แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926


    ครั้งที่ ๙๒๖

    สาระสำคัญ

    ขุท.ปกิณณกนิบาตชาดก.ภิสชาดก - เห็นโทษของกาม อุบาสิกาผู้อุทิศตัวเพื่อพระศาสนา (ศึกษาธรรม และกระทำกิจเผยแพร่พระธรรม)


    ข้อความต่อไป มหากาญจนะกล่าวสัจจปฏิญาณว่า

    ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดแกล้งกล่าวถึงของที่ไม่หายว่าหายก็ดี หรือผู้ใดสงสัยคนใดคนหนึ่งก็ดี ขอให้ผู้นั้นจงได้บริโภคกามทั้งหลาย จงเข้าถึงความตายอยู่ ในท่ามกลางเรือนเถิด

    เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้ฟังคำปฏิญาณของท่านเหล่านั้นแล้ว ก็ใคร่ที่จะได้ทราบเหตุผลที่ท่านเหล่านั้นเห็นภัยของการบริโภคกาม จึงได้ปรากฏพระองค์ให้ดาบสเหล่านั้นเห็น แล้วตรัสถามท่านเหล่านั้นว่า

    สัตว์ทั้งหลายในโลกย่อมพากันเที่ยวแสวงหากามใด เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าฟูใจของสัตว์เป็นอันมากในชีวโลกนี้ เพราะเหตุไรฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามเลย

    ท่านกล่าวตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้เป็นจอมภูต เพราะกามนั่นแล สัตว์ทั้งหลายจึงถูกประหาร ถูกจองจำ เพราะกามทั้งหลาย ทุกข์และภัยจึงเกิด เพราะกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงประมาทลุ่มหลงกระทำกรรมอันเป็นบาป สัตว์เหล่านั้นมีบาปจึงประสบบาปกรรม เมื่อตายไปแล้วย่อมไปสู่นรก เพราะเห็นโทษในกามคุณดังนี้ ฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกาม

    ท้าวสักกะตรัสว่า

    ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะทดลองดูว่า ฤๅษีเหล่านี้ยังน้อมไปในกามหรือไม่ จึงถือเอาเหง้ามันที่ฝั่งน้ำไปฝังไว้บนบก ฤๅษีทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีบาป นี้เหง้ามันของท่าน

    มหากาญจนะกล่าวว่า

    ดูกร ท้าวสหัสนัยน์เทวราช ฤๅษีเหล่านั้นมิใช่นักฟ้อนของท่าน และมิใช่ผู้ที่ท่านจะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของท่าน เพราะเหตุไรท่านจึงมาดูหมิ่น ล้อเล่นกับฤๅษีทั้งหลาย

    ให้เห็นความไม่ควร เพราะผู้ที่มีจิตใคร่ที่จะบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ย่อมสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิต เพราะฉะนั้น ฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่นักฟ้อนของพระอินทร์ ไม่ใช่ผู้ที่พระอินทร์จะพึงล้อเล่น ไม่ใช่พวกพ้องและสหายของพระอินทร์ เพราะเหตุไรพระอินทร์จึงมาดูหมิ่นล้อเล่นกับท่านทั้งหลายเหล่านั้น

    ข้อความต่อไป จะเห็นถึงการที่พระอินทร์แสดงความนอบน้อมต่อพระฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้ทราบชัดในคุณธรรมของท่านเหล่านั้นแล้ว ซึ่งท้าวสักกะตรัสแสดงความนอบน้อมต่อคุณธรรมของพระฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้นว่า

    ข้าแต่ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีปัญญากว้าง ท่านเป็นอาจารย์ และเป็นบิดาของข้าพเจ้า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้งพลาด ขอได้โปรดอดโทษครั้งหนึ่งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธเป็นกำลัง

    ขอให้ดูความไพเราะของจิต ของผู้ที่นอบน้อมเช่นท้าวสักกะ เวลาที่ท่านกระทำผิดไปและรู้สึกตัวว่าผิด ใคร่ที่จะกล่าวคำแสดงความสำนึกผิดและความนอบน้อม ซึ่งท่านผู้ฟังเคยคิดที่จะกล่าวคำที่นอบน้อมอย่างยิ่งอย่างที่ท้าวสักกะกล่าวไหม ที่กล่าวว่า ขอเงาเท้าของท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าผู้พลั้งพลาด

    เมื่อได้ฟังอย่างนั้นแล้ว มหากาญจนะก็ได้กล่าวตอบว่า

    การที่พวกเราได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมภูต นับเป็นราตรีเอกของพวกเราเหล่าฤๅษีซึ่งอยู่กันด้วยดี ท่านผู้เจริญ ทุกคนจงพากันดีใจเถิด เพราะท่านพราหมณ์ได้ เหง้ามันคืนแล้ว

