แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928


    ครั้งที่ ๙๒๘

    สาระสำคัญ

    อถ.มหาสุญญตสูตร - อันตรายของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จดหมายท่านผู้ฟังถามว่า ทำไมดิฉันถึงไม่บวช สัง.นิทาน.พฬิสสูตร - อันตรายของการที่ยังเป็นผู้ติดในกาม


    ข้อความต่อไป เป็นอุปัททวะของศิษย์ แล้วแต่ว่าบางครั้งท่านจะเป็นศิษย์ บางครั้งท่านจะเป็นอาจารย์ ซึ่งจะได้พิจารณาว่า อันตรายของผู้ที่เป็นศิษย์คืออย่างไร และอันตรายของผู้ที่เป็นอาจารย์คืออย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็อุปัททวะของศิษย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูกร อานนท์ สาวกของศาสดานั้นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามศาสดานั้น ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทจะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทพากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นจะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

    ดูกร อานนท์ สาวกนี้เรียกว่า ศิษย์มีอุปัททวะ ด้วยอุปัททวะของศิษย์ อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล อุปัททวะของศิษย์ย่อมมีได้ ฯ

    ไม่ว่าจะเป็นศิษย์ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ อยู่ที่ไหนมีอันตรายได้ทั้งนั้น สมัยนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ว่าสมัยก่อน หรือว่าสมัยนี้ หรือว่าสมัยต่อไปก็เหมือนกัน ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ย่อมมีอันตรายทั้งผู้ที่เป็นศิษย์และผู้ที่เป็นอาจารย์

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอันตรายของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งเป็นความจริงสำหรับผู้ที่จะไม่ประมาท เวลาที่ได้ฟังพระธรรมและพิจารณาโดยละเอียดถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วย่อมเป็นผู้ที่ประมาท และเมื่อเป็น ผู้ประมาทย่อมได้รับอันตราย แต่ถ้าพิจารณาและรู้ว่าเป็นอันตราย ก็ย่อมสามารถที่จะหลีกเลี่ยงจากอันตรายนั้นได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูกร อานนท์ ตถาคตอุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ตถาคตนั้นย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง

    เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทจะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและ ชาวชนบทพากันเข้าไปหาแล้ว ตถาคตนั้นย่อมไม่ปรารถนาอย่างหมกมุ่น ไม่ถึงความวุ่นวาย ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

    ดูกร อานนท์ ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั่นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามตถาคตผู้ศาสดา ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทจะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทพากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมปรารถนาอย่างหมกมุ่น ถึงความวุ่นวาย เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

    ดูกร อานนท์ สาวกนี้เรียกว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัททวะ ด้วยอุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมมีได้ ฯ

    ไม่พ้นเลยใช่ไหม นับถือพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพอใจในเสนาสนะอันสงัดเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาค แต่ว่าเวลาที่มีพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทพากันเข้าไปหา จิตใจก็กระวนกระวาย และเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก นี่เป็นอันตรายของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งข้อความตอนท้าย ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ในอุปัททวะทั้ง ๓ นั้น อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้มีวิบากเป็นทุกข์ มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัททวะของอาจารย์ และอุปัททวะของศิษย์ ทั้งเป็นไปเพื่อความตกต่ำด้วย

    ตามข้อความใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี ซึ่งถ้าเป็นอาจารย์และศิษย์ใน ลัทธิภายนอก เวลาที่เสื่อมก็เสื่อมเพียงโลกียคุณ คือ ไม่มีคุณที่สูงกว่านั้น เป็นเพียงขั้นความสงบของจิต ขั้นฌานสมาบัติ แต่สำหรับผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ เวลาที่เสื่อมจากคุณ ก็ไม่สามารถจะบรรลุคุณอันยิ่งใหญ่ คือ มรรค ๔ ผล ๔ ได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงเรียกร้องเราด้วยความเป็นมิตร อย่าเรียกร้องเราด้วยความเป็นข้าศึก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน ฯ

    ไม่น่าเลยที่สาวกของพระผู้มีพระภาคจะเรียกร้องพระองค์ด้วยความเป็นข้าศึก ทั้งๆ ที่นับถือพระองค์ แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสภาพของจิตใจโดยละเอียดว่า แม้ในผู้ที่นับถือพระองค์ บางท่านเรียกร้องพระองค์ด้วยความเป็นมิตร บางท่านเรียกร้องพระองค์ด้วยความเป็นข้าศึก ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสอธิบายว่า

    ดูกร อานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตรอย่างไร ดูกร อานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็น ผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกชื่อว่า เรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตร ฯ

