แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
ครั้งที่ ๙๒๔
สาระสำคัญ
เจ้ากรรมนายเวร หรือว่ากรรมของเรา สัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ จดหมายจากหน่วยก่อสร้างในสนามบิน ดอนนก จังหวัดสุราษฎร์ธานี อัง.ปัญจก.โยธาชีววรรค - ภัยที่น่ากลัว จะมีมาในอนาคต ๕ ประการ
ถ. สมมติว่า คนมีไข้ปวดศีรษะทุรนทุรายมาก ตามความเข้าใจคิดว่า อาจจะมีเจ้ากรรมนายเวรมาทำให้ปวดหรือทรมาน การแผ่ส่วนกุศลให้ จะมีประโยชน์ไหม จะได้ผลอะไร
สุ. เจ้ากรรมนายเวร หรือว่ากรรมของเรา
ถ. ไม่ทราบ
สุ. มีใครเป็นเจ้าของกรรมของเราหรือเปล่า
ถ. ไม่มี
สุ. ถ้าเช่นนั้นจะไปแผ่ให้ใคร นอกจากเจริญเมตตากับแม้แต่ผู้ที่เป็นข้าศึก หรือผู้ที่มีเวร โดยที่ในขณะนั้น จิตไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ เมตตา คือ สภาพที่ไม่โกรธ สภาพที่เป็นมิตร สภาพที่หวังดี ไม่มีศัตรู ใครจะเป็นศัตรูกับเรา แต่จิตของเราไม่เป็นศัตรูกับบุคคลนั้น นั่นคือ สภาพของจิตที่เป็นเมตตา
ถ. ก็เข้าใจผิดที่แผ่เมตตาให้เจ้าเวรนายกรรม
สุ. โดยมากหวังผล รักอะไรก็ไม่เกินรักตัว รักตัวเองที่สุด รักชีวิตที่สุด เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่กระทำลองพิจารณาดูว่า เพื่อตัวเอง หรือเพื่อชีวิตของตัวเองหรือเปล่า
ถ. ไม่ใช่
สุ. ก็กำลังป่วยไข้ไม่ใช่หรือ อยากจะหาย
ถ. ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง เป็นคนอื่น อยากจะให้เขาหาย อยากให้เขาดีขึ้น
สุ. ก็ต้องรู้เหตุรู้ผลว่า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ถ้าเจ้าเวรนายกรรมอภัยให้ได้ ก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ใช่ไหม
ถ. กุศลจิตเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือ
สุ. กุศลจิต ทาน การให้ เป็นกุศล ขณะนั้นจิตสงบ สมถภาวนา หมายความว่า การอบรมความสงบให้มั่นคงขึ้น จนกระทั่งความสงบนั้นมั่นคงประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ
ถ. อารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ การให้ทานนี้จิตสงบ เป็นสมถะไหม
สุ. บางท่านก็มีอุปนิสัยในการให้ทาน เป็นทานุปนิสัย บางท่านมีอุปนิสัยในการรักษาศีล เป็นสีลุปนิสัย แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านเหล่านั้นจะอบรมเจริญ สมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบมั่นคงขึ้น และที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสมถภาวนา ก็เพราะว่าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นย่อมสะสมทำให้อกุศลเพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงการอบรมเจริญสมถภาวนาเพื่อที่จะละคลายบรรเทาอกุศลให้น้อยลง ซึ่งสมถภาวนานั้นทรงแสดงว่า ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่เป็นกุศลธรรมที่ควรอบรมเจริญ เพราะการที่จะดับสังสารวัฏฏ์ได้ ไม่ใช่ว่าภายในชาตินี้ หรือ ๒ ชาติ หรือ ๓ ชาติ แต่กว่าจะอบรมบารมีจนกระทั่งพร้อมที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นกัปๆ และกัปหนึ่งก็แสนนาน เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ควรที่จะให้กุศลอื่นๆ เจริญด้วย
ถ. อกุศลธรรม ไม่สามารถทำให้จิตสงบได้ ใช่ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. จิตที่เป็นกลางๆ ถือว่าสงบไหม
สุ. เช่นจิตอะไร เป็นกลางๆ
ถ. อุเบกขาจิต
สุ. อุเบกขาเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้
ถ. จัดเป็นสมถะได้ไหม
สุ. เวลาที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นจิตสงบ แต่ยังไม่ใช่สมถภาวนา เพราะ เกิดขึ้นจากอุปนิสัยที่ได้สะสมมาในการให้ทาน อาจจะให้ทานบ่อยในชีวิต แต่ว่าไม่ได้อบรมเจริญจาคานุสสติ
