แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903


    ครั้งที่ ๙๐๓

    สาระสำคัญ

    อบรมเจริญเมตตาให้มีขึ้นไม่ใช่ด้วยการท่อง อถ.นิทเทสของอาชชวะ ปฏิสันถาร ๒ อย่าง


    สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ไม่หลงลืมสติ และมีเมตตาถึงแม้ว่ายังไม่มีกำลังมาก แต่ทำให้อกุศลนั้นเบาหรือว่าอ่อนลง ก็ยังดี ใช่ไหม ถ้าเมตตาไม่เกิดเลย ก็ใช้กายวาจาที่รุนแรงกว่านั้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญเมตตา ควรจะเจริญเวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น และจะรู้ได้ว่า ถ้าเมตตาเกิดในขณะนั้น ก็จะได้รับผลของเมตตาทันที แต่ไม่ใช่หวังที่จะถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพียงด้วยการท่อง ซึ่งถ้าเมตตาไม่เกิดในขณะนั้น ไม่สามารถจะถึงได้

    ผู้ฟัง เรื่องของการบริจาคทานอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เรียนแล้ว เจริญสติปัฏฐานแล้ว แต่กิเลสมี บริจาคทาน กุศลจิตเกิดขึ้นครั้งไร จะไม่แคล้วคลาดจากอกุศลเลย คือ มีความนึกคิดว่า เราจะได้รับผลบุญที่ดี เกือบทุกครั้งเป็นอย่างนี้ น้อยครั้งที่จะอธิษฐานว่า ให้เห็นโทษของกาม ให้เป็นผู้มีปัญญา เจริญสติปัฏฐานเพื่อความหลุดพ้น ส่วนมากพอจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว โลภะที่หวังผลเป็นความสุข เกิดตามมาเป็นร้อยละ ๙๙ จะลอดไปได้ที่เป็นบริสุทธิ์จริงๆ สักครั้งเดียว ที่รู้แบบนี้ รู้ในสติปัฏฐาน เจริญสติปัฏฐานแล้ว ขณะนั้นกุศลจิตเกิด แต่ความหวังผลต่างๆ ตามมาเป็นแถว

    สุ. เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานขั้นต้น ไม่ใช่จะดับโลภะ แต่ ละการยึดถือความต้องการที่เกิดในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้ามีปัจจัยที่จะให้โลภ ให้ละโมบ ให้ต้องการ ให้หวัง ก็มีอาการของโลภะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ว่าสติสามารถรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพของนามธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับ โลภะเป็นสมุจเฉท ก็มีปัจจัยที่จะให้โลภะลักษณะอาการต่างๆ เกิดขึ้นปรากฏ

    สำหรับประโยชน์ของเมตตาที่จะเกื้อกูลอุปการะแก่กุศลอื่นๆ เช่น สังคหวัตถุ ทำให้มีการให้เป็นทาน ทำให้มีวาจาที่น่าฟัง เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ไม่หยาบคาย ไม่เป็นโทษแก่บุคคลอื่น และเป็นผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยเมตตา พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีจิตใจเสมอกับคนอื่นฉันมิตรจริงๆ ไม่มีความเห็นว่าต่างกันเป็นเขา เป็นเรา หรือว่าสูงกว่า ต่ำกว่า ซึ่งการที่จะพิจารณาลักษณะสภาพของจิตใจที่เป็นกุศลเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า มีลักษณะต่างกับอกุศล เช่น ข้อความใน อัฏฐสาลินี ที่แสดงถึง นิทเทสของอาชชวะ คือ ความซื่อตรง ความไม่คด ความไม่งอ ความไม่โกง

    นี่ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เวลาที่กุศลธรรมเกิด เพราะไม่ใช่เรา ถ้าสภาพธรรมนั้นเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล หรือว่าสภาพธรรมนั้นเป็นกุศลก็เป็นกุศล ถ้าเป็นเมตตา ก็เป็นเมตตาแต่ละขั้น เพราะเมตตาก็มีหลายระดับขั้นด้วย

    มัททวะ ท่านผู้ฟังอาจจะเคยได้ยินศัพท์หลายศัพท์ เช่น อาชชวะ มัททวะ

    มัททวะเป็นไฉน คือ ความอ่อนโยน ความละมุนละไม ความไม่แข็ง ความ ไม่กระด้าง ความเจียมใจอันใด นี้เรียกว่ามัททวะ

