แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868


    ครั้งที่ ๘๖๘


    ถ. เมื่อเป็นอย่างนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ผัสสะต้องยกไว้ก่อน ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องพิจารณา ใช่ไหม

    สุ. ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ อย่าลืม ผัสสะปรากฏกับท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นคงจะเคยอบรมเจริญปัญญาบารมีในอดีตชาติมาพอ ที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของผัสสะได้

    ถ. ในปฏิจจสมุปบาทท่านว่าไว้ด้วยองค์ ๓ ประการ ดังที่ผมเล่ามาแล้วว่า มี ๓ ตัว แต่เราจะระลึกจักขุสัมผัสสะอันไหน อย่างไร คือ องค์ประกอบจะต้อง มีรูปารมณ์ มีจักขุปสาท มีจักขุวิญญาณ

    สุ. ผัสสะกระทบอะไร ไม่ใช่ว่าผัสสะเฉยๆ เกิดขึ้นมาไม่กระทบอะไร ขณะที่เห็น ผัสสะกระทบรูปารมณ์ จักขุวิญญาณรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ผัสสะนั้นเป็นจักขุสัมผัสสะ

    เวลาได้ยินเสียง ไม่ใช่ว่าผัสสะจะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่กระทบเสียง เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่ามีผัสสะ ก็คือ ขณะที่ได้ยินเสียงนั่นเอง เมื่อเสียงปรากฏแสดงว่า ผัสสะกระทบเสียง เป็นโสตสัมผัสสะ และโสตวิญญาณรู้ในเสียงที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่ว่าผัสสะกระทบเสียงแต่โสตวิญญาณไม่เกิดขึ้นรู้เสียง หรือไม่ใช่ว่าโสตวิญญาณเกิดขึ้น รู้เสียงโดยผัสสะไม่กระทบเสียง หรือไม่ใช่ว่าโสตวิญญาณเกิดขึ้นผัสสะเกิดขึ้นโดยไม่มีเสียง ไม่ใช่อย่างนั้น เวลาที่มีการได้ยินเสียง ผัสสะกระทบเสียง โสตวิญญาณได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ

    ถ. ที่กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสอรูปกัมมัฏฐานแล้วแสดงธรรมด้วยสามารถแห่งเวทนา ขอให้อาจารย์ย้ำคำพูดนี้อีกครั้ง

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และต่อจากนั้น ทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สติปัฏฐานวิภังค์ เวทนานุปัสสนานิทเทส มีว่า

    ก็ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเมื่อจะตรัสอรูปกัมมัฏฐาน ต่อจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงตรัสด้วยสามารถเวทนา

    เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเวทนานุปัสสนาต่อจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหตุผลมีว่า

    จริงอยู่กัมมัฏฐานที่ตรัสด้วยสามารถผัสสะก็ตาม วิญญาณก็ตาม ย่อมไม่ปรากฏ คือ ปรากฏเหมือนอันธการ ความมืด แต่กัมมัฏฐานที่ตรัสด้วยสามารถเวทนา ย่อมปรากฏ เพราะเหตุใด เพราะความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทั้งหลายปรากฏ

    มีใครไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เฉยๆ บ้างไหม ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้น เมื่อความสุขเกิดขึ้นปรากฏ ความทุกข์เกิดขึ้นปรากฏ จึงตรัสกัมมัฏฐานด้วยสามารถเวทนาต่อจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเวทนาย่อมปรากฏ เพราะความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทั้งหลายปรากฏ

    จริงอยู่ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เป็นสิ่งปรากฏ คือ ในเวลาใดความสุขเกิดขึ้น ทำให้สรีระทั้งสิ้นกระเพื่อมเหมือนเมื่อบีบนวด

    ขอให้ระลึกถึงความจริง เวลาที่ท่านกำลังมีความสุข ท่านที่ชอบนวด ชอบบีบ จะรู้สึกว่าร่างกายสบายขึ้น คล่องแคล่วขึ้น ฉะนั้น เวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ก็เช่นเดียวกัน คือ ความรู้สึกในขณะนั้น สรีระทั้งสิ้นกระเพื่อมเหมือนเมื่อบีบนวด

    คลายความตึงเครียด แผ่ซึมซาบไปทั่วสรีระเหมือนกับเขาให้ดื่มเนยใสที่เขาชำระกรองแล้วถึง ๑๐๐ ครั้ง เหมือนเขาให้ทาน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้ง เหมือนกับดับความเร่าร้อนด้วยน้ำตั้ง ๑,๐๐๐ หม้อ

