แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 894


    ครั้งที่ ๘๙๔


    ต่อไป เขายังเป็นผู้ไม่อิ่มใจด้วยการถวายทานนั้น จึงถวายธุวภัต (ถวายอาหารเป็นประจำ) สังฆภัต (ถวายภัตตาหารแก่สงฆ์) วัสสาวาสิกภัต (ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา) สร้างที่อยู่ ถวายปัจจัยทั้ง ๔ แม้ในทานนั้นเขาก็ยังเป็นผู้ไม่อิ่มใจ จึงถือสรณะ สมาทานเบญจศีล แม้ในคุณนั้น ก็ยังเป็นผู้ไม่ อิ่มใจ จึงบวช ครั้นบวชแล้ว ก็เรียนพระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก คือ พระพุทธวจนะนิกายหนึ่ง สองนิกาย เป็นต้น ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด เจริญวิปัสสนา ถือเอาอรหัตตผล ตั้งแต่บรรลุอรหัตตผล ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอิ่มใจอย่างใหญ่

    เท่าไรๆ ก็ยังไม่อิ่ม จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ โดยมากจะได้ยินคำว่า ให้เป็นผู้สันโดษ สันตุฏฐิ แต่ในที่นี้เป็นผู้ที่ไม่อิ่มในกุศลธรรม จนกว่าจะเป็นผู้ที่อิ่มใจจริงๆ เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่อย่าลืมว่า การกระทำกุศล การเจริญกุศล ต้องเป็นผู้ที่มีฉันทะ ความยินดี ความพอใจในการเจริญกุศล เพราะว่าบางท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาจิตใจโดยละเอียดจริงๆ ก็กลับเป็นผู้ที่อยากจะได้กุศล หรือว่าต้องการกุศลมากๆ แทนที่จะเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาความต้องการซึ่งเป็นอกุศล เคยพิจารณาไหมว่า เวลาทำกุศล อยากได้ผลของกุศล หรือว่าเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ผู้ที่ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ถ้าไม่มีสติพิจารณารูปนามแล้ว จะต้องเป็นการหวังผลของกุศล หวังว่าชาติหน้าจะไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง หวังความร่ำรวยบ้าง ต้องการยศบ้าง มีความต้องการต่างๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ บางท่าน ทางกาย ทางวาจา ไม่มีอาการของความละโมบ ความอยากได้ ความต้องการ ความหวังให้ปรากฏ แต่ทางใจมี แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส แต่ว่าใจจริงของบุคคลนั้นใครจะรู้ว่า มีความหวัง มีโลภะ มีความละโมบ มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรบ้างหรือเปล่า แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษอย่างละเอียดของอกุศล และควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ ไม่อิ่มในกุศลธรรมเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อสำคัญ คือ ต้องเห็นอกุศลตรงตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่ควรขัดเกลาให้ละคลาย ให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถดับได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งการที่จะ ละคลายขัดเกลาอกุศลให้เบาบาง เป็นสิ่งที่ละเอียด และยาก แม้แต่ในเรื่องของเมตตา ถ้าท่านสามารถรู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ ซึ่งต่างกับลักษณะของโลภะ เพราะลักษณะของโลภะเป็นอกุศล หนัก และเดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะไหน ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนมากหรือน้อยตามกำลังของโลภะ แต่ถ้าเป็นเมตตา ต้องเป็นลักษณะของกุศลที่เบา และสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความเป็นเพื่อนจริงๆ ทั้งทางตา ทางหูด้วย ไม่ใช่เฉพาะทางใจ เพียงแค่นึก

    ทางตาต้องเห็นแน่นอน และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ กัน ทางหู คำพูดของแต่ละคนก็ต่างกันอีก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินเสียงของบุคคลต่างๆ ขณะนั้นสามารถรู้ได้ว่า ประกอบด้วยเมตตา หรือไม่ประกอบเมตตาในบุคคลที่ ใช้คำพูดต่างๆ เหล่านั้น

