แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
ครั้งที่ ๘๗๖
แม้ในสมัยนี้ ก็อาจจะมีบางท่านที่สนใจเรื่องลมหายใจ ใคร่ที่จะเจริญ อานาปานสติ บางท่านเข้าใจว่า ถ้าท่านจดจ้องที่ลมหายใจก็เป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว โดยที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้แม้ลักษณะของสติว่าต่างกับสมาธิ และสมาธิที่เป็นกุศล คือสัมมาสมาธิก็มี ที่เป็นอกุศลคือมิจฉาสมาธิก็มี
เพราะฉะนั้น ท่านที่เพียงต้องการจะทำวิปัสสนา ก็ไม่ต้องการที่จะรู้ ไม่ต้องการที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ พร้อมทั้งเหตุและผลของการอบรมเจริญภาวนาเพื่อที่จะให้บรรลุจุดประสงค์ที่แท้จริง คือ การรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งก็มีหลายท่านด้วยที่ไม่ต้องการจะฟัง ที่จะให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ของท่านเอง เพียงแต่ต้องการจะถามว่า อานาปาทำอย่างไร อยากที่จะกำหนดที่ลมหายใจเสียเหลือเกิน โดยที่ไม่ทราบเลยว่า ลักษณะของสตินั้นระลึกรู้สภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่ามีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น มีจริง ถ้าไม่รู้ว่าเห็นเป็นสภาพรู้ และเห็นนั้นรู้อะไร ซึ่งเห็นนั้นก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือขณะที่กำลังได้ยินก็ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพรู้เสียง และเสียงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจเรื่องของสิ่งที่มีจริงเป็นปกติในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรู้ลักษณะของสติได้อย่างไร
ไม่ใช่บอกให้มีสติได้ พอใครอยากจะเจริญสติ จะทำวิปัสสนา หรือว่าจะเจริญอานาปานสติ ก็ให้กำหนดจดจ้องที่นั่น ที่นี่ นั่นไม่ใช่ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติ ซึ่งเป็นธรรมที่ระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ก่อนที่สติจะเกิด ที่เป็นสติปัฏฐาน จะต้องมีการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งซึ่งมีจริงๆ ที่สติไม่เคยเกิด ไม่เคยระลึกรู้ เพราะไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ ต่อเมื่อใดรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นทางตา เป็นของจริง มีจริง เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สภาพรู้ คือ ไม่ใช่เห็นซึ่งเป็นสภาพรู้ เห็นเป็นนามธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงไม่ใช่สภาพรู้เสียง เสียงเป็นสิ่งที่ปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้เสียง เพราะฉะนั้น มีสภาพรู้ มีนามธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลที่กำลังได้ยินเสียง และเสียงที่กำลังปรากฏก็ไม่ใช่สภาพที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่สภาพที่รู้เสียง เมื่อเข้าใจอย่างนี้จนกระทั่งเป็นความจำที่มั่นคง จะเป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกและพิจารณาในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ หรือกำลังเห็นเดี๋ยวนี้
และผู้นั้นจะเข้าใจได้ว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องอบรมเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นการฟังให้เข้าใจก่อนว่า สภาพธรรมที่มีจริง ที่ปัญญาจะต้องรู้เพื่อจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ต้องในขณะที่กำลังปรากฏ คือ เห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น กระทบสัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ สติจึงจะ ค่อยๆ มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะมีความเข้าใจที่เกิดจากการฟัง รู้ว่าสติระลึกอย่างไร ขณะไหน จึงจะเป็นสติปัฏฐานที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำวิปัสสนาโดยไม่เข้าใจอะไรเลย โดยไม่ฟังให้เข้าใจเสียก่อน หรือโดยคิดว่า ถ้าจดจ้องที่ลมหายใจแล้วก็เป็นการเจริญวิปัสสนา