    นั่นเป็นลักษณะของผู้ที่มีเมตตา คือ มีความอ่อนโยน ความละมุนละไม ความไม่แข็ง ความไม่กระด้าง ความเจียมใจ แม้แต่ท่านพระสารีบุตร ท่านมีความรู้สึกว่าตัวท่านนั้น เหมือนผ้าเช็ดธุลี ผ้าเก่า ผ้าไม่มีราคา ไม่ใช่ด้วยความทะนงตัวว่า ท่านเป็นอัครสาวก ไม่ว่าใครจะแสดงกายวาจากับท่านอย่างไร ไม่มีการที่จะกระทบกระเทือนจิตใจของท่านได้ เพราะความรู้สึกของท่านปราศจากมานะ เป็นพระอรหันต์ จึงเป็นผู้ที่อ่อนโยน ละมุนละไม ไม่แข็ง ไม่กระด้าง และเจียมใจ

    สำหรับความเจียมใจ ความแห่งบทนั้นมีว่า

    บุคคลชื่อว่าเจียมใจ เพราะอรรถว่า มีใจเจียมด้วยไม่มีมานะ ภาวะแห่งบุคคลผู้เจียมใจ ชื่อว่าความเจียมใจ

    เคยเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า เจียมใจ หรือยังไม่เคยเลย เต็มไปด้วยเราสำคัญ ยิ่งใหญ่ เวลาที่กายวาจาที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะใดให้ทราบลักษณะของจิตว่า ขณะนั้นต้องใหญ่ กายวาจาจึงเป็นไปในทางอกุศลได้ ถ้าเป็นผู้ที่เจียมใจจริงๆ เป็นความเจียมใจในขณะนั้น วาจาอย่างนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทั้งกายทั้งวาจานี้แสดงถึงสภาพของจิตว่า จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล มีเมตตาหรือว่าเป็นมานะ หรือไม่เคยสังเกตเลย ถ้าไม่เคยสังเกตก็ยากที่จะขัดเกลา แต่ถ้าเป็นผู้เพียรที่จะขัดเกลากิเลส ต้องเป็นผู้ที่ระลึกได้ และสังเกตแม้แต่กายและวาจาอยู่เสมอว่า ขณะใดเป็นไปด้วยอกุศล ขณะใดเป็นไปด้วยกุศล และถ้าประกอบด้วยเมตตาจริงๆ ต้องอ่อนโยน ไม่แข็ง ไม่กระด้าง และมีใจเจียมด้วย นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่มีขันติ ความอดทน เวลาที่มีเมตตา

    ซึ่งข้อความแสดง นิทเทสขันติทุกะ มีว่า

    ขันติเป็นไฉน คือ ความอดทน กิริยาที่อดทน ความอดกลั้น ความไม่ดุร้าย ความไม่ปากร้าย ความแช่มชื่นแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่าขันติ

    วาจาเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะใดที่เป็นปากร้าย ขณะนั้นไม่ใช่ขันติ ไม่มีความอดทนที่จะระงับวาจาร้ายอย่างนั้น

    โสรัจจะเป็นไฉน คือ ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดทางกายและวาจาอันใด นี้เรียกว่าโสรัจจะ ศีลสังวร แม้ทั้งหมด จัดเป็นโสรัจจะ

    ท่านผู้ฟังจะได้ยินศัพท์เหล่านี้เป็นคู่กัน เช่น อาชชวะกับมัททวะ ขันติและ โสรัจจะ

    ข้อความอธิบายความหมายของแต่ละคำมีว่า

    ชื่อว่าขันติ ด้วยอำนาจความอดทน อาการที่อดทน ชื่อว่ากิริยาที่อดทน

    ชื่อว่าความอดกลั้น โดยความหมายว่า เป็นเหตุอดกลั้น คือ เป็นเหตุยกขึ้นเหนือตนให้อยู่ ได้แก่ ไม่ห้าม คือ ไม่ใช่ตั้งอยู่ในความเป็นข้าศึก

    ภาวะแห่งคนไม่ดุร้าย ชื่อว่าความไม่ดุร้าย

    คำพูดที่เปล่งออกมาชั่ว เพราะยกขึ้นพูดโดยชอบหามิได้ เรียกว่า ความปากร้าย

    ที่ชื่อว่าความไม่ปากร้าย เพราะตรงกันข้ามจากความปากร้ายนั้น อธิบายว่า ได้แก่วาจาที่เปล่งออกมาดี ในคำนั้นทรงแสดงไขถึงเหตุโดยโวหารที่กล่าวอิงถึงผล ด้วยประการฉะนี้

