แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 896


    ครั้งที่ ๘๙๖


    สุ. การอบรมเจริญกุศลเป็นเรื่องที่ควรจะอบรมจริงๆ และเมื่อเป็น สมถภาวนาหรือเป็นวิปัสสนาภาวนา ย่อมเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ก่อน จึงจะเจริญได้ประโยชน์ได้ผลจริงๆ เพราะสังเกตดูท่านที่ท่อง ท่องจบแล้ว แต่เมตตาไม่ได้เกิดภายหลังการท่อง ผลของการท่อง คือ จำ แต่ผลของการอบรมเจริญเมตตาจะละคลายและขัดเกลาอกุศลอีกหลายประการให้เบาบาง โดยที่ท่านอาจจะไม่ทราบว่า เมตตาจะมีผลจะมีประโยชน์มากถึงอย่างนั้น

    ลักษณะของเมตตา คือ ไมตรี หรือความรู้สึกเป็นมิตร ความสนิทสนม ความเกื้อกูล ความนำประโยชน์สุขไปให้ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีความรู้สึกว่า ท่านจะสนิทสนมกับคนนี้ได้ไหม ท่านจะเป็นเพื่อนกับคนนั้นได้ไหม ท่านยังมีความยกตน สำคัญตนในชาติ ในสกุล ในสมบัติ ในฐานะ ในวิชา ในความรู้ จะเป็นเครื่องกั้น เป็นช่องว่างที่ท่านไม่สามารถจะมีความสนิทสนม ความเป็นมิตรอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นกับใครทั้งนั้นที่ท่านเห็น ที่ท่านพบ ที่ท่านสนทนาด้วย

    การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ จะขัดเกลาอกุศลอีกหลายอย่าง แม้แต่มานะ โดยที่ท่านอาจจะไม่ได้สังเกตตัวของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้มีมานะมากน้อยแค่ไหน แต่เวลาที่จะอบรมเจริญเมตตา จะเริ่มเห็นหลายอย่าง ซึ่งเมื่ออบรมเจริญเมตตาแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะต้องละคลายลดน้อยลงไปด้วย ไม่ใช่นึกแต่ว่า จะเจริญเมตตาโดยการท่อง ลืมอย่างอื่นหมด มานะก็ยังมาก เมื่อสำคัญตน จะสนิทสนมเป็นกันเองด้วยใจจริง เป็นมิตรกับบุคคลอื่นได้อย่างไร ลืมหมดว่า มานะเป็นอย่างไร และมีมากน้อยแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ลักษณะของอกุศลธรรมเวลาที่ปราศจากเมตตาด้วย และเวลาที่เมตตาเกิด ความอ่อนโยนของจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ความรู้สึกเป็นเพื่อนสนิทสนมคุ้นเคยอย่างแท้จริง ในขณะนั้นจะต้องปราศจากลักษณะของมานะ ซึ่งเป็นสภาพที่ยกตน สำคัญตน และข่มบุคคลอื่น

    ถ. คำว่า เมตตา บางทีท่องไปท่องมาเกิดเป็นโลภะก็มี อย่างสมัยก่อน ผมเป็นหนุ่มๆ ไปหาอาจารย์ทำเสน่ห์ ท่องคาถา อยากจะให้ผู้หญิงรัก ท่านบอกว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราก็ท่องไป ความจริงจิตของเราเกิดความโลภ ความกำหนัด ต้องการลูกสาวเขา ความจริงที่ท่องไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีสติ จะท่องสัก ๑๐๐ สัก ๑,๐๐๐ ก็ไม่มีประโยชน์ บางทีก็ให้โทษ

    สุ. เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเริ่มด้วยการรู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ ว่า ในขณะใดที่เมตตาเกิด จะเป็นลักษณะของมิตร ของไมตรี ของความสนิทสนม ของการเกื้อกูล ของการน้อมนำประโยชน์ให้บุคคลนั้น ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีมานะด้วยในขณะนั้น

    ขอกล่าวถึงลักษณะของมานะ เพื่อท่านผู้ฟังซึ่งใคร่จะขัดเกลามานะด้วย จะได้เจริญเมตตาได้เพิ่มขึ้น

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    ที่ชื่อว่าความถือตัว เนื่องด้วยกระทำมานะ คำว่ากิริยาที่ถือตัว ความถือตัว แสดงขยายถึงอาการและภาวะ ที่ชื่อว่าการยกตน เกี่ยวกับเชิดชูตน

