แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
ครั้งที่ ๘๗๘
พระธรรมที่ทรงแสดง การอบรมเจริญสติปัฏฐานแทรกอยู่ทั้งหมดในพระธรรมและพระวินัย หรือแม้แต่ในเรื่องของสมถภาวนา พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงให้บุคคลนั้นเพียงเกิดความสงบ เพราะระลึกถึงความเป็นปฏิกูล
แต่ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดตลอดเวลาได้ เพราะทุกคนห้ามความคิดนึกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะนึก หรือจะคิด ก็คิดในอารมณ์ที่เป็นกุศลที่สงบ เช่น การระลึกถึงส่วนของกายที่เป็นปฏิกูล ระลึกอย่างนี้บ่อยๆ เพราะได้ยินได้ฟัง บ่อยๆ หรือว่าแต่ก่อนนี้อาจจะยังไม่เคยระลึกในเรื่องของความเป็นปฏิกูลของอาการ ๓๒ แต่ว่าเวลาที่ได้ยินได้ฟัง เกิดระลึกขึ้นได้ จิตสงบโดยนัยของสมถะจริง แต่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกว่า ขณะที่นึก หรือคิด หรือสงบนั้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ที่ทรงสรรเสริญกายคตาสติอย่างมาก ไม่ได้ทรงสรรเสริญเพียงขั้นของสมถภาวนาที่จิตสงบเท่านั้น แต่ทรงสรรเสริญโดยขั้นที่เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่ เพื่อความเกษมจากโยคะใหญ่ เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุตติ ฯ
ข้อ ๒๒๗
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้น ก็ถึงความเจริญบริบูรณ์ ฯ
ความคิด ห้ามไม่ได้อีกเหมือนกัน ถ้าใครจะไม่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของกาย แต่มีเมตตาต่อบุคคลอื่น ระลึกถึงบุคคลอื่นด้วยจิตที่เมตตา หรือว่าก่อนนั้นอีก อาจจะระลึกถึงบุคคลนั้นด้วยความผูกโกรธ ซึ่งเมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นไปอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ตลอดวัน ตลอดคืน จะมีใครสามารถระลึกถึงผู้อื่นด้วยจิตเมตตาอยู่ได้เสมอๆ
บางครั้งระลึกถึงบุคคลนั้นแล้วรู้สึกผูกโกรธ ไม่ลืมความโกรธที่เคยโกรธคนนั้น เพราะฉะนั้น พอระลึกจิตก็ขุ่นมัว เป็นลักษณะของอกุศลธรรม แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดกุศลมี กุศลจิตก็อาจจะเกิด พิจารณาการระลึกถึงบุคคลนั้นและเห็นว่า แทนที่จะเป็นอกุศล ก็ควรที่จะมีเมตตาต่อบุคคลนั้นในขณะนั้น
ความคิดนึก เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงส่วนต่างๆ ของกายโดยความเป็นปฏิกูล วันหนึ่งๆ ทุกคนคิด คิดเรื่องต่างๆ แล้วแต่ว่าบางครั้งเป็นกุศลจิต หรือว่าเป็นอกุศลจิต แต่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ในขณะที่คิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมด พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงการอบรมเจริญ สติปัฏฐานไว้โดยทั่ว โดยตลอด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะระลึกถึงบุคคลใดด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของกาย หรือว่าระลึกถึงบุคคลอื่นด้วยความเมตตา แต่ไม่ใช่ให้หยุดอยู่เพียงความสงบ สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงจะเป็นประโยชน์ที่สูงที่สุด
ข้อ ๒๒๘
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้เลย และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละเสียได้ …
แม้แต่การที่จะทรงสรรเสริญกุศลจิตซึ่งเป็นไปในการระลึกถึงกาย กายคตาสติ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ ให้เห็นสภาพของจิตตามความเป็นจริง เช่น บางครั้งพูดถึงเรื่องความสังเวชใหญ่ ประโยชน์ใหญ่ เพื่อสติสัมปชัญญะ เพื่อญาณทัสสนะ เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และในบางครั้งก็พูดถึงอกุศลธรรมที่ยัง ไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นได้ และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละเสียได้ แล้วแต่ความวิจิตรของจิตแต่ละขณะของแต่ละคนที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น
ข้อ ๒๒๙
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ฯ
ข้อต่อไปทรงเปลี่ยนพยัญชนะ เพื่อที่จะให้เห็นประโยชน์ของกายคตาสติ
ข้อ ๒๓๐
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัสมิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัสมิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้ ฯ
เป็นไปได้ไหม เวลาที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของกายแล้ว ย่อมละอัสมิมานะเสียได้ ความถือตน ความสำคัญตน
ที่ร่างกายที่ตัวของท่านผู้ฟังนี้ สวยไหม โก้เก๋ดีไหม มีส่วนต่างๆ ที่น่าพึงพอใจว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ถ้าไม่ได้ระลึกถึงความเป็นปฏิกูล ซึ่งเสมอกันหมด
ปฏิกูลเหมือนกันไหม เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย ก็ย่อมจะทำให้ละอัสมิมานะได้
