แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
ครั้งที่ ๙๒๑
สาระสำคัญ
อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะสะสมปัญญา การอบรมเจริญสมถภาวนา(สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะสภาพจิตที่สงบ)
สุ. มีใครอยากจะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ไหม ยากที่จะเป็นได้ เพราะฉะนั้น อบรมเจริญสติปัฏฐานดีกว่า เพราะจะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เพิ่มขึ้น ในอดีตอนันตชาติก็อาจจะเคยเจริญสมถภาวนาในสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อุบัติ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านอาจจะเคยอบรมสมถภาวนามามากบ้าง น้อยบ้าง อย่างบางชาติของท่านพระสารีบุตรที่ท่านเป็นฤๅษี ท่านก็มีความชำนาญในฌานจิตและได้อภิญญาต่างๆ เป็นคุณสมบัติพิเศษที่เกิดจากจิตที่สงบเป็นสมาธิ เป็นฌานจิตต่างๆ ในอดีตชาติมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จนกว่าจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า
เพราะฉะนั้น แทนที่จะมุ่งต้องการอิทธิปาฏิหาริย์ หรือว่าความสงบของจิตขั้นต่างๆ ควรจะให้มีอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะสะสมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ขณะสองขณะในวันหนึ่ง ในชาติหนึ่งๆ
สภาพธรรมปรากฏ พร้อมที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง เกิดดับ แต่อวิชชาปิดกั้นไว้ไม่ให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และกำลังเกิดดับจริงๆ เพราะฉะนั้น หนทางเดียว คือ เจริญวิชชาเรื่อยไปในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะถึงวันที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ถ้าจิตไม่หวั่นไหวไปทางอื่น ข้อสำคัญที่สุด คือ จิตไม่หวั่นไหวไปทางอื่น ถ้าวันนี้เกิดต้องการอิทธิปาฏิหาริย์ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เสียไปชาติหนึ่งแล้ว
ถ. เมื่อประมาณ ๗ ปีมาแล้ว ผมไปฟังธรรมที่ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุ มีผู้ฟังถามพระที่ท่านแสดงธรรมว่า คำว่า จิตว่าง เมื่อจิตว่างแล้วจะเป็นผู้เป็นคนได้อย่างไร ก็เป็นที่หัวเราะกันในที่ประชุม เมื่อผมไปอ่านในหนังสือของพระผู้แสดงธรรมที่สวนโมกข์ ไชยา ท่านกล่าวว่า จิตว่าง คือ ว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่จิต ว่างๆ เฉยๆ ผมมาเรียนให้ทราบ
สุ. เพราะฉะนั้น จึงได้เรียนท่านผู้ฟังว่า เวลาได้ยินพยัญชนะใด ขอให้สอบถามผู้พูดหรือผู้แสดงธรรมนั้นโดยตรง เพื่อท่านจะได้ไม่เข้าใจผิด หรือว่าไม่เข้าใจไปเองว่า ที่ท่านผู้แสดงธรรม หรือที่ท่านผู้นั้นกล่าวหมายถึงอย่างนั้นๆ อย่าคิดเอง บางครั้งท่านผู้กล่าวเข้าใจผิด กล่าวผิด แต่ผู้ฟังเข้าใจถูก แปลถูกหมดตามความคิด ความเข้าใจของผู้ฟังเอง แต่ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ความเข้าใจของท่านเหมือนกับความเข้าใจของผู้ที่กล่าวธรรมนั้น หรือว่าต่างกัน ถ้าท่านไม่สอบว่า ผู้กล่าวหรือผู้แสดงธรรมนั้นหมายความว่าอย่างไร หรือว่าเข้าใจอย่างไร อย่าคิดเอง หรือพยายามเข้าใจเอง แต่ควรที่จะสอบถามผู้ที่แสดงธรรมนั้น
ถ. สมถภาวนามีอารมณ์ ๔๐ อาจารย์ก็ได้กล่าวแล้วโดยลำดับ แต่ว่าข้อปฏิบัติที่จะให้ได้ฌานจิตนั้นก็มีอยู่หลายอารมณ์ แต่อาจารย์ไม่เคยอธิบายว่า ข้อปฏิบัติที่จะให้ได้ฌานจิตนั้น ปฏิบัติอย่างไร
