แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
ครั้งที่ ๘๕๓
ท่านผู้ใดอบรมเจริญสติปัฏฐานติดต่อกันแล้วบ้าง
ต้องเป็นผู้ที่สติและปัญญามีกำลัง เป็นพละแล้ว แต่ก่อนที่สติและปัญญาจะเป็นกำลัง เป็นพละได้ จะต้องอาศัยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ขณะไหนก็ได้ โดยไม่เลือก โดยไม่เจาะจง แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางหนึ่งทางใด แต่ต้องรู้ทั้ง ๖ ทาง และต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า แต่ละทางเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ การคิดนึกไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น ต้องรู้พร้อมสติตามความเป็นจริง แม้ในขณะที่ฟัง แม้ในขณะที่เห็น แม้ในขณะที่ได้ยิน แม้ในขณะที่ได้กลิ่น แม้ในขณะที่ลิ้มรส แม้ในขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ปรากฏทางกาย แม้ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏทางใจ
เพราะฉะนั้น ถ้าการอบรมเจริญสติปัฏฐานยังไม่สืบต่อกัน ยังไม่ติดต่อกันทั้ง ๖ ทาง จะยังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ใช่อุทยัพพยญาณ ยังไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดวิปัสสนาญาณที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับตามปกติในขณะนี้
ต้องทราบว่า เป็นปกติในขณะนี้ ซึ่งปัญญาและสติที่มีกำลังเท่านั้นที่สามารถจะประจักษ์ได้ และก็มีบุคคลผู้ได้ประจักษ์แล้วเป็นจำนวนมากด้วยที่เป็น พระอริยบุคคลในครั้งก่อน ที่ท่านได้อบรมเจริญปัญญาสามารถรู้แจ้งในสภาพที่ไม่เที่ยง ในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย การคิดนึก
สำหรับมรณสติ เป็นการระลึกถึงความตาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในขณะไหนก็ได้ และเมื่อเป็นมรณสติ ต้องเป็นกุศล ไม่ใช่ระลึกแล้วเกิดความโลภ หรือความขุ่นเคืองใจ ความหวาดสะดุ้งกลัว ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ใช่มรณสติ
ใน ปฏิปทาสูตรที่ ๓ ข้อ ๑๗๐ มีข้อความโดยย่อว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐ ชื่อนาทิกะ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
... มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เธอทั้งหลายย่อมเจริญมรณสติหรือหนอ ฯ
ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจการเจริญมรณสติโดยนัยของการเจริญวิปัสสนาแล้ว ก็ทราบว่า มรณสติที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุดนั้น คือ ขณะที่ระลึกถึงความตายแล้วไม่ประมาท จึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมเจริญมรณสติ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็เธอเจริญมรณสติอย่างไร ฯ
ภิกษุกราบทูลว่า
ในการเจริญมรณสตินี้ ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่คืนหนึ่งวันหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล ฯ
ท่านผู้ฟังคิดหรือยังว่า ท่านจะอยู่ในโลกนี้อีกกี่ปี อย่างมากก็คงจะไม่เกิน ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้น จะอยู่อีกกี่ปี และเมื่อระลึกแล้ว ควรที่จะได้ระลึกถึงว่า ท่านได้กระทำกุศลหรืออกุศลมามากหรือน้อยอย่างไร ถ้าทำอกุศลกรรมมามากกว่ากุศลกรรม เวลาส่วนที่เหลือก็ควรจะเจริญกุศลกรรมให้ยิ่งขึ้น เพราะก่อนนั้นได้กระทำอกุศลกรรมมามากแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้คิดถึงมรณสติ ใช่ไหม เพราะแต่ละวันคิดถึงแต่สิ่งที่ต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ลืมว่าจะอยู่ในโลกนี้อีกกี่ปี สำหรับท่านที่คิดถึงว่าจะอยู่ในโลกนี้อีกกี่ปี ก็อาจจะมีบางท่านที่คิด แต่ว่าคงจะไม่เหมือนกับภิกษุรูปนี้ที่กราบทูลว่า ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่คืนหนึ่งวันหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญมรณสติอย่างนี้แล ฯ
ซึ่งภิกษุรูปอื่นๆ ก็ได้กราบทูลต่อๆ กันไปว่า แต่ละท่านมีความคิดว่า
พึงเป็นอยู่ตลอดวันหนึ่ง ...
