แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 897


    ครั้งที่ ๘๙๗


    ถ. ขณะที่นึกถึงศัตรูของผม นึกถึงครั้งใด จิตเคียดแค้นทุกที ผมจะเจริญเมตตา ผมต้องทำอย่างไรบ้าง

    สุ. ให้รู้ว่า จะไปโกรธเขาทำไม ไม่มีประโยชน์ ได้ประโยชน์อะไร

    ถ. เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยทำให้เราเจ็บใจ

    สุ. แต่ได้ประโยชน์อะไร การโกรธมีประโยชน์อะไร

    ถ. ก็ต้องคิดอีกใช่ไหมว่า ไม่เป็นประโยชน์

    สุ. ไม่ได้ห้ามคิด แต่ไม่ใช่ท่องโดยที่ไม่รู้ว่า ขณะที่เมตตาเกิดกับการที่คิดนั้น ต่างกับขณะที่ท่อง

    ถ. ขณะที่ท่อง กับขณะที่คิด ผมคิดว่าไม่ต่างกัน

    สุ. ท่องมาแล้ว เวลาเห็น หรือเวลานึกถึงเขา ก็โกรธ

    ถ. ไม่ต้องเห็น เพียงนึกก็โกรธแล้ว

    สุ. และจะมีประโยชน์อะไร เมื่อท่องไม่ให้โกรธ ก็ยังโกรธ

    ถ. ท่องแล้วหาย

    สุ. และเวลาเห็น

    ถ. ยังไม่รู้ เพราะยังไม่เห็น

    สุ. เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ว่า เวลาเห็น เมตตาสามารถจะเกิดได้ไหม หรือว่าเกิดเพียงแค่ขณะที่ท่อง แต่เวลาที่เห็นไม่เกิด ถ้าสามารถเกิดได้ในขณะที่ ไม่ท่อง เป็นการดี เพราะเมตตาสามารถที่จะเกิดได้ในทุกโอกาส แม้ไม่ท่อง

    ถ. ไม่ท่อง แต่เมตตาเกิด เกิดได้อย่างไร

    สุ. แสดงให้เห็นการติด ติดแล้ว ติดการท่องจนเมตตาไม่สามารถจะเกิดได้เมื่อไม่ท่อง

    ถ. เมื่อคืนนี้ ผมนอนไม่หลับ นึกถึงเรื่องที่ผ่านไปตั้ง ๑๐ ปี ผมพาลูกชายไปสมัครที่โรงเรียน อายุเขาเกินชั้นเรียน แต่โรงเรียนก็ไม่ปฏิเสธ บอกให้พาเด็กไปให้ดู เด็กติดรถไปส่งของ ผ่านที่นั่น ผมก็พาเด็กไปให้ดู แต่ไม่ได้แต่งชุดนักเรียน เพราะไปส่งของ เจ้าของโรงเรียนโวยวายว่า แต่งตัวมอซออย่างนี้ ว่าเสียๆ หายๆ ผมโมโหทะเลาะกับเขาว่า คุณจะดูเด็กหรือจะดูเสื้อผ้า ไปส่งของเขาแต่งตัวอย่างนี้ดีที่สุดแล้ว ก็ทะเลาะกัน ไม่รู้เรื่องนี้ทำไมผุดขึ้นมาได้ ก็โกรธ และก็คิดได้ว่า ความโกรธนี้ ไม่สมควร จึงนึกขึ้นว่า ขอให้อาจารย์คนนั้นๆ จงมีความสุข ความโกรธก็หายได้

    สุ. ก็ดี

    ถ. นี่เป็นผลของการท่อง

    สุ. โดยที่ว่า คิดอย่างไร ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หรือขอให้อาจารย์ผู้นั้น เพราะฉะนั้น ต้องเริ่ม ไม่ใช่ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อย่าเริ่มที่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง แต่ต้องนึกถึงแต่ละบุคคล เป็นแต่ละบุคคล นี่เป็นการตั้งต้น ถ้านึกถึงบุคคลใดแล้วโกรธ สติระลึกได้ มีจิตเมตตาในบุคคลนั้น เริ่มอย่างนี้ ไม่ใช่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ต่อไปแม้ไม่คิดอย่างนี้ ความเมตตาก็จะเพิ่มขึ้น

