แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874


    ครั้งที่ ๘๗๔


    และเมื่อเห็นโทษแล้ว ข้อความต่อไปมีว่า

    น่าติเตียนกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย น่าเกลียด ไม่สะอาด มีความป่วยไข้เป็นธรรมดา เป็นที่ๆ หมู่สัตว์ผู้ประมาทหมกมุ่นอยู่ ย่อมยังหนทางเพื่อความเข้าถึงสุคติให้เสื่อมไป

    สำหรับผู้ที่ยังหมกมุ่นอยู่ในรูปร่างกาย ย่อมยังหนทางเพื่อความเข้าถึงสุคติให้เสื่อมไป เพราะมัวเพลิดเพลิน เต็มไปด้วยโลภะ ด้วยความยินดีพอใจ ซึ่งเป็นอกุศล

    เป็นความจริง ใช่ไหม ขณะใดที่ยังไม่ป่วยไข้ ไม่มีใครระลึกถึงความเป็นปฏิกูล ของร่างกายนี้ที่น่าเกลียด กระสับกระส่าย ไม่สะอาด มีความป่วยไข้เป็นธรรมดา แต่พอเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นสักครั้งหนึ่ง หรือถ้าเป็นมากๆ มีอาการที่ปฏิกูลต่างๆ ของ ธาตุดิน ธาตุน้ำปรากฏ ก็ย่อมจะระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของร่างกายได้ถ้าได้มีการฟังเรื่องความเป็นปฏิกูลของร่างกายพอ แต่ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณา ก็ยังคงไม่เห็นความเป็นปฏิกูลของร่างกาย ถึงแม้ว่าอาการต่างๆ นั้นจะปรากฏ

    สำหรับข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังคปกรณ์ ได้กล่าวถึง เรื่องการพิจารณาธาตุอีก ๒ ธาตุที่กาย คือ ธาตุไฟกับธาตุลม ซึ่งมีข้อความว่า

    เมื่อพระโยคาวจร (ผู้ที่มีความเพียร ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา) กำหนดมหาภูตรูป ๒ เหล่านี้อยู่ คือ พิจารณาธาตุดินหรือธาตุน้ำ เตโชธาตุอันมาก คือ อันหนา มีพอที่จะปรากฏให้รู้ ย่อมปรากฏที่อุทร คือ ที่ท้อง

    ลักษณะของเตโชธาตุมีอยู่มากพอที่จะปรากฏลักษณะของเตโชธาตุ

    วาโยธาตุอันมากที่จะปรากฏให้รู้ได้ ย่อมปรากฏที่จมูก เมื่อกำหนดมหาภูตรูป ๔ เหล่านี้อยู่ อุปาทารูปย่อมปรากฏ ชื่อว่ามหาภูตรูปย่อมกำหนดได้ด้วยอุปาทารูป อุปาทารูปก็กำหนดได้ด้วยมหาภูตรูป เปรียบเหมือนชื่อว่าแสงแดดกำหนดได้ด้วยเงา เงาก็กำหนดได้ด้วยแสงแดด ฉันใด มหาภูตรูปก็ฉันนั้นนั่นแหละ กำหนดได้ด้วย อุปาทารูป อุปาทารูปก็กำหนดได้ด้วยมหาภูตรูป

    บางครั้งใช้พยัญชนะว่า อุปาทารูป บางครั้งก็ใช้พยัญชนะว่า อุปาทายรูป ความหมายเหมือนกัน คือ รูปอื่นนอกจากมหาภูตรูป ๔

    แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีการจงใจ แม้ในขณะที่พิจารณาลักษณะของธาตุดิน หรือว่าอาการของธาตุน้ำ ลักษณะของธาตุไฟก็ปรากฏได้ ลักษณะของธาตุลมก็ปรากฏได้ตามส่วนที่มีมาก หรือว่าในส่วนของรูปที่มีมาก

