แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
ครั้งที่ ๘๘๑
อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สีหนาทวรรคที่ ๒ วุฏฐิสูตร ข้อ ๒๑๕ มีข้อความที่ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ซึ่งแสดงถึงอานิสงส์ของ กายคตาสติ
ข้อความมีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถีแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกจาริกไปในชนบท
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร เธอจงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ
ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้วไม่ขอโทษ หลีกจาริกไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า
ดูกร ภิกษุ เธอจงมานี่ จงไปเรียกสารีบุตรตามคำของเราว่า ดูกร อาวุโส สารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกร อาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ท่านพระสารีบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้ว ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระอานนท์ ถือลูกดานเที่ยวประกาศไปตามวิหารว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงรีบออกเถิดๆ บัดนี้ท่านพระสารีบุตรจะบันลือสีหนาทเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ ท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกร สารีบุตร เพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ กล่าวหาเธอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้วไม่ขอโทษ หลีกจาริกไปแล้ว ฯ
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ ไม่ขอโทษแล้ว พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยแผ่นดินอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกายภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
สังฆานุสติ พระอรหันต์ผู้หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าใครจะกระทำต่อท่านอย่างไรก็ตาม ที่เปรียบด้วยของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ท่านเป็นผู้ที่มีปกติระลึกถึงธาตุที่ปรากฏที่กายเหมือนแผ่นดิน ไม่ต่างกันเลย ร่างกายของท่านกับแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะประพฤติต่อท่านอย่างไร ก็เหมือนกับคนที่ทิ้งของที่ สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่อึดอัดระอา หรือเกลียดชังด้วย สิ่งนั้น ฉันใด ผู้ที่หมดจดจากกิเลสแล้วก็ฉันนั้น แต่ไม่ใช่หมดได้เองโดยอยู่เฉยๆ ก็หมดกิเลส แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงจนกว่าจะดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ไม่มีแม้แต่เชื้อของกิเลสที่จะให้เกิดความยินดีหรือยินร้ายขึ้น ไม่ว่าจะกระทบกับเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วย น้ำอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
สำรวจการกระทำของท่านได้ ทั้งกาย ทั้งวาจา กระทำผิดพลาดพลั้งกับบุคคลใดบ้างหรือเปล่า รู้บ้างไหม สติเกิดหรือเปล่า ระลึกได้ไหมว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร และยังจะต้องระลึกได้ต่อไปอีกว่า ควรที่จะขอโทษ เพราะบางท่านรู้ว่า ไม่ดี ไม่ถูก ไม่ควร แต่ขอโทษไม่ได้ หรือว่าขอโทษไม่เป็นทั้งๆ ที่รู้ เพราะฉะนั้น สติ มีหลายขั้น ขั้นที่สำนึกรู้ว่า สิ่งใดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ขั้นหนึ่ง แต่จะมีกำลังพอที่จะเป็นสติอีกขั้นหนึ่ง ที่จะกล่าวคำขอโทษบุคคลอื่นซึ่งท่านกระทำการล่วงเกินทางกาย ทางวาจาได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า กว่ากิเลสจะดับหมด กิเลสจะปรากฏให้เห็นกำลังของกิเลส และกำลังของกุศลมีพอที่จะเป็นการกระทำทางกายทางวาจาด้วยกุศลหรือไม่ หรือว่าเป็นแต่เพียงการระลึกได้ แต่ว่ายังไม่มีกำลังพอที่จะกระทำกุศลทางกายทางวาจากับบุคคลอื่นซึ่งท่านได้กระทำการล่วงเกิน
ข้อความต่อไป
พระสารีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
สำหรับผู้ที่ไม่เจริญกายคตาสติ หรือกายานุปัสสนา หรือสติปัฏฐาน จะไม่มีการระลึกได้ว่า ได้กระทำผิดทางกาย ทางวาจาอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งก็แล้วแต่กำลังของกุศลว่าจะเป็นขั้นใด แต่ว่าสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ปราศจากสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านกระทำผิดจริงที่ท่านจะไม่ขอโทษบุคคลนั้น เป็นไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