    ถ. ก็มาจากเหตุของเขาเหมือนกัน ก่อนๆ นี้ไม่ใช่ว่าผมนึกเพียงครั้งเดียว นึกเป็นสิบๆ ครั้ง นึกทีไรโกรธทุกที แต่ก่อนนี้ไม่เคยท่อง ไม่เคยนึกว่า ขอให้อาจารย์นี้จงมีความสุข แต่เมื่อคืนนี้ทำไมนึกได้ว่า เวลานี้กำลังโกรธ นั่นเพราะสติเกิดขึ้น รู้ลักษณะนั้น

    สุ. นี่เป็นการเริ่มแล้ว คือ เปลี่ยนจากสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมาเป็น แต่ละบุคคล ซึ่งถูกต้อง ต้องเริ่มจากทีละบุคคล

    ถ. เริ่มทีละบุคคล

    สุ. แน่นอน

    ถ. เป็นหมู่ๆ ได้ไหม

    สุ. ยังไม่หมู่

    ถ. สมมติว่า ในที่นี้ ผมท่องในใจว่า ขอให้บุคคลทั้งหลายในศาลานี้จง เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด

    สุ. เหมาใช่ไหม

    ถ. เหมา

    สุ. แต่ว่าบุคคลในที่นี้ เป็นที่รักก็มี เป็นที่ชังก็มี เป็นที่เฉยๆ ก็มี เป็นที่เคารพนับถือก็มี จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนประกอบด้วยเมตตาแท้จริง ถ้าไม่คิดถึงแต่ละบุคคล จนกระทั่งเมตตาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ต้องเพิ่ม นี่ยังไม่ทันเพิ่มก็จะแผ่ แต่การที่จะแผ่ ยังไม่มีอะไรที่จะแผ่ เพราะพอคิดถึงคนโน้นก็โกรธ คิดถึงคนนี้ก็ไม่พอใจ แต่ผู้ที่จะแผ่ได้ หมายความว่า เต็มแล้ว มีแล้ว จากการที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่า ท่านผู้ฟังยังไม่ได้ทันเพิ่มเมตตาขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ท่านผู้ฟังก็จะมีเมตตากว้างใหญ่ไพศาลพอที่จะไปแผ่แล้ว

    เพราะฉะนั้น ยังไม่มี ยังไม่เพิ่ม อย่าเพิ่งแผ่ เพิ่มแล้ว มากขึ้น ทีนี้แผ่ได้ แต่ที่จะแผ่ได้จริงๆ ต้องบรรลุอัปปนาสมาธิ คือ ถึงปฐมฌาน เป็นต้น

    ถ. โยนิโสมนสิการ เป็นอย่างไร

    สุ. พิจารณาด้วยความแยบคาย คือ เป็นกุศล

    ถ. อาจารย์ช่วยยกตัวอย่าง

    สุ. เวลาที่กุศลจิตเกิด เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบ เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เราทำ

    ถ. สัมปยุตต์ แปลว่า ประกอบด้วย ใช่ไหม

    สุ. สำหรับนามธรรมประกอบกับนามธรรม เช่น โลภเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เป็นสัมปยุตตปัจจัย

    ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องเข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่า สัมปยุตต์ ก็หมายความถึงนามธรรมและนามธรรมเท่านั้นที่จะประกอบโดยเป็นสัมปยุตต์กันได้ ถ้านามธรรมเกิดพร้อมกับรูปธรรม ไม่สามารถที่จะเข้ากันได้อย่างนามธรรมด้วยกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สัมปยุตต์ ถ้านามธรรมกับรูปธรรมเป็นวิปปยุตตปัจจัย

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องการอบรมเจริญเมตตาไว้มากในพระสูตรต่างๆ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มณิภัททสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เจดีย์ชื่อมณิมาฬกะ อันเป็นที่ครอบครองของยักษ์ชื่อมณิภัททะ ในแคว้นมคธ ฯ

    ครั้งนั้นแล ยักษ์ชื่อมณิภัททะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ และคนมีสติย่อมหลุดพ้นจากเวร ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ แต่คนมีสติยังไม่หลุดพ้นจากเวร ฯ