    ถ. ทำไมธาตุไฟกับธาตุลม ไม่ได้อยู่ในอาการ ๓๒

    สุ. อาการ ๓๒ เป็นอาการที่พิจารณาถึงความเป็นปฏิกูล แต่ธาตุไฟกับ ธาตุลมไม่มีอาการที่เป็นปฏิกูลปรากฏ เพียงร้อนหรือเย็น หรือว่าตึงหรือไหว เวลาเรอ เป็นอาการของธาตุอะไร เวลาจามเป็นอาการของธาตุอะไร ปฏิกูลไหม

    ส่วนใดที่เป็นปฏิกูล ส่วนนั้นเป็นธาตุดินที่ปรากฏความเป็นปฏิกูล

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ขาดความสงบ เพราะขณะใดที่จิตเป็นกุศลปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นสงบ ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี มีว่า

    ก็วิปัสสนา กล่าวคือ การตามเห็นอสุภ คือ ความไม่งาม พึงทราบว่า เป็นภาวนา

    ถามว่า ในข้อนี้ท่านเรียกว่าอะไร

    ตอบว่า ท่านเรียกว่า สมถวิปัสสนา

    ไม่แยกกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะรังเกียจ หรือว่าไม่ให้จิตสงบ จะมุ่งแต่จะเจริญสติปัฏฐาน เป็นไปไม่ได้ที่สติที่เป็นสติปัฏฐานจะเกิดอยู่ตลอดเวลา ห้ามความคิดไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เป็นอกุศลจิตที่คิด ก็ไม่สมควร เพราะฉะนั้น การที่จะมีปัจจัยให้คิดในเรื่องของกุศลทั้งหมด สมควร

    ถ. อาการที่เป็นอสุภะ ปรากฏได้แต่เฉพาะกับธาตุดินเท่านั้น

    สุ. ธาตุดินกับธาตุน้ำ

    ถ. อาการของธาตุน้ำไม่ปรากฏขึ้นทางร่างกายหรือ

    สุ. ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ไม่ปรากฏ แต่อาการที่เป็นสภาพที่ไหลมีอยู่ ที่ปรากฏว่าไม่ใช่ธาตุแข็ง ทำให้บุคคลสามารถที่จะน้อมนึกถึงอาการของธาตุน้ำ เพราะฉะนั้น นั่นเป็นธาตุน้ำโดยสมมติ ไม่ใช่โดยปรมัตถ์

    ถ. ถ้าโดยสมมติ คือ คล้ายๆ กับว่าสัมผัสได้ใช่ไหม

    สุ. สัมผัสได้โดยอาการที่เห็นว่าต่างกับความแข้นแข็ง เป็นแต่เพียงอาการที่ทำให้นึกถึงสภาพของธาตุน้ำ เพราะว่าสภาพนั้นปรากฏเหมือนไหลทำให้นึกถึงสภาพของธาตุที่เป็นน้ำ แต่โดยปรมัตถ์แล้วกระทบกับธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่ธาตุน้ำซึ่งไม่สามารถจะกระทบได้

    ถ. ที่บอกว่าเป็นสุขุมรูป เป็นปรมัตถธรรมที่ปรากฏได้ทางใจเท่านั้น หมายความว่าอย่างไร

    สุ. เป็นลักษณะที่เกาะกุม ถ้าเป็นลักษณะที่ปรากฏ จะทำให้น้อมนึกถึงสภาพของธาตุน้ำ

    ถ. น้อมนึกถึง

    สุ. ใช่ เช่น น้ำลาย น้ำมูก น้ำตา เราใช้คำว่า น้ำ ใช่ไหม

    ถ. ใช่

    สุ. เพราะมีลักษณะที่ต่างกับธาตุที่แข้นแข็ง ทำให้ผู้ที่เห็นอาการนั้นน้อมนึกถึงสภาพของธาตุน้ำ แต่ไม่ใช่การที่จะกระทบสัมผัสธาตุน้ำได้ทางกาย

    ถ. เกาะกุมหรืออะไรอย่างนี้

    สุ. ลักษณะของธาตุน้ำที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาวธรรม มีลักษณะ เกาะกุม ซึมซาบ เอิบอาบ

