แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
ครั้งที่ ๙๐๑
สาระสำคัญ
อถ.ขุท.ชาดก.ตุณฑิลชาดก อบรมเจริญให้มีเมตตาเพิ่มขึ้น
ขอกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องท่อง ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ฉักกนิบาตชาดก ขุรปุตตวรรค ตุณฑิลชาดก มีเนื้อความว่า
ที่พระวิหารเชตวัน มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่กลัวตายมาก แม้แต่ได้ยินใบไม้ร่วง หรือเสียงอะไรตก หรือเสียงสัตว์ร้องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สะดุ้งหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์
ความกลัวตาย แม้แต่ได้ยินเสียงเบาๆ หรือเสียงอะไรตกก็ตกใจ กลัวว่าจะเป็นเหตุที่จะต้องตาย
จนกระทั่งเป็นที่เรื่องลือไปทั่วพระวิหารเชตวัน พระภิกษุทั้งหลายก็ได้ประชุมสนทนากันว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นผู้ที่กลัวต่อความตาย จนกระทั่งได้ยินเสียงอะไรก็ตกใจสะดุ้งหวาดกลัว อยู่ไม่เป็นสุข ไปไหนก็ไม่เป็นสุขทั้งกลางคืนกลางวัน มีความกลัวอยู่เป็นปกติธรรมดา
วันนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาสู่โรงธรรมสภา ที่พระภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องพระภิกษุผู้กลัวความตายนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ท่านพระภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า ภิกษุรูปนี้เป็นผู้มีความกลัวไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเป็นผู้ที่กลัวตายยิ่งนัก ดังนี้ แล้วพระองค์ได้ทรงนำเอาอดีตนิทาน (คือ ความเป็นมาในอดีตชาติก่อนๆ) ของภิกษุรูปนั้นเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในอดีตกาลนานมาแล้ว นานจนแสนนานมานั้น ในเมืองพาราณสี มีหญิงคนหนึ่งเป็นคนทำไร่ฝ้าย เวลาที่จะไปไร่ ก็ใช้ไม้เท้ายันกายไปตามปกติเป็นนิตย์ วันหนึ่งขณะที่กลับจากไร่ฝ้าย ผ่านป่าละเมาะ ก็ใช้ไม้เท้าที่สำหรับยันนำทาง ทุบๆ ตีๆ เหวี่ยงๆ ไปข้างๆ ทาง ครั้งนั้นก็มีแม่หมูตัวหนึ่งกำลังออกลูกอยู่ที่ใกล้ทางนั้น พอได้ยินเสียงไม้เท้าของนางก็ตกใจ หนีไป และทิ้งลูกหมูไว้ ๒ ตัว พอหญิงนั้นเห็นลูกหมูเข้า ก็เกิดความรักใคร่สงสาร เมื่อรู้ว่าแม่ของลูกหมูนั้นก็หนีไปแล้ว ก็เอาลูกหมูทั้ง ๒ ตัวนั้นเลี้ยงไว้ที่บ้าน ตั้งชื่อลูกหมูตัวโตว่ามหาตุณฑิละ ให้ชื่อลูกหมูตัวเล็กว่า จุลตุณฑิละ เมื่อเลี้ยงไปนานๆ ก็มีความรักใคร่ในลูกหมูนั้นมาก เหมือนกับรักลูกของตัวเอง อุตส่าห์พยายามเลี้ยงดูลูกหมูเหมือนอย่างเลี้ยงดูบุตร แต่ว่านางรักลูกหมูตัวโตมากกว่าลูกหมูตัวเล็ก
ต่อมาลูกหมูนั้นก็โตขึ้นและน้ำหนักมากขึ้น ในครั้งนั้นมีพวกบุรุษอันธพาล หรือพวกนักเลงทั้งหลายซึ่งชอบบริโภคเนื้อหมู ไม่ทราบว่าจะไปหาเนื้อหมูที่ไหนมาบริโภค ก็พยายามขอซื้อลูกหมูจากหญิงชราผู้นั้น
หญิงนั้นก็กล่าวว่า เราจะขายให้ท่านไม่ได้ เพราะว่าเรารักลูกหมูทั้ง ๒ ตัวนี้เหมือนกับบุตรของตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็ขายลูกของตัวให้ไม่ได้เป็นอันขาด