    ในขณะนั้นปราศจากเมตตา อย่าลืม ผู้ใดที่จะเจริญเมตตา ในขณะนั้นต้อง ไม่มีมานะ

    การยกตนเกิดขึ้นแก่บุคคลใด ย่อมยังบุคคลนั้นให้เทิดขึ้น คือ สถาปนาตนยกขึ้นไว้ เหตุนั้นจึงชื่อว่าการเทิดตน

    ดีไหม งามไหม เป็นกุศลหรือเปล่าในขณะที่เป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่เห็นว่าเป็นอกุศล

    ความอ่อนน้อม ความอ่อนโยน งามกว่า ดีกว่า แต่ทำได้ไหม เวลาที่เห็นสัตว์ เห็นบุคคลใดๆ ถ้ามีคุ้นเคยสนิทสนม เป็นมิตร เป็นไมตรีจริงๆ จะไม่มีอาการเหล่านี้

    ที่ชื่อว่าการเชิดชูตนดุจธง โดยความหมายว่า ทำตัวให้โบกขึ้น ให้เป็นที่เด่น หรือให้สำคัญขึ้น

    ที่ชื่อว่าการยกจิตขึ้น ด้วยอรรถว่า ประคองจิตไว้ โดยความหมายว่า ยกขึ้นไว้

    บรรดาธงหลายคัน ธงที่ยกขึ้นสูงกว่าเขา ชื่อว่าเกตุ (หรือเก - ตุ) หมายความว่า ธงเด่น แม้มานะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ก็เปรียบได้กับธงเด่น โดยเทียบกับมานะต่อๆ มา เหตุฉะนั้น จึงชื่อว่าเกตุ แปลว่า ดุจธงเด่น

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า เกตุกมฺยํ ด้วยอรรถว่า ปรารถนาเป็นดุจธง ภาวะแห่งธรรมชาติที่ต้องการเป็นดุจธง ชื่อว่า เกตุกมฺยตา แปลว่า ความต้องการเป็นดุจธง และความต้องการเป็นดุจธงนั้นเป็นของจิต ไม่ใช่ของตน ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง จริงอยู่ จิตที่สัมปยุตต์ด้วยมานะ ย่อมปรารถนาเป็น ดุจธง และภาวะแห่งจิตนั้น ชื่อว่าความต้องการเป็นดุจธง ได้แก่ มานะ ที่นับว่า เป็นดุจธง

    แม้แต่เรื่องของมานะยังต้องแสดงไว้มากมาย เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ไม่ใช่ลักษณะอาการที่อ่อนโยน หรือว่าสนิทสนม หรือว่าเป็นไมตรีกับบุคคลอื่น เวลาที่มีความสำคัญตน ยกตนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตา สติสัมปชัญญะจะรู้ในขณะนั้นด้วยว่า มีอกุศลอย่างนี้ไหม ถ้ามี ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญเมตตาแล้ว

    นอกจากนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ริษยา ขณะนั้นก็ไม่มีความเป็นมิตรกับบุคคลที่ท่านริษยาแน่นอน เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สำหรับผู้ที่จะเจริญเมตตาจริงๆ จะต้องระลึกรู้ลักษณะของอาการสนิทสนม ที่จะต้องปราศจากความริษยาในบุคคลนั้นด้วย

    สำหรับอาการของริษยา ใน อัฏฐสาลินี อธิบายนิทเทสของอิสสาสัญโยชน์ มีข้อความวินิจฉัยความหมายของริษยาว่า

    คำว่า การริษยาในลาภสักการะ การกระทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนอื่นเป็นต้น อันใดนั้น ความว่า การริษยา ซึ่งมีการขึ้งเคียดสมบัติของคนอื่นเป็นลักษณะว่า จะประโยชน์อะไรด้วยสิ่งนี้แก่คนเหล่านี้ ในลาภเป็นต้น ของคนเหล่าอื่นอันใด

    ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลจะดับริษยาได้เป็นสมุจเฉท เพราะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครจะสามารถบันดาลลาภ ความเคารพ การ นับถือ การไหว้ การบูชาของบุคคลอื่นได้ แต่จะต้องมีเหตุปัจจัยทำให้แต่ละบุคคล เป็นผู้มีลาภสักการะ หรือว่าได้รับความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชาของคนเหล่าอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะริษยา ขณะใดที่เกิดริษยาในบุคคลใด ขณะนั้นไม่ใช่การเจริญเมตตา

