แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
ครั้งที่ ๙๑๑
สาระสำคัญ
อบรมเจริญเมตตาคู่กันไปกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ขุท.ปฏิ.เมตตากถา ขุท.ขุททกปาฐะ.กรณียเมตตสูตร
สุ. การที่จะบอกว่าโทสะมีโทษมาก ไม่เป็นการยากที่จะพรรณนาโทษของโทสะ หรือว่าโทษของอกุศลทั้งหลาย แต่การที่จะเห็นโทษของโทสะในขณะที่โทสะกำลังเกิด ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะว่าสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง โดยเฉพาะในการอบรมเจริญภาวนาจะขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องการอบรมเจริญเมตตาคู่กันไปกับการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ด้วยข้อความที่ว่า
สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้น ผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ ย่อมเป็นธรรมชาติเบาบาง
ไม่ใช่ให้แยกจากชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ทุกท่านอย่าลืมอธิษฐานบารมี ความมีใจมั่นคง หรือว่าความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส มิฉะนั้นแล้ว เดี๋ยวก็เผลอไป ต้องการที่จะให้จิตสงบ ต้องการอานิสงส์ของสมาธิ ต้องการเกิดในพรหมโลก หรือว่าต้องการอย่างอื่น แต่อธิษฐานบารมีไม่ใช่ว่า นั่งตลอดคืน และคอยให้เลือดเนื้อกระดูกแห้งเฉพาะในคืนนั้น โดยที่บารมีทั้งหลายไม่เคยอบรมมาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพียงแต่คิดว่า จิตจะมั่นคงเฉพาะตอนที่นั่ง และตั้งใจว่า ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็จะไม่ลุกขึ้น แต่อธิษฐานบารมีได้อบรมมาแล้วหรือยัง เช่น ในปัจจุบันชาตินี้ มีจิตที่มั่นคงที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งปัญญาที่กำลังรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเองจะละอกุศล และจะเป็นปัจจัยให้กุศลอื่นๆ เจริญควบคู่กันไปด้วย เช่น เมตตา
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการขัดเกลากิเลสเพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ได้หวังเจริญเมตตาพรหมวิหารจนถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ซึ่งยากที่จะถึง เพราะจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เห็นความต่างกันของจิตที่เป็นอกุศลและจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น และมีปัจจัยที่จะให้เมตตาค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งนั่นจะไม่ทำให้อธิษฐานบารมี หรือความตั้งใจมั่นหันเหไปทางอื่นที่จะทำให้การะรู้แจ้งอริยสัจธรรมล่าช้าไปอีก เพราะถ้าปราศจากบารมีแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะอกุศลมีมากมาย แต่อกุศลที่มากมายนี้ก็จะค่อยๆ เบาบางเพราะบารมีที่ได้สะสมอบรมขึ้นเป็นปัจจัย จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
แต่อย่าลืม สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแม้จิตที่ประกอบด้วยเมตตาในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้เจริญแต่เมตตาจนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เมตตากถา มีมาก ตั้งแต่ข้อ ๕๗๔ จนกระทั่งถึงข้อ ๕๘๗ ซึ่ง ข้อ ๕๗๖ ตอนท้ายมีข้อความที่อธิบายความหมายของคำว่า เมตตาเจโตวิมุตติ มีข้อความว่า
จิต ชื่อว่าเมตตา เพราะรัก
รัก ในที่นี้อย่าคิดว่าเป็นโลภะ แต่เป็นไมตรี ในหมายความที่ว่า เป็นมิตร
จิต ชื่อว่าเจโต เพราะคิดถึงธรรมนั้น
ไม่ลืมว่า ลักษณะที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นอย่างไร