พึงเป็นอยู่เพียงครึ่งวัน ...
พึงเป็นอยู่เพียงชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตมื้อหนึ่ง ...
พึงเป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตครึ่งหนึ่ง ...
พึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าว ๔ - ๕ คำแล้วกลืนกิน ...
พึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวได้คำหนึ่งแล้วกลืนกิน ...
พึงเป็นอยู่ชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้า หรือหายใจเข้าแล้วหายใจออก ...
และตอนท้ายของพระสูตรนี้มีข้อความว่า
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค
ไม่ใช่เพียงคิดว่า เป็นอยู่ชั่วคืนหนึ่งวันหนึ่ง แต่ว่าชั่วคืนหนึ่งวันหนึ่งก็ยังมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค ซึ่งคำสอนของพระองค์ย่อมตรัสสอนเป็นอันมากที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ตลอดวันหนึ่ง พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ
ภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ครึ่งวัน ... โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตมื้อหนึ่ง … โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตครึ่งหนึ่ง ... โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวได้ ๔ - ๕ คำแล้วกลืนกิน ... ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ประมาทอยู่ เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะช้า ฯ
ถ้าท่านคิดว่า ท่านจะมีชีวิตอยู่อีกกี่ปี ย่อมประมาทมากเหลือเกิน เพราะแม้ว่าจะระลึกเพียงว่า เป็นอยู่ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่งก็ยังประมาท เป็นอยู่ตลอดวันหนึ่งก็ยังประมาท เป็นอยู่เพียงครึ่งวันก็ยังประมาท เป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตมื้อหนึ่งก็ยังประมาท เป็นอยู่ชั่วเวลาบริโภคบิณฑบาตครึ่งหนึ่งก็ยังประมาท
เคยมีใครรับประทานอาหารและเกิดคิดมรณสติในขณะนั้นบ้างไหม ขณะที่รับประทานอาหารไปเพียงครึ่งเดียวก็คิดว่า อาจจะสิ้นชีวิตลงในขณะนั้นก็ได้ คงจะ ไม่มี ใช่ไหม แต่ถ้าเกิดระลึกในขณะนั้น ก็ยังเป็นผู้ประมาท แม้คิดว่า เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวได้ ๔ – ๕ คำแล้วกลืนกิน ก็ยังเป็นผู้ประมาท
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ
ขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน เพราะฉะนั้น วันนี้เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน ที่สติควรจะเกิดระลึกรู้ในขณะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
และภิกษุใดเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้า หรือหายใจเข้าแล้วหายใจออก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ เรากล่าวว่า ไม่ประมาทอยู่ ย่อมเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ประมาทอยู่ จักเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๓
