แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917


    ครั้งที่ ๙๑๗

    สาระสำคัญ

    อัง.เอกาทสก.เมตตาสูตร - อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ ขุท.ปฏิ.เมตตากถา - เมตตาเจริญสงบมั่นคงขึ้นประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕


    สุ. ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเกิดความสงสัยว่า เวลาที่นึกหวังดีต่อบิดามารดาของท่าน ขณะนั้นจะเป็นโลภะหรือเป็นเมตตา เพราะสภาพธรรมใกล้ชิดกันมากระหว่างโลภะกับเมตตา ถ้าเป็นการนึกถึงพระคุณของมารดาบิดา และมีความหวังดี มีความปรารถนาดีต่อท่าน โดยฐานะที่ท่านเป็นผู้มีพระคุณมากมาย ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นเมตตา ไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้น อย่าลืม ในขณะใดที่มีความรัก ขณะนั้นเป็นโลภะ แต่ขณะที่มีการระลึกถึงความเป็นผู้มีพระคุณ และมีความหวังดี ต่อท่าน ขณะนั้นเป็นเมตตา

    มารดาบิดาก็เช่นเดียวกัน มารดาบิดารักบุตรแน่นอน ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่มารดาบิดาที่ได้ฟังธรรม ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้รู้ลักษณะสภาพที่ต่างกันของเมตตากับโลภะ มารดาบิดาย่อมมีเมตตาต่อบุตรเพิ่มขึ้นแทนโลภะได้ มิฉะนั้นแล้ว ก็บุตรของเรา ความรักบุตรมาก บางทีมากจนกระทั่งสามารถประทุษร้ายบุตรของคนอื่นได้ ซึ่งอย่างนั้นไม่ใช่ลักษณะของเมตตาต่อบุตร แต่เป็นลักษณะของความรักบุตร ซึ่งเป็นโลภะ

    อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต เมตตาสูตร แสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ ๑๑ ประการ คือ เพิ่มขึ้นอีก ๓ ประการ ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ

    ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ วันหนึ่งเมตตาบ้าง ไม่เมตตาบ้าง แต่ว่า เสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว

    ข้อความต่อไป

    ๑๑ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมหลับเป็นสุข ๑ ย่อมตื่นเป็นสุข ๑ ย่อมไม่ฝันลามก ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ๑ ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย ๑ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ หรือศัสตราย่อมไม่กล้ำกรายได้ ๑ จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว ๑ สีหน้าย่อมผ่องใส ๑ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ ๑ (เวลาที่จะตายไม่หลง) เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภแล้วด้วยดี พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๕

    ข้อที่เพิ่มอีก ๓ ประการจาก เมตตสูตร ข้อ ๙๑ คือ จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว ๑ สีหน้าย่อมผ่องใส ๑ เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ ๑

    อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการข้างต้น มีข้อความเหมือนกันกับใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค เมตตากถา ข้อ ๕๗๔ - ข้อ ๕๘๗ ซึ่งเป็นเรื่องของการอบรมเจริญเมตตาที่สงบมั่นคงขึ้น เมื่อประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเมตตาจริงๆ โดยไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย ก็ย่อมจะเป็นการยาก เพราะเมตตาที่จะเป็นความสงบมั่นคงขึ้นนั้น ต้องประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ ที่ใช้คำว่ามั่นคง หมายความว่า ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจึงจะรู้ได้ว่า ขณะใดหวั่นไหว และขณะใดไม่หวั่นไหว

    ขณะนี้หวั่นไหว หรือไม่หวั่นไหว ถ้าไม่รู้ ก็จะต้องอบรมเจริญความรู้ขึ้น

    เรื่องของการที่จะละกิเลสต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่คิดถึงเมื่อวานนี้ หรือว่าคิดถึงพรุ่งนี้ แต่เดี๋ยวนี้เอง ถ้าปัญญาจะเกิด ปัญญาก็เกิดเดี๋ยวนี้ ถ้าจะอบรมเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญเดี๋ยวนี้ เพราะว่าขณะก่อนก็ผ่านไปแล้ว และขณะต่อไปก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเกิดในขณะนี้ ถึงปัญญานั้นจะดับ ก็สะสมสืบต่อในจิตดวง ต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ปัญญามั่นคงขึ้น และที่มั่นคง ก็คือไม่หวั่นไหว

