แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 845


    ครั้งที่ ๘๔๕

    สาระสำคัญ

    สัง.สคา.นามสูตร-ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง อบรม หมายความว่าจะต้อง ค่อยๆ เกิดขึ้น


    จริงไหมที่ว่า บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน

    ในฝันเห็นหลายอย่าง เห็นคนนั้น คนนี้ หลายคน แต่ว่าพอตื่นขึ้นย่อมไม่เห็นอารมณ์ คือ บุคคลทั้งหลายที่เห็นในความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมเห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น ก็เหมือนคนที่จากไปในขณะที่ตื่นขึ้น เวลาที่ตื่นแล้วไม่เห็นคนนั้นอีกต่อไป ฉันใด เวลาที่คนนั้นตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะกลับคืนมาให้เห็นได้อีก

    บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ของคนทั้งหลาย ผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้วจักยังคงเหลืออยู่

    เพราะฉะนั้น ก็เหลือแต่ชื่อจริงๆ

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังเหลือแต่ชื่อหรือเปล่า ขันธ์ ๕ เมื่อครู่นี้ดับหมดแล้ว ขันธ์ ๕ เมื่อครู่นี้ที่เคยยึดถือว่าเป็นชื่อนี้ดับไปแล้ว แต่ชื่อยังอยู่ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ชื่อเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ ไม่ใช่แม้ในขณะที่ตายแล้วเท่านั้น แม้ในขณะนี้ ขันธ์ ๕ เมื่อวานนี้ดับแล้วแต่ชื่อยังอยู่ ขันธ์ ๕ เมื่อครู่นี้ดับแล้ว การเห็น การได้ยิน การคิดนึก สภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้เหลือแต่ชื่อทุกขณะ เพราะขันธ์ ๕ ที่เคยยึดถือว่าเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ก็ดับไปอยู่เรื่อยๆ

    ท่านที่ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ติดในชื่อของท่านแค่ไหน ทราบไหม ติดชื่อหรือเปล่า

    เพียงชื่อก็ยังติดตั้งแค่นี้ คิดดู เลือกชื่อนี่เลือกนานไหม กว่าจะตั้งชื่อได้แต่ละชื่อ เวลาที่มีญาติซึ่งเป็นที่รักเกิด และจะต้องหาชื่อ แม้แต่ชื่อก็ยังต้องเลือกนาน ติดแค่ไหนในชื่อนั้น เพราะฉะนั้น ชื่อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยที่ท่านอาจจะไม่รู้ว่าท่านติด แม้ในชื่อ จะกล่าวอะไรถึงขันธ์ คือ สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเห็น ซึ่งได้ยิน ซึ่งได้กลิ่น ซึ่งลิ้มรส ซึ่งกระทบสัมผัส จะไม่ติดยิ่งกว่าชื่อหรือ

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ นามสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๗๘ข้อ ๑๗๙ มีข้อความว่า

    เทวดาทูลถามว่า

    อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไรย่อมไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร

    คนอื่นจะตอบถูกไหม ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือชื่อ ฯ

    จบ นามสูตรที่ ๑

    สั้น แต่ก็จริง เพราะแต่ละท่านสำคัญในชื่อของท่านจริงๆ บางท่านอาจจะบอกว่าชื่อไม่สำคัญ นามสกุลสำคัญไหม นามสกุลเป็นชื่อหรือเปล่า ก็ยังคงเป็นแต่ชื่อ และสำคัญมากจริงๆ สำหรับท่านที่ยังติดอยู่แม้ในชื่อ

    ลองคิดดู ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง จริงเพียงไร แม้แต่เวลาที่ท่านฟังเรื่อง สติปัฏฐาน ท่านติดในชื่อ นาม ติดในชื่อ รูป หรือเปล่า

    เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง กำลังกระทำกิจเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ก็ไม่เข้าใจเลยว่า สภาพธรรมที่กำลังกระทำกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรก็ได้ เพราะเป็นลักษณะของปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ท่านก็ติดชื่อ นามธรรม ที่เห็นนี้เป็นนามธรรม ยังต้องใส่ชื่อ คล้ายๆ กับว่า ถ้าไม่ใส่ชื่อว่านามธรรม ท่านจะไม่เข้าใจ