    ร้อนๆ อย่างนี้เห็นชัด น้ำหม้อเดียวคงจะไม่พอดับความร้อน แต่เวลาที่ความสุขเกิดขึ้น เหมือนกับดับความเร่าร้อนด้วยน้ำตั้ง ๑,๐๐๐ หม้อ

    ความสุขย่อมเกิดขึ้นให้เปล่งวาจาว่า สุขจริง สุขจริง

    เคยมีใครพูดอย่างนี้ไหม

    ถ. พระผู้มีพระภาคตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ต่อจากนั้นจึงทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สุ. ท่านผู้ฟังอย่าลืม ไม่มีกฎเกณฑ์ เดี๋ยวจะเห็นว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน และก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านก็จะไปเรียงลำดับให้สติเกิดขึ้นอย่างนั้น

    สติเป็นอนัตตา อย่าเจาะจง แต่ที่ทรงแสดงโดยลำดับของการเทศนา เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม แต่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมใด นามธรรมใด ไม่มีกฎเกณฑ์

    ถ. แต่สภาพของเวทนา รู้สึกจะเข้าใจง่ายกว่าผัสสะ ใช่ไหม

    สุ. สภาพของเวทนาปรากฏให้กล่าววาจาว่า สุขจริงๆ ขณะใด ขณะนั้นทุกคนก็เข้าใจได้ในลักษณะของสุขเวทนานั้น หรือว่าสภาพที่เป็นทุกข์ ซึ่งมีข้อความว่า

    ในเวลาใดความทุกข์เกิดขึ้น ทำให้ร่างกายทั้งสิ้นกระเพื่อมแผ่ไหวไป เหมือนถูกนาบด้วยกระเบื้องร้อน เหมือนกับถูกรดด้วยโลหะแดง เหมือนกำแห่งคบเพลิงไม้ที่ใส่เข้าไปที่ต้นไม้ที่มีหญ้าแห้งในป่า ย่อมเกิดขึ้นให้รำพันว่า ทุกข์จริงๆ

    ขณะใดที่ใครประสบกับความทุกข์ถึงกับรำพันว่า ทุกข์จริงๆ ในขณะนั้น ลักษณะของทุกขเวทนาก็ปรากฏ

    ที่ทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่าลืม เพราะว่าลักษณะของเวทนาปรากฏ ในขณะที่สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของตนในขณะนั้น เช่น ผัสสะ เจตนา สัญญา เอกัคคตา ชีวิตตินทริยะ มนสิการ ซึ่งเป็นเจตสิกแต่ละประเภทที่ต้องเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่ปรากฏอย่างการปรากฏของเวทนา จึงทรงแสดงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ถ. เมื่อเจริญสติไปนานๆ พอสมควร มีสักครั้งหนึ่งที่สัญญาปรากฏชัด เป็นไปได้ ใช่ไหม

    สุ. ไม่เลือก และก็ไม่ตื่นเต้น ต้องเป็นปกติยิ่งขึ้น ในขณะนี้เองที่กำลังจำเห็นว่าเป็นใคร เห็นว่าเป็นวัตถุสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่จำ

    ถ. หรือว่าลักษณะของเจตนาปรากฏชัดให้สติระลึก ก็เป็นไปได้ ใช่ไหม

    สุ. ทุกอย่างมีลักษณะ มีกิจการงานที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ที่สติจะระลึกได้ แต่ไม่เลือก

    ถ. การที่จำว่าเป็นใคร เป็นอะไรนั้น ก็จำกันเป็นธรรมดา แต่รูปสัญญา โสตสัญญาอะไรนี่ จะเกิดไหม

    สุ. ทันทีที่จักขุวิญญาณเกิด สัญญาเจตสิกเกิด กระทำกิจจำอารมณ์ที่จิตเห็น อารมณ์เดียวกัน

    ถ. แต่ไม่เคยประจักษ์ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จำว่า เป็นจริง มีจริง เป็นแต่เพียงสภาพจำ ก็จะไม่รู้ เพราะฉะนั้น อาการของสัญญาที่ปรากฏ ก็เหมือนอาการปรากฏของความมืด เหมือนการปรากฏของอันธการ

    ถ. จำว่าเป็นคน เคยรู้บ่อยๆ แต่ถ้าจำว่าเป็นรูปเฉยๆ หรือจำว่าเป็นเสียงเฉยๆ เราไม่รู้ ใช่ไหม

