แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852


    ครั้งที่ ๘๕๒


    ถ. ผมเห็นว่า ถ้าหากเรามองเห็นภัยในเรื่องมรณานุสสติ ในเรื่องความตาย เราน่าจะมีสติเพิ่มขึ้น

    สุ. นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในเรื่องของการเป็นผู้ไม่ประมาท โดยสติระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม เพราะถ้า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรม ผู้ที่ระลึกถึงมรณานุสสติก็ระลึกไปเฉยๆ ว่า สักวันหนึ่งก็ต้องตาย ถึงแม้ว่าจะได้ลาภได้ทรัพย์สมบัติสักเท่าไรวันหนึ่งก็ต้องตาย ก็เพียงคิดแค่นั้น

    แต่พระผู้มีพระภาคทรงหยั่งรู้อัธยาศัยของสัตว์โลก และรู้ตามความเป็นจริงว่า สติเป็นอนัตตา ไม่สามารถที่จะเกิดได้ตามความต้องการ แต่เพราะอาศัยการฟังว่า มรณสติเจริญอย่างไรจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก สามารถที่จะหยั่งลงสู่อมตะ สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งลักษณะของนิพพานได้ ด้วยการที่ไม่หวังที่จะสงบ ซึ่งมรณสติที่ถูกต้องนั้น ควรจะเป็นเมื่อระลึกถึงความตายแล้วสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะความหมายของไม่ประมาทในที่นี้ คือ มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม

    แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมอย่างนี้ ผู้ที่ระลึกถึงความตายก็ระลึกไปเฉยๆ ว่า วันหนึ่งทุกคนก็ต้องตายเท่านั้นเอง แต่นั่นไม่พอ หรือผู้ที่ระลึกถึงความตายแล้วละคลายความติดข้องในทรัพย์สมบัติ ในลาภ ในยศ ในสักการะต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นเพียงขั้นความสงบ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรเป็นผู้ที่ไม่ประมาท คือ เมื่อระลึกถึงความตายแล้วไม่ประมาทโดย สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังธรรม และมีจิตตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องสภาพความสงบของจิตโดยนัยของสมถภาวนาก็ทราบว่า นั่นเป็นสภาพธรรมที่เกิดในชีวิตประจำวัน แต่ว่าจุดประสงค์นั้นเพื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้จิตที่สงบ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่เพียงความสงบ ที่ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท คือ เป็นผู้ที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะฟังเรื่องของสมถภาวนาก็ทราบว่า เป็นชีวิตปกติประจำวัน เช่น ทานเป็นชีวิตปกติ ศีลเป็นชีวิตปกติ ความสงบของจิตซึ่งเกิดขึ้นประกอบด้วยเมตตา หรือระลึกเป็นไปในความตายก็เป็นชีวิตตามปกติ ซึ่งสติปัฏฐานควรจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพที่กำลังคิดนึกถึงความตายว่า เป็นแต่เพียงจิตที่สงบ ที่คิดหรือที่นึกเป็นไปในการระลึกถึงความตาย

    ถ. วันนี้อาจารย์ได้พูดหลายครั้งแล้วถึงคำว่า ประมาท และได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า ประมาท คือ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ประมาท แต่ผมเห็นคำขวัญบนรถเมล์ เขาเขียนว่า ความประมาท คือ ความตาย จะหมายถึงสติปัฏฐานเกิดขึ้นหรือเปล่า

    สุ. ถ้าคนที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเห็นอะไร คิดอะไร การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพจิตที่คิดขณะนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะคิดอะไร จะนั่งบนรถประจำทาง เห็นหรือไม่เห็นคำนั้น คิดถึงคำอื่น หรือคิดถึงคำนั้น สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้

    ถ. เขาติดไว้เฉพาะหน้าคนขับ ไม่ได้ติดไว้ให้ผู้โดยสารดู หมายถึงว่า เตือนคนขับไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