พวกบุรุษอันธพาลนั้นก็ไม่ท้อถอย พยายามตีราคาของลูกหมูนั้นให้สูงขึ้นอีก หญิงนั้นก็ไม่ยอมขายให้ พวกบุรุษอันธพาลก็คิดอุบายว่า ควรที่จะมอมเหล้าหญิงผู้นั้น และขอซื้อในภายหลัง ก็จัดแจงเอาสุรามาเลี้ยงกันต่อหน้าหญิงนั้น ชักชวนให้หญิงนั้นดื่มสุรา และค่อยๆ ให้หญิงนั้นดื่มสุรามากขึ้นๆ จนกระทั่งเมา พอหญิงนั้นเมา ก็ขอซื้อลูกหมู ซึ่งขณะที่เมาทำให้หญิงนั้นลืมความรักใคร่ลูกหมูชั่วระยะหนึ่ง ก็รับปากว่าจะขายให้ แต่ว่าจะขายตัวเล็กให้ ตัวใหญ่ไม่ขาย
เมื่อตกลงกันแล้ว ก็เอาอาหารที่ดีๆ เข้าไปให้ลูกหมูตัวเล็กกิน และเรียกให้มาหา ซึ่งลูกหมูก็ตกใจ เพราะว่าไม่เคยเห็นกิริยาอาการอย่างนี้มาก่อน
ข้อความใน ตุณฑิลชาดก มีว่า
ลูกหมูจุลตุณฑิละกล่าวว่า
วันนี้มารดาให้ข้าวที่เทลงใหม่ๆ รางข้าวก็เต็ม มารดาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ รางข้าวนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีคนเป็นอันมากยืนถือบ่วงอยู่ ฉันไม่พอใจจะบริโภคข้าวนั้นเลย
ซึ่งตามธรรมดา เวลาจะให้ข้าวลูกหมูกิน หญิงนั้นจะให้ลูกหมูตัวโตกินก่อน เพราะรักใคร่ลูกหมูตัวโตมากกว่า แต่วันนั้นลูกหมูตัวเล็กก็แปลกใจ เพราะแทนที่จะให้ลูกหมูตัวโตกินก่อน กลับเอาอาหารไปให้ลูกหมูตัวเล็ก และมีคนยืนล้อมรอบและถือบ่วง ลูกหมูก็วิ่งไปหาลูกหมูตัวโต แสดงอาการตกใจ ซึ่งมหาตุณฑิละก็กล่าวปลอบว่า
เจ้าสะดุ้งกลัวภัย หมุนไปมา ปรารถนาที่ซ่อนเร้น เป็นผู้ไร้ที่พึ่ง จะไปไหนเล่า ดูกร น้องตุณฑิละ เจ้าจงมีความขวนขวายน้อย บริโภคอาหารเสียเถิด เราทั้งสองมารดาเลี้ยงไว้ก็เพื่อจะต้องการเนื้อ
ไม่ต้องท่องอะไร ใช่ไหม แต่ไม่ตกใจ และรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเกิดเมตตาขึ้นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะพูด ไม่ว่าจะคิด ก็เป็นการพูด การคิดในทางที่เป็นกุศล ในทางที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ว่าไม่จำเป็นต้องท่องเป็นคำ
มหาตุณฑิละได้กล่าวปลอบลูกหมูตัวเล็กต่อไปว่า
บรรดาผู้ที่เลี้ยงสุกรทั้งหลาย ก็มีวัตถุประสงค์อยู่เพียงแค่นี้
คือ เลี้ยงเพื่อต้องการที่จะขายเนื้อให้แก่คนอื่นเท่านั้น
สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ ที่จะไม่ตายนั้นไม่มีเลย แม้จะเป็นสัตว์มีเนื้อหรือไม่มีเนื้อ ที่เป็นที่บริโภคของผู้อื่นได้หรือไม่ได้ ก็จะต้องตายทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เจ้าจงอย่ากลัวตาย วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องตาย เจ้าจงอย่าได้สะดุ้งตกใจกลัวเลย แม้เราจะไม่มีที่พึ่งอื่น มารดาของเราซึ่งเป็นที่พึ่งมาแต่วันก่อน มาวันนี้ก็พึ่งไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เจ้าจงอย่ากลัว จงเป็นผู้ที่อาบน้ำใสสะอาด ล้าง เหงื่อไคลเสียให้เรียบร้อย แล้วใช้เครื่องหอมลูบไล้ให้สะอาด ให้หอมหวนเช่นนี้ เมื่อจะตายก็ตายอย่างมีความดี เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร ดังนี้
ข้อความในพระไตรปิฎก มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า
เจ้าจงหยั่งลงยังห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม แล้วชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวงเสีย จงถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ เถิด