    ดูกร อานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึกอย่างไร ดูกร อานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้เป็น ผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้ และไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกชื่อว่า เรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก ฯ

    ข้อความตอนท้าย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงเรียกร้องเราด้วยความเป็นมิตร อย่าเรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน

    ดูกร อานนท์ เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอเหมือนช่างหม้อประคับประคับประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบๆ อยู่ เราจักข่มแล้วๆ จึงบอก จักยกย่อง แล้วๆ จึงบอก ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจักตั้งอยู่ ฯ

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

    จบ มหาสุญญตสูตรที่ ๒

    ข้อความใน อรรถกถา ปปัญจสูทนี มีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาเหมือนนายช่างผู้ที่ทำภาชนะดิน ใช้มือทั้ง ๒ ข้าง ค่อยๆ จับดินที่ยังสดอยู่ ไม่แห้งเกินไป และยังไม่สุก ด้วยความรู้สึกว่า อย่าได้แตก นายช่างได้ปฏิบัติในภาชนะดินนั้น ฉันใด เราจักปฏิบัติในพวกเธอ ฉันนั้น หามิได้

    คือ ไม่ทะนุถนอมสาวกเหมือนนายช่างหม้อที่ทำภาชนะดิน แต่พระองค์จักข่มขี่แล้วข่มขี่อีก หรือตำหนิแล้วตำหนิอีก ข้อความมีว่า

    เรากล่าวสอนครั้งเดียวแล้วจะนิ่งเสียหามิได้ เราตำหนิโทษแล้ว จักพร่ำสอนอีกแล้วๆ เล่าๆ นายช่างนั้นเอาภาชนะที่แตกรวบรวมเข้าด้วยกัน ทุบแล้วทุบอีกแล้ว จึงถือเอาฉันใด เราก็จักโอวาทพร่ำสอนแล้ว สอนแล้วๆ เล่าๆ ฉันนั้น บรรดาเธอทั้งหลายที่เราโอวาทแล้วอย่างนี้ ผู้ใดมีมรรคผลเป็นสาระ ผู้นั้นจักดำรงอยู่ แม้ โลกียคุณก็เรียกสาระได้ในที่นี้

    ทุกคนมีโทษมาก มีข้อที่ควรตำหนิมาก แต่ผู้ที่จะตำหนิและชี้โทษ ไม่มีใครที่สามารถจะทำได้มากเท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟัง พระธรรมแล้วพิจารณา ก็ย่อมเห็นโทษของกิเลส ซึ่งทุกคนยังมีอยู่มากทีเดียว

    ขอกล่าวถึงข้อความที่ตอบจดหมายของท่านผู้ฟังที่ถามว่า ทำไมดิฉันถึงไม่บวชต่ออีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์ ถึงแม้ว่าสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เหมือนกัน และเมื่อยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีกิเลสเหมือนกัน แต่ความต่างกันนั้น คือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสรรเสริญกว่ากัน

    ผู้ที่จะบวชต้องรู้จักตัวเอง และพิจารณาตนเองโดยละเอียดจริงๆ ว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่ ที่เพศบรรพชิตสูงกว่าเพศคฤหัสถ์ คือ สูงกว่าที่คุณธรรมนั้น เพราะผู้ที่เป็นบรรพชิตต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ มานะ ทุกสิ่งทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ง่ายๆ ในเพศของบรรพชิต

    นี่เป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างกันระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์ แต่ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ย่อมไม่มีสิ่งใดเป็นที่ควรแก่การที่จะสรรเสริญและเคารพกราบไหว้มากกว่าคฤหัสถ์

    และพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทให้พระภิกษุทั้งหลายตระหนักถึงอุปัททวะ คือ อันตรายของภิกษุ ถ้าภิกษุใดไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ย่อมจะไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    สำหรับคฤหัสถ์สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในเพศของคฤหัสถ์ แต่ถ้าบรรพชิตบกพร่อง หรือว่าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างจริงใจ ผู้นั้นย่อมไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ตามข้อความใน มหาสุญญตสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้พระภิกษุทั้งหลายได้ตระหนักถึงอุปัททวะ หรืออันตรายของการที่ยังเป็นผู้ที่ติดในโภคสมบัติต่างๆ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ลาภสักการสังยุต พระผู้มีพระภาคก็ทรงอุปมาไว้มาก แต่จะข้อกล่าวถึงเพียงบางสูตร เช่น พฬิสสูตร