สำหรับนัยของสมถภาวนา ได้แสดงอานิสงส์ของกายคตาสติว่า ผู้ที่เจริญ กายคตาสติมากๆ ย่อมครอบงำความยินดียินร้ายได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกาย ซึ่งปฏิกูลเหมือนกัน อดทนต่ออันตรายอันน่าพรั่นพรึงได้ อดทนต่อหนาวร้อนได้ และถ้าอาศัยความต่างกันแห่งสี ก็ย่อมจะทำให้ถึงฌาน ๔ ได้ และย่อมแทงตลอดอภิญญา ๖ ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ที่อบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้น เพราะถ้าเพียงแต่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของกายแล้ว ความสงบที่จะมั่นคงได้ สามารถที่จะตั้งมั่นคงได้เพียงขั้นปฐมฌานเท่านั้น แต่ที่จะต่อไปถึงฌานอื่นๆ จะต้องอาศัยกัมมัฏฐานอื่น เช่น เวลาที่สีปรากฏ ขณะนั้นเปลี่ยนเป็นวัณณกสิณ ซึ่งย่อมสามารถที่จะสงบยิ่งขึ้นจนถึงฌานจิตที่สูงขึ้นได้
นี่เป็นความละเอียดของความสงบที่เพิ่มขึ้น โดยผู้นั้นไม่หวั่นไหวจริงๆ เพราะไม่เลือกอารมณ์ แต่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า จิตที่สงบต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไร และจิตที่สงบขึ้นมีอาการต่างกับจิตที่เพิ่งเริ่มสงบอย่างไร ซึ่งต้องเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และสงบจริงๆ
ข้อ ๒๓๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ฯ
อย่าลืมข้อต้นที่ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันผู้ใดผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้น ฉะนั้น
และขอกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อความใน อรรถกถา สารัตถปกาสินี ตอนหนึ่ง ซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า
สติที่สัมปยุตต์ด้วยมรรคอย่างเดียวเท่านั้น คือ สติที่เกิดพร้อมกับมรรคจิต โสตาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต อรหัตตมรรคจิต ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมได้ชื่อถึง ๔ อย่าง คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เพราะให้สำเร็จกิจ ๔ อย่าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ นี้ ในขณะโลกุตตรมรรคย่อมได้ในจิตดวงเดียวเท่านั้น
ชัดเจนขึ้นไหม แสดงให้เห็นว่า ไม่จำกัด ขณะนี้สติไม่เกิด หลงลืมสติ วิชชาไม่เกิด ความรู้ไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด การที่จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีในขณะที่หลงลืมสติ แต่เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏที่กาย ปัญญาจะต้องพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ และก็รู้ว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรม มิฉะนั้นจะชื่อว่าเจริญปัญญาไม่ได้
อย่างเช่น ขณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏที่กาย เย็นหรือร้อนปรากฏที่กาย ถ้าหลงลืมสติ หรือถ้าไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น จะไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้เลยว่า สภาพใดเป็นสภาพที่อ่อนแข็ง และสภาพใดเป็นสภาพรู้อ่อนแข็งที่ปรากฏ จริงหรือไม่จริง เวลานี้อ่อนแข็งกำลังปรากฏ ถ้าหลงลืมสติจะรู้ไหมว่า สภาพใดเป็นสภาพที่อ่อนแข็ง และสภาพใดเป็นสภาพที่รู้อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เรา ขณะที่หลงลืมสติสามารถที่จะบอกได้ว่า อะไรอ่อน อะไรแข็ง แต่เป็นเราที่รู้อ่อนแข็ง หรือว่าอ่อนแข็งนั้น เป็นเรานั่นเอง
เวลานี้ทางตา ถ้าจะมีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเราเลยที่กำลังเห็น ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดพูดอย่างนี้ แต่ว่ายังเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ จะพิสูจน์คำพูดนั้นได้ไหมว่า ผู้ที่กล่าวอย่างนั้นรู้จริงหรือเปล่า
ท่านเพียงแต่คิด คิดว่าไม่ใช่ตัวตนที่กำลังเห็น แต่ว่าในความรู้สึกจริงๆ ของท่าน ท่านยังเห็นเป็นคน เห็นเป็นโต๊ะ เห็นเป็นเก้าอี้ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ คำพูดนี้แสดงว่า ไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ลักษณะของนามธรรมที่เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร เพราะปัญญายังไม่ได้เจริญ ยังไม่ได้แยกว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลยจริงๆ
เวลาที่เป็นรูปารมณ์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่จะปรากฏกับสภาพรู้รูปารมณ์ หรือสภาพที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น บางคนเข้าใจว่า การที่ท่านนึก นึกว่าขณะที่เห็นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย แต่ด้วยใจจริงของท่าน สิ่งที่ปรากฏนี้ ท่านยังคงเห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งย่อมแสดงว่า ปัญญายังไม่ได้เจริญถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า สภาพเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้ ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
