แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
ครั้งที่ ๘๓๔
ลองคิดดู หวังที่จะได้อิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจทางตาทุกๆ วันหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นสังขารอันเป็นที่รัก หรือว่าสัตว์อันเป็นที่รัก ต้องการที่จะให้จักขุวิญญาณ หรือจิตที่เป็นโลภมูลจิตได้ประสบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาที่น่าพอใจทั้งหมด นี่คือ ความต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ต้องการจะเห็นแต่สิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจเท่านั้น
อุปมาเหมือนความรักของพ่อซึ่งมีต่อลูก ที่หวังจะให้ลูกเจริญเติบโตได้ประสบกับสิ่งที่ดีงามทั้งหมด ฉันใด เวลาที่ตัณหามีความต้องการในรูปารมณ์ที่ปรากฏ ก็ต้องการแต่ที่จะให้ประสบกับอิฏฐารมณ์ทางตา และไม่ใช่แต่เฉพาะทางตา ทั้งทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตัณหามีความหวัง มีความต้องการในอารมณ์ทั้งหมดที่จะให้เป็นอิฏฐารมณ์เท่านั้นที่จะปรากฏ
เพราะฉะนั้น ผลก็คือ ทุกยุค ทุกสมัย มีการสรรเสริญ มีการยกย่องบุคคลที่ประดิษฐ์อิฏฐารมณ์ต่างๆ ให้กับตัณหาหรือโลภมูลจิต ได้เสวย ได้ต้องการ ได้ยินดี ได้พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ใครทำอาหารอร่อย มีคนชมไหม ชมอะไร ชมที่สามารถประดิษฐ์รสารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ให้ได้ ให้ใคร ให้โลภมูลจิตมีความยินดีพอใจ
ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริง คือ โลภมูลจิตเป็นโลภมูลจิต เป็นสภาพที่ยินดีที่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งถ้าสติไม่เกิด ไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีใครรู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง ยังไม่ต้องให้โลภมูลจิตนั้นดับหมดเป็นสมุจเฉท เพียงแต่ให้ปัญญารู้ชัดว่า สภาพของโลภมูลจิตไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ นี่คือการอบรมเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญานั้น ไม่ใช่ ไปทำอย่างอื่น แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. สมมติว่า โทสะเกิดขึ้น กัมมัฏฐานบอกว่า ให้มีพรหมวิหาร ๔ แต่อาจารย์บอกว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูกเพราะว่าเป็นการทำสมถะอย่างเดียว ถ้าเราไม่แก้ไข จะทำอย่างไร
สุ. จุดประสงค์ต้องการอะไร ต้องการสงบ หรือว่าต้องการรู้ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่า ต้องการอะไร
ถ. ถ้าอยากให้อารมณ์นั้นสงบลงไป
สุ. ถ้าต้องการให้อารมณ์นั้นสงบ มี ๒ อย่าง คือ ระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ เช่น ธัมมานุสสติ คำสอนต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องโทษของโทสะ และขณะที่ปัญญาเห็นโทษ ขณะนั้นจิตสงบ แต่ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของโทสะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
แต่ในขณะที่สติเกิด และรู้ในสภาพของโทสะ อาการของโทสะว่า เป็นธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง กำลังกระทำกิจอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งสงบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ความสงบมี ๒ ขั้น จะเป็นความสงบขั้นที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือว่าเป็นความสงบที่เกิดกับปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับว่า เมื่อโทสะเกิดขึ้นแล้ว ขณะต่อไปจะเป็นสติขั้นไหน หรือว่าจะเป็นโทสะต่อไป แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น
ผู้ฟัง เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผมก็สนใจ และพยายามศึกษาหลายสำนัก หลายอาจารย์ จนกระทั่งอาจารย์พม่า ผมก็พยายามศึกษา พยายามจะเชื่อ และยังพยายามทำดูด้วย แต่ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา คือ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความฉลาดหรือมีความรู้อะไรเพิ่มเติม เมื่อไปดูกับตำรับตำราซึ่งได้อ่านได้เรียนมาบ้าง ก็ไม่ค่อยจะตรงกัน คือ คำสอนที่ท่านสอนนั้น สอนให้ปฏิบัตินั้นอย่างหนึ่ง แต่ในตำรานั้นว่าไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน หนักๆ เข้าอาจารย์ทั้งหลายบางทีทำคล้ายๆ กับว่า จะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าก็มี ผมก็เกิดมีความสังเวชสลดใจ จนกระทั่งได้มาฟังท่านอาจารย์ รู้สึกว่า ท่านพูดมีเหตุมีผล มีหลักที่เราจะปฏิบัติได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปทำอะไรขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่า เมื่อไรทางคณะสงฆ์ของเราก็ดี หรือทางบ้านเมืองก็ดี จะมาส่งเสริมผู้ที่ปฏิบัติ หรือผู้ที่สอนในแนวทางที่มีเหตุมีผลที่ถูกต้องให้เป็นการแพร่หลายสักที ไม่ใช่ต่างคนต่างสอนไปโดยที่จับหลักไม่ถูก ทำให้พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเองรู้สึกว่า กว่าจะรู้จะเห็น เสียเวลาจริงๆ ผมมีความคิดความเห็นอย่างนี้ ขอบคุณ