    ขณะนี้ทุกท่านต้องทราบว่า กำลังหวั่นไหวหรือเปล่า ถ้าเป็นอกุศล หวั่นไหวแน่นอน แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จะรู้ได้ว่า หวั่นไหวมาก หรือว่าหวั่นไหวน้อย ก็เพราะว่ากุศลจิตเกิดมาก หรืออกุศลจิตเกิดมาก

    มีความมั่นคงที่จะเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วหรือยัง เพราะในตอนต้นๆ ในตอนแรกๆ ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้หวั่นไหวไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ถ้ายังติดในเรื่องของสมาธิซึ่งเป็น มิจฉาสมาธิ ขณะนั้นหวั่นไหว เพราะไม่ใช่กุศลที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่มีความพอใจ มีความยินดี มีความต้องการที่จะเห็นหรือที่จะประสบกับสิ่งซึ่งไม่ใช่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้

    ถ. ผู้ที่เจริญเมตตาได้อานิสงส์ ๑๑ ประการนี้ จะต้องเจริญถึงปฐมฌานจึงจะได้อานิสงส์ หรือไม่ต้อง

    สุ. พิสูจน์กับตนเอง อานิสงส์ ๑๑ ประการที่ทรงแสดงไว้ เพื่อให้พิสูจน์ว่า ตัวท่านได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการแล้วหรือยัง

    ถ. พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ศัสตรายิงไม่เข้า แทงไม่ออก จะไปพิสูจน์ได้อย่างไร

    สุ. หลับเป็นสุขหรือเปล่า ขั้นต้นๆ ยังไม่ต้องถึงศัสตรา หลับเป็นสุขหรือเปล่า ตื่นเป็นสุขหรือเปล่า ฝันไม่ลามกหรือเปล่า เป็นที่รักของมนุษย์หรือเปล่า

    ถ. ผมคิดว่า ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนามักจะเป็นที่รัก เพราะว่าหน้าตายิ้มแย้ม อยู่ที่ไหนก็ครึกครื้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนามักจะเป็นที่รักกับคนทั่วๆ ไป

    สุ. ต้องอาศัยอานิสงส์อื่นๆ เทียบเคียง ไม่ใช่แต่เฉพาะอย่างเดียว ถ้าคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะ ร่าเริง สนุกสนาน แต่ว่าคดโกงคนอื่น เบียดเบียนคนอื่น ยังคงเป็นที่รักไหม

    ถ. เป็นจำนวนน้อยคน

    สุ. หรือว่าเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ยังคงเป็นที่รักไหม สนุกสนานร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ฉลาดที่จะเอาเปรียบ และเห็นแก่ตัว ยังคงเป็นที่รักไหม

    ถ. อย่างนี้รักไม่ลง

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยหลายประการ และอย่าคิดถึงแต่อานิสงส์ หวังอานิสงส์ แต่ควรจะให้อานิสงส์เป็นเครื่องวัดกุศลธรรมที่มีอยู่ในตัวว่า มากน้อยแค่ไหน พอที่จะถึงหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุขแล้วหรือยัง

    ถ. อานิสงส์ในอารมณ์ ๔๐ ของสมถภาวนา อ่านแล้วน่าปรารถนาทั้งนั้น ตั้งแต่ปฐวีกสิณ เป็นต้น อยากจะเจริญอารมณ์นั้นๆ ทั้ง ๔๐