    คำว่า ความแช่มชื่นแห่งจิต ได้แก่ ภาวะที่ใจเป็นของตนแห่งจิต คือ สภาพจิตเป็นของตนนั่นเอง ความว่า ไม่ใช่จิตที่พยาบาท

    คำว่า นี้เรียกว่าโสรัจจะ นี้ ตรัสชื่อว่าโสรัจจะไว้ เพราะเป็นความงดเว้นด้วยดีจากบาป

    นอกจากนั้น ยังมีคำที่คู่กันอีกคู่หนึ่ง คือ สาขัลยะกับปฏิสันถาร เป็นเรื่องของแต่ละท่านจริงๆ ในชีวิตประจำวันที่จะได้ทราบว่า มีข้อความที่แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี ว่าอย่างไร คือ

    สาขัลยะเป็นไฉน

    วาจาใดเป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย จึงจะเป็นสาขัลยะ

    เคยยั่วใครบ้างไหม เจตนาอะไรในขณะนั้น ไม่มีขันติ ไม่มีความอดกลั้น เพราะว่าปรารถนาจะให้คนอื่นโกรธ ในขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา เกี่ยวผู้อื่นไว้ เป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อน

    สำหรับข้อความอธิบายวาจาที่เป็นปม กับวาจาที่เป็นกาก ซึ่งเพียงฟังเฉยๆ วาจาเป็นปม วาจาเป็นกาก ท่านผู้ฟังอาจจะยังไม่เข้าใจชัดเจนว่า ขณะไหนวาจา เป็นปม และขณะไหนวาจาเป็นกาก

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อธิบายว่า

    คำว่า เป็นปม คือ เกิดเป็นปมด้วยการพูดขู่และข่ม เพราะประกอบไปด้วยโทสะ เหมือนกับปมที่เกิดขึ้นที่ต้นไม้อันประกอบไปด้วยโทษ ฉะนั้น

    ขู่หรือข่ม ทั้ง ๒ อย่าง ขณะนั้นปราศจากเมตตา

    คำว่า เป็นกาก คือ เป็นวาจาเสีย วาจานั้นย่อมเป็นกาก เช่นเดียวกับต้นไม้ที่เสียย่อมเป็นกาก มีผงออกมา ฉะนั้น ย่อมเข้าไปดุจครูดโสตะ ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่าเป็นกาก

    คำว่า เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น คือ เผ็ดร้อน ไม่น่าชอบใจ ให้เกิดโทสะแก่คนอื่น

    เคยได้ยินคำพูดอย่างนี้ไหม คำพูดที่เผ็ดร้อน เวลาที่นึกโกรธใครเพราะคำพูดของคนอื่น ลองพิจารณาดูว่า คนอื่นพูดในลักษณะใด ในลักษณะเป็นปมหรือ ในลักษณะเป็นกาก หรือในลักษณะที่เผ็ดร้อน

    คำว่า เกี่ยวผู้อื่นไว้ คือ เป็นดุจเรียวหนามที่งอแทงหนัง เกี่ยวผู้อื่นไว้ แม้เขาจะไปก็ทำให้ติดอยู่ ไม่ยอมให้ไป

    ให้โกรธอยู่อย่างนั้น หรือว่าให้ไม่พอใจอยู่อย่างนั้น

    คำว่า ยั่วให้โกรธ คือ ชวนให้โกรธ

    คำว่า ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ คือ ไม่เป็นไปเพื่ออัปปนาสมาธิ

    นี่เป็นลักษณะของคำพูด

    วาจาใดไร้โทษ สบายหู ไพเราะจับใจ เป็นวาจาของชาวเมือง เป็นที่ยินดีเจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น

    ความเป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน ความเป็นผู้มีวาจาสละสลวย ความเป็นผู้มีวาจาไม่หยาบคาย ในลักษณะดังกล่าวนั้นอันใด นี้เรียกว่าสาขัลยะ

    วันหนึ่งพูดมากหลายเรื่อง แต่ว่าคำพูดที่ออกมาจะเป็นคำพูดอย่างนี้หรือเปล่า คือ เป็นผู้ที่มีวาจาอ่อนหวาน คือ พูดเพราะ มีวาจาสละสลวย ไม่ทำให้คนอื่นฟังแล้วรู้สึกสะดุดหู เป็นผู้ที่มีวาจาไม่หยาบคาย ในลักษณะดังกล่าวนั้นอันใด นี้เรียกว่า สาขัลยะ