นี่เรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ภิกษุ ๒ รูป และขอให้พิจารณาจิตที่ต่างกันของภิกษุ ๒ รูป รูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ อีกรูปหนึ่งกล่าวโทษท่านพระสารีบุตร ก็เป็นจิตที่เป็นอกุศล ซึ่งในพระสูตรนี้ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กายคตาสติ หมายถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือการเจริญสติปัฏฐาน เพราะได้กล่าวถึงธาตุที่เป็นธาตุไฟและธาตุลม ซึ่งไม่ใช่อาการที่เป็นปฏิกูลของธาตุดินและ ธาตุน้ำโดยนัยของสมถภาวนา
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลมย่อมพัดซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็เหมือนกันฉันนั้นแล มีใจเสมอด้วยลมอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เป็นลมเสียก็ดี ดีกว่าที่จะเป็นคน ไม่อึดอัด ไม่ระอา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าอะไรจะอยู่ที่ไหนลมก็พัดไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นของสะอาดหรือไม่สะอาด แต่เวลาที่มีนามธรรม ยากเหลือเกินที่จะดับนามธรรมที่เป็นอกุศลธรรมถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า อกุศลเป็นธรรมที่น่ารังเกียจ ก็จะไม่เกิดหิริโอตตัปปะ ความรังเกียจ หรือความละอายใน อกุศลธรรมขั้นต่างๆ เลย
สำหรับจิตของผู้ที่เป็นพระอรหันต์ซึ่งหมดจดจากกิเลส ไม่มีแม้แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือตนหรือความสำคัญตน ซึ่งจะเห็นได้ตามข้อความที่ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลีย่อมไม่อึดอัดระอาหรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยผ้าสำหรับเช็ดธุลีอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกไปเป็นแน่ ฯ
ยอมที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลีไหม ผ้าขี้ริ้ว ยอมหรือยัง
ยัง ยังสำคัญตน ต่างกันกับผ้าเช็ดธุลี ใครจะเอาไปเช็ดธุลี ไม่ยอม ไม่ว่าจะเป็นของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง แต่ชีวิตเลือกได้ไหมที่จะไม่รับกระทบกับการกระทำของบุคคลอื่น ทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เลือกไม่ได้เลย และใครเดือดร้อน ถ้าเป็นผ้าเช็ดธุลีจะไม่เดือดร้อนเลยใช่ไหม แต่เวลาที่ไม่ยอมเป็นผ้าเช็ดธุลีจะเดือดร้อน แต่ก็ยากที่จะลดความสำคัญตนลงจากความเป็นบุคคลนี้ให้เสมอกับ ผ้าเช็ดธุลีที่ไม่มีความสำคัญอะไรเลย ซึ่งความจริงแล้วร่างกายก็เป็นแต่เพียงธาตุ ต่างๆ เย็นหรือร้อนเท่านั้น เหมือนกันหมด เป็นธาตุไฟ อ่อนหรือแข็งเท่านั้น เหมือนกันหมด เสมอกันหมด อ่อนหรือแข็งจะมาจัดสรรเป็นชาติ เป็นตระกูล เป็นวรรณะอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นเพียงสภาพที่อ่อนหรือแข็งเท่านั้น
ธาตุลมก็เช่นเดียวกัน ไหวหรือเคร่งตึง จะว่าเป็นวรรณะใดวรรณะหนึ่ง สกุลใดสกุลหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ และปัญญารู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ ความสำคัญตนจะน้อยลง และท่านจะละความเดือดร้อนใจเพราะอกุศลได้ตามกำลังของสติปัญญา
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาลถือตะกร้า นุ่งผ้า เก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยกุมารหรือกุมาริกาของคนจัณฑาล อันไพบูลย์กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
นอกจากจะเปรียบตัวท่านเองว่า จิตใจของท่านเสมอกับผ้าเช็ดธุลีหรือผ้าขี้ริ้วแล้ว ท่านพระสารีบุตรยังเปรียบใจของท่านเหมือนกับลูกของคนจัณฑาล ไม่ว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาวซึ่งเป็นผู้ที่นุ่งผ้าเก่าๆ ถือตะกร้าเข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป
ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยึดมั่นสำคัญตนจริงๆ จิตจะนอบน้อม อ่อนโยน ไม่ว่าท่านจะพบบุคคลใด แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้นอบน้อมหรือเปล่า อ่อนโยนหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรา เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งท่านพระสารีบุตร ท่านเป็นพระอัครสาวก แต่จิตของท่านนอบน้อมเหมือนกับลูกของคนจัณฑาลที่เข้าไปในบ้าน ในนิคม ด้วยใจที่นอบน้อม
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาดสงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไปตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
นี่คือความในใจของพระอรหันต์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าท่านไม่แสดงอย่างนี้ ก็ย่อมจะไม่มีบุคคลใดนึกถึงคุณธรรมของท่านได้ว่าเปรียบเสมือนกับอะไร แต่เวลาที่ท่านกล่าวเปรียบเทียบด้วยประการต่างๆ ย่อมเห็นความบริสุทธิ์ซึ่งปราศกิเลสว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะกระทบกระเทือนท่านได้
ข้อความต่อไป
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาวเป็นคนชอบประดับตบแต่ง พึงอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยซากศพงู หรือซากศพสุนัขที่เขาผูกไว้ที่คอ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมอึดอัดระอาและเกลียดชังด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ
เวลานี้กายของทุกท่านมี ลืมไปหรือเปล่า หรือว่าไม่ลืม สำคัญเหลือเกินว่า เป็นกายของเรา ใครกระทบไม่ได้ ใครถูกต้องไม่ได้ มีหลายท่านสนใจฟังพระธรรมและเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะรู้ว่าถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ไม่มีทางใดเลยที่จะดับกิเลสได้ แต่ไม่ชอบฟังเรื่องกายคตาสติ ความเป็นปฏิกูลของผม ของขน ของเล็บ ของฟัน ของหนัง ของเลือด ของเนื้อ ของเอ็น ของกระดูก อาการที่เป็นปฏิกูลทั้งหลายนี้ไม่อยากฟัง เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ขอฟังเรื่องอื่น เพราะไม่ชอบเห็นกายนี้เปื่อยเน่า หรือว่าเป็นปฏิกูลน่ารังเกียจ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อกุศลมีหลายอย่าง โฉมหน้าต่างๆ นานาของโลภะ โทสะ แม้ว่าเป็นจริง เพียงระลึกนิดเดียวว่า ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ถ้าเพียงลอกผิวออกอย่างเดียว ความปฏิกูลทั้งหมดจะปรากฏ ทั้งกลิ่นด้วย ทั้งสีด้วย ทั้งสัณฐานด้วย และยังจะต้องนั่งไม่เป็นสุข ยังจะต้องนั่งปัดตัวแมลงทั้งหลายที่ไต่ตอมความเป็นปฏิกูลซึ่งเปิดเผย ถ้าเพียงปราศจากหนังที่หุ้มอยู่ แม้ในขณะที่เห็นอย่างนี้ ถ้าฟังเรื่องของกายคตาสติบ่อยๆ อาการที่เป็นปฏิกูลของธาตุดินหรือธาตุน้ำ ๓๒ อาการนั้น ฟัง บ่อยๆ และเกิดระลึกได้ ก็สามารถที่จะนึกคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูลแม้ในขณะนั้นได้
และถ้าผู้นั้นอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็น พระอรหันต์ การที่จะระลึกถึงกายของท่านซึ่งเคยเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่ไม่อยากรู้ว่าปฏิกูล ก็จะเปลี่ยนเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๘๘๑ – ๘๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 841
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 842
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 843
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 844
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 846
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 847
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 848
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 849
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 850
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 852
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 853
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 854
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 855
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 856
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 857
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 858
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 859
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 860
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 861
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 862
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 863
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 864
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 865
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 866
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 867
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 868
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 869
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 870
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 871
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 872
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 873
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 874
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 875
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 876
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 877
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 878
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 879
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 880
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 881
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 882
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 883
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 900