สุ. ถ้าความสงบแต่ละขณะยังไม่มี เมื่อไหร่ฌานจิตจะเกิด เหมือนกับการกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่กล่าวถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ถ้าความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องยังไม่มี ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ ฉันใด การที่จะกล่าวถึงวิธีที่จะทำให้จิตสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตขั้นต่างๆ ก็โดยนัยเดียวกัน
คือ ต้องเข้าใจเรื่องของความสงบจริงๆ ก่อนว่า ความสงบเป็นกุศลจิต ซึ่งไม่ได้เป็นไปทางกายหรือทางวาจาเท่านั้น แต่เวลาที่ทางกาย ทางวาจา ยังไม่มีการประพฤติเป็นไป จิตในขณะนั้นสงบหรือไม่สงบ นี่เป็นเรื่องการที่จะอบรมเจริญ สมถภาวนาจนกว่าความสงบจะมั่นคงขึ้น เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสภาพของจิตที่สงบ ซึ่งต้องเป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะ
ในขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งฟังธรรม สติสัมปชัญญะเกิดจึงจะรู้ว่า ขณะนี้จิตสงบหรือไม่สงบ นี่เป็นการอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของความสงบของจิต หมดความสงสัยในสภาพของจิตที่สงบ
เช่น ถ้าได้ฟังว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิดไม่สงบแน่นอน เวลาที่กุศลจิตเกิดเท่านั้นที่สงบ เพราะฉะนั้น ขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ จิตสงบ เพราะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ในขณะที่ให้ทาน สติสัมปชัญญะเกิดหรือเปล่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็เป็นแต่เพียงความเข้าใจว่า ในขณะที่ให้ทานจิตสงบ เป็นเพียงความเข้าใจ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบในขณะที่เป็นไปในทานเพราะฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบ ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้จักลักษณะสภาพที่สงบของจิตจริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นความเข้าใจเท่านั้น
ถ้าในขณะใดที่ให้ทาน ยังไม่เคยเกิดสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะสภาพของจิต ที่สงบ ที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นจะให้เป็นถึงอุปจารสมาธิและ อัปปนาสมาธิได้อย่างไรในเมื่อแม้ในขณะที่จิตสงบเป็นไปในทาน สติสัมปชัญญะก็ยังไม่เกิดที่จะรู้ว่า เป็นสภาพของจิตที่สงบ และในขณะที่วิรัติทุจริต เว้นการฆ่า การเบียดเบียนสัตว์ ขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อยังไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบในขณะที่กำลังวิรัติทุจริต จะให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตได้อย่างไร
หรือในขณะที่ฟังธรรม มีความเข้าใจสภาพธรรม แต่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดระลึกรู้ลักษณะของจิตที่สงบที่กำลังเข้าใจ จะให้ถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการอบรมเจริญสมถภาวนา หรือการอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ผลของการเจริญสมถภาวนาคืออย่างไร และจะถึงได้อย่างไร ผลของการเจริญสติปัฏฐานคืออย่างไร และจะถึงได้อย่างไร
เรื่องของภาวนาทั้งหมด ปราศจากสติสัมปชัญญะไม่ได้ และไม่ใช่เพียงเข้าใจโดยการฟัง หรือโดยการอ่าน แต่ต้องเป็นการเข้าใจลักษณะสภาพของจิตที่สงบ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา เพราะฉะนั้น ในขั้นต้นๆ จะต้องเข้าใจลักษณะของจิตที่สงบจริงๆ เสียก่อน
ถ. ตามที่อาจารย์ทั่วๆ ไป ท่านสั่งสอนพวกที่จะเจริญสมถะว่า ต้องหาสถานที่ มิฉะนั้นจะไม่เกิดอะไร แต่ผมคิดว่า อย่างที่อาจารย์บรรยายมาแล้ว คือ เข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ จะเป็นความเข้าใจที่ถูกไหม
