แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
ครั้งที่ ๘๖๗
อาหารที่รับประทานเข้าไป ต้องออกจากร่างกาย อยู่ไม่ได้ จะอยู่หมักหมม สะสมอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ เป็นโทษแก่ร่างกาย เพราะฉะนั้น อาหารที่รับประทานเข้าไปจะต้องออกจากร่างกาย ซึ่งในการที่ต้องออกจากร่างกาย ไม่มีใครที่จะเอาออกไปด้วยท่อนไม้ หรือไม้เท้า
ทุกวันๆ นี้ อาหารนั้นซึ่งเป็นอาหารเก่า ย่อมออกไปด้วยวาโยธาตุนั่นแหละ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นธาตุแต่ละชนิดซึ่งกระทำกิจของธาตุ นั้นๆ
วาโยธาตุย่อมนำเข้าไปด้วย เวลาที่บริโภคอาหาร อาหารเข้าไปสู่ร่างกายด้วยวาโยธาตุ ย่อมทรงอยู่ด้วย เมื่อเอาอาหารเข้าไปแล้ว อาหารนั้นก็อยู่ในที่นั้นด้วยวาโยธาตุนั่นเอง ย่อมพลิกกลับไปมาด้วย ย่อมแหลกละเอียดด้วย ย่อมให้แห้งด้วย ย่อมนำออกด้วย ด้วยประการฉะนี้
นี่คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทุกๆ ขณะ ในทุกๆ วัน ตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปมีว่า
สำหรับธาตุทั้ง ๔ ก็ย่อมกระทำกิจต่างๆ กันในขณะนั้นด้วย คือ ปฐวีธาตุ ย่อมทรงไว้ด้วย ย่อมพลิกไปมาด้วย ย่อมแหลกละเอียดด้วย ย่อมให้แห้งด้วย ย่อมนำออกด้วย อาโปธาตุย่อมทำให้เป็นยางด้วย ย่อมอนุบาล คือ ช่วย ให้เปียกด้วย เตโชธาตุย่อมยังอาหารที่เข้าไปแล้วในภายในให้สุกทั่ว อากาศธาตุย่อมเป็นทาง อญฺชโส แห่งอาหาร
ถ้าไม่มีช่อง ไม่มีทางอากาศในร่างกาย อาหารก็เข้าไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในร่างกาย ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ ย่อมปรุงแต่งให้รูปธาตุ คือ กาย เป็นไปด้วยดีจนกว่าจะสิ้นชีวิต
วิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ ย่อมใช้อาหารนั้นเพื่อประกอบโดยชอบในที่นั้นๆ ด้วยประการฉะนี้
คือ รู้ว่าขณะใดจะบริโภคอะไร
และยังรูปธาตุทั้งหลายให้เป็นไปโดยชอบในที่นั้นๆ ด้วยประการฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ ในคำว่า กลืนกิน เป็นต้นนี้ ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาความเป็นไปอย่างนี้
เป็นอย่างนี้หรือเปล่าในขณะที่บริโภค คือ อสัมโมหะสัมปชัญญะ ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงรูปธรรมหรือนามธรรมเท่านั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า กลืนกิน เป็นต้นนั้น พึงทราบว่า เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ โดยความพิจารณาความเป็นปฏิกูล ๑๐ อย่าง อย่างนี้ คือ ปฏิกูลโดยการไป โดยการแสวงหา โดยการบริโภค โดยที่อยู่ โดยการหมักหมม โดยการยังไม่ย่อย โดยการย่อยแล้ว โดยผล คือ กาก โดยการไหลออก โดยการแปดเปื้อน
อนึ่ง พึงถือเอาคำอธิบายโดยละเอียดในคำว่า กลืนกินนี้ จากอาหาเรปฏิกูลสัญญานิทเทส ใน วิสุทธิมรรค
นี่เป็นชีวิตปกติตามความเป็นจริงในเรื่องอาหาร ซึ่งทุกท่านต้องบริโภค แต่ว่าส่วนใหญ่เวลาที่สติไม่เกิด บริโภคด้วยโลภะ ด้วยความยินดี ด้วยความต้องการ แม้เพียงเริ่มนึกว่าจะบริโภคอะไร ในขณะนั้นก็ต้องคิดถึงแต่สิ่งที่ท่านมีความพอใจในรสนั้น หวังที่จะได้ในรสนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด การบริโภคตั้งแต่เกิดจนตายย่อมจะเป็นไปด้วยอกุศลจิต
ถ. เวลานี้มีสำนักปฏิบัติที่ดูรูปนั่ง รูปเดิน ซึ่งรูปนั่ง รูปเดินนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก เขาบอกว่า รูปนั่งเป็นจิตตชวาโยธาตุ เพราะฉะนั้น ขณะที่นั่งอยู่ และพิจารณาจิตตชวาโยธาตุ ขณะนั้นเป็นวิปัสสนาหรือเปล่า
สุ. ต้องใช้คำว่า จิตตชวาโยธาตุหรือเปล่า
ถ. ก็จิตตชวาโยธาตุในขณะนั้นก็มี ขณะที่เดิน
สุ. แต่ต้องใช้คำนั้นหรือเปล่า
ถ. ไม่ต้อง
สุ. ไม่ต้อง เพียงแต่สภาพธรรมใดปรากฏ อาการของธาตุใดปรากฏ สติระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
ถ. แล้วถ้าผู้ที่กำลังนั่งอยู่ และดูรูปนั่ง ขณะนั้นเขาก็ไม่ได้ใช้คำว่า ดูรูปนั่ง เขาก็พิจารณาสังเกตของเขาอย่างนั้น จะชื่อว่า พิจารณาโดยความเป็นธาตุหรือเปล่า
สุ. ไม่ควรจะติดที่คำว่าจะใช้คำไหน แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ความต่างกันของขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ แต่ถ้าใช้คำที่ทำให้ไม่สามารถเข้าใจขณะที่มีสติว่าต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญาที่จะรู้ว่า แม้สติก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ขณะที่คิดว่าจะดู ไม่ว่าจะดูอะไรก็ตาม ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสติว่า สติเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นจึงระลึกรู้ลักษณะของสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่ามีใครจะดูอะไรได้
ขณะที่กำลังเห็นนี้ แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ซึ่งเป็นอนัตตา ขณะใดที่สติเกิดก็รู้ว่า มีสติ แต่ขณะใดที่สติไม่เกิด ขณะนั้นจะชื่อว่ามีสติไม่ได้
เพราะฉะนั้น สติไม่ใช่จะดู สติเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นกระทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ปรากฏ แล้วแต่สติซึ่งเป็นอนัตตา
ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ สติที่เกิดจะระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าจะดู ต่อไปสภาพธรรมอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีใครรู้ เพราะสภาพธรรมเกิดปรากฏและหมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่รู้ว่าสภาพธรรมอะไรจะเกิดต่อไป จะไปดูอะไรได้ ในเมื่อไม่รู้ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะปรากฏ
แต่เมื่ออะไรปรากฏแล้ว สติเกิดตามระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม หรือว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ทีละลักษณะ
ไม่ใช่มีความต้องการจดจ้อง หรือเลือกได้ตามใจชอบว่าจะดูอะไร ถ้าจะดูอะไรได้ตามใจชอบ ก็ไม่ใช่สติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดตามความเป็นจริง โดยความเป็นอนัตตา เพราะสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ใครจะรู้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเลือกอารมณ์ให้สติได้ เพราะสติยังไม่เกิด และเมื่อใดสติเกิด สติระลึกเองทันทีในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่มีใครไปเลือกอารมณ์ให้สติได้
ถ. การเคลื่อนไหว ที่ว่าเป็นการแผ่ไปของวาโยธาตุอันเนื่องด้วยจิต คือก่อนที่เราจะลงมือรับประทานอาหาร ต้องเคลื่อนไหวมือ จับช้อน จับส้อม ขอคำอธิบายในการเคลื่อนไหว ที่ว่าเป็นวาโยธาตุ
สุ. รูปที่มีชีวิตเป็นที่อาศัยเกิดของจิต ต่างกับรูปซึ่งปราศจากชีวิต ปราศจากจิต ไม่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตอีกต่อไป เช่น รูปของคนที่สิ้นชีวิตแล้ว เคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะระลึกรู้ลักษณะของรูป ถ้าวาโยธาตุไม่ปรากฏ อย่าเพียรไปต้องการที่จะรู้วาโยธาตุ แล้วแต่อะไรจะปรากฏ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ขณะที่กำลังนั่ง จะดูท่าทางเป็นรูปนั่งไม่ได้ แล้วแต่ว่าสภาพของรูปใดปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ฉันใด เวลาที่รับประทานอาหารก็เหมือนกัน มีลักษณะของรูปทีละอย่าง ทีละอาการ ทีละลักษณะปรากฏ
ถ้าวาโยธาตุไม่ปรากฏ แต่แข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็น รสหรือเสียงปรากฏ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าต้องไปหาวาโยธาตุมารู้ในขณะที่นั่ง หรือในขณะที่รับประทานอาหาร ไม่ใช่อย่างนั้น