สุ. ถ้าเป็นไปได้อย่างที่ว่า ทุกท่านก็คงจะอนุโมทนา แต่ตามความเป็นจริง ทุกท่านก็ทราบว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นไปอย่างนี้ ซึ่งแต่ละท่านก็ต้องช่วยตัวเองด้วยการพิจารณาธรรม ศึกษาธรรม อบรมปฏิบัติเจริญธรรมไป เพื่อที่ว่าท่านจะได้ช่วยบุคคลอื่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นแล้ว ถ้าไม่มีความเห็นถูกของท่านเอง ก็ย่อมจะช่วยให้บุคคลอื่นให้มีความเห็นถูกไม่ได้
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า คนทั่วๆ ไปปกติจะมีโลภะเป็นพื้น เห็นครั้งใดไม่ได้ มีความเดือดร้อนเลย ถึงเห็นอีกก็ไม่ได้เดือดร้อน ลักษณะนี้เป็นโลภะ
ผมไม่เข้าใจว่า ในขณะที่เห็น ไม่ได้เดือดร้อนก็จริง แต่ในขณะนั้นไม่ได้รู้ว่า เป็นรูปเป็นนาม เวทนาส่วนใหญ่ก็เป็นอุเบกขา ซึ่งอุเบกขาเกิดกับโลภะก็ได้ เกิดกับโมหะก็ได้ ในขณะที่ไม่ได้รู้ว่าเป็นรูปเป็นนาม ขณะนั้นก็น่าจะเป็นโมหะมากกว่า
สุ. ถ้าเช่นนั้น โลภะจะมีเมื่อไร เพราะปกติก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นรูปเป็นนาม
ถ. โลภะก็มีเป็นบางครั้งที่เห็นรูปที่พอใจ เวลานี้เราก็เห็นพื้น เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ไม่ได้ติดใจยินดีอะไร เพราะว่าโต๊ะก็เป็นโต๊ะธรรมดา พัดลมก็เป็นพัดลมธรรมดา เราก็มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จะเกิดความยินดีในโต๊ะ ในพัดลม ก็ไม่มี
สุ. นี่เป็นความละเอียดของสภาพของจิต ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตตามความเป็นจริง จึงจะรู้ว่าขณะใดเป็นจิตประเภทใด
เวลาที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นภวังคจิต เป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ไม่มีการรู้อารมณ์ใหม่ หรืออารมณ์ในโลกนี้ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ภวังคจิตมีไหม ลองคิดดู ตามความเป็นจริง เวลาที่นอนหลับสนิท ไม่ปรากฏอะไรเลย ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน สภาพนั้นมีจริง เป็นภวังคจิต แต่เวลาที่ตื่นขึ้นมา มีการเห็นบ้าง มีการได้ยินบ้าง มีการได้กลิ่นบ้าง มีการลิ้มรสบ้าง มีการรู้อารมณ์ที่กระทบสัมผัสกายบ้าง มีการคิดนึกบ้าง และเวลาที่มีการเห็นแล้ว ที่จะกล่าวว่าเป็นโมหมูลจิต หรือโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือกุศลจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ หรือว่ามีการได้ยินเสียงที่ปรากฏ มีการได้กลิ่นที่ปรากฏ มีการลิ้มรสที่ปรากฏ มีการรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กระทบสัมผัสกาย หรือมีการคิดนึก เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ภวังคจิต แต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด
ท่านผู้ฟังกำลังเห็น ลองคิดดูถึงสภาพของจิต ซึ่งไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ มีไหม เดินไปนี่ เห็นจริง แต่ไม่ใช่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เพราะว่าขณะนั้นอาจจะคิดนึกด้วยความยินดี ด้วยโลภมูลจิต หรือว่าด้วยความยินร้าย เป็นโทสมูลจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้ว ไม่รู้ในสิ่งที่เห็น ขณะนั้นจึงจะกล่าวได้ว่า เป็นโมหมูลจิต แต่ถ้ารู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นไม่ใช่โมหมูลจิต แต่เป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่โทสมูลจิต เพราะขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา
เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่หน่าย ไม่คลายในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจึงเป็นความยินดีในการเห็นและสิ่งที่เห็น เพราะขณะนั้นรู้ว่าเห็นอะไร ไม่ใช่ในขณะที่ไม่รู้เลย ถ้าในขณะที่ไม่รู้เลย เป็นโมหมูลจิต ไม่ประกอบด้วยโลภะ แต่ว่าในขณะที่รู้ ขณะนั้นถ้าเวทนาไม่ใช่โทมนัสเวทนา ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต ที่ไม่หน่าย ไม่คลาย ไม่เกิดสติ ไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่ โทสมูลจิต แต่เป็นโลภมูลจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เห็นแล้วไม่รู้ นี่เป็นความต่างกันของ โมหมูลจิตกับโลภมูลจิต
