แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936


    ครั้งที่ ๙๓๖

    สาระสำคัญ

    จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๖ หมวด วิสุทธิ.ปัญญานิทเทส อถ.อภิ.ปัฏฐาน สัง.นิทาน.ปัพพตสูตร


    สำหรับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด มี ๑๖ หมวด คือ

    หมวดที่ ๑ สราคจิต คือ จิตมีราคะ ได้แก่ จิตอันเป็นไปกับโลภะ ๘ ประเภท

    หมวดที่ ๒ วีตราคจิต คือ จิตปราศจากราคะ ได้แก่ กุศลจิตและอัพยากตจิต ซึ่งเป็นโลกียะ

    ทั้ง ๒ นัยนี้ เว้นอกุศลจิต ๔ คือ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของจิตโดยละเอียดว่า ในแต่ละหมวดนั้นได้แก่จิตประเภทไหนบ้าง

    ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ได้แก่ สราคจิต หมวดที่ ๑ และวีตราคจิต หมวดที่ ๒ ซึ่งได้แก่ กุศลจิตที่เป็นไปทาน ในศีล ในสมถะ และในการเจริญสติปัฏฐาน สำหรับ อัพยาตกจิตที่เป็นโลกียะ ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึง เพราะถ้าจะกล่าวถึงต้องศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดขึ้น จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐาน

    สำหรับหมวดอื่นๆ ต่อไป คือ

    หมวดที่ ๓ สโทสจิต คือ จิตมีโทสะ ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง

    หมวดที่ ๔ วีตโทสจิต คือ จิตปราศจากโทสะ ได้แก่ กุศลจิตและอัพยากตจิต ซึ่งเป็นโลกียจิต

    หมวดที่ ๕ สโมหจิต คือ จิตมีโมหะ ได้แก่ โมหมูลจิตที่สัมปยุตต์ด้วยวิจิกิจฉา ๑ และสัมปยุตต์ด้วยอุทธัจจะ ๑

    หมวดที่ ๖ วีตโมหจิต คือ จิตที่ปราศจากโมหะ ได้แก่ กุศลจิตและอัพยากตจิตซึ่งเป็นโลกียจิต

    หมวดที่ ๗ สังขิตตจิต คือ จิตที่ตกไปสู่ความหดหู่ ง่วงเหงา ได้แก่ จิตที่ประกอบด้วยถีนมิทธเจตสิก

    หมวดที่ ๘ วิกขิตตจิต คือ จิตที่เป็นไปกับความฟุ้งซ่าน เป็นจิตที่เลื่อนลอย ได้แก่ โมหมูลจิตที่สัมปยุตต์ด้วยอุทธัจจเจตสิก

    มีไหม เมื่อสักครู่นี้หรือเปล่า ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะยังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้โดยประการทั้งปวง ที่จะทำให้หมดความสงสัยว่า สภาพรู้นั้นคืออย่างไร

    บางทีบางท่านกำลังง่วงมาก และนึกอยากจะเจริญสติปัฏฐาน จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม อาจจะเคยคิดว่า จะต้องปฏิบัติวิปัสสนา หรือว่าง่วงแล้วจะต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น หรือว่าเกิดสติระลึกขึ้นได้ แต่ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ แต่นั่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ายังไม่หมดความสงสัยในลักษณะของอาการรู้ ที่มีลักษณะอย่างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ สภาพรู้ ซึ่งเป็นนามธรรมได้

    หมวดที่ ๙ มหัคคตจิต คือ จิตใหญ่ ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นฌานจิต

    หมวดที่ ๑๐ อมหัคคตจิต คือ จิตไม่ใหญ่ ได้แก่ จิตที่เป็นกามาวจร

    ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นชั่วขณะหนึ่งๆ ที่สั้นมาก ไม่มีใครสามารถจะเก็บไว้ได้ จิตที่รู้เสียงดับไปแล้ว เก็บไว้ไม่ได้เลย ชั่วขณะเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ขณะที่กระทบเย็นครั้งหนึ่ง ร้อนครั้งหนึ่ง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง คิดบ้าง ได้ยินบ้าง เห็นบ้าง เป็นแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถที่จะให้ดำรงตั้งมั่นอยู่ได้นานๆ ซึ่งต่างกับมหัคคตจิตหรือฌานจิต ที่เกิดดับและรู้อารมณ์เดียวทางมโนทวารได้เป็นระยะเวลาที่นาน หลายๆ วันก็ได้

    หมวดที่ ๑๑ สอุตตรจิต คือ จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ กามาวจรจิตนั่นเอง

    หมวดที่ ๑๒ อนุตตรจิต คือ จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ รูปาวจรจิตและ อรูปาวจรจิต