    ถ. ลักษณะจริงๆ

    สุ. ลักษณะจริงๆ ไม่สามารถที่จะปรากฏเวลากระทบสัมผัสกาย เพราะขณะใดที่กระทบสัมผัสกาย ลักษณะของธาตุดิน คือ อ่อนหรือแข็งปรากฏได้ ลักษณะของธาตุไฟ คือ เย็นหรือร้อนปรากฏได้ ลักษณะของธาตุลม คือ ลักษณะที่ตึงหรือไหวปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น โดยนัยของอาการของธาตุน้ำที่เป็นกายคตาสติในอาการ ๓๒ เป็นแต่เพียงลักษณะของสิ่งที่ทำให้น้อมพิจารณาถึงสภาพของธาตุน้ำ แต่ไม่ใช่ว่าลักษณะของธาตุน้ำที่เป็นปรมัตถ์สภาวะจริงๆ ปรากฏ

    สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง และตรงกับที่ทรงแสดงไว้สำหรับผู้ที่พิสูจน์ เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางกาย ในขณะนั้นจะรู้จริงๆ ว่า บางครั้งอ่อนหรือแข็งปรากฏ เย็นหรือร้อนปรากฏ ตึงหรือไหวปรากฏ

    ถ. เพราะฉะนั้น น้ำที่สมมติขึ้นว่าเป็นน้ำ ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ ซึ่งการเจริญสตินั้น รู้ลักษณะ ไม่ใช่รู้ชื่อ ขอให้อาจารย์ช่วยย้ำให้เข้าใจ

    สุ. ก็เหมือนกัน เวลาที่อาบน้ำก็กระทบสัมผัส แล้วแต่จะเป็นอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ถ้าใครใช้ขันใหญ่ๆ รดแรงๆ ลักษณะอาการของธาตุดินก็ปรากฏได้

    คามิกะ ความจริงธาตุ ๔ ที่พระพุทธเจ้าใช้ศัพท์บาลีมาเรียก บางอย่างไม่ใช่ธรรมดา เช่น บาลีใช้คำว่า อุทก ซึ่งแปลว่า น้ำ แต่ท่านใช้คำว่า อาโป เพราะฉะนั้น อาโป คือ น้ำที่ซึมซาบ เอิบอาบ เกาะกุม ต้องแปลว่าอย่างนั้น ส่วนน้ำธรรมดา คือ อุทก คือน้ำที่ไหลๆ อยู่ในคลอง เตโชก็เหมือนกัน แปลว่า เดช เดชคืออำนาจ หรือบารมีวาสนา อย่างคนมีเดช หมายความว่าคนมีบารมี แต่ทำไมเตโชจึงแปลว่า ไฟ ก็หมายความว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีทั้งร้อนทั้งเย็น ส่วนอัคคีนั้นร้อนอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ธาตุ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคนำมาเรียกนั้น เป็นศัพท์พิเศษ

    ถ. รูปเจ็บมีไหม

    สุ. เป็นอย่างไร

    ถ. อย่างเวลาเจ็บ เป็นอย่างไร

    สุ. ไม่เคยเจ็บหรือ

    ถ. เคย

    สุ. แล้วเป็นอย่างไร

    ถ. ก็เจ็บ

    สุ. เจ็บคือเจ็บ เป็นความรู้สึกใช่ไหม

    ถ. เป็นความรู้สึก

    สุ. เพราะฉะนั้น เป็นทุกขเวทนา

    ถ. พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า กายอันประชุมด้วยมหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลมนั้น บางทีก็เรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง

    สุ. เรียกไม่ได้ เป็นที่อาศัยเกิดของจิตได้ แต่เรียกว่าจิตไม่ได้ มหาภูตรูป ๔ ซึ่งประชุมรวมกันเป็นกาย เป็นที่อาศัยเกิดของจิต แต่มหาภูตรูปไม่ใช่จิต

    ถ. คนละอย่าง แยกจากกัน

    สุ. จิตเป็นสภาพรู้ รูปทั้งหมดไม่สามารถรู้อะไรเลย

    ถ. เสียงที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้

    สุ. เสียงไม่รู้อะไรเลย

    ถ. เป็นมหาภูตรูปไหม

    สุ. เสียงเวลาที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยมหาภูตรูป จะแยกเกิดต่างหากจากมหาภูตรูปไม่ได้ แต่เสียงไม่ใช่มหาภูตรูป มหาภูตรูปมี ๔ เท่านั้น คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่มีเสียงรวมอยู่ในมหาภูตรูป ๔

