แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832


    ครั้งที่ ๘๓๒


    สติจะเกิดขณะที่อ่านหนังสือพิมพ์ มีเรื่องคนต่างๆ เรื่องต่างๆ มากมาย ได้ไหม ก็เหมือนธรรมดา ทางตายังไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ก็มีคนมากมาย นั่งที่โน่น ทำอย่างนั้นอย่างนี้กันบ้าง เพราะหลังจากที่เห็นแล้ว ก็มีการคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น

    สภาพคิดมีจริง เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เรื่องที่คิดทั้งหมด เป็นสมมติสัจจะเท่านั้น ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลเลยจริงๆ โดยปรมัตถ์ แต่ว่าเป็นอารมณ์ของจิตที่คิดจริง ชื่อนั้นจริง นั่งที่นี่จริง จริงโดยสมมติ แต่ว่าปรมัตถสัจจะเกิดขึ้นและก็ดับไป คิดและก็ดับไป และก็มีการเห็น ขณะนี้ไม่ใช่มีใครคิดอยู่ตลอดเวลา มีเห็นด้วย และไม่ใช่มีการเห็นอยู่ตลอดเวลา มีได้ยินด้วย เกิดสลับกัน เพราะฉะนั้น นี่เป็นความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งปัญญาต้องรู้ชัด จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ทีละประเภท ทางตา ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังระลึกรู้ทางหู ต้องรู้จริงๆ และขณะที่สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ปรากฏกับสภาพที่รู้เสียง ขณะนั้นไม่มีอะไรปรากฏ ตัวตนไม่มี คนไม่มี อะไรก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังมีแต่สภาพรู้เสียงที่ปรากฏ และก็ดับไป ต้องประจักษ์ความจริงอย่างนี้ จึงจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนจริงๆ

    การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษาโดยนัยของพระสูตร หรือว่าพระอภิธรรม หรือพระวินัยก็ตาม เพื่อที่จะให้สติเกิด ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เข้าถึงอรรถของนามธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    กี่ภพ กี่ชาติที่จะได้ฟังพระธรรม ก็ฟังพระธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อการรู้แจ้ง เพื่อการประจักษ์ชัด เพื่อการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท

    ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สติปัฏฐานวรรคที่ ๒ มี นิวรณสูตร เป็นต้นซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น

    ใน นิวรณสูตร ข้อ ๒๖๘ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ ๕ ประการนี้แล ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ (ไม่ใช่สติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด) พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละนิวรณ์ ๕ ประการนี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละนิวรณ์ ๕ ประการนี้แล ฯ

    ใน กามคุณสูตร ข้อ ๒๖๙ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละกามคุณ ๕ ประการนี้แล ฯ

    ใน อุปาทานขันธสูตร ข้อ ๒๗๐ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานักขันธ์ ๑ เวทนูปาทานักขันธ์ ๑ สัญญูปาทานักขันธ์ ๑ สังขารูปาทานักขันธ์ ๑ วิญญาณูปาทานักขันธ์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลายอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละอุปาทานักขันธ์ ๕ ประการนี้แล

    ข้อความต่อไป

    ใน โอรัมภาคิยสูตร ข้อ ๒๗๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ๕ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ฯ

    ใน คติสูตร ข้อ ๒๗๒ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คติ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ นรก ๑ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ๑ เปรตวิสัย ๑ มนุษย์ ๑ เทวดา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คติ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละคติ ๕ ประการนี้แล ฯ

    แม้จนกระทั่ง มัจฉริยสูตร ข้อ ๒๗๓ เรื่องของความตระหนี่ ก็ไม่สามารถที่จะละได้ตามใจชอบ แต่ต้องเป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะละได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มัจฉริยะ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่) ๑ กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล) ๑ ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) ๑ วรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ คือ คำสรรเสริญ) ๑ ธรรมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม) ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มัจฉริยะ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละมัจฉริยะ ๕ ประการนี้แล ฯ

    สำหรับผู้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี ยังมีสังโยชน์เบื้องสูง คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระผู้พระภาคตรัสให้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

    รวมความว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลธรรม ที่เป็นกิเลส จะดับหมดสิ้นได้ก็ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ รู้แจ้งอริยสัจธรรม มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีหนทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    เห็นความยากของการดับกิเลสไหม ดับได้จริงๆ แต่ต้องด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนี้ของจริงกำลังปรากฏ ถ้าใครชักชวนให้ไปรู้อื่น ทราบได้เลยว่า ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    บางท่านอยากจะหาความจริง แต่เพียรไปหาที่อื่น ซึ่งไม่มีวันจะพบ เพราะความจริงต้องอยู่ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ตามปกติ จึงจะเป็นตามความเป็นจริง ซึ่งแล้วแต่สติจะระลึก แล้วแต่ปัญญาจะรู้ชัด แต่เมื่อสติระลึก ปัญญายังไม่รู้ชัด จึงต้องอบรมจนกว่าจะรู้ชัด แต่ท่านที่อบรมแล้ว สามารถจะรู้ชัดทันที ขณะไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นามธรรมใด รูปธรรมใดก็ได้

