แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877


    ครั้งที่ ๘๗๗


    มีผมอยู่ พร้อมทั้งขน เล็บ ฟัน หนังปรากฏ และก็รู้ว่า ถ้าระลึกจะเห็นความเป็นปฏิกูล แต่ทำไมจึงไม่ระลึก ทำไมจึงเมินเฉยไม่ระลึกลักษณะที่เป็นปฏิกูลของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งในอรรถกถามีข้อความว่า

    เพราะไม่ต้องการที่จะให้เกิดโทมนัส

    จริงไหม ถ้าผมจะแปรปรวนไปเป็นปฏิกูล ชอบไหม ไม่ชอบแน่ จะต้องมีการทำให้หมดความเป็นปฏิกูล ทั้งหนัง ทั้งเล็บ ก็ตามแต่ เมื่อเห็นความเป็นปฏิกูลเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการชำระ มีการล้าง มีการขัด มีการเช็ด ไม่ต้องการให้เกิดโทมนัส คือ ความรู้สึกไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกให้เห็นความเป็นปฏิกูล ต้องอาศัยความเพียรจริงๆ ที่จะให้เห็นความเป็นปฏิกูล แต่ว่าเมื่อเห็นแล้วก็เพียงสงบ เพราะไม่ได้รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะเป็นการพิจารณารู้ในสภาพที่เป็นสติปัฏฐาน คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    บางท่านไม่สามารถที่จะน้อมใจให้เห็นความเป็นปฏิกูลของม้าม ของตับ ของไต ของปอด ของไส้ใหญ่ไส้น้อยได้ แม้ว่ามีโอกาสจะเห็น โอกาสมีไหมที่จะเห็น มี แต่ก็ไม่พิจารณาอีก เพราะว่ามักจะเกิดโทมนัส หรือความรู้สึกที่ไม่พอใจ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปกติธรรมดาสำหรับท่านที่ไม่ระลึกเป็นไปในส่วน ต่างๆ ของกายที่จะเกิดความสงบ แต่อาจจะระลึกถึงสภาพที่ปรากฏ ที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว โดยนัยของธาตุทั้ง ๔ ซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเป็นกายคตาสติ แต่ถ้าขณะนั้นไม่มีการพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะไม่ละคลายว่า อ่อนนี้คือเรา หรือว่าแข็งนี้ก็เรา เย็นนี้ก็เรา ร้อนนี้ก็เรา ตึงนี้ก็เรา หรือไหวนี้ก็เรา

    ธาตุทั้ง ๔ ย่อมปรากฏอยู่เสมอที่กาย แต่ถ้าไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน จะไม่มีการละการยึดถือที่ปรากฏนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ด้วยเหตุนี้ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงต้องพิจารณาลักษณะของธาตุที่ปรากฏที่กายด้วย

    ทุกคนรู้ว่า ตัวของท่านอ่อนแข็งตรงไหน อย่างไร เย็นร้อนเมื่อไร ตึงไหวเมื่อไร แต่ก็เป็นตัวท่าน อ่อนแข็งนั้นเป็นของท่าน เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นถึงจะมีสภาพอ่อนปรากฏ แต่ก็ยังเป็นเรา ถ้าไม่พิจารณารู้จริงๆ ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับกายคตาสติ ต่างกันไหม

    สุ. โดยนัยของสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาภาวนา

    ถ. วิปัสสนาภาวนา

    สุ. ไม่ต่างกัน

    ถ. กายคตาสติที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว จิตสงบขึ้นจนเกิดธรรมเอก ผุดขึ้น ธรรมเอกผุดขึ้นนั้น เป็นทุติยฌานหรือเปล่า

    สุ. เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ

    ถ. ธรรมดาจิตจะเป็นหนึ่งได้นั้น จะต้องละวิตก วิจาร ไม่ใช่หรือ

    สุ. ไม่จำเป็น เพราะเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เวลานี้เห็นมีใช่ไหม ได้ยินมี เป็นหนึ่งหรือยัง หรือว่าเป็น ๒ เป็น ๓ เป็น ๔ เป็นหลายๆ อย่าง แต่เวลาที่สติระลึก สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงทีละอย่าง

    ถ. ความเป็นหนึ่งของจิต เป็นได้นาน กับเป็นได้ชั่วขณะ ก็ต่างกันอีก

    สุ. เจริญอะไร

    ถ. วิปัสสนา

    สุ. ถ้าเป็นวิปัสสนา จะเป็นการรู้ขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ. ถ้าหากปัญญาเกิดขึ้นมากๆ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จิตสงบขึ้น เป็นสมถะหรือเปล่า