    ตราบใดที่สติเกิด ตราบนั้นไม่โกรธ ในขณะนั้นก็เป็นเมตตา ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า พระฤๅษีทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้โกรธท้าวสักกะ

    ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เราตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ และอานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ในครั้งนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส สาตาคีระเป็นเทวดา ปาลิเลยยกะเป็นช้าง มธุทะผู้ประเสริฐเป็นวานร กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ ท่านทั้งหลายจงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล

    จบ ภิสชาดกที่ ๕

    ไม่ทราบเจ้าของจดหมายนำเอาข้อความมาจากไหนที่ว่า ดาบสที่เป็นทาสีสาบานว่า ถ้าดิฉันขโมยเหง้าบัวส่วนนั้นแล้ว ขอให้ตายไปเกิดเป็นภิกษุณี มีวาจาฉาดฉานในอภิธรรม ใครๆ รอหน้าไม่ติดเถิด

    เป็นความคลาดเคลื่อนตั้งแต่ต้น แม้แต่ข้อความในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ความเข้าใจก็ย่อมจะคลาดเคลื่อนผิดไปด้วย เพราะแม้แต่พระไตรปิฎกจะมีข้อความที่ชัดเจน แต่สำหรับบางท่านก็กลับเป็นอย่างอื่น ซึ่งคงจะไม่มีทาสีคนไหนกล่าวอย่างนี้

    สำหรับประโยชน์ของชาดก แสดงให้เห็นถึงความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ ที่แต่ละชาติ บุคคลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในอนาคต ต้องอบรมเจริญกุศลเป็นบารมีไปเรื่อยๆ จนกว่าบารมีนั้นจะพร้อมทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เวลาที่ฟังชาดกรู้สึกอย่างไร เป็นวิริยารัมภกถาหรือเปล่า เป็นกถาที่แสดงให้เห็นวิริยะอย่างยอดเยี่ยมของท่านทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นทาสี หรือว่าเคยเป็นพี่น้องกันมาบ้าง เพราะฉะนั้น ทุกท่านคงจะไม่เบื่อ และไม่ท้อถอยในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งกำลังเป็นชาติหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน จนกว่าบารมีของท่านพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ในอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ไม่ทราบว่า ใครเคยเป็นญาติพี่น้อง เป็นสหายกับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระมหาสาวก หรือว่าพระอรหันต์รูปหนึ่งรูปใดมาบ้าง แต่เมื่อบารมีของท่านยังไม่ถึงการที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม แต่ละชาติก็เป็นเหมือนกับแต่ละชาติในชาดกของบรรดาพระสาวกเหล่านั้น จนกว่าท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ขอตอบคำถามของท่านผู้ฟัง ซึ่งท่านเขียนถามมาว่า อาจารย์ได้ศึกษาและมีความรู้ในพระธรรมวินัยมามากพอสมควร และเข้าใจอย่างลึกซึ้งดี เหตุไรอาจารย์จึงไม่บวชอุทิศตัวเพื่อพระศาสนา

    ก็ไม่ทราบว่าท่านจะให้บวชเป็นอะไร เพราะสำหรับพุทธบริษัทนั้นมี ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งแต่ละท่านเมื่อจะกระทำสิ่งใด ก็ควรที่จะมีจุดประสงค์อย่างแท้จริงว่า เพื่อประโยชน์อะไรในการที่จะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบวช ก็ควรที่จะมีจุดประสงค์จริงๆ ว่า ท่านจะบวชเพื่ออะไร และท่านจะบวชเป็นอะไร

    จุดประสงค์ของการบวชนี้เพื่ออะไร ถ้ามีใครที่จะบวช จะบวชเพื่ออะไร ถ้าไม่มีจุดประสงค์ ย่อมไม่บรรลุอะไรเลย ท่านผู้ฟังพอจะทราบไหมว่า จุดประสงค์ของผู้ที่จะบวชนี้เพื่ออะไร ซึ่งคงจะมีหลายอย่าง ขอเชิญเป็นตัวแทนของท่านผู้ฟังคนอื่นๆ ด้วยที่จะกล่าวว่า บวชเพื่อจุดประสงค์อะไร แต่ละท่านมีสิทธิ์ที่จะคิด

    ผู้ฟัง การบวชทุกวันนี้ ส่วนใหญ่บวชตามประเพณี ถ้าอายุครบก็ต้องบวช และบางคนก็มีจุดประสงค์ บวชเพื่อใช้หนี้บุญคุณของพ่อแม่ นี่เป็นจุดประสงค์ของการบวช เมื่อมีความคิดอย่างนี้ เมื่อบวชเสร็จก็ถือว่าได้ใช้บุญคุณของพ่อแม่แล้ว และระหว่างชีวิตของบรรพชิตนั้น ฉันแล้วก็นอน วันหนึ่งๆ ก็ยาว กว่าจะครบวัน แสนจะทุเรศทรมาน

