แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918


    ครั้งที่ ๙๑๘

    สาระสำคัญ

    เมตตาเป็นธรรมที่ตรงข้ามกับความโกรธ วิ.สมาธิ.พรหมวิหารนิเทส - ลักษณะของกรุณา มุทิตา


    สุ. เมตตาเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ตรงกันข้ามกับความพยาบาท ตรงกันข้ามกับความผูกโกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น เห็นโทษของความโกรธ ไม่ใช่ไปพรรณนาโทษของความโกรธเวลาอื่น แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นไม่เห็นเลยว่าเป็นโทษ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว เมตตาก็เจริญไม่ได้

    แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะเห็นความโกรธนั้นว่า เป็นอกุศลที่ควรละด้วยเมตตา เมตตาจึงจะเจริญขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ริษยา มัจฉริยะ ที่จะเห็นโทษจริงๆ ได้ ต้องขณะที่กำลังเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง โทสะใครๆ ก็เห็นโทษ ไม่ว่าศาสนาไหน บุคคลไหน ไม่ชอบโทสะทั้งนั้น

    สุ. เห็นโทษเวลาอื่น ใช่ไหม แต่เวลาที่กำลังเกิดโทสะ ไม่ยอมเป็นเมตตา ขณะนั้นไม่ยอม เมตตาไม่ไหว เมตตาไม่ได้ อดทนไม่ได้ อดกลั้นไม่พอ ในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าเห็นโทษของโทสะ

    ผู้ฟัง โทสะ มีความไม่แช่มชื่นแก่บุคคลทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ไม่มีใครชอบ

    สุ. ไม่มีใครชอบ แต่ไม่ยอมเป็นเมตตาที่แช่มชื่น ก็รู้ว่าเมตตาดีกว่าโทสะ ถ้าเห็นโทษจริงๆ ต้องละในขณะที่โทสะกำลังเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ก็รู้อยู่ แต่อารมณ์แรงมากระทบ ทำให้ความแค้นเกิดขึ้น เมื่อความแค้นเกิดขึ้น ขณะนั้นกำลังกายก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรดี ผมนับถือพระสารีบุตร ขณะที่ท่านบันลือสีหนาท ท่านอุปมาว่า ถ้าบุคคลใดที่เจริญกายคตาสติแล้ว ก็เหมือนกับโคเขาขาด โคเขาขาดไม่มีอาวุธ สู้ใครเขาไม่ได้ เดินไปก็ต้องสงบเสงี่ยม ไม่ไปหาเรื่องเกเรเกะกะกับใคร หรือบางทีท่านก็อุปมาว่า เหมือนเด็กขอทาน เด็กขอทานจะไปหาเรื่องกับใครก็ไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งๆ ที่ท่านพระสารีบุตรมีฤทธิ์ด้วย มีกำลังด้วย ท่านยังทำตัวของท่านได้ขนาดนั้น แต่ปุถุชนทั้งหลายทำไม่ได้ เพราะว่าเมตตามีจำกัด ปัญญามีจำกัด และถ้าเมตตาให้ไปหมดแล้ว อารมณ์อะไรมากระทบขึ้นอีก ก็ย่อมทนไม่ไหว เป็นธรรมดาของปุถุชน

    สุ. เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ คือ เจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่ถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคล ก็ยังต้องโกรธ การที่ศึกษาเรื่องของสมถภาวนา ก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า จิตที่สงบคือในขณะไหน

    บางท่านได้ยินคำว่า สมถภาวนา ก็เข้าใจว่าตนเองกำลังเจริญสมถภาวนา แต่เพียงได้ยินคำว่าสมถภาวนาเท่านั้น ไม่พอ จะต้องเข้าใจด้วยว่าสมถภาวนา หรือว่าจิตใจที่สงบนั้นเมื่อไร คือ เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นเท่านั้นที่จิตจะสงบ ถ้าขณะใดกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นต้องเป็นโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต หรือว่าโมหมูลจิต ซึ่งการที่จะรู้ว่าจิตเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต

    เรื่องของจิต หลายท่านได้ฟังมามากและได้ศึกษามามาก รู้จำนวนประเภท ต่างๆ ของจิตว่า มีทั้งหมดกี่ประเภท แต่การที่จะรู้จักสภาพลักษณะของจิตจริงๆ ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่เพียงรู้ว่าจิตมีจำนวนเท่าไร เพราะในขณะนี้จิตก็กำลังเกิดดับทุกขณะ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ต้องในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น เมื่อได้ศึกษาเข้าใจแล้วว่า จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ นี่เป็นความเข้าใจโดยทั่วไปสำหรับเบื้องต้นของการศึกษาเรื่องจิตว่า จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเพียงความเข้าใจ

