แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
ครั้งที่ ๘๔๑
สาระสำคัญ
ขุท.จูฬ.อชิตมาณวกปัญหานิทเทส - ภิกษุคือเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ธรรมที่เป็นที่พึ่งนั้น ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัง.มหา.โกสลสูตร ธรรมที่เป็นเกาะ
ข้อความต่อไปใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๙๘ มีว่า
คำว่า ภิกขุ คือชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร สภิยะ)
ภิกษุนั้นบรรลุถึงปรินิพพานแล้ว เพราะธรรมเป็นหนทางที่ตนทำ (ดำเนิน) แล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละแล้วซึ่งความเสื่อมและความเจริญ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีภพใหม่สิ้นแล้ว
ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาโดยที่ไม่ผ่านไปเพราะคิดว่าเข้าใจแล้ว ย่อมจะได้เหตุผลชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ข้อความที่ว่า ชื่อว่าภิกขุ เพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะไหนเป็นสักกายทิฏฐิ คือ ขณะที่หลงลืมสติเห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถละสักกายทิฏฐิได้
ผู้ที่เป็นภิกษุ คือ เป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ ไม่ใช่ทำลายเองตามใจชอบ แต่ต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง รู้แจ้งอริยสัจ ๔ จึงจะทำลาย สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ จนในที่สุด เป็นผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป ซึ่งถ้าทำลายกิเลสเหล่านี้ได้เป็นพระโสดาบัน ย่อมจะนำไปถึงการเป็นพระอรหันตบุคคลในภายหลัง
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ
ท่านผู้ฟังได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหม มีสติเว้นรอบ ก็อยากจะเว้นตามใจชอบอีกแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ
เป็นชีวิตประจำวัน มีสติเดิน มีสติยืน มีสตินั่ง มีสตินอน มีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ มีสติแลดู มีสติเหลียวดู มีสติคู้เข้า มีสติเหยียดออก แล้วแต่ว่าจะเป็นไปทางกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม
มีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เป็นชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส พึงมีสติเที่ยวไป ไม่ว่าจะไปที่ไหน พึงมีสติอยู่ ถึงไม่ไป อยู่ก็ต้องมีสติ คือ เป็นไปในวันหนึ่งๆ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าท่านจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน รักษา บำรุง เยียวยา รับประทานอาหารก็เป็นการเยียวยาความหิว ให้เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ
ข้อความต่อไป
เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงติดใจในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง พึงมีสติเว้นรอบ
สำหรับการเป็นผู้มีสติเป็นปกติ ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นพระอริยเจ้าแล้ว หรือว่าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม ก็ยังคงเป็นผู้ที่มีสติเว้นรอบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมใดเป็นเกาะ คือ เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน
เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ที่เวทนา ที่จิต และที่ธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ถึงความสำคัญของที่พึ่งในชีวิต เพราะว่าเมื่อทุกคนเกิดมาแล้วถ้าปราศจากที่พึ่ง ชีวิตก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ แต่ที่พึ่งที่เป็นปัจจัย ๔ ก็ไม่สามารถทำให้สิ้นหรือดับความทุกข์ต่างๆ ซึ่งเกิดจากกิเลส คือความเดือดร้อนใจ หรือความไม่สบายใจต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมทั้งหลายไม่เป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลภะซึ่งทุกคนมีมาก แต่ว่าไม่ใช่ที่พึ่ง เพราะถ้ายิ่งมีโลภะมาก ยิ่งเดือดร้อนมาก และในวันหนึ่งๆ ยังไม่ค่อยจะเห็นโทษของโลภะ เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่มีโลภะมาก และบางครั้งก็คิดว่า จะใช้โลภะเป็นที่พึ่ง หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จลงได้ด้วยโลภะเพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการ แต่จะเห็นได้ว่า เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้วไม่สิ้นทุกข์ แต่ว่ากลับเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ ความตระหนี่ หรือ สภาพธรรมใดๆ ที่เป็นอกุศล เป็นที่พึ่งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่บางท่านเกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการงาน ในเรื่องของครอบครัว ในเรื่องของชีวิตส่วนตัว หรือว่าเมื่อประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ จะเห็นได้ว่า ท่านจะหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นที่พึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าจะพิจารณาดูชีวิตของแต่ละท่านตามความเป็นจริง ท่านพึ่งอะไรเวลาที่เกิดความทุกข์ เกิดความเดือนร้อน เกิดโรคภัย ไข้เจ็บ ประสบกับความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศต่างๆ โดยมากท่านจะพึ่งอะไร
พึ่งทานกุศล ใช่ไหม คิดที่จะทำบุญทำทาน เพื่อจะได้หมดเรื่องทุกข์ภัยต่างๆ แต่ท่านจะหมดทุกข์ภัยได้จริงหรือ ด้วยการกระทำทานกุศลนั้น เพราะเมื่อไรทานกุศลนั้นจะให้ผลก็ไม่ทราบ และถ้าทานกุศลจะให้ผล ก็ให้ผลในด้านวัตถุ คือ การเป็นผู้ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจต่างๆ และถึงแม้ว่าจะมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยวัตถุ ลาภ ปัจจัยต่างๆ แต่ก็ยังไม่สิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ทานกุศลไม่สามารถเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงได้ ถ้าท่านผู้นั้นยังมีการประพฤติทางกาย ทางวาจาเป็นไปในอกุศล ก็ย่อมจะมีเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นผลของกายกรรม วจีกรรมที่เป็นอกุศลกรรม ทำให้ต้องประสบกับความความเดือดร้อนต่างๆ นานา
เพราะฉะนั้น ทานกุศลมักจะเป็นที่พึ่งเวลาที่ทุกท่านมีทุกข์ แต่ท่านละเลยกิเลสที่มีอยู่ในใจอันเป็นเหตุให้ท่านกระทำกายทุจริต วจีทุจริต ลืมจริงๆ คิดแต่จะพึ่งสิ่งอื่น หรือว่าพึ่งคนอื่น พึ่งวัตถุภายนอก พึ่งทาน แต่ศีลของท่านเป็นอย่างไร ลืม และสำหรับบางท่านซึ่งเป็นผู้ที่รักษาศีลเป็นปกติ เพราะว่าเห็นโทษของกายวาจาที่ทุจริต ที่เป็นอกุศล แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้จะเป็นผู้ที่รักษาศีลอยู่เสมอเป็นปกติ ก็ยังมีทุกข์ทางกาย ทางใจ ไม่สิ้นทุกข์ เพราะยังมีกิเลสที่ยังเป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ มีความไม่พอใจในบุคคลอื่น มีความขุ่นเคืองใจเวลาประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์เพราะท่านได้กระทำทานกุศล และเป็นผู้ที่รักษาศีล วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่ก็ยังเป็นผู้ที่มีทุกข์อยู่ เพราะยังไม่ได้มีที่พึ่งอย่างแท้จริง
บางท่านเวลาที่ฟังธรรมและพิจารณาธรรมมากขึ้นก็รู้ว่า ขณะใดที่กิเลสเกิด ขณะนั้นจิตไม่สงบ เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นคุณของกุศลจิต เช่น เมตตา ว่าเป็นสภาพธรรมที่ทำให้ปราศจากความอาฆาต ความพยาบาท ความขุ่นเคืองใจในบุคคลอื่นซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศล ท่านเหล่านั้นก็มีหลายขณะในชีวิตที่เริ่มจะเจริญความสงบของจิตด้วยการพิจารณาอย่างแยบคายเพื่อให้เกิดความเมตตาแทนจิตที่ไม่สงบ ที่เดือดร้อนเพราะอกุศล คือ โทสะ เป็นต้น แต่แม้กระนั้น ก็ไม่ใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงว่า ธรรมอื่นเป็นที่พึ่ง นอกจากสติปัฏฐาน ๔ คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ระลึกรู้ลักษณะของจิต ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าบางท่านแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ได้อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต ก็ยังไม่สิ้นทุกข์ เพราะแม้ฌานจิตก็ดับ ไม่เที่ยง
หรือหลายท่านซึ่งมีความสงบเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะ ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ แต่ท่านก็เห็นว่า ชั่วขณะที่เป็นกุศลที่สงบ น้อยมากกว่าขณะที่เป็นอกุศลที่ไม่สงบด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะอบรมเจริญความสงบ ถึงแม้ว่าจะสงบขึ้น มั่นคงขึ้น ความสงบนั้นก็ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดทุกข์เพราะอกุศลต่างๆ กิเลสต่างๆ ที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน พระไตรปิฎก ว่า ธรรมที่เป็นเกาะ คือ ธรรมที่เป็นที่พึ่งนั้น ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่ทานกุศล ไม่ใช่ศีลกุศล และไม่ใช่การอบรมเจริญสมถะ แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โกสลสูตร ข้อ ๖๙๑ - ๖๙๕ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อโกศล ในแคว้นโกศล ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน
มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้กายตามความเป็นจริง จงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อรู้เวทนาตามความเป็นจริง จงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อรู้จิตตามความเป็นจริง จงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง
ให้เจริญสมถภาวนาหรือเปล่า ไม่ใช่จุดประสงค์ เพราะไม่ว่าจะเป็น ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน
ถ้าต้องการความสงบ เพราะรู้ว่าเวลานี้เป็นอกุศลจิต ดำรงมั่นในการเจริญ สติปัฏฐานหรือเปล่า ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของกายที่กำลังมีอยู่ เวทนาที่กำลังมีอยู่ จิตที่กำลังมีอยู่ ธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญ สติปัฏฐานจริงๆ บางท่านอาจจะคิดว่า สงบเสียก่อน สติจะได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ชัดเจนและนาน เพราะเข้าใจว่า เมื่อจิตสงบเท่านั้นที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเมื่อจิตหมดจากความสงบแล้วด้วย
ถ้าต้องการที่จะให้จิตสงบและคิดว่า สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เวลาที่ความสงบหมดไป ปัญญาจะสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างขณะกับขณะที่กำลังสงบได้ไหมถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เพราะความสงบก็หมด และมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ตามเหตุตามปัจจัยที่จะเกิดขึ้น
ส่วนมากท่านที่ต้องการความสงบก่อนเพื่อที่จะให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ลืมว่า ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อความสงบหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็ยังหวังอยู่ที่จะสงบ แทนที่จะเป็นผู้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐานโดยที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เห็นกายในกายในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ความรู้สึก คือ เวทนา ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ สภาพของจิตในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ สภาพของธรรมในขณะนี้เดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เพียงได้ฟัง ก็เป็นปัจจัยที่สติจะเกิดได้ ระลึกทันที ไม่ใช่ให้เลือกว่า ให้รู้สภาพธรรมในขณะที่กำลังสงบ และไม่ว่าจะเป็นภิกษุที่บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัย เธอทั้งหลาย คือ ภิกษุทั้งหลาย พึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔
และไม่ใช่แต่เฉพาะภิกษุซึ่งเป็นผู้ใหม่บวชยังไม่นาน เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้กาย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้เวทนา ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้จิต ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้ธรรม
แม้ว่าจะเป็นพระเสขบุคคลแล้ว เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใคร พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในพระไตรปิฎก จุดประสงค์เพื่อให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนกระทั่งสามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ และแม้จะจบกิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากกายแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พรากจากเวทนาแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พรากจากจิตแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว พรากจากธรรมแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่เป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ ธรรมวินัยนี้ อันเธอทั้งหลายพึงให้สมาทาน พึงให้ตั้งอยู่ พึงให้ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้
จบ สูตรที่ ๔
ตั้งแต่บวชใหม่ยังไม่นาน จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลสแล้ว ก็เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่ยังดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็มีการฟังเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ บ่อยๆ เนืองๆ เพื่อที่จะเกื้อกูลอุปการะจนกว่าท่านจะเป็นผู้ดำรงมั่นจริงๆ ในการเจริญสติปัฏฐาน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๘๔๑ – ๘๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 883
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 900