการอบรมเจริญปัญญา ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อยังมีการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนอยู่ ก็รู้ตามความเป็นจริงเพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น ปัญญาจะต้องเพิ่มขึ้น จะไม่ใช่ปัญญาที่เพียงเกิดพร้อมสติและก็เพิ่งจะเริ่มน้อมไปที่จะรู้ว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ปัญญาจริงๆ จะต้องเจริญขึ้นอีกมาก การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องรู้ได้ไม่ว่าในขณะไหน จึงจะเป็นปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ถ้ายังกลัว ยังขลาด ยังไม่อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าขณะใด ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่ปัญญา และไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาด้วย เพราะไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ปกติธรรมดาอย่างนี้ และปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อไร ซึ่งแต่ละขณะที่สติเกิด เป็นโอกาสที่ปัญญาจะเจริญ แต่ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นอวิชชาไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
ถ. การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพ เป็นกุศลใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. ก่อนที่จะเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพนั้น ก็มีการพิจารณาว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ที่ควรเคารพจริง โดยความเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูง และต้องเป็นผู้ที่มีอุปการะมาก มีความรู้มาก อะไรอย่างนี้ การคิดอย่างนี้จะเป็นลักษณะของมานะที่เห็นว่าตัวเองด้อยกว่าเขาไหม คือ ถ้าเป็นมานะ ก็จะเป็นการแสดงความเคารพที่เป็นไปด้วยอกุศล ฉะนั้น อยากให้อาจารย์อธิบายว่า การแสดงความเคารพที่เป็นไปด้วยกุศล หรืออกุศลแตกต่างกันอย่างไร
สุ. จิตเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ถ้าสติไม่เกิด ยากที่จะรู้การเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วของกุศลและอกุศลได้ แต่ว่าผู้ที่สังเกตจิตของตัวเองบ่อยๆ ก็พอจะทราบได้มากกว่าคนอื่นแน่นอนว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล
การแสดงความเคารพ บางครั้งบางท่านอาจจะพิจารณานานว่า จะเคารพดีหรือไม่เคารพดี ซึ่งอาจจะช้าเกินไป แต่ถ้าคิดถึงว่า การเคารพสามารถที่จะเคารพ ในชาติ คือ ในกำเนิดที่สูง หรือว่าในวัย ในอายุที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่สูงด้วยอายุ หรือว่าในคุณธรรม ในความรู้ ในความสามารถก็ได้ และแม้ว่าจะเป็นการแสดงความเคารพตามมารยาท แต่ถ้ากระทำด้วยจิตอ่อนโยน อ่อนน้อม ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของมานะ ความหยาบกระด้าง สภาพที่สำคัญตน ถือตน คิดถึงตัวเองในขณะนั้นที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็เป็นกุศลได้ คือ ลักษณะของจิตที่อ่อนโยน ที่นอบน้อม ย่อมเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในการเคารพผู้ที่สูงกว่าด้วยวัย หรืออาจเสมอกันก็ได้ แต่กระทำไปด้วยจิตที่อ่อนโยน อ่อนน้อม ขณะนั้นก็เป็นกุศล
จิตเป็นสภาพที่มีจริง เกิดขึ้น และสามารถที่จะระลึกได้ตามความเป็นจริงในลักษณะที่เป็นกุศล หรือว่าในลักษณะที่เป็นอกุศล แม้แต่การแสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ถ้ายังไม่ได้สังเกต ไม่ได้พิจารณา ก็ควรที่จะเริ่มพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นกระทำด้วยความสงบ ด้วยความนอบน้อมที่เป็นกุศลจริงๆ หรือว่าเพียงแต่จะกระทำให้เสร็จตามภาระ หรือว่าตามกิจวัตรเท่านั้น หรือว่าบางท่านอาจจะรีบเร่ง มีธุระ ทำไปก็คิดถึงเรื่องอื่นไป แทนที่จะคิดนึกด้วยความนอบน้อมเป็นความสงบ เป็นกุศลที่อ่อนน้อมจริงๆ
ถ้าท่านผู้ใดสังเกตเห็นความนอบน้อมของจิตของท่านในขณะที่แสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ต่อๆ ไปจะระลึกได้จริงๆ ว่า ความนอบน้อมนั้น ยิ่งนอบน้อม ยิ่งเป็นกุศล และยิ่งสงบขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มสังเกตพิจารณาจิตในขณะนั้นด้วย