จะเห็นได้ว่า แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านพระราหุลกราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคถึงเรื่องของการอบรมเจริญอานาปานสติว่า อย่างไรจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ทำไม พระผู้มีพระภาคผู้อันท่านพระราหุลทูลถามถึงอานาปานสติ จึงตรัสรูปกัมมัฏฐาน
แก้ว่า ที่ตรัสรูปกัมมัฏฐาน เพื่อให้ละฉันทะราคะในรูป
ไม่ให้ติดในอะไรเลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่ให้เจาะจง แม้ที่จะรู้ลมหายใจ เพราะสติจะระลึกที่ไหนก็ได้ที่กายนี้ทั้งหมด ทีละอย่าง ทีละลักษณะ ถ้ามีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึก ก็จะมีการระลึกที่กายในขณะนี้เอง จะไม่มีสภาพธรรมที่ปรากฏที่จะพ้นไปจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว
ถ้าระลึกที่ลมหายใจ จะพ้นจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ได้ไหม ไม่ว่าจะโดยนัยของสมถกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะว่าลมหายใจต้องปรากฏโดยกระทบกับช่องจมูก หรือว่าเบื้องบนริมฝีปาก ไม่ใช่นึกถึงโดยชื่อ หรือโดยจำ และเคยเข้าใจว่า นั่นเป็นลมหายใจ แต่ต้องมีลักษณะของลมปรากฏจริงๆ
เวลาที่ระลึกที่กาย สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือลมหายใจก็ตาม จะปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เสมอเหมือนกันทั้งหมด จึงจะละฉันทะราคะในกายได้ มิฉะนั้นแล้วจะมีความยินดีพอใจ ต้องการที่จะระลึกที่ลมหายใจ แต่นั่นไม่ใช่การที่จะรู้แล้วละโดยเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมส่วนใดของกาย ก็จะพ้นจากมหาภูตรูปทั้ง ๔ ไม่ได้เลย
การเจริญสติปัฏฐานไม่จำเป็นจะต้องยกบรรพขึ้นมาคิดว่า กำลังเจริญบรรพไหน แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งจะเป็นสติปัฏฐานหนึ่ง สติปัฏฐานใดก็ได้ เดี๋ยวเป็นกาย เดี๋ยวเป็นเวทนา เดี๋ยวเป็นจิต เดี๋ยวเป็นธรรมก็ได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรม ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าติด หรืออย่าเจาะจง อย่างที่ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราหุล เวลาที่ท่านพระราหุลกราบทูลถามเรื่องของ อานาปานสติ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของมหาภูตรูป ๔ ซึ่งเป็นรูปกัมมัฏฐาน เพื่อไม่ให้ติดในอานาปานสติ หรือว่าบรรพหนึ่งบรรพใด
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องทราบว่า เพื่อละ และการละ ละด้วยความเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น คือ ไม่เลือก และไม่เจาะจง และให้รู้ว่า ขณะใดที่สติระลึกที่กาย จะมีสภาพลักษณะที่กายที่ปรากฏซึ่งจะพ้นจากมหาภูตรูปนั้นไม่มี ไม่ว่าจะเป็นการระลึกที่ลมหายใจ ลมหายใจก็คือสภาพของมหาภูตรูปที่ปรากฏ ที่กระทบช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปากเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องติด หรือต้องพอใจที่จะระลึกเฉพาะลมหายใจ
ถ. ขณะที่เราป่วยไข้ เป็นหวัด มีความรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย มีความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็มีสติระลึกรู้ในสภาพจิตตามความเป็นจริงอย่างนั้น ถูกไหม
สุ. สติเกิดขึ้นและดับไป ไม่จำกัดที่จะต้องระลึกที่กายเท่านั้น หรือที่เวทนาเท่านั้น หรือจิตเท่านั้น หรือธรรมเท่านั้น แล้วแต่สภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ สติจะระลึกรู้กายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้
ถ. คนที่กำลังเจริญอานาปานสติ ขณะนั้นรู้สึกว่าจิตละเอียดลง ลมที่ปรากฏก็ละเอียดลง ผู้ที่เจริญลมหายใจ คือ อานาปานสติ ก็มีความยินดีพอใจในความรู้สึกนั้น แต่ก็มีสติระลึกรู้ในสภาพนั้นตามความเป็นจริง อย่างนี้ใช่ไหม
สุ. ทุกอย่างที่มีจริง ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น สติระลึกในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีการเจาะจง หรือว่าไม่มีการจำกัด