คนที่อยู่ล้อมรอบ เมื่อเห็นอาการของลูกหมูทั้งสองตัวว่า ตัวหนึ่งกลัวตาย แต่อีกตัวหนึ่งไม่กลัว และก็ปลอบลูกหมูตัวเล็ก ทำให้ทุกคนรวมทั้งหญิงชรานั้นเกิดความสงสาร ความมึนเมานั้นก็หายไป ความเมตตากรุณาก็เกิดขึ้น บุรุษทั้งหลายเหล่านั้นที่จะมาจับลูกหมูก็ทิ้งบ่วง ไม่ต้องการจะซื้อลูกหมูนั้น ลูกหมูนั้นก็ปลอดภัย โดยประการฉะนี้
บุรุษพวกนั้นต้องท่องหรือเปล่า ไม่จำเป็นเลย ทำอะไรก็ได้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ขอให้เป็นผู้ที่เมตตาสามารถที่จะเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องท่อง
ซึ่งก่อนที่ลูกหมูทั้ง ๒ จะปลอดภัย จุลตุณฑิละก็ได้ถามมหาตุณฑิละว่า
อะไรหนอที่ท่านกล่าวว่า ห้วงน้ำไม่มีเปือกตม อะไรเล่าท่านกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และอะไรเล่าท่านกล่าวว่า เครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ
ไม่ใช่แต่ลูกหมูที่สกปรก ทุกคนมีเหงื่อไคลและมลทิน ซึ่งมหาตุณฑิละกล่าวตอบว่า
ธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม บาปธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และศีลบัณฑิตกล่าวว่า เป็นเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ
ธรรมทั้งหมดที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมทั้งหมดเป็นห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม เพราะสามารถที่จะชำระขัดล้างบาปธรรมซึ่งเป็นเหงื่อไคลและมลทินออกได้ และสำหรับศีล ย่อมเป็นเครื่องลูบไล้ซึ่งมีกลิ่นหอมไม่รู้จักหาย ไม่เป็นที่รังเกียจของใครเลย ใครที่มีศีลอยู่ใกล้ใคร จะไม่มีบุคคลใดรังเกียจ
มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า
มนุษย์ทั้งหลายผู้โง่เขลา ฆ่าตัวเอง ย่อมพอใจทำบาป ส่วนสัตว์ผู้รักษาตัว ย่อมไม่พอใจทำบาป สัตว์ทั้งหลายรื่นเริงในเดือนมีพระจันทร์เต็มดวง ย่อมสละชีวิตได้
จบ ตุณฑิลชาดกที่ ๓
ในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ทุกคนเป็นผู้โง่เขลา และขณะใดที่ฆ่าคนอื่น ขณะนั้นอย่าลืมว่า ฆ่าตัวเองก่อนด้วย อกุศลเจตนาที่จะฆ่าบุคคลอื่นเป็นบาปธรรมที่ประทุษร้ายบุคคลนั้น เป็นอกุศลธรรมที่ฆ่าบุคคลนั้น และในขณะที่เข้าใจว่า สามารถที่จะฆ่าบุคคลอื่นได้ ฉันใด เวลาที่คิดโกรธคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรมที่เบียดเบียนคนโกรธ หรือคนที่คิดอย่างนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่านิทาน คือ ความเป็นมาในอดีตชาติของภิกษุ ผู้กลัวตายรูปนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
มหาตุณฑิละในครั้งนั้น คือ ตถาคตผู้ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมมาสัมโพธิญาณ และจุลตุณฑิละในครั้งนั้น คือ ภิกษุผู้ที่กลัวต่อความตายรูปนี้
ที่กล่าวมานี้เพื่อที่จะให้เห็นว่า ไม่ต้องท่อง การท่องเป็นการคิด เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย อาศัยความเคยชินที่เข้าใจว่าจะต้องท่อง และอาศัยที่เคยท่องมามาก เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดนึกคิดเป็นคำๆ ตามที่เคยท่อง แต่ผู้ที่อบรมเจริญเมตตา สติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพของเมตตาซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม และอบรมเจริญขึ้น