    สุ. เคยบวชหรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่เคย แต่เคยเห็น เพราะว่าชีวิตของผมคลุกคลีกับวัดมาก พระสงฆ์องค์เจ้าผมเข้าถึงมาหลายแห่ง พระเถระทั้งหลายที่มีพรรษามากๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาก็หันเข้าไปก่อสร้าง ถ้าไม่ได้ก่อสร้างก็ต้องไปเที่ยว ถ้าไม่ได้เที่ยว วันหนึ่งๆ ยาว ไม่มีเครื่องอยู่ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้แล้วว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีธุระอยู่ ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ ธุระทั้ง ๒ นี้ ท่านไม่ได้ทำ เมื่อไม่ได้ทำก็ไม่มีเครื่องอยู่ คนเราถ้าไม่มีอะไรทำวันหนึ่งๆ ก็ยาว ยาวจริงๆ เพราะฉะนั้น พระเถระทั้งหลายต้องก่อสร้าง ขณะที่ก่อสร้างก็สนุก วันหนึ่งๆ เดี๋ยวผ่านไปๆ บางทีเงินไม่พอก็เที่ยวออกไปบอกบุญสานุศิษย์ทางโน้นทางนี้ วันหนึ่งๆ ก็หมดไป นี่เป็นจุดประสงค์ของการบวชประเภทหนึ่ง

    สุ. ท่านผู้ฟังคงไม่อยากให้ดิฉันบวชอย่างนี้ใช่ไหม และก็บวชไม่ได้แน่นอน เพราะเป็นภิกษุไม่ได้ เป็นภิกษุณีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่าท่านผู้ถามต้องการจะให้บวชเป็นอะไร

    ผู้ฟัง การบวชนี้ ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ พุทธบริษัททุกวันนี้ ถ้าเป็นคำพูดของภิกษุแล้วรู้สึกว่าหนักแน่น จะพูดผิดพูดถูกก็เป็นที่น่าเลื่อมใสเชื่อถือได้ แต่ถ้าเป็นคำพูดของฆราวาสรู้สึกไม่ค่อยจะเลื่อมใส เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ มีบุคคลประเภทนี้มากมายอยู่ทุกวันนี้

    สุ. ขอกล่าวถึงท่านที่บวชซึ่งมีจุดประสงค์ที่ดีบ้างว่า มีจุดประสงค์อะไรบ้างในการบวช นอกจากการบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดา ซึ่งมารดาบิดาใคร่ที่จะให้บวช จุดประสงค์ที่ดีสำหรับท่านที่จะบวชเอง มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ในพระสูตรแสดงไว้ ถ้าเห็นชีวิตของฆราวาสคับแคบ ก็ออกบวชเพื่อปฏิบัติธรรม นี่คือจุดประสงค์ที่ดี

    สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่สามารถจะบวชได้ ต้องพิจารณาตนเอง จนกระทั่งรู้ความสามารถของตนเองจริงๆ ว่า สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ได้จริงๆ จึงบวช แต่ถ้าไม่สามารถ แม้เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ยังยาก จริงหรือไม่จริง คฤหัสถ์ที่ดีนี่ยากหรือง่าย

    และยิ่งเป็นบรรพชิต เป็นผู้ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ซึ่งพระองค์ทรงแสดงพระวินัยไว้ เพื่อให้พระภิกษุเป็นผู้ที่งามพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ เป็นตัวอย่างที่ดีของความงามพร้อมของกาย วาจา ใจ ซึ่งคฤหัสถ์ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็ย่อมไม่งามพร้อม

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครงามพร้อมเท่ากับบรรพชิตที่ประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัย เพราะงามทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ความงามจะออกมาได้พร้อมหรือเปล่า ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะบางท่านลืมว่าการที่เป็นบรรพชิตนั้น เป็นการสละทั้งหมด นอกจากสละวงศาคณาญาติ มิตรสหาย เพื่อนฝูงแล้ว ยังสละโภคทรัพย์ทั้งหมด สมบัติทั้งหมด พร้อมที่จะเป็นผู้ที่ไม่มีสมบัติทางโลก และต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสมบัติทางธรรม คือ ทั้งศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ และปัญญา