    สุ. จำว่าเป็นเสียงเฉยๆ ไม่ใช่การรู้ทั่วว่าใครจำ ซึ่งถ้าเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ จะรู้ว่า ไม่มีใครคือตัวตนที่จำ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งกระทำกิจจำเท่านั้น ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่จำ และก็ดับไป เพราะฉะนั้น อย่าลืม ไม่ใช่ใครจำ

    แต่เวลาที่จำ จำอย่างนี้ เราจำได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การรู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสัญญา ที่เป็นเวทนา ที่เป็นเจตนา หรือว่าที่เป็นวิญญาณขันธ์ ซึ่งการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่รู้อย่างสามัญ เช่น รู้สิ่งที่ปรากฏ จำสิ่งที่ปรากฏ แต่เป็นการรู้ทั่วถึงสภาพธรรมที่จำ รู้ในลักษณะที่แท้จริงว่า ไม่ใช่ใครจำ เป็นแต่เพียงสภาพจำ ที่มีจริง ไม่ใช่สภาพเห็น ไม่ใช่สภาพได้ยิน จึงจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจคำว่า ธรรม หมายถึงอะไร

    สุ. ธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ได้จำแนกเป็นกาย หรือเวทนา หรือจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมแต่ละประเภท รวมเป็นบรรพของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจความหมายของธรรม จะหมดความสงสัย ยังไม่ต้องคิดถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เข้าใจสภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เห็นมีจริงไหม

    ถ. แต่คำว่า ธรรม ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผมไม่เข้าใจ

    สุ. ก่อนที่จะเข้าใจธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องเข้าใจคำว่า ธรรม โดย รู้ว่า ธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นคำ ไม่ใช่เป็นพยัญชนะ แต่มุ่งหมายถึงการรู้ การพิจารณาลักษณะของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า อะไรมีจริงสิ่งนั้นเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เช่น การเห็น มีจริงไหม เห็นเดี๋ยวนี้ มีจริงไหม จริง จริงเป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ได้ยินมีจริงไหม จริง เพราะฉะนั้น ได้ยินเป็นธรรม เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และพิจารณาจนรู้ชัดในสภาพซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ทำไมทรงจำแนกการระลึกรู้ธรรมออกเป็น ๔ บรรพ หรือว่าเป็น ๔ หมวด ๔ พวก ทั้งๆ ที่ทุกอย่างเป็นธรรม กายก็เป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม สภาพธรรมอื่นๆ ก็เป็นธรรม แต่ที่ทรงจำแนกธรรมออกเป็นบรรพต่างๆ คือ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การระลึกรู้ธรรมที่ปรากฏที่กาย หรือที่ปรากฏที่รูปซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา ธรรมมีมาก มีทั้งภายในและภายนอก เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีรูปซึ่งเป็นที่ยึดถือว่าเป็นเรา แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่เพราะเคยยึดถือว่าเป็นเรา สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะขณะนั้นสติระลึกที่สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย

    อย่าลืม สติระลึกสภาพธรรม คือ ธรรมนั่นเอง แต่ว่าเป็นธรรมที่กาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น คือ ธรรมทั้งหมด จะไม่จำแนกออกเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ แต่เมื่อมีการยึดถือสิ่งที่ปรากฏที่กายว่าเป็นรูปร่างกายของเรา และสติระลึกรู้สภาพธรรม อย่าลืม ระลึกรู้สภาพธรรมที่กาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ความรู้สึก ก็เหมือนกัน สุขเวทนาเกิดขึ้น เป็นใคร ไม่ใช่ใครเลย เป็นสภาพที่เป็นสุขเท่านั้นเอง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะเห็น หรือเพราะได้ยิน หรือเพราะ ได้กลิ่น หรือเพราะลิ้มรส หรือเพราะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึกเรื่องที่พอใจ ไม่ใช่คิดถึงเรื่องที่โกรธที่ขุ่นเคือง เพราะฉะนั้น เมื่อมีการคิดถึงเรื่องที่พอใจ สุขเวทนาก็เกิดขึ้นเสวยสุข เป็นสุขในขณะที่คิดถึงเรื่องนั้น หรือในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่พอใจ ความรู้สึกไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม อย่าลืม เป็นสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพความรู้สึกซึ่งไม่ใช่เรา เป็นเพียงลักษณะที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ สติในขณะนั้นจึงเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่อย่าลืมว่า รู้สภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือว่า เราเป็นสุข หรือว่าเราเป็นทุกข์ หรือว่าเราเฉยๆ