    นี่เป็นการอบรมเจริญเมตตาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีตาเห็น มีหูได้ยิน สัตว์บุคคลต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และควรจะเป็นผู้ไม่อิ่มในการอบรมเจริญเมตตา ให้มีมากขึ้น ถ้ารู้ว่าสามารถที่จะมีเมตตากับบุคคลนี้ได้ ก็ไม่ควรที่จะพอใจเพียงมีเมตตากับบุคคลนี้ได้ แต่กับบุคคลอื่นๆ ก็ยังสามารถมีความรู้สึกเป็นเพื่อน มีความรู้สึกสนิทสนมทันทีที่เห็น มีความรู้สึกเหมือนเห็นเพื่อน เห็นมิตรสหาย ไม่ใช่เห็นศัตรู ไม่ว่าจะเห็นใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณะภาษาใด ก็ต้องมีความรู้สึกที่ประกอบด้วยเมตตาในขณะที่เห็น หรือในขณะที่ได้ยิน ได้ไหมอย่างนี้ ได้หรือยัง

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ต้องไม่อิ่มในความเมตตา เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร ที่ว่ายังไม่อิ่ม เราจะเมตตากับคนทั่วๆ ไป เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร

    สุ. ความรู้สึกเวลาเห็นบุคคลอื่นเป็นอย่างไร

    ถ. ถ้าเห็นคนที่ไม่เคยรู้จักกัน ก็ผ่านไป ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย แต่บางครั้งเดินสวนกันอย่างนี้ บางทีไม่แน่เหมือนกัน เห็นหน้าแล้วชอบใจก็มี ไม่ชอบใจก็มี แต่ส่วนมากเห็นหน้าคนที่ไม่รู้จักกัน ก็เฉยๆ

    สุ. เฉยๆ ในขณะนั้นจิตเป็นอะไร

    ถ. อาจจะเป็นโมหะก็ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญเมตตา ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะเป็นกุศล ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น กุศลก็เจริญไม่ได้

    ถ. ถ้าเราอยู่ในบ้านคนเดียว เราจะเจริญเมตตาอย่างไร

    สุ. คิดหรือเปล่า ถึงคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง

    ถ. บางครั้งอดที่จะท่องไม่ได้ ส่วนใหญ่ถ้าคิดถึงแล้วต้องท่อง คือ การท่องผมยังคิดว่า เป็นประโยชน์ ในตำราท่านก็ให้ท่อง ทั้งๆ ที่ท่านก็รู้ว่า ในขณะที่ท่องนั้นไม่ใช่จะมีสติสัมปชัญญะทุกครั้งไป ท่านก็รู้ และท่านห้ามการแผ่เมตตาเจาะจงให้ผู้หญิง แผ่เจาะจงไปให้ผู้หญิงคนเดียวไม่ได้

    สุ. ขอประทานโทษ แผ่อีกแล้ว ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า แผ่ ก่อน เวลาที่ปฐมฌานเกิด โดยที่มีนิมิตของกสิณเป็นอารมณ์แล้วจึงแผ่ได้ เพราะมีความชำนาญและจิตสงบ โดยสามารถขยายนิมิตนั้น ทำให้เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเข้า ในการนึกถึง ในการออก ในการพิจารณาสำหรับกสิณ แต่สำหรับเมตตาที่จะแผ่ไปอย่างนั้นได้ จะต้องได้ถึงปฐมฌาน หรือว่าอัปปนาสมาธิก่อน เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังบอกว่า ท่านอดท่องไม่ได้ ท่อง คือ คิด ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับความคิดได้

    ลองเปรียบเทียบกับการเจริญสติปัฏฐาน ถ้ากล่าวว่า ขอให้บรรลุมรรคผลนิพพานๆ เพียงกล่าวอย่างนี้จะบรรลุมรรคผลนิพพานไหม ฉันใด ถ้าเพียงแต่ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข เพียงแต่กล่าวอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะมีความสุขไหม เวลาเห็นสัตว์ หรือบุคคลสักคนหนึ่งก็โกรธ