    แต่ที่จริงแล้วชื่อปิดบังลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า แม้ไม่ต้องใช้คำว่านามธรรม แต่ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่กำลังเห็น คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำว่านามธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เพราะความหมายของคำว่านาม ก็คือ สภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ สภาพที่รู้อารมณ์ เมื่อเป็นนามธรรมที่เกิด ที่จะไม่รู้อารมณ์นั้นไม่มี เช่น ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ กำลังถูกรู้ เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำเพื่อที่จะให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยใช้คำว่านาม หมายความถึงสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ เสียงกำลังปรากฏ ทรงใช้คำว่าอารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่กำลังถูกรู้

    เพราะฉะนั้น นามธรรม คือ สภาพที่น้อมไปสู่เสียงที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน เสียงไม่ใช่ได้ยิน เสียงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏกับสภาพธรรมที่น้อมไปสู่ลักษณะของเสียง คือ รู้เสียงที่กำลังปรากฏ

    แต่ถ้าใครติดชื่อ ต้องนึก ต้องท่อง ต้องกล่าวว่า ได้ยินเป็นนาม หรือว่าได้ยินเป็นนามธรรม ในขณะนั้นไม่ใช่การพิจารณาที่จะน้อมไปสู่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นเพียงสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียง หรือว่าเป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าขณะที่ร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดปรากฏลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่น้อมไปสู่ คือ กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แม้จะไม่ใช้คำว่านาม หรือนามธรรม สภาพธรรมนั้นก็มีจริง และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ายังติดในชื่ออยู่ ก็ยากที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    การศึกษาธรรม การอบรมเจริญปัญญา จึงต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องเข้าใจลักษณะของการติดว่า มีการติดที่นอกจากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจแล้ว ก็ยังมีการติดแม้ในชื่อ และให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงชื่อทั้งหมดในขณะที่กำลังคิด

    ขณะที่กำลังเห็นทางตา ไม่มีชื่อปรากฏในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่เวลาที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเกิดการนึกคิด จะมีชื่อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจว่า เป็นวัตถุที่อำนวยความสะดวกความสบายให้ ก็ยังเป็นชื่อของสัตว์ ของบุคคลต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญารู้ลักษณะของความคิดนึก ก็จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วชื่อเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งสมมติ และเป็นอารมณ์คือเป็นสิ่งที่จิตเกิดคิดนึกขึ้นเท่านั้นเอง แต่ตามความเป็นจริงแล้วไม่มี มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นชื่อไม่ได้ปรากฏด้วย ขณะที่ลักษณะที่เย็นกำลังปรากฏที่กาย ไม่มีชื่ออะไรปรากฏกับสภาพเย็นนั้นเลย ขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่มีชื่ออยู่ในลักษณะของเสียง ขณะที่กลิ่นปรากฏ ก็ไม่มีชื่ออะไรอยู่ในกลิ่นนั้นเลย

    ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งมีจริง เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ชื่อ แต่ชื่อ ต่างๆ จะเกิดมีขึ้นเฉพาะในขณะที่เกิดคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ไม่ว่าท่านจะอ่านหนังสือ หรือไม่ได้อ่าน ไม่ว่าท่านจะดูภาพยนตร์ หรือไม่ได้ดู ไม่ว่าท่านจะดูโทรทัศน์หรือไม่ได้ดู ในขณะที่กำลังคิดนึก จะมีสัตว์ มีบุคคล มีชื่อต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จะรู้ว่า ชื่อต่างๆ ที่ปรากฏเป็นชื่อของบุคคลต่างๆ สัตว์ต่างๆ นั้น ก็ชั่วขณะที่กำลังคิดนึกเท่านั้น ซึ่งทุกท่านชินกับการคิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ โดยขณะนั้นปัญญาไม่ได้เกิดพร้อมสติที่จะรู้ว่า คน สัตว์ จริงๆ ไม่มีเลยในขณะที่กำลังคิด เป็นแต่เพียงสภาพของจิตซึ่งคิดนึกถึงชื่อต่างๆ จากความจำในรูปที่ปรากฏทางตาบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในสิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง

    ถ้านึกถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง เช่น นึกถึงทุเรียน รูปร่างไม่เหมือนคน ใช่ไหม เวลานึกถึงทุเรียน แต่เวลาที่นึกถึงทุเรียน อาจจะนึกถึงเพียงชื่อ หรือว่าอาจจะนึกถึงกลิ่นด้วย หรืออาจจะนึกถึงรสด้วย ขณะนั้นไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีแม้ทุเรียน หรือผู้ที่กำลังคิดถึงทุเรียน เป็นแต่เพียงสภาพของจิตที่เกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู แต่ขณะนั้นเป็นจิตที่เกิดพร้อมกับความจำที่ระลึกถึงคำเป็นชื่อเกิดขึ้น และความจำในรสที่เคยลิ้ม ความจำในกลิ่นที่เคยรู้ทางจมูก นั่นเป็นการนึกถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง

    แต่ถ้าไม่ได้นึกถึงผลไม้ นึกถึงคน อาจจะนึกถึงชื่อของคนนั้น เพียงชื่อ และในขณะนั้นก็มีการคิดถึงพร้อมด้วยความจำในรูปร่าง ซึ่งไม่เหมือนทุเรียนแล้ว เป็นอีกรูปหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่ว่าคนที่ท่านคิดถึงจะมีรูปร่างที่เคยเห็นทางตาอย่างไรก็จดจำไว้อย่างนั้น ท่านอาจจะคิดถึงคนอื่นอีกต่อไป ซึ่งเคยเห็นและเคยจำ แต่ก็ไม่มีใครที่เป็นคน เป็นสัตว์ที่กำลังคิด เป็นแต่สภาพของจิตขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน แต่คิดนึกทางใจ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกในขณะนั้น รู้ชัดในสภาพซึ่งกำลังคิด ไม่ใช่กำลังเห็น ไม่ใช่กำลังได้ยิน ขณะนั้น แล้วแต่ว่ามีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น อาจจะคิดด้วยความรู้สึกเพลิดเพลินยินดีพอใจเวลาที่คิดถึงบางบุคคล และเวลาที่คิดถึงคนอื่นก็อาจจะเกิดความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ในขณะนั้นก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลที่กำลังคิด แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นคิดถึงชื่อบ้าง คิดถึงสิ่งที่เคยเห็นทางตา รูปร่างลักษณะต่างๆ บ้าง คิดถึงเสียง คิดถึงกลิ่น คิดถึงรส ในขณะนั้นแม้เวทนาที่เกิดในขณะที่คิด สติก็รู้ชัดในลักษณะสภาพของความรู้สึกนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าเป็นความรู้สึกเป็นสุขเพราะคิดถึงบางบุคคล ขณะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพความรู้สึกที่เป็นสุขที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังคิดถึงบุคคลนั้น หรือว่าขณะที่ขุ่นเคืองใจ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึกที่ไม่พอใจ ที่เป็นโทมนัสในขณะนั้นเวลาที่คิดถึงบุคคลซึ่งไม่เป็นที่พอใจ เป็นชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ชื่อ เป็นแต่เพียงสิ่งที่จิตคิดถึง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้รู้ชัดตามความเป็นจริงในลักษณะของปรมัตถธรรม และในสมมติบัญญัติ หรือชื่อต่างๆ

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ละคลายการยึดมั่นแม้แต่ในชื่อของท่าน และในชื่อของบุคคลอื่น และในชื่อต่างๆ รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรม เป็นแต่เพียงสิ่งที่จิตคิดถึงด้วยความทรงจำ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ชื่อสำคัญเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นชื่อของท่านเอง ชื่อของวงศ์สกุล หรือว่าชื่อของบุคคลอื่น หรือชื่อของวัตถุสิ่งต่างๆ ก็มีอิทธิพลที่สามารถจะทำให้แม้เพียงนึกถึง ความรู้สึกก็เกิดเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ เคยสังเกตไหม นึกถึงเพียงชื่อของคนที่ท่านโกรธ ยังไม่ต้องนึกถึงเรื่อง หรือว่าเหตุการณ์อะไรเลย เพียงแต่นึกถึงชื่อเท่านั้น ความรู้สึกในขณะนั้นก็ขุ่นเคืองไม่แช่มชื่นแล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ชื่อก็เป็นสิ่งที่สำคัญ มีอิทธิพล และเป็นสิ่งที่ท่านยึดถือมาก ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะแยกออกได้ว่า อะไรเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และอะไรไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง แม้ในขณะที่ลืมตา เห็นเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ถ้าอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า อะไรเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา และอะไรเป็นความคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางตา

    หรือในขณะที่กำลังได้ยินเสียงทางหู ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า อะไรเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางหู และอะไรไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง เพียงแต่ว่าเป็นสิ่งที่จิตคิดหรือนึกถึงเท่านั้น เช่น ในขณะที่กำลังได้ยิน เสียงมีจริง แต่ท่านคิดถึงคำซึ่งไม่มีจริงๆ เลย แต่ท่านเข้าใจความหมายนั้น เพราะจำได้ จึงนึกได้ ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงจิตที่กำลังรู้คำและรู้ความหมาย เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้สามารถที่จะรู้ชัดจนกระทั่งละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในชื่อได้

    ถ. อาจารย์กล่าวว่า ไม่ให้ติดในชื่อ ฟังๆ ดูน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ละไม่ได้ เห็นทีไรรู้ทันทีว่า นี่โต๊ะ นี่เก้าอี้ ได้ยินทีไรรู้ว่า นี่เป็นเสียงรถยนต์ เสียงมอเตอร์ไซค์ รู้อย่างนี้ทันที ซึ่งตามที่ได้ศึกษามาขณะที่เห็น ขณะนั้นเห็นแต่เพียงสี โต๊ะเก้าอี้ไม่มี การเห็นนั้นเป็นนาม สีนั้นเป็นรูปมากระทบจักขุปสาททำให้เกิดจักขุวิญญาณทำกิจเห็น แต่เห็นทีไรรู้ทันทีเลยว่า นั่นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะไม่ยึดในชื่อ จะละในชื่อ จะละอย่างไร

    สุ. นี่แสดงให้เห็นความหมายของคำว่า อบรม หมายความว่าจะต้อง ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้ชัดทันที ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องใช้คำว่า ภาวนา คือ การอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว

    อย่างทางตา ไม่ใช่นึกยาวว่า มีรูปารมณ์มากระทบกับจักขุปสาท และการเห็นเป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่ใช่ให้ระลึกยาวอย่างนั้น

    การฟังให้เข้าใจว่า นามธรรมเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีสภาพที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ซึ่งลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้ แต่เป็นสภาพที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเกิดการระลึกได้บ้าง ไม่ใช่ว่ารู้ชัดเจนทีเดียวในขณะนั้น เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ธรรมไม่ใช่เรื่องอดีต หรือไม่ใช่เรื่องอนาคต แต่เป็นในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งในวันหนึ่งๆ มีการเห็นมาก แต่อาจจะระลึกน้อย ซึ่งในขณะที่เห็นนี้เองที่จะมีการระลึกได้โดยการรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้หรือกำลังเห็น น้อมไปที่จะรู้อย่างนี้ก่อน จึงจะรู้ว่า เวลาที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน มีการคิดถึงชื่อ ในขณะนั้นสภาพธรรมที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นรูปธรรม ไม่มีเลย มีแต่เพียงชื่อในขณะที่จิตจำและมีการนึกถึงชื่อนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น ชื่อไม่ได้เกิดขึ้น แต่จิตเกิดขึ้นนึกถึงชื่อแทนเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือแทนได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู

    ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ในขณะนี้เองที่ละเอียด เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น รูปธรรมเป็นสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังนึกถึงชื่อ และไม่ใช่ในขณะที่กำลังนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้ก่อน และสติจึงจะระลึก ในขณะนี้เองที่กำลังเห็น เริ่มบ่อยๆ เนืองๆ เริ่มอีก ระลึกอีก ไม่ลืมอีก แต่ไม่ใช่ว่าจะละการนึกถึงชื่อไปได้ และปัญญาจะรู้ว่า ขณะที่นึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นชื่อบุคคลต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ก็มีแค่ ๖ ทวาร หรือว่า ๖ ทาง และ๖ อารมณ์ ที่จะต้องระลึกถึงเนืองๆ บ่อยๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๘๔๑ – ๘๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564