การที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ธาตุทั้ง ๔ ย่อมกระทำกิจของตนๆ ทุกขณะ แม้ในขณะที่รับประทานอาหาร แต่ละธาตุก็ทำกิจของตน เช่น อาหารที่จะเข้าไปในร่างกายได้ เข้าไปในปากได้ ต้องอาศัยวาโยธาตุ ถ้าไม่มีวาโยธาตุซึ่งเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะจิตกระทำให้เคลื่อนไหวไป อาหารที่อยู่ในจานก็เข้ามาอยู่ในปากไม่ได้ ไม่มีหนทางเลย หรือแม้แต่การที่จะเคี้ยว ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าวาโยธาตุไม่ทำให้ฟันบน ฟันล่างขยับ ไม่ใช่ว่าจะให้ไปรู้วาโยธาตุ แต่ว่าทรงแสดงเหตุของการบริโภคว่า เป็นเพราะธาตุใดที่ทำให้อาหารเข้าไปสู่ร่างกาย หรือว่าเมื่ออาหารเข้าไปสู่กระเพาะอาหารแล้ว ธาตุใดทำให้อาหารนั้นสุกย่อยละเอียดได้
เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ไม่ใช่เจาะจงที่จะรู้วาโยธาตุ ในขณะที่บริโภคอาหาร หรือนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดินเคลื่อนไหว เหยียดคู้ กระทำกิจ ต่างๆ แล้วแต่สภาพธรรมใดจะปรากฏ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
ถ. พูดถึงเรื่องการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ผมมีความสนใจมากเป็นพิเศษ ในข้อสัมมาสังกัปปะ คือ การตรึกชอบ อ่านในพระไตรปิฎกพบแต่ข้อความที่ว่า การตรึกชอบ คือ ดำริออกจากกาม ดำริที่จะไม่พยาบาท ดำริที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่อาจารย์เคยกล่าวว่า ให้ดำริตรงลักษณะ เพราะฉะนั้น ผมขอให้อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายสัมมาสังกัปปะอย่างละเอียด
และข้อความที่ว่า ตาเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง รูปเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง จักขุสัมผัสเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง หรือโสตสัมผัส หรือสัมผัสทั้งหลายควรรู้ยิ่ง เป็นอย่างไร
สุ. มีสิ่งที่ควรรู้ยิ่งทั้งนั้น ที่จะทำให้สามารถดับกิเลสได้ เพราะถ้าไม่รู้ยิ่งแล้วดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นความห่างไกลของขณะที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะสภาพธรรมปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังไม่รู้ยิ่ง จึงต้องเจริญสติ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
ถ. สัมผัส ผมมีความเข้าใจว่า อย่างจักขุสัมผัสนี้ จะต้องมีจักขุปสาท มี รูปารมณ์ มีจักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ อย่าง เรียกว่า ผัสสะ
สุ. เวลานี้เห็น ยังไม่ดับเลย ผัสสะต้องมี ถ้าไม่มี ไม่เห็น ใช่ไหม ขณะที่เสียงปรากฏ ได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพที่รู้เสียง เสียงปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองที่เสียงปรากฏ ผัสสะต้องมี ใช่ไหม
และไม่ใช่มีเฉพาะผัสสะ วิตกเจตสิกซึ่งเมื่อเป็นมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นสัมมาสังกัปโป ต้องมี จิตที่ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณที่ทำกิจเห็น ๒ ดวง โสตวิญญาณที่ทำกิจได้ยิน ๒ ดวง ฆานวิญญาณที่ทำกิจรู้กลิ่น ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณที่ทำกิจลิ้มรส ๒ ดวง กายวิญญาณที่ทำกิจรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวทางกาย ๒ ดวง จิต ๑๐ ดวงนี้เท่านั้น ที่ไม่มีวิตกเจตสิก
หลังจากนั้นแล้ว หลังจากเห็น ได้ยิน เป็นต้นไป วิตกเจตสิกมี แต่รู้ไหม รู้ยิ่งหรือยัง รู้ยากใช่ไหม รู้ว่ามี เข้าใจว่าต้องมี เพราะถ้าไม่มีผัสสเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ จิตจะเห็นไม่ได้ หรือว่ารู้อารมณ์ใดๆ ไม่ได้เลย