    แม้จะได้ฟังอย่างนี้ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้ว แต่การที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงได้ ต้องรู้ในขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกในขณะที่จิตกำลังรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นโทสะ เป็นโลภะ ที่จะละได้ ที่จะขัดเกลาได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้ชัดในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วก็เข้าใจว่า ตัวท่านเองทำสมถะ แต่ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของจิตเลย อย่างนั้นจะชื่อว่า สงบได้อย่างไร ได้ยินแต่เพียงคำว่า สมถภาวนาๆ หรือบางทีก็ได้ยินคำว่า วิปัสสนาภาวนาๆ แต่ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ไปนั่งเฉยๆ ไม่คิดอะไร หรือว่าไปนั่งท่องอะไรสักอย่างหนึ่งก็จะเข้าใจว่านั่นเป็นสมถภาวนาโดยที่ไม่มีความรู้เลยว่า สติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตมีหรือเปล่า

    ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตในขณะนั้นสงบหรือไม่สงบ เพราะสมถภาวนา คือ การอบรมเจริญกุศลจิตที่สงบขึ้นๆ จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิมั่นคง สงบมั่นคงขึ้น

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่สงบ จึงจะเจริญสมถภาวนาได้ แต่ไม่ใช่ว่าโดยสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็จะกล่าวว่า กำลังเจริญสมถภาวนา กำลังท่องอย่างนี้ ก็นั่งท่องไป โดยสติสัมปชัญญะไม่ได้เห็นความต่างกันของจิตที่สงบที่เป็นกุศลกับจิตที่เป็นอกุศลเลย ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันได้ จิตจะสงบขึ้นได้อย่างไร

    เวลาที่กำลังโกรธ ก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ในสภาพของจิตที่โกรธ และเห็นโทษในขณะนั้น จิตจึงจะสงบและเกิดเมตตาได้ นั่นเป็นขั้นสมถภาวนา แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นแม้ความโกรธก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่เป็นความต่างกันของสมถภาวนาและ วิปัสสนาภาวนา

    สำหรับสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะยังไม่ประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งในขณะที่ กำลังเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง สติจะมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปในขั้น ทานบ้าง ในขั้นศีลบ้าง ในขั้นความสงบบ้าง ในขั้นสติปัฏฐานบ้าง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ จนกว่าจะเป็นบารมีที่พร้อมจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ไม่ใช่มีตัวตนที่อยากจะไม่โกรธ ซึ่งไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะยังมีปัจจัยที่จะทำให้ความโกรธเกิดขึ้น

    ความรักตัวมีมาก และเหนียวแน่นเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญธรรมที่จะสละความยึดถือสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด และละการยึดถือความเป็นตัวตนได้จริงๆ แต่ถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่เจริญขึ้น ขอให้ชีวิตประจำวันของแต่ละท่านนี้เป็นเครื่องตรวจสอบว่า ท่านมีความมั่นคงในการที่จะอบรมปัญญาที่จะดับกิเลส หรือว่าท่านเป็นผู้ที่พยายามหาวิธีที่จะทำให้ตัวตนของท่านได้รับความสุขสบายอย่างที่ท่านต้องการ โดยที่ยังไม่ยอมละคลาย

    อยากได้อานิสงส์ของเมตตา หรือว่าอานิสงส์ของเมตตาทั้ง ๑๑ ประการ เป็นเครื่องตรวจสอบว่า ท่านอบรมเจริญเมตตาได้แค่ไหน แทนที่จะหวังผล คือ อานิสงส์ของเมตตา โดยมุมกลับ ใช้อานิสงส์นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวของท่านเองว่า ท่านประกอบด้วยเมตตามากน้อยแค่ไหน ถ้ายังไม่ได้อานิสงส์ของเมตตาทั้ง ๑๑ ประการ ก็แสดงว่าเมตตาของท่านยังมีเล็กน้อยมาก จึงไม่ได้อานิสงส์ตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ทั้ง ๑๑ ประการนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเมตตายังไม่พอที่จะได้รับอานิสงส์อย่างนั้น ก็ควรที่จะอบรมเจริญเมตตาต่อไป เมตตาที่มีบ้างแล้ว อย่าคิดว่าพอ เพราะกุศลทั้งหมดควรเจริญให้มากขึ้น ไม่พอเลย ไม่ว่าจะเป็นเมตตา หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ

    สำหรับการเจริญพรหมวิหาร ๔ มีข้อความโดยละเอียดใน วิสุทธิมรรค ใน สมาธินิทเทส ซึ่งต่อไป คือ การเจริญกรุณา สำหรับลักษณะของกรุณา คือ เวลาที่คนอื่นมีความทุกข์ สภาพธรรมที่มีความเห็นใจ พยายามที่จะให้บุคคลที่กำลังได้รับทุกข์นั้นหมดสิ้นความทุกข์ นั่นเป็นลักษณะของกรุณา ข้อความใน วิสุทธิมรรค มีว่า

    คุณชาติใด เมื่อผู้อื่นมีทุกข์ ย่อมทำความหวั่นใจแห่งพวกคนดี

    คือ คนดีเห็นคนอื่นกำลังมีทุกข์ จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้

    คุณชาติใดย่อมซื้อทุกข์คนอื่น คือ ย่อมเบียดเบียนทุกข์ของผู้อื่นให้หมดสิ้นไป เพราะเหตุนั้น คุณชาตินั้นชื่อว่ากรุณา

    อีกอย่างหนึ่ง คุณชาติใดอันบุคคลย่อมขยายไปด้วยสามารถที่แผ่ไปในพวกคนตกยาก คุณชาตินั้นชื่อว่ากรุณา

    กรุณาต่างกับเมตตาโดยที่ว่า กรุณาจะเกิดขึ้นเวลาที่เห็นคนอื่นประสบความทุกข์ เพราะฉะนั้น การเจริญกรุณาจะต้องมีความรู้สึกเอ็นดู เห็นใจในคนที่กำลัง ตกทุกข์ได้ยาก หรือว่าคนที่ป่วยไข้ได้เจ็บ มีความสงสาร และช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น

    ในขณะนี้มีบุคคลเหล่านั้นที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าไหม ไม่ใช่ว่าจะมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มี จะกรุณาในบุคคลใด บางคนเป็นผู้ที่มีความสุข อยู่เป็นสุข กรุณาในบุคคลเหล่านั้นได้ไหม ถ้าเป็นผู้ที่อยู่เป็นสุขจริง เป็นผู้ที่มีความสุขจริง มีโภคทรัพย์ มีสมบัติมากจริง แต่เป็นผู้ที่มีความประพฤติชั่ว ก็ควรจะเกิดความกรุณาในบุคคลนั้นที่ได้ประพฤติชั่ว ซึ่งจะต้องได้รับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไป เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าคนนั้นจะไม่ป่วยไข้ก็จริง มีความเป็นอยู่สุขสบายก็จริง แต่ถ้าคนนั้นมีความประพฤติชั่ว ก็ยังจะเป็นปัจจัยให้บุคคลที่เจริญกรุณา เกิดความสงสารในความประพฤติชั่วของบุคคลนั้นได้ หรือว่าบุคคลบางคนอาจจะมีความประพฤติดี เป็นผู้ที่ทำกุศลไว้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น การสูญเสียญาติ หรือว่าการป่วยไข้ได้เจ็บต่างๆ ในขณะนั้นก็เกิดกรุณาในบุคคลเหล่านั้นได้

    สำหรับพรหมวิหารต่อไป คือ มุทิตา

    เป็นคุณชาติที่บันเทิง หรือว่ายินดีในความสุขของบุคคลอื่น

    ซึ่งก็จะเจริญมุทิตาในบุคคลที่รักและกำลังมีความสุข และขยายต่อไปถึง คนปานกลาง และคนจองเวร ถ้าคนซึ่งเป็นที่รักเคยมีความสุข เกิดตกทุกข์ได้ยาก ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดกรุณา หรือว่ามุทิตา ถ้าคิดถึงความทุกข์ที่เขากำลังได้รับ มีความเห็นใจ ใคร่ที่จะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น ในขณะนั้น ก็เป็นกรุณา แต่ถ้าคิดถึงอดีตที่เขาเคยมีความสุข เกิดความยินดีในความสุขใน ครั้งอดีตของเขา ขณะนั้นก็เป็นมุทิตา