    ถ. นิโรธสมาบัติ ต่างกับสัญญาเวทยิตนิโรธอย่างไร

    สุ. ไม่ต่างกัน เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่ง นิโรธสมาบัติ แปลว่า สมาบัติที่ดับ สัญญาเวทยิตนิโรธ คือ ดับสัญญาและเวทนา

    ถ. ตระหนี่ตระกูล หมายความว่าอย่างไร

    สุ. ตระหนี่ตระกูล สำหรับพระภิกษุ หมายความถึงตระกูลที่อุปัฏฐาก แต่ถ้าเป็นฆราวาส อาจจะเป็นเพื่อนสนิท มิตรสหายพวกพ้อง บางคนเวลาที่สนิทสนม รักใคร่ชอบพอกับใครแล้ว ไม่เต็มใจที่จะให้บุคคลนั้นไปสนิทสนมชอบพอรักใคร่กับบุคคลอื่น

    ถ้าเป็นภิกษุ หมายความถึงตระกูลที่อุปัฏฐาก ถ้าตระกูลใดอุปัฏฐาก ท่านก็ไม่ปรารถนาที่จะให้ไปอุปัฏฐากภิกษุอื่นนอกจากตัวท่าน ถ้าเป็นฆราวาส เพื่อนสนิทมิตรสหายซึ่งเกื้อกูลอุปการะสนิทสนมกัน บางท่านก็ไม่อยากให้ไปสนิทสนมกับบุคคลอื่น

    นั่นเป็นเรื่องของมัจฉริยะ มีจริงๆ ไหมในชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นภิกษุ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็มีอาการปรากฏของกิเลสในลักษณะต่างๆ กัน

    เรื่องสมถภาวนา หรือการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวตนที่จะให้ได้ฌาน และจะยกองค์ฌานนั้นเจาะจงขึ้นมาพิจารณา

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องการ

    บางท่านอาจจะอ้างบางสูตรที่กล่าวถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า อุปมาเหมือนกับการจับนกคุ่ม คือ อย่าให้แรงนัก เพราะว่านกจะตาย หรือว่าอย่าให้หละหลวมนัก เพราะว่านกจะบินไป แต่อย่าลืมว่า ต้องเป็นปัญญาที่พิจารณาและรู้จริงๆ ในขณะนั้นว่า เวลาที่สติเกิดรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะไม่เจาะจงในขณะนั้น และจะไม่หละหลวม เพราะรู้ชัดและก็หมดไป แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวตนซึ่งพยายามผ่อนตรงนั้น กำตรงนี้ด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งขณะนั้นไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะมีความเป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลาที่จะทำอย่างนั้น ที่จะทำอย่างนี้ แต่การอบรมเจริญปัญญาจะรู้ชัดว่า เป็นเรื่องของปัญญาที่เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นปัญญาขั้นไหน และปัญญาขั้นที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่ว จึงเหมือนกับการจับนกคุ่ม คือ เพียงระลึกแล้วรู้

    ขอกล่าวถึงอานิสงส์ของการเจริญอุปสมานุสสติ ใน วิสุทธิมรรค อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส มีการแสดงเรื่องผลของอุปสมานุสสติ มีข้อความว่า

    พึงอนุสรณ์ถึงธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ กล่าวคือ พระนิพพาน ด้วยสามารถแห่งคุณ มีความเป็นธรรมเป็นที่สร่างเมา เป็นต้นเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้เทอญ ก็หรือพึงระลึกถึงวิราคธรรมนั้น ด้วยสามารถแห่งธรรมอันเป็นที่เข้าไปสงบแม้เหล่าอื่น ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในพระสูตรทั้งหลาย เป็นต้นว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแก่พวกเธอ และเราจักแสดงสัจธรรม ธรรมเป็นเหตุข้ามฝั่ง และธรรมที่บุคคลเห็นได้ยากยิ่ง ธรรมที่ไม่คร่ำครา ที่ยั่งยืน ธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ธรรมที่เป็นอมตะ ธรรมที่เยือกเย็น ธรรมอันเป็นแดนเกษม ธรรมที่ไม่เคยมี ธรรมที่ไม่มีเสนียด ธรรมที่ไม่ต้องเดือดร้อน ธรรมที่เป็นเกาะ ธรรมเป็นที่ต้านทาน และธรรมเป็นที่หลีกเร้นแก่พวกเธอ ดังนี้แล

    ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะเข้าใจถึงคุณของพระนิพพานได้ แต่เมื่อเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และรู้ถึงความไม่เที่ยง เมื่อนั้นจึงจะน้อมไประลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นสัจธรรม ที่เป็นเหตุข้ามฝั่ง และเป็นธรรมที่บุคคลเห็นได้ยากยิ่ง

