แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
ครั้งที่ ๗๘๕
ถ. โมทนาสาธุ ที่ท่านอาจารย์อธิบายก็คือ อนัตตาปรากฏอย่างเดียวเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรเลย ถ้าหากว่าเจริญสติระลึกรู้อย่างนี้ มีแต่สิ่งที่ปรากฏ เสียงที่ปรากฏทางหู ปรากฏแล้วก็ไม่มี ไม่มีสัตว์ บุคคล สีปรากฏทางตาก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ยืน นั่ง นอน ก็ไม่มีปรากฏ ไม่มีสัตว์ บุคคล คือ อนัตตาปรากฏชัดอยู่แล้ว
สุ. แต่ไม่เร็วอย่างนี้
ถ. ตกลงที่อยู่นี้ ก็อาศัยสัญญาอดีต ใช่ไหม
สุ. สภาพธรรมต้องปรากฏกับปัญญาที่ได้อบรมเจริญ จนกระทั่งความรู้ชัด จึงจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ นี่เป็นขั้นความเข้าใจถูก และการอบรมถูก เพื่อที่จะได้ประจักษ์แจ้งถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม
ถ. อนุโมทนา
ถ. ความรักในลูก จิตนั้นเป็นโลภะ หรือเป็นเมตตา
สุ. คนอื่นคงจะตอบไม่ได้แน่ เพราะกุศลจิตและอกุศลจิตเกิดดับสลับกันรวดเร็วเหลือเกิน ตัวอย่างเช่น ขณะที่เห็นพระพุทธรูป กุศลจิตหรืออกุศลจิต คนอื่นบอกได้ไหม
ถ. ไม่ได้
สุ. และถ้าท่านผู้ฟังจะบอกเอง จิตของท่านเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต
ถ. ถ้าขณะนั้นมีสติเกิดขึ้น พิจารณาจิตในขณะนั้นก็รู้ได้
สุ. เป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่เห็นแล้ว
ถ. ก็ไม่แน่เหมือนกัน บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล
สุ. ขณะใดเป็นอกุศล
ถ. ถ้าสติไม่เกิด ไม่พิจารณา ส่วนใหญ่ก็เป็นอกุศล
สุ. เพราะว่าไม่ได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นพระพุทธรูปงาม เห็นแล้วก็เกิดความยินดีพอใจ ถ้าเป็นพระพุทธรูปที่ไม่งาม ก็เกิดความไม่แช่มชื่น ไม่พอใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อเห็นพระพุทธรูปแล้วจะต้องเป็นกุศล
ส่วนใหญ่เวลาที่เห็น อารมณ์ทางตามักจะเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด และไม่พิจารณา ก็จะไม่ทราบด้วยว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต
แต่ขณะที่น้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ติดอยู่ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นจิตจะผ่องใส ขณะที่ระลึกถึงพระคุณ ขณะนั้นเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ความรักลูก ถ้าไม่ได้สังเกตจะไม่ทราบเลยว่า ต่างกันมากกับขณะที่เป็นเมตตา ลักษณะที่เป็นโลภะ เป็นอกุศล ไม่ใช่ลักษณะของเมตตาซึ่งเป็นกุศล
ถ. ตามความคิดน่าจะเป็นอกุศล แต่ว่าข้อความในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ ซึ่งไม่ใช่ความเห็นของท่านพุทธโฆษาจารย์เอง และไม่มีที่มาด้วย ท่านใช้คำว่า ได้ยินว่า มีแม่โคตัวหนึ่งกำลังยืนให้ลูกกินนม มีนายพรานคนหนึ่งคิดจะฆ่าแม่โคตัวนั้น ก็เอาหอกพุ่งไปที่แม่โคตัวนั้น เมื่อหอกนั้นถึงตัวแม่โค ก็เหมือนกับใบตาลที่ปลิวไป หมายความว่า นายพรานเอาหอกพุ่งใส่แม่โค ถูกตัวแม่โค แต่ไม่เข้า และท่านก็พูดต่อไปว่า ที่ไม่เข้านั้นจะด้วยอำนาจของอุปจารสมาธิก็ไม่ใช่ จะด้วยอำนาจของ อัปปนาสมาธิก็ไม่ใช่ แต่เพราะว่าแม่โคตัวนั้นมีความรักในลูกเป็นกำลังทำให้นายพรานเอาหอกพุ่งไปไม่เข้า เพราะฉะนั้น ความรักในลูกก็มีอำนาจเหมือนกัน
สุ. ท่านผู้ฟังที่มีลูก ก็คงจะรักลูกยิ่งกว่าแม่โครักลูกโค ทดลองดูไหม หรือว่าจะพิสูจน์ดู