    สุ. แสดงว่าหวั่นไหวแล้ว ใช่ไหม

    ถ. ส่วนใหญ่ยังต้องการอานิสงส์อยู่

    สุ. หวั่นไหวแล้ว ต้องรู้จักตัวเองว่า ในขณะนั้นหวั่นไหวแล้ว บารมี ๑๐ นี้ ไม่ใช่เพื่อที่จะได้ผลหรืออานิสงส์อื่น แต่บารมีทั้ง ๑๐ ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี วิริยบารมี การที่จะอบรมเจริญกุศลต้องมีวิริยะ ต้องมี ความเพียร ขันติบารมี ต้องมีความอดทนที่จะเป็นกุศล ที่จะไม่โกรธ ไม่พยาบาท ที่จะเอื้อเฟื้อ ที่จะเป็นมิตรไมตรี ที่จะเจริญกุศลทุกอย่าง สัจจบารมี อธิษฐานบารมี ความมั่นคงไม่หวั่นไหวที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ทั้งหมดนี้ คือ ชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ มีความมั่นคงจริงๆ เป็นอธิษฐานบารมี ซึ่งไม่ใช่หวังผลของกุศลที่จะเป็นอย่างอื่น นอกจากอบรมเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น ถ้ายังไม่เป็นอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นอย่างนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถ้ายังไม่มีวิริยะ ไม่มีขันติ ความอดทน ไม่มีความพากเพียรที่จะไม่โกรธ ที่จะไม่พยาบาท ที่สามารถจะเป็นมิตรได้กับทุกคน ก็ยังไม่พร้อม ยังไม่พอที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม อย่าคิดว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยบารมี หรือว่าการอบรมอะไรเลย แต่ว่าต้องพร้อมทั้ง ๑๐ บารมี มากหรือน้อยตามขั้นของการเป็นพระอริยบุคคล ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างมาก ถ้าเป็นพระอัครสาวกหรือพระมหาสาวก ก็น้อยลงตามลำดับ แต่ถ้าหวังอยู่เรื่อยๆ เจริญไป หวังไป พอใจไป เฉพาะที่จะได้อานิสงส์ต่างๆ ของกุศล นั่นก็ไม่มั่นคง หวั่นไหวไปแล้ว

    อย่างท่านที่ท่องคาถา ลองพิจารณาสภาพของจิตในขณะที่ท่องจริงๆ เพื่อที่จะได้ทราบว่าท่องทำไม แต่ละครั้งที่ท่อง ไม่ว่าจะเป็นคาถาอะไร คาถามีหลายอย่าง ใช่ไหม ที่จะให้เป็นที่รัก เมตตามหานิยมหรืออะไร คาถากันไฟ หรือคาถากันงู คาถากันขโมย หรือว่าคาถาอะไร ก็มีมากมายหลายอย่าง ขอให้พิจารณาจิตในขณะที่ท่องคาถาว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร รักชีวิต รักตนเองที่สุดยิ่งกว่าใครจึงท่อง ใช่ไหม

    ท่องคาถาเมตตามหานิยมเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือจะเป็นคาถาอื่นๆ ก็ตาม เพราะรักตัวเองที่สุด เพราะฉะนั้น จึงหวังที่จะได้รับผลจากการท่อง แต่ขณะนั้นไม่ใช่อธิษฐานบารมีที่จะมั่นคง ไม่หวั่นไหว และก็ไม่ได้มุ่งหวังผลใดๆ ทั้งสิ้น เพียงเจริญกุศลเพื่อที่จะขัดเกลาอกุศลให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เข้าใจว่าคาถาคงมีมากกว่าที่กล่าวถึงแล้ว บางท่านก็หวั่นไหวไปในเรื่องต่างๆ และมีผู้ที่ท่านคิดว่าจะอำนวยประโยชน์ให้ ท่านก็ท่องคาถาบูชาบุคคลเหล่านั้น เคยได้ยินคาถาที่ท่องสำหรับแต่ละบุคคลไหม สำหรับบูชาบุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง โดยเฉพาะเจาะจง หวังอะไรจึงท่อง ถ้าไม่หวังจะท่องไหม เพราะฉะนั้น เวลาท่องให้ทราบว่า เพราะหวัง เป็นโลภมูลจิต

    ถ. ท่านอาจารย์บรรยายถึงอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ ก็อยากจะเจริญเมตตา ซึ่งการเจริญเมตตาเจริญนี้ได้ทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ และผมก็รู้แล้วว่า ขณะที่ท่องขณะนั้นจิตไม่ได้ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น จะเจริญเมตตาทางกาย ทางวาจา ทางใจอย่างไร เจริญไม่ถูก ขออาจารย์ช่วยแนะนำด้วย

    สุ. ขณะที่กำลังเห็นใคร มีความรู้สึกดูหมิ่นหรือเปล่า หรือว่าไม่ชอบคนนั้น นึกชังในอาการที่ปรากฏ ในกิริยาท่าทางบ้างไหม

    ถ. ก็มีอยู่

    สุ. นั่นไม่ประกอบด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น เวลาที่จะประกอบด้วยเมตตา คือ มีความรู้สึกเป็นมิตร มีไมตรีกับคนนั้นด้วยใจจริง ไม่มีความรู้สึกเป็นเราเป็นเขา ไม่รังเกียจ หรือว่าไม่ขุ่นเคืองใจในกิริยาท่าทางของบุคคลนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะแสดงกิริยาอาการอย่างไรก็ตาม เพราะเหตุว่าคนเราไม่เหมือนกัน บางทีอาจจะชอบในกิริยาอาการอย่างหนึ่ง และไม่ชอบในกิริยาอาการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ว่าไม่ประกอบด้วยเมตตา