    ถ. รูปทั้งหมดนี้ ไม่เรียกเป็นมหาภูตรูปใช่ไหม

    สุ. ไม่ ในรูปทั้งหมดที่มี ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูปเพียง ๔ อีก ๒๔ รูปไม่ใช่มหาภูตรูป เรียกว่า อุปาทายรูป เป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป หรือว่าเป็นอาการ เป็นลักษณะของมหาภูตรูป

    ถ. เป็นหน้าที่ใช่ไหม

    สุ. มิได้ เป็นรูปอื่นต่างหากที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปก็มี หรือว่าเป็นอาการวิการ ลักษณะของมหาภูตรูปก็มีใน ๒๔ รูป ที่ไม่ใช่มหาภูตรูป

    ถ. อย่างการสัมผัสถูกต้อง รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มหาภูตรูปอยู่ที่ไหน

    สุ. มหาภูตรูป คือ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งเป็นปฐวีธาตุ เย็นหรือร้อนเป็นเตโชธาตุ ตึงหรือไหวเป็นวาโยธาตุที่ปรากฏเวลากระทบกับกาย ทีละอย่าง ทีละลักษณะ

    ถ. สภาวะที่เกิดอย่างนั้น มหาภูตรูปนี้เกิดพร้อมกันทั้ง ๔ หรือเปล่า

    สุ. เกิดพร้อมกันทั้ง ๔ แต่เวลาปรากฏเป็นอารมณ์ ปรากฏทีละลักษณะ มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องรวมเป็นรูปเดียวกัน แต่นี่เพราะต่างกันเป็น ๔ รูป เวลาที่ปรากฏจึงปรากฏทีละรูป คือ ทีละลักษณะ

    ถ. จิตจะรู้พร้อมกันไม่ได้ใช่ไหม

    สุ. พร้อมกันไม่ได้ ต้องรู้ทีละ ๑

    ถ. มหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ เกิดดับอยู่ในตัวหรือเปล่า

    สุ. เกิดดับ กลิ่นก็ไม่แยกจากมหาภูตรูป รสก็ไม่แยกจากมหาภูตรูป ที่ใดที่มีรูปปรากฏจะปราศจากมหาภูตรูป ๔ ไม่ได้ จะไม่มีเสียง หรือกลิ่น หรือรสปรากฏลอยๆ โดยปราศจากหรือแยกจากมหาภูตรูปได้เลย แต่เมื่อปรากฏทางหู เสียงปรากฏ มหาภูตรูปไม่ได้ปรากฏ เวลาปรากฏที่จมูก กลิ่นปรากฏ มหาภูตรูปไม่ได้ปรากฏ เวลาปรากฏที่ลิ้น รสปรากฏ มหาภูตรูปไม่ได้ปรากฏ ไม่สามารถจะมีเพียงรสเกิดขึ้นต่างหากได้เองโดยปราศจากมหาภูตรูป ๔ แต่ขณะนั้นมหาภูตรูป ๔ ไม่ได้กระทบ กายปสาท

    ถ. ดังนั้นมหาภูตรูป ๔ ก็เกิดก่อนใช่ไหม

    สุ. ไม่ได้เกิดก่อน เกิดพร้อมกัน

    ถ. ร่วมกันเกิด ใช่ไหม

    สุ. เกิดร่วมกัน เป็นกลุ่มของรูปเรียกว่า กลาปะ ภาษาไทยใช้คำว่า กลาป

    ถ. อย่างเสียงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ มหาภูตรูปดับพร้อมกับเสียงหรือเปล่า