ผู้ใดก็ตามที่จะอบรมเจริญความสงบของจิตโดยอาศัยจาคะ การบริจาค ต้องเป็นผู้ที่ให้ทาน ถ้ายังไม่ได้ให้ทาน จะน้อมระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบในขณะที่ให้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบขณะที่ให้ จะต้องมีการให้ก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็นึกอยากจะทำสมถภาวนาให้จิตสงบโดยอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ก็ทำได้ แต่จะต้องมีเหตุที่สมควรเป็นปัจจัย
ถ. จิตที่เป็นกุศลจิต จะสงบได้ ต้องมีอุเบกขาเป็นปัจจัยก่อน ใช่ไหม
สุ. ไม่จำเป็น โสมนัสก็ได้
ถ. อกุศลธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรมได้ไหม
สุ. เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องรู้ว่า มีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่มีปัจจัยเดียว ปัจจัยที่ทรงแสดงไว้โดยประเภทใหญ่ๆ มีถึง ๒๔ ปัจจัย และยังทรงแสดงว่า โดยกาลไหน โดยอดีตกาล หรือว่าโดยปัจจุบันกาล ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด
ถ. การเจริญฌาน จิตเป็นกุศลใช่ไหม
สุ. เจริญเมื่อไร จะตั้งต้นด้วยการเจริญฌานนั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องตั้งต้นด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้สภาพของจิตที่เป็นกุศลที่สงบว่า สงบเพราะอะไร และไม่สงบเพราะอะไร
ถ. อย่างนิวรณ์ ๕ ไม่ครอบงำจิต เป็นฌานจิตไหม
สุ. ยังไม่ต้องถึงฌานจิตก็ได้ เวลาที่กุศลจิตเกิดเป็นไปในทาน ขณะนั้นก็ไม่มีนิวรณ์ ๕ นี่เป็นเรื่องชื่อต่างๆ อีกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เป็นสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของสภาพของจิตจริงๆ ในขณะนี้
ถ. กุศลธรรมเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ใช่ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. นิพพานกับโลกุตตรจิตเหมือนกันไหม
สุ. ไม่เหมือน นิพพานไม่ใช่โลกุตตรจิต นิพพานเป็นวิสังขารธรรม ส่วน โลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรม สังขารธรรมมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นและดับไป นิพพานเป็นวิสังขารธรรม เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิดจึงไม่ดับ เพราะฉะนั้น นิพพานไม่ใช่ โลกุตตรจิต
ถ. จิตของพระอรหันต์เป็นโลกุตตรจิต ใช่ไหม
สุ. ที่กล่าวว่า จิตของพระอรหันต์ คือ อรหัตตมรรคจิต เกิดขึ้นดับกิเลสที่เหลือทั้งหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีก เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้อรหัตตผลจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ และดับไป หลังจากนั้นก็มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ การเห็น การได้ยิน การคิดนึก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดอรหัตตผลจิตเกิดขึ้นอีก ขณะนั้นจึงเป็นโลกุตตรจิต แต่ถ้าอรหัตตผลจิตไม่เกิดขึ้นอีก ก็ไม่ใช่โลกุตตรจิต
ถ. การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกับการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันไหม
สุ. เหมือนกัน
ถ. มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นประธาน ใช่ไหม
สุ. ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ถ. อย่างเช่น อกุศลธรรมเกิดกับจิต ความเห็นถูกจะต้องเกิดขึ้นก่อน ใช่ไหม จึงจะละได้