สิ่งที่เคยปรากฏเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ เวลาที่อบรมเจริญปัญญา สิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตากับสภาพที่รู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ปัญญาย่อมรู้ชัดว่า ขณะที่เห็นเป็นเพียงสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ นั้นคืออย่างไร เพราะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ในขณะที่นึก และรู้ว่าเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่อบรมเจริญจริงๆ ในขณะที่สติระลึกที่กาย ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของสมถภาวนาที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูล สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นรู้ความต่างกันของสภาพที่คิดว่า เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะไม่มีความเป็นตัวตนในรูปซึ่งกำลังเป็นอารมณ์ และในนามธรรมซึ่งเป็นสติที่กำลังระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏกับบุคคลนั้นตามความเป็นจริง
สภาพธรรมต้องปรากฏตามความเป็นจริงแน่นอนกับปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ต่างกับขณะนี้เลย เพราะเวลาที่เพิ่งเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน ทุกท่านไม่หมดความสงสัยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร จะต่างกับคนที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า จะต่างกับวัตถุสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้หรือเปล่า เพราะทันทีที่เห็น ใจนึกรู้ทันทีว่าเห็นคน ไม่สามารถที่จะกลับหรือเปลี่ยนความคิดว่า ที่เห็นนี้ไม่ใช่คน เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่เวลาที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ในขณะนี้ แต่ปัญญารู้ชัดว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าเป็นคน หรือว่าเป็นสัตว์ หรือว่าเป็นวัตถุสิ่ง ต่างๆ
เพราะฉะนั้น เรื่องการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏจริงๆ
เมื่อครู่นี้ระลึกที่กาย เสียงปรากฏ ยังคงจะให้ไประลึกที่กาย หรือว่าในขณะที่เสียงปรากฏ สติระลึกสภาพของเสียงที่ปรากฏ หรือว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพรู้เสียง คือ สภาพที่กำลังได้ยินเสียง
ที่กายนี้ก็มีอายตนะ ซึ่งเป็นที่ต่อให้สภาพธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ยังไม่ใช่มรรคจิต สติปัฏฐานนั้นย่อมระลึกที่กายบ้าง ที่เวทนาบ้าง ที่จิตบ้าง ที่ธรรมบ้าง
อย่างเช่น ที่ได้ยินเมื่อครู่นี้ ขณะนั้นระลึกที่สภาพของจิตที่ไม่พอใจ เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าไม่หลงลืมสติจะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ว่า จะต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้าเป็นไปที่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียวแล้ว จะรู้ลักษณะของนามธรรมได้อย่างไร
จิตเป็นสภาพรู้ แต่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวเมื่อครู่นี้ว่า ไม่พอใจ สภาพที่ไม่พอใจมีจริง ไม่ใช่จิต โดยปรมัตถธรรมเป็นเจตสิก แต่ว่าโดยสติปัฏฐานเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือว่าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ ไม่มีใครบังคับสติว่าต้องรู้ที่จิต หรือไม่มีใครบังคับสติว่าต้องรู้ที่เวทนา แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกที่รูปเสียง หรือว่าสภาพที่รู้เสียงซึ่งเป็นจิต หรือว่าความรู้สึกซึ่งไม่พอใจ หรือว่าลักษณะของความไม่แช่มชื่นของเวทนา ความรู้สึกในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่โลกุตตรจิตเกิดขึ้น จึงชื่อว่าเป็นไปในสติปัฏฐานครบทั้ง ๔ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไม่รู้อะไรและจะไปประจักษ์ความเกิดดับ หรือว่าจะเป็น พระอริยบุคคล ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ. สติจะระลึกรู้สภาพอะไรก็ตาม ย่อมรวมอยู่ในกายคตาสติแล้วทั้งนั้น อย่างนี้ใช่ไหม
สุ. สติปัฏฐานทั้ง ๔ บังคับไม่ได้ เสียงปรากฏ จะเป็นสติปัฏฐานหนึ่ง สติปัฏฐานใดก็ได้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่กาย หรือที่จิต หรือที่เวทนา หรือที่ธรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๘๗๑ – ๘๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 883
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 900