จิต ชื่อว่าวิมุตติ เพราะพ้นจากพยาบาท และปริยุฏฐานกิเลสทั้งปวง
ในขณะนั้นสงบ
จิตมีเมตตาด้วย เป็นเจโตวิมุตติด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเมตตาเจโตวิมุตติ
ความหมายของเมตตาเจโตวิมุตติ คือ จิตที่สงบจนกระทั่งถึงฌานจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ต้องไม่ลืมว่า ต้องคู่กันไปกับการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะทำให้สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้น ผู้พิจารณาเห็นซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ ย่อมเป็นธรรมชาติเบาบาง
เป็นเรื่องจริง เหมือนกับการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นเรื่องที่ควรอบรมเจริญด้วย แต่ไม่ใช่ให้หวังที่จะให้เกิดนิมิต หรือให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เพราะพรหมวิหาร ๔ ไม่มีปฏิภาคนิมิตเช่นกับอารมณ์กัมมัฏฐานอื่นๆ
ในอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมด ๔๐ มีปฏิภาคนิมิตเพียง ๒๒ กัมมัฏฐานเท่านั้น สำหรับพรหมวิหาร ๔ ไม่มีนิมิต เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดก็คิดว่า จะไปพยายามให้นิมิตเกิดขึ้นเวลาที่มีเมตตา แต่เวลาที่จิตสงบเพราะพรหมวิหารใด พรหมวิหารหนึ่ง ในขณะนั้นไม่มีนิมิตเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าการอบรมเจริญสมถภาวนาทั้งหมดจะต้องมีนิมิต
ถ. ตามปกติท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะได้ปฐมฌานจะต้องผ่านนิมิตทั้ง ๓ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรหมวิหาร หรือกสิณ หรืออสุภะ
สุ. ไม่มีที่กล่าวไว้อย่างนั้น เพราะกัมมัฏฐานที่มีนิมิตมีเพียง ๒๒ กัมมัฏฐาน คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ และกายคตาสติ ๑
ถ. ท่านสงเคราะห์ว่า ผู้ที่เจริญเมตตา ผู้ที่ทำสีมสัมเภทะได้แล้ว สีมสัมเภทะนั้นสงเคราะห์เป็นปฏิภาคนิมิต
สุ. ไม่ใช่ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตต้องเป็นความใสของสิ่งที่ปรากฏทางใจ เช่น กสิณต่างๆ หรืออารมณ์ของอสุภะ หรือว่าอานาปานสติ กายคตาสติ
ถ. เขาสงเคราะห์เอา แต่ไม่ใช่ปฏิภาคนิมิตโดยตรง
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นนิมิต
ถ. แต่ผู้ที่ทำสีมสัมเภทะได้แล้ว ก็ใกล้ต่อปฐมฌาน
สุ. แต่ไม่มีนิมิต
ถ. ที่อาจารย์กล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ถ้าไปมีจิตอาฆาตกับบุคคลใด ก็อย่าไปคิดถึงบุคคลนั้น แบบนี้พูดได้ แต่จะทำอย่างไร ถ้าอาฆาตใคร มักจะคิดถึงคนนั้นทุกที และคิดบ่อยด้วย ตามธรรมชาติเป็นอย่างนั้น
สุ. แต่คิดให้ถูก คนนั้นมีอะไรที่ดีบ้าง ไม่มีอะไรดีเลยหรือ มองให้ทั่ว ถ้า มีดี ก็คิดถึงส่วนที่ดีของคนนั้น และชื่นชมยินดีด้วยในความดีที่คนนั้นมี ในเรื่องนั้น ในประการนั้น ในวาจาอย่างนั้น ในการกระทำอย่างนั้น
ถ. ในพระสูตรไม่ได้ว่าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าไปคิดถึงเขา
สุ. แต่ใน อาฆาตวินยสูตร มีข้อความว่า ทุกคนมีกาย วาจา ใจ บางคนกายไม่บริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจยังมีทางสงบ ยังเป็นผู้ที่ได้ทางสงบใจ เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงส่วนที่ดี ถ้าจะคิด และการอบรมเจริญเมตตาก็จะเจริญขึ้นถ้าไม่โกรธในขณะนั้น และควรพิจารณาจิตต่อไปว่า ถ้าบุคคลนั้นประสบความทุกข์ยากลำบาก สามารถที่จะช่วยบุคคลนั้นได้ไหม ถ้าเมตตาเจริญขึ้น คนที่เคยโกรธ ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยได้ ไม่ใช่เพียงไม่โกรธ แต่ไม่ช่วย แต่ไม่โกรธและยังช่วยด้วย หรือว่ายิ่งกว่านั้นอีก เวลาที่บุคคลนั้นได้รับการสรรเสริญ จิตใจยินดีด้วยได้ไหม ไม่โกรธแล้ว ยังสามารถที่จะยินดีด้วยได้ ถ้าไม่โกรธแล้วยินดีด้วยได้ จิตใจในขณะนั้นก็ผ่องใสเบิกบาน ปราศจากความพยาบาทหรือโทสะ นี่เป็นเครื่องวัดว่า เวลาที่เมตตาเจริญขึ้นจะทำให้กรุณาเจริญขึ้น มุทิตาเจริญขึ้น และอุเบกขาเจริญขึ้นด้วย มีความเป็นกลางจริงๆ ในบุคคลทั้งหลาย