แม้ข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรงที่แสดงลักษณะของเมตตาว่า เหมือนการกระทำของมารดาต่อบุตร ซึ่งถ้าไม่ได้พิจารณาก็คงเข้าใจว่า มารดามีแต่ความเมตตาต่อบุตร ไม่มีอกุศล คือ ความรัก ซึ่งเป็นโลภะเลยใช่ไหม มีแต่ความเมตตาเท่านั้น
แต่การที่ทรงแสดงพยัญชนะนี้ไว้ ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นอาการที่มารดาปฏิบัติต่อบุตร ซึ่งปกติธรรมดาคงจะไม่มีใครทะนุถนอมบุตรเท่ามารดา แต่ว่าต้องเอาส่วนที่เป็นโลภะออก และพิจารณาดูการกระทำของมารดาต่อบุตร เมื่อเอาอกุศลคือโลภะออกแล้ว ผู้ใดสามารถที่จะมีเมตตา กระทำต่อบุคคลอื่นเหมือนกับการกระทำของมารดาต่อบุตร นั่นคือเมตตาจริงๆ ที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะว่าไม่ได้มีความยึดถือ ไม่มีความติด แต่กระนั้นก็ยังสามารถที่จะกระทำหรือประพฤติต่อบุคคลอื่น เหมือนความประพฤติของมารดาต่อบุตรเมื่อเอาโลภะออกไป
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่ให้ทำอาการเหมือนมารดาที่กระทำต่อบุตรด้วยโลภะ แต่จะต้องยกส่วนที่เป็นโลภะคืออกุศลออก และสามารถที่จะปฏิบัติต่อบุคลอื่นเช่นมารดาปฏิบัติต่อบุตรได้ และผู้นั้นเองก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นที่กระทำอย่างนั้น จิตประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ หรือว่าเป็นมายาอีก
เรื่องของอกุศลจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเป็นอกุศลทุกซอกมุมของชีวิตประจำวัน ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดย่อมไม่สามารถที่จะขัดเกลากิเลสอกุศลให้หมดสิ้นไปได้ ซึ่งผู้ที่จะขัดเกลากิเลสอกุศลต้องเป็นผู้ที่ตรง ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้ายังมีเหตุปัจจัยที่จะให้มีมายาเกิดขึ้นขณะใด ก็บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย จึงจะเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ แต่เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมา
เพราะฉะนั้น การที่จะขัดเกลากิเลส เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วย
ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนังคณสูตร มีข้อความบางตอน ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมและความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสที่มีอยู่มากมาย แยบยล ทุกซอกทุกมุมของชีวิตในวันหนึ่งๆ
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวธรรมกับพระภิกษุหลายท่าน และท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ คำที่ท่านกล่าวว่า อังคณะๆ ดังนี้ คำนั้นเป็นชื่อของอะไรหนอ
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ คำว่า อังคณะนี้ เป็นชื่อของอิจฉาวจร ที่เป็นบาปอกุศล
ในภาษาบาลี อิจฉาเป็นโลภะ สำหรับอิจฉาวจระก็เป็นความอยาก ความปรารถนาต่างๆ ที่มีมากในลักษณะต่างๆ ทุกวันในชีวิต
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราพึงเป็นผู้ต้องอาบัติหนอ แต่ภิกษุทั้งหลาย อย่าพึงรู้เราว่าต้องอาบัติเลย นี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ภิกษุนั้นว่า ต้องอาบัติ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่นเพราะคิดว่า ภิกษุทั้งหลายรู้เราว่าต้องอาบัติ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่าอังคณะ.