    ส่วนคำพูดที่ดี คือ คำพูดที่สบายหู มีคำอธิบายว่า

    คำว่า สบายหู คือ เป็นสุขแก่หู เพราะมีพยัญชนะไพเราะ ไม่ให้เกิดเป็นหลาวในหู ดุจแทงด้วยเข็ม

    ที่ชื่อว่าไพเราะ เพราะความหมายว่า ให้เกิดแต่ความรัก ไม่ให้เกิดความโกรธในสรีระ เพราะมีอรรถอันไพเราะ

    ที่ชื่อว่าจับใจ เพราะถึงหัวใจ คือ เข้าไปสู่จิตโดยง่าย ไม่กระทบกระทั่ง

    ที่ชื่อว่าเป็นวาจาของชาวเมือง เพราะความหมายว่า เป็นวาจาที่มีในเมือง

    คือ คำพูดของชาวเมือง คงจะเป็นคำพูดที่ไพเราะน่าฟัง

    โดยเหตุที่มีคุณบริบูรณ์ ชื่อว่าเป็นวาจาของชาวเมือง เพราะหมายความว่า เป็นวาจาที่นุ่มนวล ดุจนารีที่เติบโตในเมือง ดังนี้ก็มี

    ชื่อว่าเป็นวาจาของชาวเมือง เพราะความหมายว่า วาจานี้เป็นของบ้านเมือง ดังนี้ก็มี อธิบายว่า เป็นคำพูดของชาวเมือง

    จริงอยู่ คนชาวเมืองทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีถ้อยคำเหมาะสม เรียกคนคราวพ่อว่า พ่อ คนคราวพี่ว่าพี่ ถ้อยคำเช่นนี้ย่อมเป็นที่ดีใจของชนหมู่มาก เหตุนั้นจึงชื่อว่า เป็นที่ยินดีของชนหมู่มาก ย่อมเจริญใจ คือ ทำจิตให้เจริญแก่ชนหมู่มากโดยภาวะที่ยินดีนั่นเอง เหตุนั้นจึงชื่อว่าเจริญใจของชนหมู่มาก

    แม้แต่คำที่พูดกันอยู่เป็นประจำ ก็ทรงแสดงและแยกแยะโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะให้พิจารณาได้ทั่วว่า ท่านเป็นผู้ที่ละคำพูดชนิดไหน และประกอบด้วยคำพูดชนิดไหน เพราะบางท่านอาจจะไม่ข่มคนอื่น ไม่ขู่คนอื่น แต่ยังมีวาจาที่เผ็ดร้อนต่อ คนอื่น หรือแม้ว่าจะไม่มีคำพูดที่ขู่ ข่ม ไม่มีวาจาที่เป็นกาก หรือเผ็ดร้อน แต่บางครั้งก็มีคำที่จะยั่วให้คนอื่นโกรธ ก็เป็นได้

    สำหรับวาจาที่สบายหู ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ท่านใช้คำอย่างไรบ้าง คือ ใช้คำพูดที่เป็นวาจาอ่อนหวาน วาจาสละสลวย วาจาไม่หยาบคาย เป็นผู้ที่มีวาจาเกลี้ยงเกลา มีวาจาอ่อนโยน มีวาจาไม่กักขฬะ และเป็นวาจาที่ไพเราะจับใจมากเพียงใด

    สำหรับปฏิสันถาร เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งคู่กับสาขัลยะ คือ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เพียงแต่มีวาจาไร้โทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ เป็นวาจาของชาวเมือง แต่ควรจะมีปฏิสันถารซึ่งเกิดขึ้นเพราะเมตตา ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาจริงๆ ก็จะไม่เป็นผู้ที่ขาดปฏิสันถาร

    ในวันหนึ่งๆ สมัยนี้อาจจะมีคนกล่าวว่า รู้สึกว่าหาน้ำใจยากจากชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ จะเป็นผู้ที่มีน้ำใจกว้างขวาง และเป็น ผู้ที่มีปฏิสันถาร ซึ่งความหมายของปฏิสันถาร มีว่า

    ปฏิสันถารเป็นไฉน คือ ปฏิสันถาร ๒ ได้แก่ อามิสปฏิสันถาร ๑ ธรรมปฏิสันถาร ๑

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิสันถารโดยอามิสปฏิสันถารบ้าง โดย ธรรมปฏิสันถารบ้าง นี้เรียกว่าปฏิสันถาร