    ถ. เป็นไปได้

    สุ. เพราะฉะนั้น จะท่องเหมือนอย่างท่องว่า ขอบรรลุมรรคผลนิพพานไหมหรือว่าเมื่อเข้าใจแล้วว่าสติมีลักษณะอย่างไร ไม่ต้องขอ สติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่ต้องขอ นั่นเป็นเหตุที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ฉันใด เวลาที่เห็นใคร หรือแม้แต่นึกถึงใคร เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็ต้องมีการนึกถึง คือ นึกถึงเพื่อนบ้าง นึกถึงญาติบ้าง นึกถึงศัตรูบ้าง นึกถึงผู้ที่เป็นที่รักที่พอใจบ้าง ซึ่งปัญญาต้องรู้ในขณะนั้นว่า เป็นโลภะ หรือว่าเป็นเมตตา และถ้าท่านจะเป็นผู้อบรมเจริญเมตตาจริงๆ เมตตาซึ่งเป็นฝ่ายกุศลจะเกิดเพิ่มขึ้นแม้ในบุคคลซึ่งเคยเป็นที่รัก แทนโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้น ต้องค่อยๆ อบรมไปทีละเล็กทีละน้อย โดยการรู้ลักษณะสภาพของเมตตาจริงๆ เพราะการอบรมเจริญภาวนา มีข้อความใน อัฏฐสาลินี ว่า

    อธิบายนิทเทส ปฏิสังขานพลทุกะ วินิจฉัยในนิทเทสแห่งภาวนาพละว่า คำว่า ภาวนา การเจริญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้น คำว่า พหุลีกมฺมํ การทำให้มาก ได้แก่ การทำบ่อยๆ

    ภาวนา คือ การเจริญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้น

    เวลาที่นึกถึงใคร สติสัมปชัญญะต้องเกิด เพื่อที่จะรู้ว่า ขณะนั้นจิตที่นึกถึงบุคคลนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นโทสมูลจิต หรือว่าเป็นเมตตา นั่นเป็นการอบรมเจริญเมตตาจริงๆ แต่ถ้าท่อง ก็เหมือนขอให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

    ถ. การท่อง ไม่ใช่การขอ การท่องประโยชน์มีอยู่ คือ ขณะที่ท่อง ขณะนั้นไม่หลงลืม

    สุ. เวลาที่นึกถึงเรื่องอื่น ก็ไม่หลงลืม ใช่ไหม

    ถ. ไม่ใช่ บางครั้งถ้าเรานั่งอยู่คนเดียว ถ้าไม่ได้ท่องบางครั้งอาจจะหลงลืม

    สุ. หมายความว่าอย่างไร หลงลืม

    ถ. ก็ไม่ได้คิดถึงอะไร เห็นก็ไม่รู้ ได้ยินก็ไม่รู้

    สุ. เป็นไปได้หรือ ที่จะไม่คิดถึงใครในวันหนึ่งๆ

    ถ. บางครั้งเป็นไปได้ บางครั้งนั่งแล้วคล้ายๆ ลักษณะที่เลื่อนลอย

    สุ. มีท่านผู้ฟังให้ความเห็นที่ดี คือบอกว่า บางทีไม่ได้คิดถึงบุคคล แต่คิดถึงเรื่องของบุคคลนั้น

    ถ. อาจจะมี

    สุ. นั่นคือ คิดถึงบุคคลแล้ว ในขณะที่คิดถึงเรื่อง อ่านหนังสือพิมพ์หรือเปล่า มีเรื่องของใครบ้าง

    ถ. ขณะนั้นคิดด้วยความเลื่อนลอย

    สุ. มิได้ ขณะนั้นควรจะเป็นคิดด้วยเมตตา นั่นคือ การเจริญเมตตา อย่ากล่าวว่าเลื่อนลอย เพราะขณะนั้นปกติเคยเป็นโลภะบ้าง เคยเป็นโทสะบ้าง เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ในขณะที่คิดถึงเรื่องของบุคคลนั้น ก็ควรที่จะคิดด้วยเมตตาแทนโลภะ หรือโทสะ

    ถ. คิดด้วยเมตตา คิดอย่างไร

    สุ. มีจิตที่ปรารถนาดี เป็นมิตร ไม่เบียดเบียน คอยปกป้อง คุ้มครอง เอ็นดูในบุคคลนั้น

    ถ. ก็ไม่พ้นจากคิดอีก

    สุ. เรื่องของพรหมวิหาร ๔ เป็นเรื่องคิด แต่คิดด้วยกุศลจิต ประกอบด้วยเมตตา ไม่ว่าจะคิดถึงบุคคลนั้นในเรื่องอะไร ในข้อความอะไร จิตที่คิดนั้นประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่คิดที่จะเบียดเบียน ประทุษร้าย เอารัดเอาเปรียบ หรือว่ายกตนข่มบุคคลอื่น