ชีวิตจริง ถ้าต้องอาบัติก็ไม่อยากให้ใครรู้ และเวลาที่คนอื่นรู้ จิตของผู้ที่ต้องอาบัตินั้นย่อมไม่แช่มชื่น โกรธ สำหรับฆราวาสทำอะไรผิดไว้บ้างหรือเปล่า ทางกาย ทางวาจา แม้ว่าผิด ก็ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้ ปรารถนาไม่ให้คนอื่นรู้ แต่เวลาที่คนอื่นรู้ จิตใจก็ย่อมเดือดร้อน
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราพึงเป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทเราในที่ลับ ไม่พึงโจทเราในท่ามกลางสงฆ์ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
ความปรารถนาที่รักตัวตน ไม่มีหมดเลย แม้แต่การที่จะโจทอาบัติก็ยังคิดว่า ถ้าจะมีการกล่าวถึงการกระทำที่ผิด ก็ขอให้กล่าวในที่ลับเถิด อย่าได้กล่าวในท่ามกลางสงฆ์เลย และเวลาที่ภิกษุนั้นถูกโจท ในท่ามกลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับ เธอก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้งสองนี้ ชื่อว่าอังคณะ ฯ
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราพึงเป็นผู้ต้องอาบัติหนอ บุคคลที่เสมอกันพึงโจทเรา บุคคลที่ไม่เสมอกันไม่พึงโจทเรา นี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
นี่คืออกุศลซึ่งมีมากมาย และย่อมจะเกิดขึ้นในฐานะต่างๆ กันว่า ถ้าจะมีการโจท ก็ขอให้บุคคลที่เสมอกันโจท อย่าให้บุคคลที่ไม่เสมอกันโจทเลย
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ พระศาสดาพึงทรงซักถาม สอบถามเราเท่านั้น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเลย นี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
ความปรารถนานี่ มากมายและละเอียด แม้ว่าจะเป็นสาวกด้วยกัน แต่แม้กระนั้นก็ยังเกิดความปรารถนาที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงซักถาม สอบถามตนเองเท่านั้น ไม่ให้ทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น ซึ่งก็เป็นลักษณะของการที่รักตน ต้องการให้เห็นความสำคัญของตน อยากใกล้ชิดต่อพระผู้มีพระภาคเพียงผู้เดียว ถึงกับไม่ปรารถนาที่จะให้ทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น
นี่คือเรื่องของกิเลส ซึ่งละเอียดและแยบยล และเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงซักถาม สอบถามภิกษุอื่น ไม่ได้ทรงซักถาม สอบถามภิกษุนั้น ภิกษุนั้นก็โกรธและไม่แช่มชื่น
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงแวดล้อมเราเท่านั้นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหาร อย่าแวดล้อมภิกษุอื่นเข้าบ้าน เพื่อภัตตาหารเลย นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ...
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เราเท่านั้นพึงได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศในโรงฉัน ภิกษุอื่นไม่พึงได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศในโรงฉันเลย นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ...
ไม่น่าเป็นไปได้ใช่ไหม สำหรับผู้ที่มีศรัทธาถึงกับบวชเป็นบรรพชิต เป็นพระภิกษุที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต แต่ตราบใดที่อกุศลยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็จะเห็นได้ว่า ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เกิดความปรารถนาด้วยความโลภประการต่างๆ
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เราเท่านั้นพึงฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา ภิกษุอื่นไม่พึงฉันในโรงฉันแล้วอนุโมทนา นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ …
ท่านผู้ฟังคิดไหมว่า จะมีจิตที่จะคิดได้ถึงอย่างนี้ แต่ก็เป็นความจริง ซึ่งย่อมจะมีได้ มิฉะนั้น คงจะไม่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เราเท่านั้นพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม ภิกษุอื่นอย่าพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ไปถึงอารามเลย นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ...