    จิตก็เป็นธรรม แต่ว่าในชีวิตประจำวันยึดถือว่าเป็นจิตของเรา ใช่ไหม วันนี้จิตของเราดีหรือชั่ว มากหรือน้อย ขณะนั้นจิตของเราทั้งนั้น เป็นของเราเสียเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกที่สภาพของจิตซึ่งยึดถือว่าเป็นจิตของเรา หรือเป็นจิตเรา หรือจิตนั่นเป็นเรา ขณะนั้นก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นจิตที่เคยยึดถือว่าเป็นจิตของเรา

    เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงไว้ ๔ บรรพ ก็ทรงแสดงให้เห็นว่า ทุกบรรพเป็นธรรม แต่ที่จำแนกเป็นสติที่เป็นไปในกาย หรือเป็นไปในเวทนา หรือเป็นไปในจิต ก็เพราะมีการยึดถือกาย ยึดถือเวทนา ยึดถือจิตนั้นว่าเป็นเรา เช่นเดียวกับการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นเรา

    สำหรับคำอุปมาที่ชัดเจนมาก คือ อุปมาเหมือนไม้ไผ่ซึ่งจักตอกเป็นเส้น และเอาไปสานเป็นกระบุง ตะกร้ารูปร่างต่างๆ ซึ่งโดยสภาพจริงๆ ของกระบุง ตะกร้านั้น คือ ไม่ไผ่นั่นเอง แต่เพราะเอาไปจัก ตอกให้เป็นเส้น และนำไปสานเป็นรูปต่างๆ เกิดความยึดถือขึ้นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นตะกร้าบ้าง เป็นกระบุง เป็นกระจาดบ้าง ฉันใด การยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย และการจำแนกสติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมทั้งหลายตามการยึดถือ ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง

    เพราะฉะนั้น ธรรมอื่นซึ่งไม่ใช่ธาตุ ๓ (ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม) ที่ปรากฏ ที่กาย ไม่ใช่เวทนา ความรู้สึกต่างๆ และไม่ใช่จิตประเภทต่างๆ ธรรมอื่นๆ แต่ละลักษณะเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือแม้แต่ธาตุ ๓ นั่นเอง เวทนานั่นเอง จิตต่างๆ นั่นเอง ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย โดยนัยที่เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็นต้น

    เมื่อสติระลึกจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดก็ตาม ที่เป็นธรรม เพราะไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและดับไป สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นขันธ์ เพราะจำแนกเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากายที่ปรากฏ อาการของธาตุต่างๆ ที่ปรากฏที่กาย ก็เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยอ่าน โดยนัยของพยัญชนะ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานมีทั้งรูปและนาม ธรรมทั้งหมดเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ที่แยกไปเป็นหมวด ก็เหมือนกับไม้ไผ่ที่เอามาสานเป็นชนิดนั้นชนิดนี้ ดิฉันก็เพิ่งเข้าใจ

    สุ. โกฏฐาสต่อไป อาการของธาตุดินอาการที่ ๑๙ คือ

    คำว่า กรีสํ ได้แก่ อุจจาระ อุจจาระนั้น ว่าโดยสี โดยมากมีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไปนั่นแหละ ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ ว่าโดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องต่ำ ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ในกระเพาะอุจจาระ ชื่อว่ากระเพาะอุจจาระ เป็นเช่นกับกระบอกไม้ไผ่ สูงประมาณ ๘ องคุลี ต่อจากไส้ใหญ่ ในระหว่างใต้สะดือและโคนกระดูกสันหลัง ในที่ที่ใดอาหารอะไรๆ มีน้ำและข้าวเป็นต้น ตกไปแล้วในกระเพาะอาหาร เดือดเป็นฟองด้วยไฟในท้อง เป็นของสุกแล้ว และสุกแล้ว คือ ย่อยแล้ว ถึงความเป็นของละเอียดราวกะบดแล้วด้วยหินบดนั่นแหละ เคลื่อนไปๆ ตามโพรงลำไส้ใหญ่ ตกไปทับถมกันอยู่ราวกะเป็นสีเหลืองที่เขาบดขยี้ใส่เข้าไปในปล้องไม้ไผ่ เปรียบเหมือนน้ำฝนตกลงไปๆ ที่ภูมิภาคเบื้องบนๆ แล้วไหลไปยังภูมิภาคเบื้องต่ำ เต็มขังอยู่ฉันนั้นนั่นแหละ โดยปริจเฉท กำหนดด้วยเยื่อของกระเพาะอุจจาระ ด้วยส่วนที่เป็นกรีสะด้วย นี้เป็นสภาคปริจเฉทของกรีสะนั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นเดียวกับเกสานั่นแหละ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๘๖๑ – ๘๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564