ถ. ผมบางทีอ่านธรรม ศึกษา และก็ฟัง เกิดจิตที่เลื่อมใสเพราะเข้าใจ ในความกรุณาของพระพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์ของพระองค์ หรือของพระสงฆ์ผู้ที่ปฏิบัติตรงจนกระทั่งบรรลุ เมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว ไหว้พระก็นอบน้อมจริงๆ อ่อนน้อม จริงๆ แต่ปัจจุบันนี้ เวลาไปที่วัดเห็นพระสงฆ์นอนดูโทรทัศน์ บางทีก็เล่นหมากรุกกัน เสกน้ำมนต์บ้าง หมดศรัทธาที่จะไหว้ ใส่บาตรพระก็มีการแย่งกัน …
สุ. ขอประทานโทษ เห็นอกุศลจิตของคนอื่นชัด แต่จิตของตัวเองในขณะนั้นเป็นอะไร เห็นหรือยัง ทำไมลืมจิตของตัวเอง จิตของคนอื่นกับจิตของตนเอง อะไรสำคัญกว่า ถ้าจิตของตนเองสำคัญกว่า ทำไมให้บุคคลอื่นมาเป็นปัจจัยให้ อกุศลจิตของตนเองเกิด
ถ. อ่อนน้อมไม่ลง
สุ. ถ้าอ่อนน้อมไม่ลง จิตของใครเป็นอกุศล จิตของคนอื่นทำอะไรไม่ได้ ไม่สำคัญ สำคัญที่จิตของตัวเอง
ถ. ดูแล้วหมดศรัทธาที่จะไหว้
สุ. อกุศลเท่าไรแล้ว อกุศลของตัวเอง อย่าลืม
ถ. แต่เขาเป็นพระสงฆ์องค์เจ้า
สุ. ไม่ต้องโทษคนอื่น ระวังจิตของตัวเอง มีทางใดที่กุศลจิตจะเกิด เกิดได้ในขณะนั้น เมตตาได้ไหม กรุณาได้ไหม มุทิตาได้ไหม อุเบกขาได้ไหม ทำกรรมอย่างไรก็ได้รับกรรมอย่างนั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ไม่มีคำใดที่จะให้อกุศลจิตเจริญ ทรงปิดกั้นทุกทางที่จะไม่ให้อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่บูชาพระคุณของพระองค์ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามต้องอย่าลืมว่า อย่าให้อกุศลจิตของตนเกิดขึ้นโดยอ้างบุคคลอื่นว่าทำให้อกุศลเกิด อบรมเจริญกุศลได้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ถ. มีสหายธรรมผู้หนึ่ง ท่านมีความสงสัยที่อาจารย์กล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่มาประชุมกันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ โดยเฉพาะที่ว่า จิตสั่งไม่ได้ ท่านผู้นั้นมีความสงสัยว่า ถ้าจะใช้ให้เด็กไปหยิบน้ำมา โดยกล่าวว่า หนูไปหยิบน้ำมาให้แก้วหนึ่ง อย่างนี้ไม่ใช่จิตสั่งหรือ
สุ. สั่งอะไร ในขณะนั้น
ถ. สั่งเด็กให้ไปหยิบน้ำ
สุ. ขอประทานโทษ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด จะต้องทราบว่า จิตอะไรสั่งรูปอะไร ในขณะไหน
ถ. ขณะนั้นมีความต้องการน้ำ ก็สั่งให้เด็กไปหยิบน้ำ
สุ. ขณะที่มีความต้องการน้ำ จึงใช้ให้เด็กไปหยิบน้ำ ขอทราบว่า ขณะนั้นจิตอะไรสั่งรูปอะไร ต้องเป็นขณะๆ เพราะนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น รูปใดเกิดเพราะจิตใดขณะใด ต้องชัดเจนด้วยว่า ในขณะที่เกิดความต้องการขึ้น ขณะนั้นสั่งอะไรหรือยัง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจึงจะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมได้ตรงตามความเป็นจริง
ธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ พิจารณาได้ เพราะธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น
เวลาที่ท่านผู้ฟังใช้คำว่า สั่ง โดยทั่วไปท่านนึกอย่างไร หรือเข้าใจว่าอย่างไร เวลาที่ใช้คำว่า สั่ง
ขณะนี้ทุกท่านมีรูป กำลังนั่งอยู่ มีจิต และขณะที่มีจิต ก็มีจิตตชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะจิต ในขณะนี้ใครกำลังสั่งอะไรบ้างหรือเปล่า
ในขณะที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิต มีรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุ มีรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร โดยที่ใครไม่สามารถจะยับยั้งได้เลย ในเมื่อมีกรรมซึ่งได้กระทำแล้ว เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป ถ้าไม่มีกรรมจะไม่มีการเกิดของนามธรรมและรูปธรรมเลย แต่เพราะว่ามีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น แม้ว่าใครจะต้องการเกิดหรือไม่ต้องการเกิดก็ตาม เมื่อกรรมมี กรรมนั้นเป็นธรรมซึ่งเป็นที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น พร้อมกับปฏิสนธิจิตในขณะนั้น
กรรมไม่ได้สั่งให้รูปเกิดขึ้น และทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับไป จิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทำกิจภวังค์ เป็นปฐมภวังค์ ปฐมภวังคจิต เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้นพร้อมกับอุปาทขณะของปฐมภวังค์นั้น
จิตดวงหนึ่งๆ ถึงแม้ว่าจะเกิดดับอย่างรวดเร็ว ก็ยังมีลักษณะเป็นอนุขณะ คือ ขณะย่อย ๓ อนุขณะ ได้แก่ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ยังไม่ดับคือตั้งอยู่ และขณะที่ดับ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๘๒๑ – ๘๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840