    ความริษยาไม่ได้จำกัดบุคคล ในวงศาคณาญาติมีไหม สนิทยิ่งกว่ามิตรสหายและบุคคลอื่น แต่ลักษณะอาการของความริษยาซึ่งเป็นอกุศลธรรมก็ยังเกิดได้ แม้ใน ผู้ที่ท่านควรจะเป็นมิตรอย่างยิ่ง เพราะเป็นวงศาคณาญาติ แต่อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ผู้ที่อบรมเจริญเมตตา ขณะใดที่ริษยาเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องรู้ว่า ปราศจากเมตตา เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญเมตตากับบุคคลซึ่งเป็นที่รักจะต้องมีการเปรียบเทียบว่า แต่ก่อนลักษณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความติด เป็นอาการของความยินดีพอใจ ผูกพัน แต่เวลาที่เป็นเมตตาต้องเบา ไม่มีลักษณะอาการเหมือนกับลักษณะของโลภะ และถ้าเป็นบุคคลที่ชัง เพียงนึกถึงชื่อยังไม่ได้เห็นหน้า บางคนอาจมีความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น ซึ่งต้องรู้ว่าปราศจากเมตตา เวลาที่มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจ

    เพราะฉะนั้น มีลักษณะสภาพของอกุศลธรรมหลายประเภทที่เป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่า ขณะนั้นปราศจากเมตตา ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตาจึงต้องเป็นผู้ละเอียด และรู้ลักษณะของจิตจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง และไม่ควรจะยินดีเพียงสามารถที่จะเมตตาได้ในบุคคลบางพวก แต่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่อิ่ม ไม่พอ ในการที่จะเจริญเมตตาให้มากยิ่งขึ้นกับบุคคลทั้งหลาย ไม่ใช่กับบุคคลเพียงบางพวก

    นอกจากนั้น ต้องเป็นผู้ที่ปราศจากมัจฉริยะ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้สึกเป็นมิตร สนิทสนม หรือใคร่ที่จะเอ็นดูเกื้อกูล

    สำหรับลักษณะของมัจฉริยะ ความตระหนี่ มี ๕ คือ

    ๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่อาศัย

    ๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ตระกูล

    ๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ

    ๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ

    ๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม

    ใน อัฏฐสาลินี แสดงอรรถแห่งมัจฉริยะตามไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือเหมือนกัน มีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่าการตระหนี่ เนื่องด้วยความเหนียวแน่น อาการเหนียวแน่น ชื่อว่า กิริยาที่ตระหนี่

    นี่เป็นการตรวจสอบสภาพธรรมซึ่งมีอยู่ในจิตใจของทุกท่าน ที่ยังไม่ได้ดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท เพราะผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วจึงดับมัจฉริยะเป็นสมุจเฉท แต่เมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน ก็ยังมีมัจฉริยะอยู่ และอาการของมัจฉริยะก็มีหลายลักษณะ เช่น อาการเหนียวแน่น ชื่อว่ากิริยาที่ตระหนี่

    ภาวะแห่งจิตที่ถูกความเหนียวแน่นให้เป็นไปแล้ว มีความพร้อมเพรียงอยู่ด้วยความเหนียวแน่น ชื่อว่าความตระหนี่

    บุคคลชื่อว่าผู้หวงแหน ด้วยอรรถว่า ไม่ปรารถนาจะให้สมบัติของตนทั้งหมด ซึมซาบไปว่า ขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของคนอื่นเลย ภาวะแห่งบุคคลผู้หวงแหน ชื่อว่าความหวงแหน นี้เป็นชื่อแห่งมัจฉริยะอย่างอ่อน

    มัจฉริยะก็มีทั้งอย่างอ่อนและอย่างแรงกล้า ถ้าท่านเพียงแต่ไม่ปรารถนาที่จะให้สมบัติของท่านสาธารณะเป็นของบุคคลอื่น ให้เป็นของท่านเท่านั้น อย่าให้เป็นของคนอื่นเลย ขณะที่สภาพธรรมอย่างนั้นเกิดขึ้น เป็นลักษณะของมัจฉริยะอย่างอ่อน

    บุคคลผู้ไม่มีความเอื้อเฟื้อ เรียกว่าคนเห็นแก่ตัว

    ขณะนั้นปราศจากเมตตา สำหรับผู้ที่จะเจริญเมตตา จะต้องมีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ว่า ผู้ไม่มีความเอื้อเฟื้อ เป็นคนเห็นแก่ตัว

    ภาวะแห่งคนเห็นแก่ตัวนั้น ชื่อว่าความเห็นแก่ตัว นี้เป็นชื่อแห่งมัจฉริยะอย่างกระด้าง