    ข้อความมีว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาบางตัวเห็นแก่เหยื่อ กลืนเบ็ดที่พรานเบ็ดเกี่ยวเหยื่อหย่อนลงในห้วงน้ำลึก มันกลืนเบ็ดของพรานเบ็ดอย่างนี้แล้ว ได้รับทุกข์ถึงความพินาศ พรานเบ็ดพึงทำได้ตามความพอใจ ฉะนั้น ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรานเบ็ด นี้เป็นชื่อของมารใจบาป คำว่า เบ็ด เป็นชื่อของลาภ สักการะ และชื่อเสียง ภิกษุบางรูปยินดี พอใจลาภ สักการะ และชื่อเสียงที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนี้เรากล่าวว่า กลืนเบ็ดของมาร ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ อันมารใจบาปพึงทำได้ตามความพอใจ ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียงทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่าอย่างนี้แล ฯ

    เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละลาภ สักการะ และชื่อเสียงที่เกิดขึ้นแล้วเสีย และลาภ สักการะ และชื่อเสียงที่บังเกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเราทั้งหลายตั้งอยู่ไม่ได้ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    จบ สูตรที่ ๒

    ท่านผู้ฟังซึ่งยังเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่บริโภคกาม คือ บริโภคโภคสมบัติทั้งหลาย แต่ว่าสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย ต้องเห็นโทษของกามทั้งหลายอย่างจริงใจ และมีความมั่นคงจริงๆ ที่จะดำรงชีวิตอยู่โดยการสละโภคสมบัติทั้งหลาย ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคง และเห็นโทษของกามจริงๆ เหมือนข้อความที่ดาบสทั้งหลายได้กล่าวไว้ในภิสชาดก ที่ได้กล่าวถึงแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า สามารถดำรงชีวิตที่สละกาม ไม่บริโภคโภคสมบัติทั้งหลายอย่างคฤหัสถ์ได้ จึงจะเป็นผู้ที่ดำรงเพศบรรพชิตอย่างแท้จริง

    ข้อความในพระสูตรอื่นๆ พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาการติดในกาม การไม่สละกาม ซึ่งใน เอฬกสูตร และใน อสนิสูตร พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ขวานฟ้าตกถูกใคร ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ย่อมตามถึงพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล คำว่า ขวานฟ้า นี้เป็นชื่อของลาภ สักการะและชื่อเสียง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียงทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    มีใครบ้างไหม ที่จะเห็นจริงๆ ว่า ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เพราะสิ่งที่ทุกท่านหวังอยู่ คือ ลาภ สักการะ และชื่อเสียง โดยที่ยังไม่เห็นว่า เป็นสิ่งที่ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย แต่ผู้ที่จะสละได้เหมือนพระฤๅษีทั้งหลายในภิสชาดก ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษภัยของลาภ สักการะ ชื่อเสียง และการบริโภคกามจริงๆ

    ถ. สำหรับฆราวาส ลาภ สักการะ และชื่อเสียง จะเป็นอันตรายต่อฆราวาสหรือไม่

    สุ. ชีวิตที่ต่างกันเป็นเครื่องแสดงการสะสมที่ต่างกันอยู่แล้วว่า ผู้ที่สามารถจะดำรงเพศบรรพชิตได้ ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของลาภ สักการะ ชื่อเสียง และ โภคสมบัติ ด้วยความจริงใจที่จะดำรงอยู่ในเพศของบรรพชิต แต่ว่าสำหรับคฤหัสถ์แม้ว่ายังไม่ได้เป็นผู้ที่ละกาม ยังไม่ได้ละความยินดีพอใจในโภคสมบัติ ก็เป็นผู้ที่บริโภคสมบัติด้วยความไม่ติดได้ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    และที่จะรู้ว่า ใครติดหรือไม่ติดเพียงไรในการบริโภคโภคสมบัติ สำหรับคฤหัสถ์ก็รู้ได้จากการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่เห็นโทษ แม้ว่ายังละไม่ได้แต่ก็เห็นโทษ และอบรมเจริญปัญญาจนกว่าสามารถที่จะละการติดในโภคสมบัติ จนกระทั่งดับได้เป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอรหันต์

    ถ. บวชเป็นบรรพชิต การเจริญสติปัฏฐานจะได้ผลเร็วกว่าคฤหัสถ์หรือไม่

    สุ. ถ้าบรรพชิตไม่มีความจริงใจในการที่จะดำรงอยู่ในเพศของบรรพชิต ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ ย่อมเสื่อมจากผลที่จะได้รับ ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในขณะที่คฤหัสถ์สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในเพศของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าเพศไหนง่ายหรือยากกว่ากัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๙๒๑ – ๙๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