    สุ. นั่นสำหรับผู้ที่เขียนอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นพระธรรมจริงๆ ขณะนั้นแม้คนขับ สติก็จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นสติปัฏฐานได้ ถ้ามีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทุกอย่างที่เป็นของจริง สามารถที่จะเป็นปัฏฐานที่สติจะเกิดระลึกรู้ได้

    ผู้ฟัง ความกลัวตาย ผมนึกถึงอรรถกถาซึ่งท่านพุทธโฆษาจารย์ท่านแต่งไว้ ในธรรมบท พุทธภาษิตว่าดังนี้

    สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาญา ย่อมกลัวต่อความตาย นี่เป็นพุทธภาษิต แต่มีสัตว์อยู่ ๔ จำพวก คือ ๑. พระอรหันต์ ๒. ช้างอาชาไนย ๓. ม้าอาชาไนย ๔. พระมหากษัตริย์ที่เป็นนักรบ บุคคลพวกนี้ไม่กลัวตาย สำหรับพระอรหันต์นั้น เพราะสิ้นกิเลส ไม่มีอะไรที่จะกลัวตาย แต่ว่าสัตว์ ๓ จำพวก ช้างอาชาไนยก็ดี ม้าอาชาไนยก็ดี พวกนี้ไม่กลัวตายเพราะมีทิฏฐิมานะ เราจะเห็นช้างหรือม้าที่เข้าสู่สงคราม ลูกศรจะมาจากทิศต่างๆ ไม่กลัว เพราะมีทิฏฐิมานะ ส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นนักรบก็เช่นเดียวกัน ย่อมให้ตัดคอได้เลย แต่ก็ยังเป็นปุถุชน เข้าในลักษณะ สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตายทั้งสิ้น

    สุ. แต่ละขณะๆ นอกจากจะเป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้วจริงๆ จึงจะไม่กลัวตาย และสำหรับผู้ที่หมดกิเลสแล้ว ท่านจะระลึกถึงความตายอย่างไร

    ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา สังกิจจเถรกถา ข้อ ๓๗๗ มีข้อความที่กล่าวถึงการระลึกถึงความตายว่า ผู้ที่มีปัญญาดับกิเลสหมดแล้ว ... ไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ และรอเวลาอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้สิ้นเวลาทำงานฉะนั้น ... และเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รอเวลาตายอยู่

    ต้องเป็นอย่างนี้ คือ ไม่ยินดีความตาย ถ้าใครบอกว่าอยากตาย อย่าคิดว่า คนนั้นไม่กลัวตาย หรืออย่าคิดว่าคนนั้นเป็นพระอรหันต์จึงได้บอกว่า อยากตายๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะผู้ที่หมดกิเลสไม่ยินดีความตาย ไม่ใช่ต้องพูดว่าอยากตาย และในขณะเดียวกันก็ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ นี่คือลักษณะของผู้ที่หมดกิเลสจริงๆ และรอเวลาอยู่เหมือนลูกจ้างรอให้สิ้นเวลาทำงานฉะนั้น

    ไม่มีใครสามารถที่จะไปหยุดยั้งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ซึ่งเป็นกิจการงานอย่างหนึ่ง จิตเกิดขึ้นทำอะไร ทำกิจเห็น ต้องเห็น ขณะนี้ทำกิจแล้ว คือ เห็น มีปัจจัยที่จะทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้จิตได้ยินเกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัยจิตก็เกิดขึ้นกระทำกิจได้ยิน เป็นการทำงานแต่ละขณะจิตจริงๆ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ผู้ที่หมดกิเลสแล้วย่อมรอเวลาอยู่ คือ เวลาที่จะปรินิพพาน เหมือนลูกจ้างรอให้สิ้นเวลาทำงานฉะนั้น และเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รอเวลาตายอยู่

    ถ้าใครอยากตาย ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เพื่อที่จะไม่ยินดีความตาย และไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่