    สุ. เวลาที่จิตสงบเป็นสมถะ วิปัสสนาไม่ได้หมายความว่า จะปราศจากสมถะ ขณะใดที่มีปัญญา พร้อมสติปัฏฐานที่เกิดขึ้น ขณะนั้นสงบ ขณะใดที่สงบ ขณะนั้นเป็นสมถะ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ขาดสมถะ เพราะว่าประกอบทั้งสมถะและวิปัสสนา

    ถ. สัมมาสมาธิ กับความสงบของจิต ต่างกันหรือเปล่า

    สุ. ขณะที่เป็นสัมมาสมาธิ เป็นกุศล สงบ

    ถ. มิจฉาสมาธิสงบไหม

    สุ. ไม่สงบ

    ถ. สมาธิไม่ใช่แปลว่า ความสงบใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่

    ถ. แปลว่าอะไร

    สุ. สมาธิแปลว่า ความตั้งมั่นในอารมณ์ สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์

    ถ. ตั้งมั่นนั้น จะเป็นวิปัสสนาก็ได้ จะเป็นสมถะก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. เป็นอกุศลก็ได้ กำอะไรแน่นๆ กำให้แน่นเชียว ขณะนั้นตั้งมั่นในอารมณ์นั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสงบ

    ถ. จิตตั้งมั่นโดยไม่ได้พิจารณา เรียกว่าสมาธิหรือเปล่า

    สุ. สมาธิเป็นสภาพของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว อารมณ์หนึ่ง ทีละอารมณ์ และเวลาที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดบ่อยๆ ลักษณะนั้นย่อมปรากฏเป็นสมาธิ ถ้าตั้งมั่นด้วยความเห็นผิด การปฏิบัติผิด ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

    ถ. บุคคลที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา และไม่มีสติระลึกรู้ จิตของเขาจะเป็นสมาธิได้หรือเปล่า

    สุ. เป็นสมาธิได้ แต่ไม่ใช่เป็นสมถะ ไม่ใช่เป็นวิปัสสนา

    ถ. สมาธิที่ประกอบด้วยสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ใช่ไหม

    สุ. ใช่

    ข้อความต่อไปใน กายคตาสติสูตร เป็นบรรพต่อๆ ไปของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า อันตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ...

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขบ้านกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขป่ากัดกินอยู่บ้าง สัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆ ชนิดฟอนกินอยู่บ้าง ...

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างอยู่ด้วยกระดูก มีทั้งเนื้อและเลือด เส้นเอ็นผูกรัดไว้ ...

    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดเปรอะเปื้อนอยู่ เส้นเอ็นยังผูกรัดไว้ ...

    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า ยังคุมเป็นรูปร่างด้วยกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่เส้นเอ็นยังผูกรัดอยู่ ...

    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นเครื่องผูกรัดแล้ว กระจัดกระจายไปทั่วทิศต่างๆ คือ กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางหนึ่ง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก สีขาวเปรียบดังสีสังข์ ...

    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นท่อนกระดูก เรี่ยราดเป็นกองๆ มีอายุเกินปีหนึ่ง ...

    เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า เป็นแต่กระดูก ผุเป็นจุณ ...

    ซึ่งโดยนัยของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่าต่อไปว่า

    จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็นธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

    ข้อความในกายคตาสติสูตรยังกว้างขวางต่อไปจนกระทั่งถึงเวลาที่ภิกษุนั้นเกิดความสงบ สงัดจากกาม คือ การตรึกเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

    ... สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอยังกายนี้แล ให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไรๆ แห่งกายทุกส่วนของเธอที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือของพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด โรยจุณสำหรับสรงสนานลงในภาชนะสำริดแล้ว เคล้าด้วยน้ำให้เป็นก้อนๆ ก้อนจุณสำหรับสรงสนานนั้นมียางซึม เคลือบ จึงจับกันทั้งข้างใน ข้างนอกและกลายเป็นผลึกด้วยยาง ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมยังกายนี้แลให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไรๆ แห่งกายทุกส่วนของเธอที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

    เวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบและเกิดความสงบที่มั่นคงขึ้น เพราะมีปัจจัยที่จะให้ความสงบมั่นคงขึ้นจนกระทั่งเป็นปฐมฌาน แม้อย่างนั้นกายของบุคคลที่เข้าปฐมฌาน ย่อมคลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุข ซึ่งถ้าสติเกิดระลึกที่กายในขณะนั้น ที่มีลักษณะอย่างนั้น ก็ชื่อว่าเจริญ กายคตาสติ

    ไม่มีการจำกัดเลย ขอให้เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในกาย แม้สำหรับบุคคลที่ได้ปฐมฌาน ขณะนั้นก็ย่อมจะมีจิตที่คงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นกายคตาสติ