    เพราะเหตุใด เพราะแม้แต่นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ยังเห็นไม่ได้เลยใช่ไหม เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นและก็ดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ยังไม่รู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะ เมื่อยังไม่ประจักษ์อย่างนี้ จะไปประจักษ์ลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่เห็นได้ยากยิ่งได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องอบรมเป็นขั้นๆ ตั้งแต่โลกียปัญญา คือ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่เป็นโลก เป็นโลกียะ ที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และจึงน้อมไปถึงอมตธาตุ คือ สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสภาพธรรมเป็นที่สร่างเมา เป็นสภาพธรรมที่ยั่งยืน ไม่คร่ำคร่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีเนิ่นช้า เป็นสภาพธรรมที่เป็นอมตะ ธรรมที่เยือกเย็น ธรรมอันเป็นแดนเกษม

    สำหรับผลของอุปสมานุสสติ ข้อความใน วิสุทธิมรรค มีว่า

    เมื่อพระโยคีนั้น (คือ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา มีความเพียรระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะโดยอรรถของโยคะหรือโยคี คือ ผู้ที่ประกอบด้วยความเพียร) เมื่อพระโยคีนั้น อนุสรณ์ถึงธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ ด้วยสามารถแห่งคุณ มีความเป็นธรรมเป็นที่สร่างเมาเป็นต้นอยู่อย่างนี้ ในสมัยนั้นจิตย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ในสมัยนั้นจิตของท่านเป็นคุณชาติดำเนินไปตรง ปรารภธรรมเป็นที่เข้าไปสงบด้วยประการดังว่ามานี้ เมื่อเธอข่มนิวรณ์ได้แล้ว โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในพุทธานุสสติเป็นต้นนั้นแล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน แต่เพราะเหตุที่คุณแห่งธรรมเป็นที่เข้าไปสงบเป็นคุณที่ลุ่มลึก หรือเพราะเป็นผู้ต้องน้อมนึกในการระลึกถึงคุณมีประการต่างๆ ฌานจึงไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นย่อมถึงซึ่งอันนับว่าอุปสมานุสสติ เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจการอนุสรณ์ถึงคุณของธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ถึงแม้อุปสมานุสสติ ย่อมสำเร็จแก่พระอริยสาวกเท่านั้น ดุจอนุสสติ ๖ ถึงแม้เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ปุถุชนผู้หนักในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบก็พึงใส่ใจ เพราะจิตย่อมเลื่อมใสในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ แม้ด้วยสามารถแห่งการฟัง

    คือ เวลาที่ฟังและน้อมพิจารณาจริงๆ จิตย่อมสงบ แต่ว่าไม่ถึงแม้อุปจารสมาธิ เพราะยังไม่ใช่พระอริยบุคคล

    ก็และภิกษุผู้หมั่นประกอบตามอุปสมานุสสตินี้ ย่อมหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ย่อมเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจเยือกเย็น ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะน่าเลื่อมใส เป็นผู้มีอธิมุตติประณีต เป็นที่เคารพยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์

    ก็เธอเมื่อยังมิทันบรรลุคุณชั้นสูง ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตผู้ไม่ประมาท พึงยังความระลึกในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบอันประเสริฐ ซึ่งมีอานิสงส์เป็นเอนกอย่างนี้ให้เจริญเทอญ

    จบ อุปสมานุสสติ

    ต่อไปเป็นมรณสติ เรื่องปกติในประจำวัน ซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลทุกประการ แล้วแต่ว่าจะเป็นโอกาส หรือว่าจะเป็นกาละของกุศลขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบ หรือขั้นสติปัฏฐาน เพราะถึงแม้ว่าทุกท่านจะทราบว่า สติปัฏฐานเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่สามารถที่จะให้สติปัฏฐานเกิดได้ตามความปรารถนา ต้องอาศัยเหตุปัจจัยซึ่งเป็นแต่ละขณะที่มีการฟังธรรม เข้าใจธรรม เป็นสังขารขันธ์สะสมปรุงแต่งไปจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะ รู้ชัด

    ถ. ที่จะระลึกถึงคุณของพระนิพพานได้ ต้องรู้ลักษณะของนิพพานก่อน ใช่ไหม

    สุ. ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ทราบว่า จะระลึกอย่างไร เพียงแต่ได้ยินคำว่า พระนิพพาน ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เพราะแม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังไม่รู้สภาพที่แท้จริงของสิ่งนั้น และจะไปนึกถึงคุณของพระนิพพาน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะน้อมถึงลักษณะของพระนิพพานเพื่อที่จะได้ประจักษ์แจ้ง ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป จึงจะมีการน้อมนึกถึงสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามและเห็นคุณว่า ธรรมซึ่งไม่มีการเกิดขึ้นนั้น ย่อมสงบ

    ถ. โลกุตตรจิต คือ จิตที่ระลึกรู้ลักษณะของพระนิพพาน

    สุ. โลกุตตรจิต เป็นจิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพาน เพราะว่าประกอบด้วยโลกุตตรปัญญา

    ถ. แสดงว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ ใช่ไหม

    สุ. มิได้ โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ หมดความสงสัยในลักษณะของนิพพาน เพราะถ้าโลกุตตรจิตยังไม่เกิด ไม่ว่าจะกล่าวถึงลักษณะของนิพพานด้วยประการใดๆ ย่อมไม่สามารถที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งและหมดความสงสัยในลักษณะของนิพพานได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๘๓๑ – ๘๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 80
    28 ธ.ค. 2564