    มีพระสูตรๆ หนึ่งที่กล่าวถึงการเจริญกัมมัฏฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ถ้าท่านผู้ฟังไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็อาจจะเข้าใจอรรถไม่ถูกต้อง ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อิจฉาสูตร ข้อ ๑๗๔ มีข้อความว่า

    ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก ๘ จำพวกเป็นไฉน ฯ ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาเพื่อได้ลาภ เธอย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อเธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภอยู่ แต่ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากพระสัทธรรม ฯ

    นี่เป็นความละเอียดจริงๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็น เป็นแต่ละชีวิตที่สะสมมาตามความเป็นจริง คือ สำหรับบุคคลจำพวกที่ ๑ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ชอบสงัด บางคนก็ว่าน่าอนุโมทนา ดีแล้วที่ท่านชอบสงัด แต่ว่าไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป

    ถ้าฟังพยัญชนะเพียงเผินๆ ก็อาจจะคิดว่า ต้องเร่งให้สติเกิดเป็นเวลาติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน หรือว่าตลอด ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน ตลอดสัปดาห์ ๒ สัปดาห์ หรือว่า เดือนหนึ่ง แต่ว่าขอให้ทราบว่า อรรถของเจริญกัมมัฏฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ย่อมไม่เว้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมี ๖ ทาง

    ท่านที่เคยระลึกรู้ลักษณะของโผฏฐัพพะ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ซึ่งกำลังมีอยู่ในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ แต่ว่าทางตาไม่เคยระลึกเลย เพราะฉะนั้น ท่านที่มีความเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะต้องรู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตลอดเวลา ทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ทั้งชาติ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็จะรู้ได้ว่า ท่านไม่ได้อบรมเจริญปัญญาให้ติดต่อกัน เพราะเพียงแต่ระลึกรู้ลักษณะของโผฏฐัพพะที่ปรากฏที่กาย แต่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของเห็นทางตา เพราะฉะนั้น จึงไม่ติดต่อเนื่องกัน

    แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านไปจดจ้องที่รูปเดียวให้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยความประสงค์ที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งการจะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้นั้น ไม่ใช่ตัวตนที่สามารถจะประจักษ์ได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญจนกระทั่งรู้ทั่วแล้วจริงๆ และละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเราที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ที่เป็นสุข ที่เป็นทุกข์ ที่เดือดร้อน หรือที่ต้องการลาภ ต้องการยศ ต้องการสรรเสริญ

    เพราะฉะนั้น ความหมายของติดต่อเนื่องกัน ต้องหมายความถึงทั่วทั้ง ๖ ทาง ไม่ว่าจะเป็นการคิดนึกตรึกไปในเรื่องใดทั้งสิ้น

    และผู้ที่เป็นบุคคลจำพวกนี้ คือ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาเพื่อได้ลาภ นี่เป็นของธรรมดาที่สุดของผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้น ผลคือ มดาท้ั่วทีนะเพียงผิเธอย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อเธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อให้ได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าผู้มีความปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภอยู่ แต่ไม่ได้ลาภ เศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากพระสัทธรรม ฯ

    บุคคล ๔ จำพวก เป็นพวกที่เคลื่อนจากสัทธรรม และบุคคลอีก ๔ จำพวก เป็นพวกที่ไม่เคลื่อนจากสัทธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นความต่างกันของบุคคลทั้ง ๘ จำพวก

    สำหรับบุคคลประเภทที่ ๒ ต่างกับบุคคลประเภทที่ ๑ คือ

    เมื่อเธอย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ลาภเกิดขึ้น

    สำหรับบุคคลประเภทที่ ๑ เพียรพยายามเพื่อได้ลาภ แต่ลาภไม่เกิดขึ้น ก็เศร้าโศก แต่บุคคลประเภทที่ ๒ เพียรพยายามเพื่อได้ลาภ และลาภก็เกิดขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เธอย่อมมัวเมาถึงความประมาทเพราะลาภนั้น ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ได้ลาภแล้ว มัวเมาประมาทและเคลื่อนจากพระสัทธรรม ฯ