    เพราะฉะนั้น การที่มีเครื่องหมายของเพศบรรพชิต เช่น ผ้ากาสาวพัสตร์ ไม่ใช่เป็นการให้แสดงอาการของกิเลสซึ่งมีมากอยู่ในจิตใจ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่งามเลย เพราะผู้ที่จะเป็นบรรพชิต ผู้ที่จะบวช ต้องพิจารณาโดยละเอียด โดยรอบคอบจริงๆ ถึงจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคให้เป็นผู้ที่สละ ซึ่งนอกจากจะสละวงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ มิตรสหายแล้ว ยังต้องสละกิเลสของตนเองด้วย มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ เพราะบางท่านเวลาที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว ลืมคิดข้อที่จะสละกิเลส แต่คิดว่าผู้อื่นต้องแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่เป็นบรรพชิต

    แต่การที่ผู้ใดจะแสดงความนอบน้อมต่อบรรพชิต เป็นกุศลของบุคคลนั้นเอง ไม่ใช่ว่าบรรพชิตนั้น มีความปรารถนา มีความต้องการในความนอบน้อมสักการะ หรือลาภ ยศ สรรเสริญ จากบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้น เป็นการขัดเกลาอย่างละเอียด ที่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เห็นว่า ผู้ที่เป็นบรรพชิตนั้น เป็นผู้ที่ต้องละกิเลส ทั้งความมานะ ความสำคัญตนด้วย เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านมีความประพฤติเหมือนโคเขาขาด หรือท่านมีความรู้สึกว่าท่านเป็นเสมือนบุตรของคนจัณฑาล ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ที่จะมีคนอื่นมานอบน้อมเคารพสักการะ แม้ท่านเป็นพระอัครสาวก เวลาที่ตามเสด็จพระผู้มีพระภาค พระภิกษุทั้งหลายมีสถานที่พัก แต่ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอัครสาวก ไม่มีที่พัก ท่านต้องพักอยู่ที่โคนต้นไม้ ท่านสามารถกระทำทุกอย่างได้เพราะท่านปราศจากอกุศลทั้งปวง ไม่มีความสำคัญตน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่กุฎี หรือที่โคนไม้ ก็เป็นท่านพระสารีบุตรนั่นเอง

    ผู้ที่เป็นบรรพชิต อย่าลืมว่า เป็นตัวอย่างของความดีงามพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ จึงสมควรที่จะเป็น หรือว่าจึงสมควรที่จะบวช เพราะเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะกระทำตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยครบถ้วนอย่างเพศบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จึงกราบไหว้นอบน้อมแสดงความเคารพต่อผู้ที่สามารถจะกระทำได้ คือ ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง มีสัจจะ มีความจริงใจในการที่จะเป็นเพศหนึ่งเพศใดว่า ท่านสามารถที่จะเป็นเพศบรรพชิต หรือว่าท่านสามารถเพียงเป็น เพศคฤหัสถ์ และเมื่อเป็นพุทธบริษัท ก็ควรประพฤติตนตามธรรมเท่าที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นธรรมของคฤหัสถ์ เป็นการประพฤติของคฤหัสถ์ที่ดีงาม เป็นตัวอย่างของคฤหัสถ์ เช่น ศึกษาธรรม ถ้าท่านสามารถ ก็เผยแพร่ธรรมและประพฤติธรรมด้วย เป็นตัวอย่างของคฤหัสถ์ แล้วแต่ว่าท่านเป็นคฤหัสถ์ที่สามารถจะรักษาศีล ๕ หรือคฤหัสถ์ที่สามารถจะรักษาศีล ๘ หรือคฤหัสถ์ที่สามารถจะถึงการรักษาศีล ๑๐ โดยเป็นพระอนาคามีบุคคล ตามความเป็นจริง

    ทุกคนมีชีวิตที่ต่างกันตามการสะสม แต่ไม่ว่าท่านจะเป็นเพศใด จะเป็นคฤหัสถ์ที่ครองเรือน หรือไม่ครองเรือน ท่านย่อมสามารถที่จะประพฤติตนเพื่อเป็นตัวอย่างของพุทธบริษัท แล้วแต่ว่าจะเป็นเพศบรรพชิตหรือฆราวาส รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ตามความเป็นจริง

    อย่างนี้ไม่ทราบว่า ท่านจะถือว่าเป็นการอุทิศตัวเพื่อพระศาสนาแล้วหรือยัง ที่ได้ศึกษาธรรม และกระทำกิจเผยแพร่พระธรรมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ในฐานะของอุบาสิกาที่รักษาศีล ๕ ตามความเป็นจริง

    นอกจากนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่แต่ละท่านสะสมมา แม้ว่าไม่ใช่บรรพชิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามีในเพศคฤหัสถ์ได้ ต่อเมื่อใดที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อนั้นจึงจะเป็นเพศบรรพชิต

    เพราะฉะนั้น มีอะไรที่ต่างกันระหว่างเพศของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม มีไหม ความต่างกันจริงๆ ระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์ คือ อัธยาศัยที่สะสมมาที่ต่างกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๙๒๑ – ๙๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564