    ขณะที่ไม่ชอบในกิริยาท่าทีอาการของบุคคลอื่น หรือว่าในขณะที่ถือตัว หรือว่า ดูหมิ่นคนอื่น ในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตา แม้เพียงการเห็น หรือว่าการได้ยิน มีวาจาต่างๆ ที่กระทบหู และรู้ความหมายของคำนั้น ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นมีจิตที่โกรธหรือไม่โกรธ ถ้าสามารถที่จะมีขันติ ความอดทน ความอดกลั้น มีความ ไม่โกรธ มีการให้อภัย มีความเป็นมิตรด้วยในบุคคลนั้น ในขณะนั้น ก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา นี่คือ ทางตา ทางหู

    ทางจมูก บางแห่งกลิ่นไม่สะอาด มีไหม และบางคนก็ยังคิดว่า นี่เป็นกลิ่นไทย นั่นเป็นกลิ่นเทศต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา ทางลิ้น รส ต่างๆ มีการถือเขาถือเรา มีการดูถูกดูหมิ่น ลักษณะอาการอย่างนั้นไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา

    ในขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ท่อง แต่ไม่ว่าจะนึกถึงใคร ก็คิดในทางที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ช่วยเหลือ คิดที่จะทำอะไรให้ใครเป็นสุขบ้างไหม คิดที่จะช่วยเหลือ เพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือว่าคนที่อยู่ในบ้านให้เขามีความสุขความสบายใจขึ้นบ้างไหม ไม่ใช่ท่อง แต่คิดที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น ให้เขาได้รับความสุข ความสบาย ในขณะนั้นไม่ใช่การท่อง แต่คิดที่จะให้ คิดที่จะช่วย คิด ที่จะอภัย ทั้งหมดเหล่านั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา

    ถ. ก็เป็นเหตุเป็นผล แต่ว่าถ้าถูกแกล้ง เมตตาของเรามีจำกัด ถ้าถูกแกล้งนิดๆ หน่อยๆ เมตตาของเรา ความอดทนของเรา ก็พอจะทนได้ พอจะคิดได้ว่า ที่เราถูกแกล้งเพราะวิบากของเรา หรือว่าจะพิจารณาความดีของเขา มีอะไรก็พิจารณากันไป แต่ถ้าถูกแกล้งครั้งที่ ๒ คิดไม่ได้ ทนไม่ได้แล้ว ในเมื่อกำลังกายของเรายังมีอยู่ วาจาของเรายังมีอยู่ ก็อาจจะใช้กำลังกาย หรือวาจาไม่เหมาะไม่ควรกับคนที่มาแกล้ง ขณะนั้นเมตตาของเราหมดแล้ว ขันติก็หมดแล้ว จะทำอย่างไร

    สุ. แสดงให้เห็นว่า แม้เมตตาในชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย กุศลทั้งหมดไม่ใช่ว่าจะเกิดได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญกุศล เพราะว่าทุกคนยังมีอกุศลอยู่ แต่ว่าการฟังธรรมเพื่อที่จะพิจารณาให้เข้าใจในเหตุในผล ในสภาพธรรมที่กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล จนกว่าจะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่อกุศลกำลังเกิด

    ถ้าพูดถึงโทษของอกุศล บางท่านอาจจะอธิบายได้มากมาย โทษของโลภะมีมากมาย ทั้งดับหรือละได้ยาก และก็ช้าด้วย และก็ไม่ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินตามปกติ ไม่รู้ตัวเลยว่ามีโลภะอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น คนที่พรรณนาโทษของโลภะ สามารถที่จะพรรณนาตามได้ว่า โลภะมีโทษโดยประการต่างๆ แต่การที่จะเห็นโทษของโลภะในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้นปรากฏจริงๆ คือ การปฏิบัติธรรมที่จะต้องอบรม จึงจะเป็นปัญญาที่รู้ชัดแจ้ง ฉันใด เวลาที่โทสะกำลังเกิด และอภัยให้ไม่ได้ เป็นขณะที่สติสัมปชัญญะจะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนั้นปราศจากเมตตา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๙๑๑ – ๙๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564