    สำหรับบุคคลประเภทที่ ๓ ที่เคลื่อนจากพระสัทธรรม คือ เป็นผู้ปรารถนาเพื่อได้ลาภ แต่ไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ลาภก็ไม่เกิดขึ้น ก็ถึงความหลงใหล เพราะเมื่ออยากจะได้แต่ไม่ได้ ก็ย่อมเศร้าโศก เพราะฉะนั้น ก็เคลื่อนจากพระสัทธรรม

    ส่วนอีกบุคคลหนึ่งนั้น จำพวกที่ ๔ มีความปรารถนาเพื่อได้ลาภ ไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ แต่เมื่อลาภเกิดขึ้น ก็ย่อมถึงความมัวเมา ถึงความประมาทเพราะลาภนั้น เพราะฉะนั้น ก็เคลื่อนจากพระสัทธรรม

    สำหรับบุคคล ๔ จำพวก ซึ่งไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

    บุคคลจำพวกที่ ๕

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาเพื่อได้ลาภ เธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อเธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ลาภไม่เกิดขึ้น เธอไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ไม่ได้ลาภแล้ว ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ฯ

    ท่านผู้ฟังอยู่ในจำพวกนี้หรือเปล่า ยังปรารถนาที่จะได้ลาภ พยายามเพื่อได้ลาภ แต่ถึงแม้ว่าลาภไม่เกิดก็ไม่เศร้าโศก ซึ่งที่จะไม่เศร้าโศกได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม อบรมเจริญปัญญาที่จะไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น จึงไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

    สำหรับบุคคลประเภทที่ ๖ มีข้อความว่า

    อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ติดต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาเพื่อได้ลาภ เธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ เมื่อเธอหมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ลาภเกิดขึ้น เธอไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะได้ลาภนั้นดูกร อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ ได้ลาภแล้ว ไม่มัวเมาประมาท และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม ฯ

    ต้องพิจารณา หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภก็ไม่เป็นไร และถึงแม้ลาภจะเกิดขึ้นเพราะความหมั่นเพียรพยายามนั้น ก็ไม่ควรจะมัวเมา ไม่ควรที่จะหลงเพลิดเพลิน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะถึงความประมาทเพราะได้ลาภนั้น แต่ถ้าไม่มัวเมาก็ไม่ถึงความประมาท เพราะฉะนั้น จึงไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

    สำหรับบุคคลประเภทที่ ๗ และที่ ๘ คือ บุคคลซึ่งยังปรารถนาเพื่อได้ลาภ แต่ไม่หมั่นเพียรพยายามเพื่อได้ลาภ และเมื่อไม่ได้ลาภก็ไม่โศกเศร้า หรือเมื่อได้ลาภก็ไม่มัวเมาประมาท เพราะฉะนั้น จึงไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

    ท่านผู้ฟังเป็นบุคคลจำพวกไหน

    ๔ จำพวกหลัง ในบางครั้งบางคราว บางขณะก็มีความเพียรพยายามเพื่อที่จะได้ลาภ บางครั้งทั้งๆ ที่อยากได้ก็ไม่ได้พากเพียรพยายาม แต่ว่าลาภจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ย่อมมีเหตุปัจจัย การที่จะได้อารมณ์ต่างๆ ที่ดี ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่เป็นผลของอกุศลจิตหรืออกุศลกรรม แต่ต้องเป็นผลของกุศลจิตและกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่เศร้าโศกเวลาที่ไม่ได้ลาภ และย่อมไม่มัวเมาเวลาที่ได้ลาภ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเมื่อไม่มัวเมา

    เป็นมรณสติหรือเปล่า ที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีความปรารถนาลาภอยู่ ยังเป็นผู้ที่ไม่ได้เจริญกัมมัฏฐานให้ติดต่อกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564