ขณะใดที่จิตเกิดรู้อารมณ์ใด ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น จิตจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นทันทีกับที่ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น ไม่ใช่หลัง และไม่ใช่ก่อน ถ้าผัสสะกระทบอารมณ์ใด จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นทันที ถ้าผัสสะเกิดแล้วดับไป จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่จิตกระทบได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ มีผัสสเจตสิก สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังค์ เวทนานุปัสสนานิทเทส มีข้อความว่า
เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรูปกัมมัฏฐาน ต่อจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทรงแสดงด้วยสามารถเวทนา คือ ความรู้สึก เพราะว่า จริงอยู่กัมมัฏฐานที่ตรัสด้วยสามารถผัสสะก็ตาม วิญญาณก็ตาม ย่อมไม่ปรากฏ คือ ปรากฏเหมือนอันธการ คือ ความมืด
จริงไหม ขณะนี้ที่เห็น ต้องมีผัสสเจตสิกแน่นอน แต่ผัสสะไม่ปรากฏ คือ ปรากฏเหมือนความมืด รู้ใช่ไหมว่า มีผัสสเจตสิกแน่นอนที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาจึงเห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะนี้รู้ว่ามีผัสสเจตสิกกระทบเสียงจึงได้ยิน แต่ไม่เห็นผัสสะปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ ทั้งๆ ที่เข้าใจว่าต้องมีผัสสะ เมื่อผัสสะไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างเวทนา คือ ความรู้สึกว่าดีใจ หรือว่าเสียใจ หรือเฉยๆ เพราะฉะนั้น ผัสสะจึงปรากฏเหมือนอันธการ คือ ความมืด
เวลานี้สว่างอยู่ แต่ถ้ามืดหมด ความมืดนั้นปรากฏ ใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไม่เห็นอะไร อย่างท่านที่อยู่ให้ห้องมืด ในบ้านของท่านเอง ท่านรู้ว่ามีอะไรบ้างอยู่ในห้อง แต่มืด ไม่เห็นสิ่งที่มีทั้งหมดในห้อง ฉันใด เวลานี้ ขณะหนึ่งๆ ที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ปรากฏ หรือว่าปรากฏเหมือนอันธการ คือ ความมืด ไม่ได้ปรากฏกับปัญญา จนกว่าความรู้ยิ่ง ความรู้ชัดในผัสสะนั้นเกิดขึ้น ผัสสะจึงจะปรากฏ
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ทุกท่านเกิดมาในโลก มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เห็นสิ่งต่างๆ มากมายเหลือเกิน ได้ยินเสียงต่างๆ ได้กลิ่นต่างๆ ลิ้มรสต่างๆ กระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริง ไม่รู้ลักษณะของเห็น ไม่รู้ลักษณะของได้ยิน ไม่รู้ลักษณะของผัสสะ ไม่รู้ลักษณะของวิตก ไม่รู้ลักษณะของเวทนา ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็เหมือนอันธการ คือ ปรากฏเหมือนความมืด ซึ่งไม่สามารถที่จะจำแนกออกได้ว่า นี่เป็นผัสสะ นั่นเป็นเวทนา นี่เป็นวิตก นั่นเป็นโลภะ นั่นเป็นโทสะ
คนที่อยู่ในความมืด หรือเมื่อความมืดปรากฏ ย่อมไม่สามารถที่จะจำแนกสิ่งที่เห็นได้ ฉันใด เวลาที่สติและปัญญาไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกสิ่งที่ปรากฏ ก็ย่อมปรากฏเหมือนความมืด คือ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ผัสสะเป็นอย่างไร วิตกเป็นอย่างไร จักขุวิญญาณ เห็นเป็นอย่างไร โสตวิญญาณ ได้ยินเป็นอย่างไร สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาโดยไม่เลือก ไม่ใช่ว่าอยากจะรู้สัมมาสังกัปโป หรือว่าลักษณะของวิตกเจตสิก ไม่ต้องเลือก อบรมเจริญปัญญาไป เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น คมกล้าขึ้น ย่อมสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ มากน้อยตามควรแก่ปัญญาบารมีของแต่ละท่าน แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ถ. ในเมื่อผัสสะไม่ปรากฏแก่ผู้เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็พิจารณาผัสสะไม่ได้ ใช่ไหม
สุ. แน่นอน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า และสภาพธรรมใดปรากฏ สติก็มีความชำนาญสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ยิ่งขึ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 883
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 900