ขณะนี้ไม่ใช่เวลารับประทานอาหาร แต่กำลังหายใจเข้าและหายใจออก เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก หรือว่าหายใจออกแล้วหายใจเข้า ในขณะนี้เองที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะขณะนี้ไม่ใช่ขณะที่กำลังเคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่แยกมรณสติโดยนัยของสมถะที่ต้องการจะให้จิตเพียงสงบ และก็สงบมั่นคงขึ้นจนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิ เพราะขณะนั้นไม่ใช่การเจริญมรณสติที่จะมีอานิสงส์มาก มีผลมาก เพราะไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถึงจะสงบอย่างไร ถึงจะเป็นอุปจารสมาธิ ก็ไม่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เมื่อเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเข้าใจได้ว่า ตลอดทั้งพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะทรงแสดงธรรมประการใดๆ ก็ตาม แม้มรณสติ ซึ่งส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะคิดว่าเป็นสมถภาวนา เป็นการเจริญความสงบ แต่แท้ที่จริงแล้ว จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เมื่อเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ดิฉันเคยเจ็บป่วยมาก และได้เจริญวิปัสสนามาก่อน พอระยะหลังมีอาการมาก ป่วยมาก หัวใจโตและความดันโลหิตสูง หมอไม่รับรอง คิดว่าตัวเอง ไม่รอด แต่เพราะว่าได้เจริญสติปัฏฐานมาก่อนแล้ว ก็เลยคิดว่า ถึงอย่างไรๆ ตายก็ให้มีสติก็แล้วกัน เวลาก็เหลือน้อย และบางครั้งจิตก็เกิดความหวาดหวั่น แต่ก็มีสติระลึกรู้ความหวาดหวั่น ดิฉันก็เห็นพระคุณในการเจริญสตินี้ ได้รับประโยชน์อย่างมากมายที่สุด
ถ. มีเพื่อนฝูงที่เขาคิดถึงความตายแล้ว เขารีบบริโภค รีบเที่ยว รีบกิน บางทีก็เผื่อแผ่บ้าง ผมบอกว่าเขาเป็นคนใจดี เขาบอกว่าตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ทำให้เป็นคนใจกว้าง เลี้ยงเพื่อนฝูง เที่ยวเตร่สนุกสนาน อย่างนี้เป็นมรณานุสสติหรือเปล่า
สุ. ถ้าระลึกแล้วเป็นอกุศล ไม่ใช่มรณานุสสติ
ถ. เขานึกว่าเขาต้องตายแน่ มีคนแก่คนหนึ่งอายุมาก ผมขาวแล้ว ใส่เสื้อ สีแดง สีเขียว ผมก็ว่า ทำไมไม่แต่งให้สุภาพเหมือนคนแก่ เขาบอกว่ามีอะไรใส่ให้หมด ใหม่ๆ ยิ่งต้องใส่ เพราะใกล้จะตายแล้ว เขาคิดของเขาอย่างนี้
สุ. ก็ไม่ใช่มรณสติ แต่ถ้าเขาเจริญสติ ถ้าสติของเขาเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรู้ได้อย่างไร คนอื่นรู้ไม่ได้
ถ. อย่างผมที่ฟังมาธรรม หลายครั้งที่ไม่อยากจะมา เพราะว่าบางครั้งติดพันเพื่อนฝูง ติดพันในการคุย บางครั้งติดพันในการกินอาหารบ้าง ถึงเวลามาฟังธรรมยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ยังไม่อยากจะมา จนกระทั่งเกินเวลาบ้าง จวนเวลาบ้าง ก็เกิดความรู้สึกว่า ความตายนี้ก็ใกล้เข้ามา อายุก็มากขึ้น ปัญหาสำคัญของผม คือ ผมจะหาอาจารย์ซึ่งมีสติปัญญา ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติวิปัสสนาเสมออาจารย์สุจินต์นั้นหามิได้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เป็นบุญ เป็นลาภ เป็นโชคอันประเสริฐแล้วที่ได้พบ ถ้าหากว่าไม่มาฟัง อาทิตย์นี้ผ่านไป อายุก็สั้นไป ความตายก็ใกล้เข้ามา ถ้าไม่มา เกิดตายก่อน ก็ไม่ได้ฟัง ไม่ได้สะสมบารมี ก็รีบมาเลย เกือบจะทุกครั้ง บางทีร้อนไปบ้าง ขี้เกียจบ้าง ง่วงนอนบ้าง บางทีคนข้างเคียงบอกว่า อย่าไปเลย นอนดีกว่า ผมก็บอกว่า ไม่ได้ซิ เดี๋ยวจะตายเสียก่อน จะหาใครเสมอเหมือนอาจารย์ที่สติปัญญาถูกต้องในด้านปฏิบัติ ยังไม่พบ เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องมา
สุ. ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่ท่านมา เพราะเป็นกุศลจิต มีบางท่านกล่าวว่า บางครั้งเกิดคิดขึ้นมาว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งไม่ได้รู้อื่น ไม่ได้รู้เสียง แต่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา บางครั้งก็คิดขึ้นมาอย่างนี้ แต่ไม่เหมือนกับเวลาที่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดยิ่งขึ้น
ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะจะเห็นได้ว่า การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ ไม่มีวันพอ ยิ่งฟังมาก ยิ่งพิจารณามาก ก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะการฟังพระธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน หรือว่าในความละเอียด ความลึกซึ้งของพระธรรมซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟัง และเมื่อได้ฟังแล้ว พิจารณาเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ ซึ่งความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นไม่ได้สูญหายไปไหน เมื่อเกิดขึ้นในขณะที่ฟัง และจิตนั้นดับไป ปัญญาที่เข้าใจในขณะนั้นก็ดับไป แต่ก็สืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไปที่เกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจัยให้เวลาที่สติเกิดขึ้นเป็นสติปักฐาน ไม่ใช่เพียงคิดว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ในขณะนั้นยังคิด แต่เวลาที่ไม่ใช่คิด แต่กำลังน้อมพิจารณารู้ในอาการที่เป็นสภาพรู้ในขณะนี้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาแล้วทั้งหมดจะเกื้อกูลให้มีความเข้าใจในขณะที่กำลังน้อมพิจารณาโดยไม่ได้คิด ไม่ใช่เพียงขั้นคิดในขณะนั้น และเพิ่มความเข้าใจความรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เนื่องจากการฟังที่ไม่มีวันจะจบ หรือไม่มีวันที่จะพอ ยิ่งฟังมาก ยิ่งสนทนาธรรมมาก ยิ่งพิจารณามาก ยิ่งใคร่ครวญในเหตุผลมาก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากขึ้น เกื้อกูลแก่เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นจะสามารถเข้าใจในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนโดยสภาพที่เป็นรูปธรรมที่สติกำลังระลึกรู้ หรือโดยสภาพที่เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม สนทนาธรรม และเกื้อกูลธรรมซึ่งกันและกัน และก็เป็นความจริงว่า ทุกคนต้องตาย ใครจะตายก่อนก็ไม่ทราบ แต่เมื่อทุกคนจะต้องตาย ก็น่าที่จะพิจารณาว่า จะจากโลกนี้ไปอย่างเป็นห่วง อย่างยังคงติดข้องในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ในความสำคัญตนว่าเป็นเรา หรือว่าจะจากไปด้วยปัญญาที่ค่อยๆ รู้ และละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ผู้ฟัง มีคนเขาว่า ผมฟังธรรมมากไป ผมทำงานที่บ้าน ฟังตั้งแต่เช้าจนเย็น จนถึงเลิกงานก็ยังฟัง เทปม้วนเดียวฟัง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ก็ยังเกิดประโยชน์ ซ้ำๆ ซากๆ ฟังแล้วฟังอีก คำพูดที่ไม่เข้าใจก็เข้าใจ ผมคิดว่า เกิดมาแล้วได้มาพบมาเจอพระพุทธศาสนาและมีอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ให้ปัญญาอย่างนี้ ก็เหมือนกับพรรคพวกเพื่อนฝูง หรือพ่อค้าที่เขากอบโกยเงินทอง โกยได้ โกงได้ แต่ผมคิดโกยเรื่องสติปัญญา โกยได้เท่าไรโกยไป ชาตินี้ผมจะโกยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกอบโกยได้ เพราะตายไปแล้วไม่รู้ว่าจะไปอบาย หรือไม่ไปก็ไม่รู้ รีบโกย ฟังตั้งแต่เช้า ๘ โมงกว่าถึงเย็น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๕๑ – ๘๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 883
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 900