    แต่ผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดวันและคืนทั้งหมด และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ

    ดูเหมือนกับว่า จะทำตามทันทีใช่ไหม ในสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องสูง คือ ทั้งผู้ได้ฌานและยังไม่ได้ฌาน ถึงแม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสว่า ผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ หรือข้อความที่ว่า แต่ผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดวันและคืนทั้งหมด ซึ่งแสดงคุณของการเจริญเมตตาเป็นอันมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เพียงการมีเมตตา แม้ว่าจะถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตนั้น จะสูงกว่าหรือ เลิศประเสริฐกว่าสติปัฏฐาน เพราะการที่จะมีเมตตาอย่างแท้จริง ไม่มีโทสะเกิดอีกเลย ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล หรือว่าผู้ที่จะมีเมตตาได้มากขึ้น เพิ่มขึ้น ก็เพราะผู้นั้นเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งสมมติบัญญัติเรียกชื่อไปตามอาการที่ปรากฏต่างๆ กันเท่านั้นเอง แต่ว่าโดยสภาพที่แท้จริงแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    มีท่านผู้ฟังบอกว่า เวลาที่นั่งเฉยๆ รู้สึกเลื่อนลอย จึงต้องท่องเมตตายาวๆ ซึ่งความจริงแล้ว ผู้ที่มีจุดประสงค์ในชีวิตที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ควรจะลืมว่า ในขณะที่เลื่อนลอย หรือเข้าใจว่าขณะนั้นไม่ได้คิดอะไร เพราะสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ควรที่สติจะเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ลืมจุดประสงค์ คือ การระลึกศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ต้องอาศัยการอบรมจริงๆ โดยการที่รู้ว่า สติเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องศึกษา สำเหนียก สังเกต เพื่อที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยรู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม ซึ่งกำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด

    แต่ถ้าท่องจะลืมว่า การที่สติจะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ เป็นสิ่งที่ควรอบรม เพราะสภาพธรรมเป็นสิ่งที่รู้ยาก ไม่ใช่รู้ง่าย และขณะที่ท่องก็ไม่แน่ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ไม่สามารถจะทราบได้ว่า ขณะที่ท่องนั้นจิตเป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล เพราะอาจจะเป็นเพียงการท่องเท่านั้น และในขณะที่ท่อง ไม่ทราบว่าจุดประสงค์จริงๆ นั้น เพราะอะไร

    ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เห็นโทษของโทสะ และต้องเห็นโทษของโลภะด้วย ซึ่งส่วนมากอาจจะไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ในลักษณะของโทสะที่เป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย ทำให้จิตเดือดร้อน แต่ลืมว่าแม้แต่โลภะก็เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา เพราะอยู่ใกล้ชิดจนเกือบจะมองไม่เห็นว่าในขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นเมตตา เวลาที่โทสะเกิด เห็นชัดว่าลักษณะนั้นตรงกันข้ามกับเมตตา สภาพของโทสะเป็นสภาพที่ไม่ทำให้จิตใจสบาย ไม่ทำให้จิตใจแช่มชื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่พอใจที่จะให้โทสะเกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่า การอบรมเจริญเมตตาที่แท้จริงต้องเป็นกุศล ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะต้องรู้ว่า เมื่อปราศจากโทสะในขณะนั้น ก็จะต้องปราศจากโลภะด้วย

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของเมตตาไม่ใช่ง่าย คือ ต้องรู้ว่า ปกติธรรมดามีความพอใจ สนิทสนมคุ้นเคยฉันเพื่อนกับบุคคลใด ในขณะนั้นอาจจะเป็นโลภมูลจิตก็ได้ เพราะมีท่านผู้ฟังที่บอกว่า เวลาพูดถึงว่า ให้มีเมตตาต่อคนอื่นเหมือนกับเห็นเพื่อน หรือเหมือนมีเมตตาต่อเพื่อน ท่านผู้นั้นก็บอกว่า พอคิดถึงเพื่อน ทีไร ท่านเป็นโลภมูลจิต ท่านรักเพื่อน ซึ่งในขณะนั้นรู้ได้ว่า ไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ

    ผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตา ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นโลภะ และขณะใดเป็นเมตตาที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่เคยเป็นที่รัก ที่สนิทสนม ที่คุ้นเคย เป็นญาติสนิท เป็นมิตรสหาย และความรู้สึกผูกพันที่ท่านมีต่อบุคคลนั้นท่านก็สังเกตได้ว่า ขณะนั้นยังไม่ใช่เมตตา แต่เป็นความผูกพัน เป็นลักษณะ เป็นอาการของโลภะ ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ ต้องเสมอเหมือนกันหมด ในบุคคลซึ่งเคยเป็นที่รักและบุคคลอื่น ความรู้สึกเป็นมิตรอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นความรู้สึกผูกพันอย่างโลภะ

    และสำหรับการที่ควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน แทนการที่เพียงแต่จะท่องโดยที่ไม่ได้ระลึกรู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าไม่ใช่กุศล ก็คงจะไม่ลืมข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตร ข้อความตอนท้าย ซึ่งมีข้อความว่า

    การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ

    นี่เป็นการเทียบกุศลขั้นต่างๆ และการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือ ศีลข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๕ นั้น มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ และการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ ศีล ๕ และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. เรื่องของเมตตาที่อาจารย์กล่าวว่า ใกล้กับโลภะ แต่ข้อความในพระไตรปิฎก บางครั้งท่านกล่าวว่า ลักษณะเหมือนๆ กับโลภะ ลักษณะของเมตตา ท่านกล่าวว่า การรักใคร่ กิริยาที่รักใคร่ ความรักใคร่ นั่นคือเมตตา

    สุ. ข้อความใน อัฏฐสาลินี ที่กล่าวแล้วในคราวก่อน ก็ได้กล่าวถึงลักษณะของอโทสะ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นไมตรี กิริยาที่เอ็นดู กิริยาที่สนิทสนม คอยคุ้มครอง อาการที่คอยปกป้อง ภาวะแห่งจิตที่คอยปกป้อง ความแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตาจริงๆ เป็นเรื่องละเอียด โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม สั้นแค่ไหน เพราะสภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กุศลจิตเกิด แม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังมีคุณประโยชน์มากกว่าโลภะซึ่งเกิดมากๆ แต่ถ้าสติปัฏฐานหรือว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นโลภะหรือเป็นเมตตา เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเจริญโลภะแทนเมตตา นี่เป็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด ที่จะให้ทราบลักษณะที่ต่างกันของสภาพของโลภะและเมตตา

    ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาลักษณะต่างๆ ของโลภะ ตามข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายนิทเทสโลภะ จะได้ทราบว่า ต่างกับขณะที่เป็นเมตตา

    ข้อความอธิบาย นิทเทสโลภะ มีว่า

    ชื่อว่าความกำหนัด เนื่องด้วยความยินดี ผูกพันพอใจ

    นี่ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา

    ชื่อว่าความกำหนัดนัก โดยความหมายว่า ยินดีรุนแรง

    ชื่อว่าความคล้อยตามอารมณ์ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย

    นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ในขณะใดที่เมตตาไม่เกิด จิตถูกนำไปโดยโลภะ หรือว่าลักษณะของจิตในวันหนึ่งๆ เป็นไป ถูกชักจูงไป หรือว่าคล้อยตามโลภะไปตลอดเวลาตั้งแต่เช้าเป็นต้นมา ทุกวันๆ ถ้าไม่สังเกตจะไม่ทราบว่า จิตคล้อยตามโลภะอยู่เสมอ เมื่อมีความยินดีพอใจในอารมณ์ใด ก็กระทำตามความคิด ตามความพอใจในอารมณ์นั้น ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ในขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่ใช่เมตตา

    เมื่อเห็นลักษณะของโลภะ ภายหลังเวลาเมตตาเกิด จะได้เปรียบเทียบได้ถูกต้องว่า ลักษณะนี้ต่างกับลักษณะที่เคยเป็น แต่ต้องรู้ก่อนในลักษณะของโลภะ ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๘๙๑ – ๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 81
    28 ธ.ค. 2564