ที่ว่าเป็นกลาง เพราะอะไร
ถ้าท่านมีบุคคลซึ่งเป็นศัตรู เป็นผู้ที่เขาอาจจะริษยาท่าน หรือโกรธท่าน โดยที่ท่านไม่ได้ริษยาเขา ไม่ได้โกรธเขา แต่ว่าจิตใจที่เป็นกลาง ถึงเขาจะโกรธหรือริษยาท่าน เวลาที่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดขึ้น เป็นกลาง ถ้าบุคคลนั้นมีกุศลกรรม ท่านรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ถึงแม้ว่าจะเป็นของบุคคลซึ่งริษยาท่าน หรือโกรธท่าน แต่ขณะนั้นกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม นี่คือความเป็นกลาง หรือคนที่ท่านโกรธ เพราะเขาทำให้ท่านโกรธหรือขุ่นเคืองใจ แต่ถ้ามีกุศลธรรมเกิดขึ้นขณะใด จิตใจที่เป็นกลางของท่านก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นกุศลของผู้นั้นเป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะเป็นของบุคคลซึ่งเป็นศัตรู หรือว่าเป็นของบุคคลซึ่งผูกพยาบาทอาฆาต ก็ตาม แต่กุศลก็เป็นกุศลนั่นเอง ถึงเป็นกุศลของเขา ก็เป็นกุศล ถึงจะไม่ใช่กุศลของท่าน เป็นกุศลของใครก็ตาม สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล
ถ้าคนที่ท่านมีจิตอาฆาตขุ่นเคืองได้รับคำชมเชย ได้รับคำสรรเสริญ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคนอื่นสรรเสริญเฉพาะกุศลของบุคคลนั้นตามความเป็นจริง คงไม่มีใครสรรเสริญอกุศลเป็นแน่ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีใครสรรเสริญในกุศลของใคร จิตที่เป็นกลางรู้ว่า กุศลเป็นกุศล และก็ชื่นชมยินดีได้ แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ชอบท่าน หรือว่าริษยาท่าน หรือว่าขุ่นเคืองท่านก็ตาม แต่ข้อสำคัญท่านไปขุ่นเคืองเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยิ่งต้องเจริญเมตตาให้มากขึ้น จนกระทั่งไม่โกรธในบุคคลนั้น แม้ว่าเขาจะโกรธท่าน ท่านก็ไม่โกรธเขา และสามารถที่จะมีทั้งกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ในคนนั้นได้ด้วยใจจริง และสบายใจ เพราะจิตในขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ทำได้ทุกคน ค่อยๆ อบรมเจริญไป ถ้ารู้ลักษณะของกุศลจิตจริงๆ ก็ต้องรู้ว่ากุศลเป็นกุศล ไม่ว่าของใคร
ส่วนมากท่านผู้ฟังคิดว่า โกรธคนชื่อโน้น ชื่อนี้ ใช่ไหม แต่ความจริงท่านโกรธอกุศล ที่ท่านเรียกว่าอกุศลนั้นว่า ชื่อนั้น ชื่อนี้ ถูกไหม ที่จริงแล้วอกุศลไม่ได้ชื่ออย่างนั้น อกุศลเป็นอกุศล ไม่มีชื่อเฉพาะ แต่เวลาที่ท่านโกรธ ท่านคิดว่าท่านโกรธคนนั้นคนนี้ ความจริงท่านโกรธสภาพที่เป็นอกุศล และท่านเรียกชื่อ ตั้งชื่ออกุศลธรรมนั้นว่า ชื่อต่างๆ เป็นคนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่มีประโยชน์ที่จะไปโกรธอกุศลธรรม อกุศลธรรมก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ควรที่จะเห็นอกุศลของตนเองตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งซึ่งมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดก็เกิดขึ้นปรากฏ แต่เมื่ออบรมธรรมที่เป็นกุศลมากขึ้น ธรรมที่เป็นกุศลนั่นเองจะขัดเกลาบรรเทาธรรมที่เป็นอกุศลให้น้อยลงได้ และต้องเป็นการอบรมเจริญกุศลที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของกุศล มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีความเข้าใจผิดได้ คิดว่าเป็นกุศล แต่ความจริงไม่ใช่กุศล