ต่อไปก็เป็นข้อความโดยนัยเดียวกัน คือ ความปรารถนาที่จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย อุบาสกทั้งหลาย อุบาสิกาทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม ด้วยตนเองเท่านั้น ไม่ปรารถนาจะให้ภิกษุอื่นแสดงธรรมแก่งภิกษุณีทั้งหลาย อุบาสกทั้งหลาย อุบาสิกาทั้งหลายผู้ไปถึงอาราม
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารุบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือบูชาภิกษุอื่น นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ …
ข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ ความปรารถนาที่จะให้ภิกษุณีทั้งหลาย อุบาสกทั้งหลาย อุบาสิกาทั้งหลาย สักการะ เคารพ นับถือ บูชาตนเองเท่านั้น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่นเลย
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารุบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เราเท่านั้นพึงได้จีวรที่ประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้จีวรที่ประณีต นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ...
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของความปรารถนาบิณฑบาตอันประณีต เสนาสนะอันประณีต คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของอิจฉาวจระ
ท่านพระสารุบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้แล้ว ชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่. แม้เธอจะเป็นผู้อยู่ในป่า มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ทรงจีวรเศร้าหมองอยู่ ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น อันท่านผู้มีอายุนั้นยังละไม่ได้ ชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่ เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง เป็นของหมดจด ผ่องใส เจ้าของใส่ซากศพงู ซากศพสุนัข หรือซากศพมนุษย์จนเต็มภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ปิดด้วยภาชนะสัมฤทธิ์ใบอื่น แล้วเอาไปร้านตลาด ชนเห็นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญสิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร คล้ายของที่น่าพอใจยิ่ง พึงลุกขึ้นเปิดภาชนะสัมฤทธิ์นั้นดู พร้อมกับการเห็นซากศพนั้น ก็เกิดความไม่พอใจ ความเกลียดชัง แม้คนที่หิวก็ไม่ปรารถนาจะบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่บริโภคอิ่มแล้ว ฉันใด
แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นบรรพชิต แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็ยังมีอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจ เปรียบเหมือนกับภาชนะสัมฤทธิ์ที่มาจากร้านสกุลช่างทอง ภายนอกเป็นของหมดจด แต่ว่าเจ้าของใส่ซากศพงู ซากศพสุนัข หรือซากศพมนุษย์จนเต็ม และปิดไว้ด้วยภาชนะสัมฤทธิ์ใบอื่น เมื่อคนเห็น ก็ดูคล้ายกับเป็นของที่ น่าพอใจอย่างยิ่ง แต่เวลาที่เปิดดู แม้คนที่หิวก็ไม่ปรารถนาที่จะบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนบริโภคอิ่มแล้ว
ข้อความต่อไปมีว่า
อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ ก็ฉันนั้น ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังละไม่ได้แล้ว อันชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่ แม้เธอจะอยู่ในป่า มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ทรงจีวรเศร้าหมอง ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ท่านผู้มีอายุนั้นยังละไม่ได้ อันชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่.
ข้อความต่อไป สำหรับผู้ที่ละได้แล้ว
... เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ ที่บุคคลนำมาแต่ร้านตลาด หรือแต่สกุลช่างทอง เป็นของหมดจด ผ่องใส เจ้าของใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เลือกเอาของดำออกแล้ว แกงและกับหลายอย่างจนเต็มภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ปิดด้วยภาชนะสัมฤทธิ์อื่น แล้วเอาไปยังร้านตลาด ชนเห็นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร คล้ายของที่น่าพอใจยิ่ง พึงลุกขึ้นเปิดภาชนะสัมฤทธิ์นั้นดู พร้อมกับการเห็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีขาวสะอาด มีแกงและกับหลายอย่างนั้น ก็เกิดความพอใจ ความไม่เกลียดชัง แม้คนที่บริโภคอิ่มแล้ว ก็ยังปรารถนาจะบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่หิว ฉันใด ภิกษุที่ละ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ ก็ฉันนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๗๘๑ – ๗๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840