    สำหรับประโยชน์ของปฏิสันถาร จะมีไม่ได้เลยถ้าปราศจากเมตตา เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นการปฏิสันถารด้วยใจจริง ในขณะนั้นท่านทราบได้ว่า เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าในชีวิตประจำวัน ท่านยังขาดการปฏิสันถาร ก็ควรที่จะอบรมเจริญ และให้มีเมตตาที่สามารถจะสงเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่น ด้วยปฏิสันถารทั้งกาย และวาจาด้วย

    นิทเทส คือ คำอธิบาย ของปฏิสันถาร มีว่า

    คำว่า อามิสปฏิสันถาร ได้แก่ การเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่นด้วยวัตถุสิ่งของที่สมควร

    คำว่า อามิสปฏิสันถาร ได้แก่ ช่องว่างของคนอื่นกับทั้งตนโดยที่ยังไม่ได้อามิส ย่อมเป็นอันปิดมิดชิดโดยวิธีใด ใช้อามิสอุดไว้ด้วยวิธีนั้น

    ช่องว่างไม่ใช่จะเพิ่งเกิดมีในยุคนี้สมัยนี้ อย่างที่ทุกท่านก็กล่าวกันว่า มีช่องว่างระหว่างบุคคลนั้นกับบุคคลนี้ หรือระหว่างวัยนั้นกับวัยนี้ แต่ช่องว่างก็มีมาตลอดกาล ความห่างกันระหว่างบุคคล ซึ่งมีธรรมที่จะอุดกั้นปิดช่องว่างนั้นได้ คือ ด้วย อามิสปฏิสันถารและธรรมปฏิสันถาร ตามข้อความที่ว่า ช่องว่างของคนอื่นกับทั้งตนโดยที่ยังไม่ได้อามิส ย่อมเป็นอันปิดมิดชิดโดยวิธีใด ใช้อามิสอุดไว้ด้วยวิธีนั้น

    การให้การสงเคราะห์เป็นสิ่งที่จะทำให้ช่องว่างนั้นปิดกั้นได้ คือ ไม่มีช่องว่าง ไม่มีความห่างกันระหว่างท่านกับบุคคลอื่นโดยการสงเคราะห์ด้วยอามิสปฏิสันถาร

    ถ้าท่านไปหาใคร เจ้าของบ้านจะต้องมีอามิสปฏิสันถาร หรือธรรมปฏิสันถาร หรือถึงแม้ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใดก็ตาม การที่จะปิดกั้นช่องว่างระหว่างตัวท่านกับ คนอื่น ก็คือ อามิสปฏิสันถาร หรือธรรมปฏิสันถารนั่นเอง แทนที่จะนั่งเฉยๆ เห็นกัน ทั้งวันก็ไม่มีการพูดกันเลย หรือไม่มีการสงเคราะห์เกื้อกูลกันเลย ไม่มีน้ำใจซึ่งกันและกันเลย แห้งแล้งจริงๆ นั่นเป็นช่องว่างแน่นอน แต่ที่จะปิดกั้นช่องว่างได้ ก็โดย อามิสปฏิสันถารและธรรมปฏิสันถาร

    สำหรับผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของธรรม และคิดว่าเป็นกาลสมควรที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น มีปฏิสันถารเกื้อกูลบุคคลอื่นด้วยธรรม ในขณะนั้น ธรรมนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ปิดกั้นช่องว่างระหว่างท่านกับบุคคลอื่น

    มีข้อความอธิบายเรื่องอามิสปฏิสันถารสำหรับบรรพชิตเป็นตัวอย่างว่า

    ภิกษุผู้ปฏิสันถาร เห็นอาคันตุกะกำลังมาอยู่ทีเดียว พึงลุกขึ้นรับ รับบาตรและจีวร ถวายอาสนะ พัดวีด้วยก้านใบตาล ล้างเท้า ทาน้ำมัน เมื่อเนยใสและน้ำอ้อย มีอยู่ พึงให้เป็นเภสัช พึงเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่ม พึงจัดแจงที่อยู่อาศัย อย่างนี้ย่อมเป็น อันชื่อว่ากระทำอามิสปฏิสันถาร โดยเอกเทศ

    นี่สำหรับบรรพชิต ซึ่งฆราวาสก็พิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามสมควร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๙๐๑ – ๙๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564