ข้อความต่อไป คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพต่อไป ซึ่งปรากฏใน กายคตาสติสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน หรือยืนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน หรือนั่งอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง หรือนอนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนอน หรือเธอทรงกายโดยอาการใดๆ อยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังทรงกายโดยอาการนั้นๆ เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้นย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นอิริยาบถบรรพ ระลึกที่กายขณะใด ขณะนั้นเป็น กายคตาสติ ไม่พ้นจากมหาภูตรูป ไม่ว่าจะเป็นการระลึกในขณะที่กำลังยืน หรือนั่ง หรือนอน หรือเดิน
ซึ่งใน ปปัญจสูทนี อรรถกถาจูฬสุญญตสูตร มัชฌิมนิกาย มีข้อความว่า
กายนี้นี่เอง ทรงแสดงที่ตั้งแห่งวิปัสสนา ที่เป็นมหาภูตทั้ง ๔ ประกอบด้วยอายตนะ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะระลึกที่กาย ตรงกาย ขณะไหน จะพ้นจากมหาภูตะ ทั้ง ๔ ไม่ได้ พิสูจน์ได้ไม่ว่าในขณะไหน ถ้าระลึกเป็นไปที่กาย ก็มหาภูตรูปเท่านั้นที่ปรากฏ
ข้อความต่อไป เป็นสัมปชัญญบรรพ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหา ทรงแสดงเรื่องของกายานุปัสสนาทั้งหมดว่า เป็นกายคตาสติ
ข้อความต่อไป เป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ คือ การระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญชาติ ต่างๆ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร บุรุษผู้มีตาดีแก้ไถ้นั้นออกแล้วพึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วทอง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
เจริญยากหรือง่าย กายคตาสติหมวดนี้
ผม เห็นอยู่เสมอ ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งที่ปรากฏข้างนอก ในขณะที่ส่วนอื่นข้างในไม่ปรากฏ เช่น เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่อยู่ ข้างใน ที่มองไม่เห็น ถ้าเห็นจะเป็นปฏิกูลสักแค่ไหน แต่เมื่อไม่เห็น ก็ไม่เห็นความเป็นปฏิกูล มีแต่สิ่งที่ปรากฏภายนอก ซึ่งก็ยากที่จะเห็นว่าเป็นปฏิกูล เช่น ผม แม้ว่าจะมีปรากฏให้เห็น แต่ถ้าไม่ปรากฏให้เห็นความเป็นปฏิกูล ก็ย่อมไม่เห็น ขนก็ดี เล็บก็ดี ฟันก็ดี ถ้าไม่ปรากฏความเป็นปฏิกูล ก็ย่อมไม่คิดเลยว่า สภาพของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยแท้จริงแล้วเป็นปฏิกูล
ที่ทรงเปรียบว่า เหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างๆ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วทอง งา และข้าวสาร ก็ยังดีกว่าร่างกายนี้มาก ใช่ไหม เพราะถ้าเปิดร่างกายนี้ออกมาก็ไม่มีอย่างนี้ เปิดถุงที่มีปาก ๒ ข้าง ที่อุปมาเปรียบเหมือนไถ้มีปากทั้ง ๒ ข้าง ก็ยังพบธัญชาติ คือ ข้าวสาลีบ้าง ข้าวเปลือกบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ถั่วทองบ้าง งาบ้าง ข้าวสารบ้าง ก็ยังไม่เป็นสิ่งที่เป็นปฏิกูลเท่ากับสิ่งที่ทุกคนกำลังมีอยู่ในขณะนี้ ที่หนังหุ้มไว้โดยรอบ เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกถึงสิ่งที่เป็นปฏิกูล จะต้องเป็นผู้ที่มีความเพียร ไม่ประมาท และสำหรับการที่จะระลึกและเกิดความสงบ นั่นเป็นนัยของสมถภาวนา แต่ว่าถ้าระลึกโดยสามารถแห่งความเป็นธาตุต่างๆ ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา
ข้อความต่อไป เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพต่อไป คือ จตุธาตุบรรพ การระลึกถึงธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ธาตุที่มีอยู่ในกาย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยธาตุ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าโคแล้วนั่งแบ่งเป็นส่วนๆ ใกล้ทางใหญ่ ๔ แยก ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยธาตุ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ
เวลาที่ระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง และเห็นความเป็นปฏิกูล ก็แสนจะยาก ที่จะสงบก็น้อย เพราะจะต้องระลึกนาน มีความเพียรที่จะระลึกจริงๆ อย่างนาน และบางท่านอาจจะไม่ทราบว่า ที่ไม่ระลึก เพราะอะไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 883
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 900