สำหรับการอบรมเจริญกุศล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เจริญทุกประการ ทั้งกาย วาจา ใจ และทั้งเมตตาด้วย
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กรณียเมตตสูตร ในขุททกปาฐะ ข้อ ๑๐ มีข้อความว่า
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบ (คือ สันตบท ได้แก่ นิพพาน) แล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ
ทั้งหมดนี้เป็นคุณธรรมที่ท่านจะพิจารณาตามไปได้ว่า ท่านประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้พร้อมมากขึ้น หรือว่ายังขาดประการใดบ้าง
ข้อความต่อไป
เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพี และสัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ เพราะความเคียดแค้น
มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น ก็กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้น ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้
กุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัศนะ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้ แล ฯ
จบ เมตตสูตร
จบ ขุททกปาฐะ
ซึ่งข้อความใน กรณียเมตตสูตร นี้ ก็เหมือนกับข้อความใน เมตตสูตรที่ ๘ ข้อ ๓๐๘ ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
ถ. ฟังดูแล้วเหมือนกับท่องว่า ให้สัตว์ทั้งหลายอย่าได้มีเวรมีภัยต่อกัน แต่อาจารย์ก็กล่าวว่า ผิด ใช้ไม่ได้ อาจารย์ว่าท่องนี้ไม่เกิดผล ไม่เกิดประโยชน์ แต่ทีนี้เขาเกิดประโยชน์
สุ. จะท่องแบบคาถา หรือท่องแบบไหน
ถ. ท่องเหมือนคุณที่เขาเล่าว่า เขาท่อง
สุ. ที่ท่องๆ กัน กรณียเมตตสูตร นี้ ท่องอย่างไร ท่องในลักษณะไหน ท่องแบบท่องคาถา หรือว่าอย่างไร
ถ. ผมฟังแล้ว เหมือนท่องคาถา
สุ. เพราะฉะนั้น คาถาที่จะท่อง หรือที่ท่องกันนี้ มีจุดประสงค์อะไรในการท่องคาถา
ถ. ฟังแล้วคล้ายๆ เหมือนกับว่า มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้สัตว์ทั้งหลายเบียดเบียนกัน ทุกคนอย่าให้มีความอาฆาตกัน
สุ. หมายความว่า ขอให้คาถานี้จงบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขอย่างนั้น หรือว่าอย่างไร หรือว่าให้ตัวผู้ที่ท่องนี้มีจิตเมตตาหรืออย่างไร หรือว่าแม้ไม่ท่อง แต่เป็นการระลึกได้ในขณะที่เห็น
มีข้อความตอนหนึ่งที่ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัย ที่ว่า ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น
นี่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญเมตตา ไม่ใช่เรื่องเพียงท่อง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า เมตตาที่จะเจริญก่อนที่จะถึงปฐมฌาน ก่อนที่จะถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธินั้นเจริญอย่างไร เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด ตามข้อความที่ว่า กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้ ซึ่งในอรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่ บังเกิดในหมู่เทพชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตแล้ว ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้นนั่นเอง
พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่อยู่ระดับไหน ขั้นต้น หรือขั้นที่จะไม่ต้องนอนในครรภ์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๙๑๑ – ๙๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960