ถ. เหตุใกล้ที่จะทำให้เกิดเมตตา คืออะไร
สุ. เห็นโทษของโทสะ
ถ. เมตตาที่จะเกิดนี้ เหตุปัจจัยที่จะเกิดนี้ ต่างกันออกไปได้ ใช่ไหม
สุ. ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลธรรม
ถ. อย่างเห็นอาการของบุคคลใด และเกิดเมตตาจิตขึ้นมา กับการท่อง และพิจารณาไปตามคำที่ท่องว่า สัตว์ทั้งหลายมีการเกิดเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ควรจะเบียดเบียนกัน เหตุปัจจัยที่เกิดจากการท่องนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดเมตตาได้ไหม
สุ. เป็นปกติหรือเปล่า เวลาที่เห็นใครก็นั่งท่องอยู่เรื่อยๆ ต้องมีการพูด มีการคุยเรื่องต่างๆ ขณะใดที่กำลังจะพูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นโทษของบุคคลอื่นที่กล่าวถึง ก็วิรัติด้วยเมตตา ไม่หวังที่จะให้เกิดโทษกับบุคคลซึ่งกำลังจะถูกกล่าวถึงในขณะนั้น จิตประกอบด้วยเมตตา แต่ไม่ใช่ว่าพอเจอกัน หรือเห็นใครก็ไม่พูด นั่งท่องอยู่นั่นแหละ เป็นไปได้อย่างไร เวลาเห็นกันอย่างนี้ กำลังพูดกันอย่างนี้ สติสัมปชัญญะก็ระลึกได้รู้สภาพของจิตว่า ขณะนั้นประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เวลาพูดก็พูดด้วยเมตตา แต่ไม่จำเป็นต้องขอให้สัตว์ทั้งหลายในขณะที่กำลังพูด
ถ. เมตตาที่เกิดจากการเห็น กับการคิดนึก โดยผลแล้วต่างกันไหม
สุ. วันหนึ่งๆ ก็เห็นสัตว์บุคคลทั้งหลาย ควรจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเห็นแล้วรำคาญ เห็นแล้วคอยจ้องจับผิด หรือว่าเห็นแล้วก็มีความรู้สึกเป็นไมตรี หวังประโยชน์เกื้อกูล กระทำทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ให้บุคคลนั้นได้ มีจิตใจที่แช่มชื่นยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน ไม่ทำกิริยาอาการใดๆ ที่จะทำให้บุคคลนั้นลำบากใจ แม้แต่การจะให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ให้ด้วยอาการที่จะทำให้ผู้รับเกิดความสบายใจ ความสุขใจ เพราะการให้ก็มีหลายลักษณะ บางคนอาจจะให้โดยที่ทำให้ผู้รับไม่มีความรู้สึกว่า เป็นสุขที่จะรับก็มีใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เมตตาเกิดขึ้นจริงๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ทั้งทางกาย วาจา ใจ ก็ย่อมจะประกอบด้วยเมตา แม้แต่ขณะที่ไม่เห็น เพียงแต่วันหนึ่งๆ คิดถึงว่าจะทำประโยชน์ให้แก่ใคร หวังประโยชน์เกื้อกูล คิดในทางที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นก็เป็นเมตตาโดยที่ไม่ต้องท่อง ไม่ว่าจะคิดอะไร ก็ขอให้ประกอบด้วยเมตตา กิริยาอาการก็ประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่เพียงแต่ท่องหรือคิด แต่ทำ เมตตาต้องออกมาถึงกาย วาจา
ถ. เมตตานี่ปรากฏทางใจ โดยผ่านทวารต่างๆ เข้ามา ใช่ไหม อย่างตาเห็นรูปแล้วเกิดเมตตาขึ้นมา มีรูปเป็นปัจจัย