    ซึ่งมีคำอธิบายว่า

    จริงอยู่ บุคคลผู้ประกอบด้วยความเห็นแก่ตัวนั้น ย่อมห้ามแม้คนอื่นให้ทานแก่คนอื่น ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า คนที่เห็นแก่ตัว มีความคิดเลว มีความ เห็นผิด ไม่มีความเอื้อเฟื้อ ย่อมห้ามคนอื่นผู้กำลังให้อาหารแก่ผู้ขอ ดังนี้

    เคยเห็นไหม ใครก็ตามที่กำลังจะให้วัตถุอะไรกับบุคคลอื่น ท่านก็กลับห้ามว่า อย่าให้เลย นั่นคือมัจฉริยะอย่างกระด้าง และสภาพธรรมที่เป็นอกุศล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษที่เป็นอกุศลจริงๆ ว่า ความคิดอย่างนั้นเป็นความคิดเลว เป็นความ เห็นผิด ไม่มีความเอื้อเฟื้อ

    ข้อความต่อไป เป็นลักษณะของมัจฉริยะ มีข้อความว่า

    บุคคลใดเห็นยาจกแล้ว คับใจ คือ เหี่ยวหดด้วยความขมขื่น เหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่ากฏุกญฺจุโก แปลว่า คนมีใจคับแคบ

    ไม่ได้สงสาร ไม่ได้เมตตา ไม่มีความเป็นเพื่อน ไม่มีการที่จะเกื้อกูลเอ็นดู พอเห็นคนที่เป็นยาจก ก็เกิดเหี่ยวหดด้วยความขมขื่น จิตใจไม่เบิกบาน ไม่สบาย ไม่ผ่องใส ไม่คิดที่จะเกื้อกูล หรือว่านำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปให้บุคคลนั้นเลย

    ภาวะแห่งคนใจคับแคบนั้น ชื่อว่าความมีใจคับแคบ อีกนัยหนึ่ง ความเป็นคนใจแคบ เหมือนเครื่องคด หรือทัพพี เรียกว่ากฏุกญฺจุกตา

    จริงอยู่ บุคคลเมื่อจะคดข้าวในหม้อ ซึ่งเต็มเสมอขอบปาก ย่อมเอาปลายทัพพี ซึ่งแคบไปเสียทุกส่วนคดเอา ย่อมไม่สามารถจะคดให้เต็มได้ จิตของบุคคล ผู้ตระหนี่ก็เหมือนอย่างนั้น ย่อมคับแคบ เมื่อจิตนั้นคับแคบ แม้กายก็คับแคบ ถดถอยไม่คลี่คลายเหมือนเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ จึงตรัสเรียกว่า กฏุกญฺจุกตา แปลว่า ความเป็นคนใจคับแคบเหมือนเครื่องคด คือ ทัพพี

    แคบไปเสียทุกส่วน หวงไปเสียหมด ปราศจากเมตตา เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญเมตตาจะทำอย่างไรเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น ก็ย่อมจะเกื้อกูล มีความรู้สึกเป็นมิตร สนิทสนมด้วยใจจริง

    คำว่า ความกันเอาไว้แห่งจิต ได้แก่ ความที่จิตกันเอาไว้ โดยไม่ยอมคลี่คลายตามอาการ มีการให้ทาน เป็นต้น ในการกระทำอุปการะแก่คนเหล่าอื่น ก็เพราะบุคคลตระหนี่ย่อมเป็นผู้ไม่อยากให้ของตนแก่คนอื่น อยากแต่จะรับเอาของคนอื่น

    ลักษณะของความตระหนี่ ถ้าจะเปรียบกับมือก็คงจะกำแน่นเลย และคิดแต่ว่า ใครจะให้

    ฉะนั้น พึงทราบความที่ความตระหนี่นั้น มีการซ่อนสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง มีการถือเอาเป็นสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง เกี่ยวกับความเป็นไปว่า ความอัศจรรย์นี้ จงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของคนอื่นเลย ดังนี้

    หวงแม้แต่ความสามารถ ขอเป็นผู้ที่เก่งแต่เพียงผู้เดียว แม้ความอัศจรรย์นี้ จงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของคนอื่นเลย ดังนี้

    ขณะนั้นปราศจากเมตตาแน่นอน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาสามารถจะกระทำได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกได้ว่า ขณะนั้นมีอกุศลประเภทใดเกิดขึ้นที่ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา และเมตตาก็จะเกิดขึ้นแทนอกุศล เพราะเป็นผู้ที่ไม่อิ่ม ไม่พอ ในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564