    ถ. แต่ในตำราที่ผมว่ายังไม่จบ

    สุ. ในตำรานั้น หลังจากบรรลุอัปปนาแล้ว จึงจะแผ่ได้

    ถ. คำว่า แผ่ ผมคิดว่า ขณะที่คิด เรียกว่าแผ่ หรือเรียกว่าคิด ก็อย่างเดียวกัน คือ คิดว่าขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร

    สุ. ทำไมต้องสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง นั่นมากเหลือเกิน

    ถ. บางครั้งอยู่ในสถานที่หนึ่งสถานที่ใด มีบุคคลมากๆ ก็ขอให้บุคคลทั้งหลายในบริเวณนั้นจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน คิดอย่างนี้ก็ได้ แต่ถ้า ไม่มีคน นั่งอยู่คนเดียว บางทีอาจจะคิดถึงคนนั้นๆ หรือบางทีก็แผ่ไปจนที่สุด ก็แล้วแต่ เรียกว่าคิดไป แต่จุดประสงค์ไม่ใช่ต้องการฌานจิต จุดประสงค์ คือ ขณะที่คิด ขณะนั้นจิตเป็นกุศลมาแทนอกุศล ถ้าไม่ได้คิด จิตก็เป็นอกุศลตลอด แต่ถ้าคิดว่า ขอบุคคลทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวร ขณะนั้นจิตก็ยังเป็นกุศลมาแทนอกุศล

    สุ. แน่ใจหรือ

    ถ. ส่วนใหญ่

    สุ. ดิฉันยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องให้นึกว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง โดยที่ไม่พิจารณาสภาพของจิตที่เป็นปกติประจำวันว่าเคยคิดถึงใคร และพิจารณาให้ชัดเจนว่า ในขณะที่กำลังคิดถึงบุคคลนั้น จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก่อน

    ถ. นั่นยากกว่า

    สุ. เพราะนั่นเป็นการท่อง จึงง่าย แต่การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ ยาก ไม่ง่ายเลย อย่าคิดว่าการอบรมเจริญเมตตาเป็นเรื่องที่ง่าย ที่จะสำเร็จได้โดยเพียงการท่อง แต่จะต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของจิตพร้อมสติสัมปชัญญะจริงๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    ถ. ไม่ท่องไม่ได้ เบื้องต้นจำเป็นต้องท่อง เรื่องท่องเป็นเรื่องจำเป็นอยู่เหมือนกัน

    สุ. ขอเปรียบเทียบกับที่ท่านผู้ฟังบางท่านกล่าวว่า การอบรมเจริญ สติปัฏฐานนั้นต้องนึกเสียก่อนว่า ในขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถจะปรากฏทางตา หรือท่านคิดว่าท่านจะต้องท่องว่า ในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ สภาพที่กำลังรู้เสียง ได้ยินเสียง กำลังมีสภาพได้ยินจริงๆ ให้พิสูจน์ สภาพที่กำลังรู้เสียง ได้ยินเสียง เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และเสียงเป็นรูปที่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บางท่านกล่าวว่า ท่านต้องท่อง และท่านคิดว่า การท่องมีประโยชน์มาก จำเป็นที่จะต้องท่องเสียก่อน

    ขอให้พิจารณาให้ดีว่า ท่านไม่สามารถที่จะหยุดคิด แต่อย่าเข้าใจว่า ท่านต้องคิด ไม่ใช่มีกฎว่า คิดดี ให้คิด เพราะถ้าท่านเข้าใจอย่างนั้น ท่านจะคิดตลอดเวลา เพราะเข้าใจว่า การคิดนั้นดี ท่านจึงได้แต่คิดว่า ในขณะที่กำลังเห็นทางตาเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงสภาพของรูปธรรมที่สามารถจะปรากฏทางตา หรือเวลาที่ได้ยินเสียง ท่านก็คิดว่า ต้องท่องก่อน การท่องมีประโยชน์มาก ท่านก็ท่อง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ท่านควรที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยว่า แม้การคิดก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นบ่อยกว่าสัมมาสติที่ระลึกถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรมที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564