สุ. มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์หรือเปล่า ถ้ามีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นเมตตาเกิดได้ เห็นเด็กเล็กๆ เมตตาไหม ถ้าเมตตาเด็กเล็กๆ จะทำอย่างไร จะพูดด้วยดีๆ จะช่วยจูงข้ามถนน หรือจะให้ขนมหวานๆ หรืออะไรก็ได้ ใช่ไหม ขอให้ออกมาถึงชีวิตประจำวัน และทางกาย ทางวาจาจริงๆ เป็นการอบรมเจริญให้มีเมตตาเพิ่มขึ้นจนกระทั่งรู้สึกตัวเองได้ว่า เมตตาเพิ่มขึ้นบ้าง หรือว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ใช่มุ่งหวังจะให้มีเมตตา โดยที่ไม่รู้ลักษณะของเมตตา หรือว่าสติสัมปชัญญะ ไม่เกิด เวลาที่เห็น เวลาที่ได้ยิน หรือเวลาที่คิดนึกถึงสัตว์บุคคลต่างๆ
ถ. เมตตาที่เกิดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต มีได้ไหม
สุ. ไม่ได้ เพราะพรหมวิหาร ๔ ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ฝนไม่ตกก็โกรธฝนที่ไม่ตก ฝนตกมากก็โกรธฝนที่ตกมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะไปเจริญเมตตากับฝน เพราะพรหมวิหาร ๔ ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่ว่าโทสะสามารถที่จะโกรธได้ แม้ไม่ใช่ในสัตว์ ในบุคคล
ผู้ฟัง ผมฟังแล้วไปใคร่ครวญดู โดยมากคนทั่วๆ ไปคิดว่า จะต้องไปภาวนาเมตตา หรือไปแผ่อานิสงส์แผ่ความเมตตาให้คนโน้นบ้าง สัตว์ทั้งหลายบ้าง ซึ่งอย่างนี้ผมว่าอานิสงส์คงไม่ได้เท่าไร โดยเฉพาะถ้าเจริญเมตตาภาวนา ต้องดูเหตุการณ์เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ตัวอย่างที่ผมประสบมาเมื่อ ๒ – ๓ วันก่อน หลังจากที่ฟังอาจารย์บรรยายเรื่องเมตตา มีคนงานของผมคนหนึ่งได้นำของมาขายให้ โดยหามาด้วยความทุจริต ซึ่งผมคิดว่าเป็นของดี ผมก็รับซื้อไว้เป็นเงินจำนวนมากสำหรับฐานะอย่างผม จากนั้นเจ้าของก็มาตามและนำตำรวจมาจับ ถ้าเราไม่คืนให้คนที่นำของมาขายติดตารางแน่ และถ้าทำอย่างนั้นก็ขาดความเมตตา ผมก็นึกสงสาร แผ่เมตตา โดยคืนของไป ก็หมดเรื่องหมดราว ตำรวจก็ไม่จับ อานิสงส์นี้ทำให้เราสบายใจ แต่ถ้าเราไม่มีเมตตา ไม่คืนของให้เขาไป หมกมุ่นคิดแต่จะเอา ก็เกิดความเดือดร้อนก่อเวรก่อกรรม แต่ถ้าเราเกิดความเมตตาว่า ไหนๆ เราก็เสียเงินไปแล้ว เอากลับคืนมาไม่ได้ คิดเมตตาให้เขาพ้นทุกข์จากการติดคุกติดตะราง ทำให้เกิดความสบายใจ ความเสียดายก็ไม่ค่อยได้นึกถึง ผมว่าอานิสงส์ของเมตตาเป็นอย่างนี้เอง คนที่ทำผิดก็กลับมาเกรงกลัวเรา ไม่เป็นศัตรูกับเราด้วย ผมว่าอานิสงส์คงเป็นอย่างนั้น
สุ. นี่เป็นการเจริญเมตตาจริงๆ คือ เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น และสามารถที่จะไม่เกิดโทสะ เป็นการตัดเวรภัยซึ่งจะเกิดต่อไป เพราะในขณะนั้นเป็นการให้อภัย มีความเห็นใจ มีความเมตตากรุณา และมีความหวังดีต่อผู้ที่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ โดยที่ไม่ก่อเรื่องต่อไป ทำให้พ้นจากเวรภัยทั้งปวงได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของเมตตาเป็นเรื่องเจริญจริงๆ อบรมให้มีขึ้นจริงๆ โดยที่ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะสภาพที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ หรือว่าการก่อเวรก่อภัย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๙๐๑ – ๙๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960