    นี่เป็นจิตที่เป็นกุศลเวลาที่คิดถึงสัตว์ บุคคลอื่น ไม่ว่าจะคิดถึงในเรื่องใด ก็สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดเมตตาก็ได้ กรุณาก็ได้ มุทิตาก็ได้ หรือต่อจากนั้นไป เป็น อุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สูงกว่าการอบรมเจริญเมตตา กรุณา และมุทิตา เพราะสำหรับการอบรมเจริญเมตตา กรุณา และมุทิตานั้น ถ้าความสงบมั่นคงขึ้น สามารถทำให้ถึงฌานจิตได้เพียงจตุตถฌาน โดยปัญจกนัย หรือตติยฌาน โดยจตุกกนัย

    การนับความสงบที่มั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต มีการนับโดย ๒ นัย ถ้าโดยนัยของพระสูตร มี ๔ ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุขเวทนา และเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเจตสิกทั้ง ๕ องค์ มีกำลังที่มั่นคงเวลาที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ แต่ไม่ได้หมายความว่า ก่อนนั้น ไม่มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก่อนนั้นก็มี แต่ว่ามีกำลังอ่อน ความสงบยังไม่มั่นคงจนกระทั่งปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ แต่ว่าเวลาที่ความสงบมั่นคงขึ้น องค์ทั้ง ๕ คือ เจตสิกทั้ง ๕ ปรากฏในขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ ซึ่งในขณะนั้นเป็นปฐมฌาน เป็นเพียงฌานจิตขั้นต้น ยังจะสามารถสงบมั่นคงขึ้นอีกเวลาที่ละองค์ของฌานจาก ๕ องค์ ให้เหลือ ๔ องค์ คือ ละวิตก ให้มีเพียงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา โดยนัยของ พระอภิธรรม ซึ่งนับฌานเป็น ๕ คือ ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ตติยฌาน ฌานที่ ๓ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ และปัญจมฌาน ฌานที่ ๕

    แต่โดยนัยของพระสูตร ละพร้อมกันทั้งวิตกและวิจาร ด้วยเหตุนี้ โดยนัยของพระสูตรจึงมีเพียงฌาน ๔ ฌานเท่านั้น คือ ตั้งแต่ปฐมฌานถึงจตุตถฌาน

    ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า อย่าได้กล่าวถึงฌานจิตทั้ง ๔ ฌานโดยนัยของพระสูตร หรือว่าทั้ง ๕ ฌานโดยนัยของพระอภิธรรมเลย เพียงเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ในชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะเกิดเป็นกุศล ก็ยังมีกำลังไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ยากแสนยากที่จะให้จิตสงบมั่นคงเป็นสมาธิจนกระทั่งถึงฌานจิต จากปฐมฌาน และยังจะต้องถึงทุติยฌาน ละวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ตติยฌานก็ละปีติ มีสุขเวทนาจริง แต่ไม่ประกอบด้วยปีติเจตสิก พอถึงจตุตถฌาน ก็ไม่มีแม้แต่สุขเวทนา เปลี่ยนเป็นอุเบกขาเวทนาและเอกัคคตา

    และไม่ใช่ว่าจะมีแต่เจตสิกทั้ง ๕ องค์นี้เท่านั้น ยังมีเจตสิกอื่นประกอบด้วย แต่เจตสิกอื่นไม่ใช่ธรรมชาติซึ่งปราบหรือว่าระงับนิวรณธรรม ๕

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของฌานจิตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่บางท่านคิดว่า ประเดี๋ยวเดียวท่านก็ได้ปฐมฌานแล้ว ถึงทุติยฌานแล้ว หรือว่าถึงปัญจมฌานแล้ว เพราะแม้แต่ที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบ จริงๆ ก็จะต้องอบรมด้วยสติสัมปชัญญะ จนกว่าความสงบจะมั่นคงขึ้น

    ถ้ายังกล่าวว่า ขณะนั้นก็ยังไม่ได้ หรือขณะนี้ก็ยังไม่ได้ ครั้งที่ ๑ เวลาที่ได้รับกระทบทางกาย ทางวาจา เกิดโทสะนิดหน่อย ระงับได้ แต่ครั้งที่ ๒ ระงับไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของความสงบที่จะถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ก็แสนไกล และไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วอย่างที่เข้าใจกันว่า นั่งๆ อยู่ก็เป็นสมถะ นั่งๆ อยู่และก็มีอารมณ์เดียว ท่องๆ ไป นึกไป ก็จะถึงปฐมฌาน ซึ่งบางท่านก็ยังกล่าวว่า ถึงอรูปฌาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๙๑๑ – ๙๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564