    สุ. มหาภูตรูปกับอุปาทายรูปที่เกิดพร้อมกัน ก็ดับพร้อมกัน

    ถ. เสียงที่ปรากฏนี้ เกิดพร้อมกับมหาภูตรูป ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน ไม่มีรูปอะไรเกิดได้เองโดยปราศจากมหาภูตรูปเกิดร่วมด้วย เวลาที่เสียงดังมาก สามารถทำให้กระจกแตก ถ้ามีแต่เสียงเท่านั้นกระจกแตกได้ไหม แสดงให้เห็นว่า ต้องมีมหาภูตรูปในขณะนั้น แต่ว่ามหาภูตรูปไม่ได้กระทบกับ โสตปสาท เพราะโสตปสาทรับกระทบมหาภูตรูปไม่ได้ กายปสาทเท่านั้นที่จะรับกระทบกับมหาภูตรูปได้ ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนธาตุน้ำนั้นปรากฏทางใจ ไม่ปรากฏทางกาย

    ถ. อาจารย์บอกว่า รูปเกิดดับอยู่เสมอ คลื่นแสงก็เกิดดับสืบๆ ต่อกัน แต่ลักษณะที่แข็งเกิดดับอย่างไร วิทยาศาสตร์ยังไม่เคยพบเห็นเลย

    สุ. ถ้าไม่เกิดดับจะปรากฏเป็นความแก่ ความเสื่อม ได้ไหม ก็ต้องใหม่สดอย่างนั้นอยู่เสมอ

    ถ. แน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่

    สุ. ถ้าไม่เกิดดับจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม ถ้าไม่เกิดดับจะปรากฏความเปลี่ยนแปลงได้ไหม ที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงก็เพราะเกิดดับ ถ้าตั้งอยู่ไม่ดับ ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

    ถ. ทำไมกล่าวว่า ภูมิมนุษย์เรามีรูปที่น่าเกลียด สกปรก ภูมิของเทวดาก็มีรูปเหมือนกับเรา ไม่เห็นพูดว่ารูปเขาน่าเกลียด

    สุ. ใครเคยเห็นเทวดา ขณะนี้ไม่เห็นด้วยตา แต่ทรงแสดงไว้ว่า กรรมที่จะทำให้เกิดในเทวโลกหรือในสวรรค์นั้นมี และเวลาที่กรรมนั้นทำให้รูปเกิดขึ้นในภพนั้น ในภูมินั้นก็ต้องต่างจากกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ในอบายภูมิ เพราะรูปที่เกิดเพราะกรรมที่ทำให้เป็นเทวดาในสวรรค์เป็นรูปที่ละเอียด และประณีตจริงๆ

    กรรมต่างกัน ไม่อย่างนั้นจะจำแนกเป็นสวรรค์ เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉานได้อย่างไร

    ถ. มนุษย์เราสุคติภูมิอยู่แล้ว

    สุ. สุคติขั้นต่ำ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเหมือนกับเทวดา ไม่มีความต่างกัน

    ถ. แต่กายมนุษย์ไม่ว่าคนนั้นจะสะสมบารมีมาอย่างไร ก็ไม่พ้นจากความน่าเกลียดของร่างกาย

    สุ. เพราะเป็นภูมิมนุษย์เหมือนกัน

    ถ. แต่ภูมิเทวดา เทวดานี้กลิ่นกายเขาหอม

    สุ. ถ้าไม่ต่างกันตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถจะบัญญัติแยกออกได้ แต่เพราะสภาพธรรมต่างกัน จึงทรงบัญญัติสวรรค์ มนุษย์ และภูมิอื่นๆ ตามความเป็นจริงของรูปนั้นๆ

    สำหรับสมถกัมมัฏฐานจำแนกออกโดยภูมิว่า สำหรับในสวรรค์ คือ ในเทวโลกนั้น ไม่มีอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และอาหาเรปฏิกูลสัญญา ตามควรแก่ ภพนั้น

    สำหรับอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และอานาปานสติ ไม่มีในพรหมโลก เพราะพรหมไม่มีรูปลมหายใจ มีแต่เฉพาะอรูปสมาบัติอย่างเดียว กัมมัฏฐานอื่นๆ มีไม่ได้เลย นี่เป็นความต่างกัน

    สำหรับในภูมิมนุษย์ อสุภะ ๑๐ ก็มี กายคตาสติก็มี อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็มี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