    ข้อความต่อไป คือ บุคคลที่เข้าทุติยฌาน

    ... มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร

    เมื่อจิตละเอียดขึ้น กายจะต้องประกอบด้วยปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ ที่อิ่มเอิบซาบซ่านยิ่งขึ้น

    ... กายทุกส่วนของเธอ ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้องนั้นไม่มี ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำพุ ไม่มีทางระบายน้ำทั้งในทิศตะวันออก ทั้งในทิศตะวันตก ทั้งในทิศเหนือ ทั้งในทิศใต้เลย และฝนก็ยังไม่หลั่งสายน้ำโดยชอบตามฤดูกาล ขณะนั้นแล ธารน้ำเย็นจะพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้น แล้วทำห้วงน้ำนั้นเอง ให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไรๆ แห่งห้วงน้ำทุกส่วนนั้น ที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมยังกายนี้แล ให้คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ... ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

    จะระลึกได้ไหมอย่างนี้ จะถึงไหม ส่วนต่างๆ ของกายในขณะนี้ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างท่านที่ได้บรรลุปฐมฌานหรือทุติยฌานเลย แต่แม้กระนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่บรรลุถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน หรือไม่ถึงก็ตาม ก็จะต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อละ อย่าลืม เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    ข้อความต่อไป เป็นภิกษุที่บรรลุถึงตติยฌาน ซึ่งทรงอุปมาว่า

    ... เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ หรือดอกบัวเหลือง หรือดอกบัวขาว แต่ละชนิด ในกอบัวขาบ หรือในกอบัวเหลือง หรือในกอบัวขาว เกิดแล้วในน้ำ เนื่องอยู่ในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ คลุกเคล้า บริบูรณ์ ซึมซาบด้วยน้ำเย็นจนถึงยอดและเง่า ฉันใด ภิกษุที่ได้ตติยฌานก็ฉันนั้น ... ฯลฯ

    ... แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ ฯ

    ต่อไปเป็นผู้บรรลุจตุตถฌาน และระลึกถึงกายขณะที่จิตละเอียดซาบซ่านด้วยความสงบ ข้อความใน กายคตาสติสูตร นี้ยาว และพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาไว้มาก ซึ่งข้อความตอนท้ายมีว่า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตเหล่านี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

    เพราะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปสาทกรธัมมาทิบาลี ข้อ ๒๒๕ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญกายคตาสติเป็นอันมาก แต่ข้ออื่นๆ ก่อนนี้พระผู้มีพระภาคก็ทรงสรรเสริญกุศลขั้นความสงบต่างๆ ด้วย อารมณ์ของสมถภาวนาต่างๆ เช่น ปฐวีกสิณ และกสิณอื่นๆ อสุภะ อนุสสติ และพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และอาหาเรปฏิกูลสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเจริญกุศลไม่ควรจำกัด และไม่ควรเลือก แล้วแต่ว่าขณะหนึ่งขณะใดกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบได้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็ควร ไม่ใช่เลือกว่า อันนี้ไม่เอา หรืออันนั้นไม่เอา แล้วแต่ว่าจะน้อมนึกไปเป็นอนุสสติต่างๆ หรือว่าพรหมวิหารต่างๆ หรือว่าอสุภะ หรือว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็ได้ แล้วแต่การได้ยินได้ฟังมาที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ และจิตสงบในขณะใด ก็ควรที่จะให้กุศลจิตเกิดและสงบในขณะนั้น เช่นเดียวกับการเจริญสติปัฏฐาน ไม่เลือก แล้วแต่สติจะระลึกที่กาย หรือที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อ ๒๒๕

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้น ฉะนั้น

    ข้อ ๒๒๖

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งซึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความสังเวชใหญ่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสังเวชใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ ญาณทัสสนะ ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ ฯ

    แสดงให้เห็นว่า พระธรรมทั้งหมดไม่ปราศจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจ สติปัฏฐานติดตามแทรกอยู่ในพระธรรมวินัยทั้งหมด แม้แต่ในกายคตาสติ ไม่ได้หมายเฉพาะถึงการระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายโดยนัยของสมถภาวนา เพราะขณะใดที่สติเกิดระลึกที่กาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น กายคตาสติ เป็นบรรพหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ในบรรพที่เป็นปฏิกูลมนสิการ ระลึกที่กายโดยความเป็นไปปฏิกูล และสติซึ่งเป็น สติปัฏฐานรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้า สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่สามารถที่จะถึงความสมบูรณ์ คือ วิชชาและวิมุตติได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564