สุ. ถ้าไม่มีความเข้าใจ ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด และก็ยังไม่เข้าใจอะไรทั้งนั้น จิตจะสงบไหมในขณะที่ไปสู่สถานที่นั้น หรือว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงได้ไหม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน
ถ. ผมมีประสบการณ์หลายครั้ง เช่น บางทีเห็นหรือได้ยินบุคคลอื่นมีความสุขความเจริญอะไรต่างๆ มากกว่าผม ก็เกิดอิจฉา แต่เมื่อได้ฟังอาจารย์และ นึกถึงความอิจฉาตามที่ผมอ่านพบเรื่องของท่านพระติสสเถระ ก็ระลึกถึงท่าน ท่านเกิดความอิจฉาจนเป็นเหตุให้ท่านตกนรกหมกไหม้ ทนทุกข์ทรมาน เมื่อนึกถึงเรื่องนั้น ทำให้ความอิจฉาไม่ได้เกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้เป็นการระลึกถึงพระสังฆคุณ จะถูกต้องหรือเปล่า
สุ. ถ้าระลึกแล้วจิตสงบ
ถ. เมื่อจิตสงบ ก็ไม่เกิดความอิจฉาริษยาขึ้น เรียกว่าเป็นการเจริญสังฆคุณ ถูกต้องไหม
ส. ถูก
ถ. บางครั้งเห็นสตรีสวยๆ เกิดความกำหนัด ความปฏิพัทธ์ขึ้น ก็นึกถึงท่านพระอานนท์ ที่ครั้งหนึ่งท่านเกิดเป็นผู้ชายและไปเที่ยวหญิงโสเภณี ทำให้ท่านเกิดเป็นโสเภณีตั้ง ๕๐๐ ชาติ เมื่อระลึกได้เช่นนี้ ทำให้ความกำหนัดลดน้อยลงไปจนไม่มี เพราะระลึกถึงท่าน อย่างนี้จะจัดเป็นสังฆคุณใช่ไหม
สุ. เวลาที่ระลึกและจิตสงบ ต้องเป็นอารมณ์ของสมถภาวนาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อนึกถึงพระสาวกและจิตสงบ ในขณะนั้นก็เป็นการระลึกถึงพระสังฆคุณ
ถ. เพราะฉะนั้น สมถะก็ไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ เกิดได้ทุกขณะ พร้อมด้วยปัญญาของเราที่เกิดขึ้น
สุ. มีอารมณ์ถึง ๔๐ จะไปเข้าป่า จะเอาอารมณ์อะไร ในเมื่อชีวิตประจำวันควรอบรมเจริญกุศลทุกประการ ทั้งทาน ศีล และภาวนา
ถ. ไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ เพราะสมถะถ้าจะเกิด ก็เกิดได้ทุกสถานที่
สุ. เมื่อมีความเข้าใจ
ถ. แต่ผมมีปัญญาน้อย ต้องการสถานที่ เมื่อคืนนี้คอยฟังรายการวิทยุของอาจารย์ ก่อนเวลา ๓ ทุ่มมีบทเพลงไทยจำได้เลาๆ ว่าเป็นเพลงลาวแพน ฟังแล้วเกิดความชอบ เมื่อพิจารณาตามทำนองเนื้อเพลง ก่อให้เกิดปฏิพัทธ์ เกิดกำหนัดยินดี ผมพยายามใช้สติว่า นี่เป็นเสียงเท่านั้น แต่ว่าแพ้อารมณ์ อารมณ์บทเพลง ต้องปิดวิทยุ ไม่ฟัง และลองทำอานาปานสติ ทำง่าย แต่ถ้าทำระหว่างมีบทเพลง ไม่ไหว นั่นเป็นลักษณะที่ผมพบกับตัวเอง
บทเพลงรักทั้งหลายที่มีอยู่ในวิทยุ ผมโยนทิ้งได้หมดแล้ว แต่ว่ามีบทเพลงอีกประเภทหนึ่ง เช่น บทเพลงปลุกใจเกี่ยวกับความรักชาติบ้านเมือง ฟังแล้วลืมไปว่าตัวเองอายุใกล้ ๗๐ นึกว่าตัวเองอายุ ๒๐ กว่า ขอเรียนถามว่า บทเพลงแห่งความรักอย่างลาวแพน เป็นเรื่องของโลภมูลจิต แต่เพลงรักชาติเป็นอะไร อย่างตื่นเถิดชาวไทย หรือเพลงอะไรต่างๆ ที่มีในวิทยุสมัยหนึ่งนี้ เป็นอะไร หรือจะเป็นโมหะ หลงว่า ชาติไทยเป็นของผม
สุ. ชอบไหม เพลงนั้น
ถ. ชอบ
สุ. เวลาที่ชอบ เป็นอะไร
ถ. ก็โลภะ
สุ. ก็โลภะ
ถ. แต่ไม่ได้ชอบเสมอไป ถูกปลุกขึ้นมาจึงลุกขึ้น ลืมไปว่า อายุมากแล้ว
สุ. ท่านผู้ฟังต้องการอะไรในชีวิต ขณะนี้
ถ. ความสงบสุข
สุ. ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่รู้ว่าความสงบเป็นอย่างไร เช่น เวลาที่ทำอานาปานสติ
ถ. พูดถึงอานาปานสติ เมื่อผมอายุได้ ๓๘ ปี เคยอ่านหนังสืออภิธัมมัตถสังคหะ อ่านแล้วผมเกิดเป็นโรคจิต พายเรือเข้าไปอยู่ในคูคลองเงียบๆ ไปนอนดูใบไม้ไหว อยากมีฤทธิ์ จะทำอากาสานัญจายตนะ
สุ. ขอประทานโทษ ทำไมมุ่งไปที่อากาสานัญจายตนะ
ถ. ผมอยากมีฤทธิ์
สุ. ผ่านฌานอื่นๆ แล้วหรือ เพราะว่าอากาสานัญจายตนะเป็นอรูปฌาน ถ้ายังไม่บรรลุรูปฌานที่ ๕ จะถึงอากาสานัญจายตนฌานไม่ได้