สุ. สติระลึกรู้ลักษณะสภาพที่เป็นอกุศลในขณะนั้นตามความเป็นจริง รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ. เมื่อสติเกิดขึ้น แต่ไม่มีสัมมาทิฏฐิรู้ว่า ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล ไม่มีความเพียรด้วย มีแต่สติ จะละได้ไหม
สุ. ละอะไร
ถ. ละอวิชชา
สุ. ไม่ได้ สภาพธรรมที่จะละอวิชชาได้ สภาพธรรมนั้นคือวิชชา หรือปัญญาเท่านั้น
ถ. ปัญญาต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ใช่ไหม
สุ. ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส ก็ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเกิดพร้อมกับสติปัฏฐาน
ถ. ธรรมชาติของสติเป็นเพียงเครื่องกั้นกระแสใช่ไหม
สุ. ฟังมาว่าอย่างนั้น แต่เวลานี้กระแสของอะไรกำลังเป็นไป โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง สติเกิดขณะใด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจึงจะกั้นกระแสของโลภะ โทสะ โมหะได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นชื่อที่อยู่ในตำรา แต่ลักษณะสภาพการเกิดขึ้นของสตินั่นเองที่เป็นกุศล ที่จะระงับการเกิดขึ้นของอกุศล
ถ. สติเกิดขึ้นรู้ลักษณะ แต่ธรรมชาติที่รู้นั้นเป็นปัญญาใช่ไหม
สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ลักษณะของปัญญาที่รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สติเป็นสภาพที่ไม่หลงลืม เป็นอาการที่ระลึกได้ จึงระลึกรู้ที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่การรู้ชัด
ถ. การเจริญสติเป็นเพียงการระลึกรู้ ระลึก คือ ความรู้สึกตัว รู้ว่าอะไรกำลังปรากฏอยู่ แต่ความเห็นชอบจะต้องมาก่อน ใช่ไหม
สุ. มรรคมีองค์ ๘ เวลาที่เกิดขึ้น มรรค ๕ องค์เกิดร่วมกัน คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ
ถ. มิจฉามรรคก็มีใช่ไหม
สุ. มิจฉามรรคเป็นการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไป ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ถ. แต่ผู้ที่เจริญตามทางอริยมรรคได้ จะต้องมีสัมมาทิฏฐิมาก่อน ใช่ไหม
สุ. เป็นความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกว่า สติปัฏฐานเป็นอย่างไร จะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร
ถ. สัมมามรรคไม่ใช่นิพพาน ใช่ไหม
สุ. สัมมามรรค ได้แก่ เจตสิก ๘ ประเภท ๘ องค์ เป็นหนทางปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งนิพพาน
วันนี้ได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง ขออ่านให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ผู้ที่ฟังธรรมแล้วมีความคิดเห็นประการใดบ้าง จดหมายฉบับนี้ส่งมาจากหน่วยก่อสร้างในสนามบิน ดอนนก อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขียนเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓
ข้อความในจดหมายมีว่า
เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
จากการฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ทางวิทยุกระจายเสียง และจาก คำซักถามของบรรดาสานุศิษย์ของอาจารย์ที่มาฟังคำบรรยาย รู้สึกว่าเขาวกวนพอใช้กับคำตอบของอาจารย์ ผมไม่เคยรู้จักอาจารย์ หรือประวัติของอาจารย์แต่อย่างใด แต่ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ และเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ๑ กลัวว่าคำสอนของพุทธะจะเขวไป ๑ จะเป็นไปทำนองสอนหนังสือให้สังฆราช หรือขวางเจตนารมณ์การบิดเบือนของอาจารย์ ผมขอน้อมรับผิดทุกประการ โดยผมขอติง คำสอนของอาจารย์ด้วยเหตุผลดังนี้
ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๗๙ กล่าวถึงภัยที่น่ากลัว จะมีมาในอนาคต ๕ ประการ ๑ ใน ๕ ประการนั้น คือ ข้อ ๓ ที่กล่าวว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภัยอื่นยังมีอีก คือว่าในอนาคตอันไกล จักมีภิกษุทั้งหลายที่ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา อยู่อย่างนั้น แล้วไปสนทนากันอยู่ ไปกล่าวกันอยู่ ถึงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา ก็จะพลัดก้าวออกไปสู่ธรรมนำโดยไม่รู้สึกตัว (อาจจะเป็นธรรมดำก็ได้ ไม่ทราบว่าอ่านถูกหรืออ่านผิด)
ทั้งนี้ก็เนื่องจากคำบรรยายของอาจารย์ ดูจะเคร่งเครียดกับหลักการของคัมภีร์ของอภิธรรมมากไปหน่อย ซึ่งผมพิจารณาแล้ว ทำให้คิดถึงชาดกเรื่องภิงสกะ ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง ชาดกเรื่องนี้กล่าวถึงดาบสผู้มีความขยะแขยงและเกลียดกลัวเป็นที่สุด หากจะได้รับเกียรติในการกล่าวอภิธรรม ดังความในเรื่องว่า
ดาบสตระกูลหนึ่งพากันออกบวชไปสู่ป่า ดาบสผู้น้องและทาสีผลัดเวรกันไปหาผลหมากรากไม้ มิให้ดาบสผู้พี่ต้องออกไปหาเอง ปรนนิบัติอยู่เช่นนี้ช้านาน วันหนึ่งเทพใคร่ลองใจดาบสกลุ่มนี้ หลังจากที่ดาบสผู้น้องหารากบัวมาวางไว้ที่หน้ากุฏิของดาบสผู้พี่แล้ว เทพตนนั้นก็ยักย้ายที่ซ่อนเสีย ดาบสผู้พี่เสร็จกิจจากการเจริญสมาธิแล้ว ก็ออกมาเพื่อจะบริโภคอาหารดังเคย แต่ไม่เห็นมีผลหมากรากไม้ตั้งวางไว้เช่นทุกวัน ดังก่อน ก็จึงออกปากเอ่ยถามบรรดาน้องๆ ว่า วันนี้น้องๆ ไม่ได้ออกไปหาผลหมากรากไม้ดอกหรือ ดาบสผู้น้องก็ตอบว่า ไป และหาเหง้าบัวได้เป็นอันมาก ได้เอาไปวางสู่กุฎีของพี่อย่างเคยปฏิบัติมาทุกประการแล้ว ถ้าเช่นนั้นเหง้าบัวหายไปไหนหนอ ดาบสผู้เป็นทาสีจึงสาบานว่า ถ้าดิฉันขโมยเหง้าบัวส่วนนั้นแล้ว ขอให้ตายไปเกิดเป็นภิกษุณีมีวาจาฉาดฉานในอภิธรรม ใครๆ รอหน้าไม่ติดเถิด
ดังนั้นผมจึงนึกเอาเป็นการส่วนตัวว่า ชะรอยผู้ที่ชอบเพ้อฝันนิยมกล่าวอภิธรรม คงจะเป็นพวกดาบสทาสีทวนสาบานกลับชาติมาเกิดกระมัง
อภิธมฺมํ ปฏิหาหนฺโต (ไม่ทราบเขียนว่า ปฏิพาหนฺโต หรือว่าอะไร) และอะไรอีกบ้าง ลืมไปเสียแล้ว ผมเคยท่องจำสมัยเมื่อเมืองไทยเห่อเหมือนกัน จำได้ว่าพระภิกษุพม่าที่สามารถท่องคัมภีร์อภิธรรมด้วยปากเปล่า และแตกฉานอภิธรรม มีบทบาทมิใช่น้อย ทั้งยังเคยท่องเรื่องจิต เจตสิก รูป และนิพพาน แจกสัมปยุตต์ ไม่สัมปยุตต์เท่านั้นเท่านี้ดวงอยู่ประมาณครึ่งปี ครั้นพิจารณาไปเห็นว่า เป็นธรรมทำนองยัดเยียด ใครปฏิเสธถือว่าบาป ต้องตกนรก รู้สึกว่าจะผิดหลักการของกาลามสูตร จึงไม่สำเร็จอภิธรรม เพราะถอนตัวออกมาเสียก่อน หรืออาจจะเป็นเพราะไม่เคยสาบานว่า ขอให้เกิดเป็นผู้แตกฉานในพระอภิธรรมกระมัง ได้ยินใครกล่าวอภิธรรมแล้ว ตัณหา อคติเข้ามาปรุงแต่งจิต จิตตสังขาร ดับไม่ลงอยู่ร่ำไป
คัมภีร์อภิธรรมทั้งหมดเริ่มตั้งแต่คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค จนถึงอภิธัมมัตถสังคหะ อันเป็นคัมภีร์สุดท้ายนั้น อรรถกถาจารย์ร้อยกรองตกแต่งมิใช่หรือ ก็แลพระสุตตันตะ ซึ่งเป็นพระพุทธวจนะออกจากพระโอษฐ์ เป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้ง เป็นระเบียบ เหตุใด พุทธศาสนิกจึงไม่เพียรพยายามเข้าให้ถึง หรือนำมากล่าวบ่อยๆ เผยแพร่ให้มากๆ หรือว่าหมดความจำเป็น ไม่ให้ประโยชน์สุขเช่นนั้นหรือ จึงได้มาเพียรยกย่องอภิธรรม ซึ่งเป็นของอรรถกถาจารย์ผู้สาวก ว่าดี ว่างามอย่างนั้นอย่างนี้ แทนที่จะยกย่อง พระสุตตันตะขององค์พระบรมศาสดา