ถ. ถ้าอย่างนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นโมหมูลจิต ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต
สุ. โดยชื่อไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าโดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงจะรู้ได้
ถ. เราสมมติว่า เรากำลังเดินในตลาด เห็นข้าวปลาอาหาร ผักหญ้าต่างๆ เต็มไปหมดทั้งสองข้างทาง แต่ว่าเราไม่ได้ใส่ใจเลยสักอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ได้ใส่ใจ เดินไปเรื่อยๆ ขณะนั้นจะเป็นโมหมูลจิตได้ไหม
สุ. ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต เพราะว่าไม่รู้ แม้ว่าเห็นแล้ว ก็ไม่รู้
ถ. สรุปว่า เห็นแล้วไม่รู้ เป็นโมหมูลจิต
สุ. แน่นอน ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะภวังคจิตไม่เห็น แต่เมื่อเป็นโมหมูลจิต คือ เห็นแล้วไม่รู้
ถ. เห็นแล้วรู้ว่า เห็นพื้น เห็นเก้าอี้ เห็นสี ถ้ารู้อย่างนี้เป็นโลภมูลจิตใช่ไหม
สุ. เป็นโลภมูลจิต ซึ่งทุกคนมีเป็นประจำจนชิน จนไม่รู้ว่านั่นเป็นลักษณะของโลภมูลจิต เป็นลักษณะของอกุศลธรรม เพราะชินมากจนกระทั่งบางท่านกล่าวว่า ท่านไม่มีโลภะ เพราะท่านไม่รู้สึกว่า มีความยินดี หรือว่ามีความต้องการอะไร เพียงแต่เห็นเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว เวลาที่เห็นแล้วรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่มีความหน่ายในการเห็นและในสิ่งที่ปรากฏขณะใด ขณะนั้นก็เป็นความยินดี ความพอใจในการเห็นและในสิ่งที่ปรากฏ
ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือ ปกติทุกท่านคิดกันอยู่ทุกวัน ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา จิตอะไรคิด โลภมูลจิต ไม่ใช่สภาพจิตที่ไม่รู้อะไรในขณะนั้น ใช่ไหม
ถ้าเป็นสภาพจิตที่ไม่รู้เลยในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยอุทธัจจเจตสิก
ในขณะใดที่เกิดความลังเล ความสงสัย ประกอบกับความไม่รู้ในขณะนั้น ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์
แต่ว่าปกติธรรมดาเห็นแล้วรู้ จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ขณะนั้นไม่มีความพอใจในสิ่งที่เห็นและในการเห็น ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต และในวันหนึ่งๆ คิดตลอดเวลา ท่านจะคิดอะไรก็ตามให้ทราบว่า ขณะนั้นถ้าไม่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ก็เป็นโลภมูลจิตที่คิด โดยที่ท่านไม่รู้เลยว่าเป็นโลภมูลจิต แต่ว่ามีความต้องการ คิดด้วยความพอใจในสิ่งที่กำลังคิดอยู่ ขณะนั้นก็ไม่ใช่โมหมูลจิต
แต่ถ้าเป็นโมหมูลจิต จะต้องเป็นในขณะที่ไม่รู้ในอารมณ์ เพราะว่าไม่ประกอบด้วยโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นที่สงสัยที่กล่าวว่า หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไป เป็นภวังคจิต และวิถีจิตแรกเป็นโลภมูลจิต ไม่ว่าจะเป็นในภพไหนภูมิไหนทั้งสิ้น เพราะเพียงลืมตาตื่นขึ้น โลภะก็เกิดแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดทางไหน
เกิดคิดขึ้นมา ไม่ใช่กุศลจิต ไม่เป็นไปในกุศล ขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่ได้ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา แต่ถ้าคิดด้วยความขุ่นเคืองเดือดร้อนใจ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิตที่คิด แต่ปกติแล้ว วันหนึ่งๆ โลภมูลจิตเกิดมากเป็นประจำ และไม่รู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นสภาพของอกุศล เพียงชั่วขณะที่คิด ก็เป็นโลภมูลจิตแล้ว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับกิเลสได้ จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่ากิเลสอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร แต่ถ้าอบรมเจริญสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลส หรือว่าจะละ โลภมูลจิตได้
ถ. ขณะที่อ่านหนังสือ รู้ในเนื้อเรื่องของหนังสือทางโลก กับอ่านพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจ จิตต่างกันอย่างไร
สุ. ต่างกัน ไม่เหมือนกัน เพราะเวลาที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโลภะ ไม่ประกอบด้วยโทสะ ไม่ประกอบด้วยโมหะ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่เวลาที่มีความเข้าใจในทางโลก ขณะนั้นประกอบด้วยโลภะ มีความยินดี มีความต้องการ มีความพอใจในความรู้นั้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ก็คิด ปุถุชนก็คิด พระอริยบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี หรือพระอนาคามีก็คิด สามารถที่จะคิดเรื่องเดียวกันได้ แต่จิตที่คิดไม่ใช่ประเภทเดียวกัน
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีพระอรหันต์ปะปนอยู่กับ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน และปุถุชน เห็นสิ่งเดียวกัน ได้ยินสิ่งเดียวกัน รู้เรื่องเดียวกัน แต่จิตของพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต ส่วนจิตของปุถุชนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แล้วแต่เหตุปัจจัย แม้ว่าคิดเรื่องเดียวกัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๘๓๑ – ๘๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 781
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 782
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 783
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 784
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 785
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 786
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 787
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 788
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 789
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 790
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 791
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 792
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 793
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 794
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 795
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 796
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 797
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 798
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 799
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 800
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 801
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 802
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 803
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 804
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 805
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 807
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 808
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 809
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 810
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 811
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 812
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 813
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 814
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 815
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 816
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 817
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 818
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 819
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 820
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 821
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 822
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 823
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 824
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 825
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 826
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 827
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 828
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 829
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 830
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 831
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 832
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 833
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 834
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 835
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 837
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 838
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 839
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 840