ถ. ตอนนั้นผมมีโอกาสไปอยู่ต่างประเทศ คบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงหลายคน พอกลับมาก็มานั่งทำนอนทำอานาปานสติ ไม่รู้ว่าผมเป็นโรคจิตหรือเปล่าตอนนั้น นึกว่าอยากพบเพื่อนคนนั้น ในวินาทีนั้นเอง รู้สึกว่า ผมเห็นเขากำลังเต้นรำอยู่
สุ. ดีใจที่เห็น ใช่ไหม
ถ. ผมอยู่กรุงเทพ เขาอยู่ที่โคเปนเฮเกน ห่างกัน ๖ ชั่วโมง
สุ. เลยดีใจที่ได้เห็นเขา
ถ. ผมก็เข้าไปดึงหูเขา
สุ. อย่างนั้นหรือ อานาปานสติ
ถ. ผมก็ไม่รู้ เมื่อผมรู้ตัว ก็จดบันทึกเหตุการณ์ และเขียนจดหมายถึงเขา บอกว่า ชั่วโมงนี้เวลากรุงเทพเท่านี้ เวลาที่โคเป็นเฮเกนเท่านั้น ลื้อกำลังทำเช่นนั้นอยู่ใช่ไหม ผมแย่งคู่เต้นรำ ลื้อยังไม่ยอมให้อั๊ว และผมได้รับจดหมายตอบจากเขาว่า ทำไมลื้อรู้ล่ะ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการณ์บังเอิญที่ว่า ผมคิดไปเอง และตรงกับเวลานั้นๆ ซึ่งผมก็คิดว่า เอ ผมเป็นโรคจิตหรือเปล่า ต่อไปผมก็ทิ้ง เพราะมีงานในหน้าที่
สุ. แต่ควรที่จะได้พิจารณาว่า ขณะนั้นหรือที่เป็นอานาปานสติ
ถ. ผมเรียนตรงๆ ว่า ผมเป็นคนมีปัญญาน้อย ผมอ่านจากหนังสือ ไม่ได้ไปแสวงหาอาจารย์ การที่ไม่หาอาจารย์ เพราะผมเจอแต่ละคนมีเครื่องรางของขลัง มีอะไรที่ไม่ตรงต่อพระวินัย ผมจึงมาฟังอาจารย์ที่นี่พูด และพยายามที่จะเอาสติมาใช้ในวีถีชีวิต อย่างที่เล่าเมื่อครู่นี้ ผมโยนบทเพลงทิ้งไปไม่ได้ ระหว่างที่วิทยุยังมีบทเพลงอยู่ผมยังทนไม่ไหว ผมต้องปิดวิทยุ ถ้าไม่ปิดผมต้องคล้อยตาม
สุ. ความสงบมี ๒ อย่าง คือ ความสงบที่เกิดพร้อมสติปัฏฐานอย่างหนึ่ง และความสงบ เวลาที่มีอารมณ์ของสมถภาวนาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน ท่านเลือกไม่ได้ เกิดได้ยินแล้วเพลงนั้น และเกิดความพอใจขึ้น เป็นสิ่งที่ยับยั้งไม่ได้ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของเสียง หรือว่าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน ในขณะนั้นเริ่มศึกษาที่จะรู้ในสภาพรู้ที่เป็นนามธรรม หรือในลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ในขณะนั้นจิตสงบ ซึ่งเลือกไม่ได้เลย เสียงเกิดขึ้น ได้ยินแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นการที่จิตจะสงบได้โดยสติปัฏฐานเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องเลือกว่า จะเจริญ สมถภาวนา เพราะว่าต้องการความสงบ ซึ่งสมถภาวนาไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ถึงแม้ว่าใครจะเจริญสมถภาวนา บรรลุถึงขั้นสูงที่สุดของฌาน คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌาน แต่เป็นปุถุชน สังสารวัฏฏ์ยังไม่สามารถที่จะหมดสิ้นได้ ยังจะต้องมีการเกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์
แต่ละท่านยังไม่ได้บรรลุถึงปฐมฌานที่จะไปบังเกิดในพรหมโลก แต่ทุกขณะจิตที่จะล่วงไป ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น ซึ่งในขณะนั้นเป็นความสงบที่ประกอบด้วย สติปัฏฐานที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงและดับสังสารวัฏฏ์ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะคิดว่า จะสงบ เวลาที่ได้ยินเสียงเพลงอย่างนั้น เมื่อไม่สงบก็ปิดเสีย การที่จะปิดวิทยุหรือการที่จะรับฟังต่อไป ทุกขณะจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บางครั้งอาจจะเปิดรับฟังต่อไป บางครั้งอาจจะปิด ซึ่งสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมใน แต่ละขณะนั้นได้ โดยที่ใจอย่ามุ่งหวังที่จะสงบ แต่ควรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๙๒๑ – ๙๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960