ในอานาปานสติสูตร สังยุตตนิกาย องค์สมเด็จพระบรมศาสดากล่าวไว้ชัดเป็นภาษาบาลีว่า อานาปานสฺสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ซึ่งพอถอดแปลเป็นภาษาไทยว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว วิชชา วิมุตติย่อมบริบูรณ์ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็ อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วอย่างไรเล่าจึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอยู่นั้นเทียว หายใจออก มีสติอยู่หายใจเข้า
แล้วทีนี้ก็แจกแจงเป็นมีสติรู้กาย เวทนา จิต ธรรม เป็น ๑๖ ขั้นตอน ข้อความเหล่านี้ คัดจากวิธีฝึกสมาธิวิปัสสนาของท่านพุทธทาสภิกขุ เล่ม ๑ – ๒ – ๓
จากคำถามของสุภาพบุรุษคนหนึ่งที่ถามอาจารย์ ซึ่งผมฟังจากวิทยุกระจายเสียงเมื่อคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ เวลา ๒๑.๐๐ น. ว่า เราจะทราบอารมณ์ของฌานได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า ต้องศึกษา ไม่อย่างนั้นจะรู้ไม่ได้เลย
หมายความว่า ต้องศึกษาตามหลักคัมภีร์อภิธรรมกระมัง ในพระสูตรก็อธิบายไว้ชัด ไม่เห็นมีการบรรยายว่า เป็นปัจจุบันธรรม เป็นรูปธรรมเกิดดับๆ ติดต่อไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เขา เรา สัตว์ อย่างนี้เลย การบรรยายอย่างนี้ ดูเหมือนจะเป็นการบรรยายแบบเล่นลิ้น ตีโวหารให้คนฟังวกวน มากกว่าการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธองค์
อนึ่ง การฝังแน่นในสำนัก ยึดตัวบุคคลเป็นหลัก ไม่ยอมรับฟังการเผยแพร่ หรือเปิดหูเปิดตาจากวิธีการของสำนักอื่นบ้าง ไม่ยอมเชื่อว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ปราชญ์ปัจจุบันสามารถค้นคว้าพระไตรปิฎก แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ฟังไม่วกวน ทั้งยินดีสอนบรรยายเพื่อให้ธรรมของพระพุทธองค์เข้าสู่จิตใจในอันจะได้หลุดพ้นจากวนโอฆะ แล้วจะได้ช่วยกันบรรยายมากๆ เผยแพร่มากๆ เพื่อให้เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน พ้นทุกข์มากๆ นั้น มีอยู่
หากจดหมายฉบับนี้ของผม พอที่จะเบนทิศทางการบรรยายของอาจารย์ให้ตรงเป้าหมายตามพระสูตรในอานาปานสติปัฏฐาน สังยุตตนิกายได้บ้าง ก็ขอให้กุศลผลบุญนี้ ดลบันดาลให้อาจารย์พ้นทุกข์โดยพลัน อย่าได้ต้องมาอธิบายบรรยายมหา สติปัฏฐาน ๔ นอกวิถีทางของท่านพระบรมศาสดาเลย เพราะท่านพระบรมศาสดาของเราท่านว่า อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์
ถ้าต้องให้ไปเรียนอภิธรรมแล้ว จึงจะทำให้สติปัฏฐานทั้ง ๔ บริบูรณ์ได้ พระพุทธองค์ก็คงจะตรัสสอนไว้แล้ว ละความเห็นของตนลงบ้าง ฟังความเห็นของคนอื่นบ้าง ยอมรับในความเป็นปราชญ์ของบุคคลอื่นบ้าง ไม่ผูกมัดตนเองกับความเชื่อในคณาจารย์หนึ่งคณาจารย์ใดโดยเฉพาะ ดุจท่านโมคคัลลานะและท่านสารีบุตรละจากอาจารย์สัญชัยเดิม ขอบรรพชาเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา ผมว่านิพพานจะอยู่แค่เอื้อมนี้เอง
ด้วยความนับถือ
ป.ล. หากปฏิฆะของอาจารย์จะฟุ้งด้วยจดหมายของผมฉบับนี้ ผมก็ได้เรียนยืนยันแล้วว่า ผมขอน้อมรับผิดด้วยเหตุผล กลัวคำสอนของพระพุทธะจะเขว ซึ่งผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องท้วงติงในฐานะบริษัท ๔ ผมอายุ ๕๖ ปีนี้ และจะบวชไม่คิดสึกประมาณเมษายน พฤษภาคม หากจะติดต่อกับผมตามสถานที่หัวกระดาษ ย่อมไม่ผิดหวัง หรือถ้าอย่างไรกรุณาแจ้งให้ทราบว่า จดหมายฉบับนี้ถึงมืออาจารย์และได้อ่านแล้ว ปีติคงจะเกิดแก่ผมเป็นอันมาก ในอันที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของบริษัท ๔ ลุล่วงไปได้บ้างแล้ว
สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรบ้างหรือเปล่า
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๙๒๑ – ๙๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960