    สำหรับจิต ๒ อย่าง ก็ยังมีความต่างกันที่ว่า ถ้าเป็นรูปาวจรจิต ชื่อว่ามีจิตอื่นที่ยิ่งกว่า หรือเยี่ยมกว่า คือ จิตที่เป็นอรูปาวจร ยิ่งกว่าหรือเยี่ยมกว่ารูปาวจร แต่สำหรับอรูปาวจรจิต ชื่อว่าไม่มีจิตอื่นเยี่ยมกว่า เพราะในระหว่างนั้นโลกุตตรจิตยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่จำกัดบุคคล แล้วแต่จะเป็นผู้ที่ได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน แล้วแต่ว่าจิตใดจะเกิดขึ้น สติก็จะระลึกรู้สภาพของจิตว่า เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน

    หมวดที่ ๑๓ สมาหิตจิต คือ จิตเป็นสมาธิ ได้แก่ จิตที่ตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

    หมวดที่ ๑๔ อสมาหิตจิต คือ จิตไม่เป็นสมาธิ ได้แก่ จิตที่ไม่ตั้งมั่น จิตที่เว้นจากสมาธิทั้งสอง คือ เว้นจากอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ

    หมวดที่ ๑๕ วิมุตตจิต คือ จิตที่หลุดพ้นด้วยสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาตามควร ซึ่งเป็นตทังควิมุตติ หรือวิกขัมภนวิมุตติ ถ้าเป็นชั่วขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นตทังควิมุตติ

    หมวดที่ ๑๖ อวิมุตตจิต คือ จิตที่ไม่หลุดพ้น ได้แก่ จิตที่เว้นจากวิมุตติทั้ง ๒ หมายถึง จิตที่ไม่หลุดพ้นด้วยตทังควิมุตติและวิกขัมภนวิมุตติ

    ในขณะนี้เป็นจิตที่หลุดพ้นหรือเปล่า ยัง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นหมวดที่ ๑๖

    สำหรับการที่จะกล่าวถึงจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อไป ย่อมไม่สามารถเข้าใจชัดได้ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องจิตก่อน เพราะฉะนั้น ในครั้งต่อๆ ไป จะขอกล่าวถึงเรื่องของปรมัตถธรรมเป็นลำดับ

    วันนี้ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าที่ได้กรุณาติดต่อให้ทราบว่า มีผู้ที่ทักท้วงคำบาลีในหนังสือสนทนาธรรมที่ท่านผู้นั้นเข้าใจว่า จะเป็นความผิดพลาด หน้า ๘๒ ข้อความที่ว่า คำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นคำรวมของคำ ๓ คำ คือ ปกต + อุปนิสสย + ปัจจัย

    ท่านทักท้วงว่า ไม่ใช่คำว่า ปกต ตามภาษาบาลี ต้องเป็นคำว่า ปกติ + อุปนิสสย

    ขอเรียนให้ทราบว่า ใน หนังสือวิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ ฉบับพิมพ์ของมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้า ๒๗๕ ปัญญานิทเทส มีข้อความภาษาไทยว่า

    ส่วนปกตูปนิสสยะ พึงทราบดังต่อไปนี้ว่า อุปนิสัยที่ทำขึ้นอย่างดีชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ ปัจจัยธรรมที่บุคคลสร้างขึ้นในสันดานของตนก็ดี ปัจจัยภายนอก มีฤดูและโภชนะเป็นต้น ที่บุคคลเสพด้วยอำนาจศรัทธาและศีลเป็นต้นก็ดี ชื่อว่าปกต (ทำขึ้นอย่างดี)

    อีกนัยหนึ่ง อุปนิสสยะ โดยปกติ (คือ โดยสภาวะของตน) นั่นเอง ชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ หมายความว่า ไม่เจือปนด้วยอารัมมณูปนิสสยะและอนันตรูปนิสสยะ

    ซึ่งภาษาบาลีมีข้อความว่า

    ปกตุปนิสฺสโย ปน ปกโต อุปนิสฺสโย ปกตุปนิสฺสโย

    ปกโต นาม อตฺตโน สนฺตาเน นิปฺผาทิโต วา สทฺธาสีลาทิ อุปเสวิโต วา

    อุตุโภชนาทิ ปกติยาเอว วา อุปนิสฺสโย ปกตุปนิสฺสโย

    สรุปใจความได้ว่า คำว่า ปกตูปนิสสยะ พึงทราบว่า อุปนิสัยที่ทำขึ้นอย่างดี ชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ หรือ ปัจจัยธรรมที่บุคคลสร้างขึ้นในสันดานของตนก็ดี ปัจจัยภายนอก มี อากาศ คือ ฤดู และโภชนะอาหาร เป็นต้น ที่บุคคลเสพด้วยอำนาจศรัทธา และศีล เป็นต้นก็ดี ชื่อว่า ปกต

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ปกติ

    แต่ว่าข้อความอีกนัยหนึ่งมีว่า อุปนิสัยโดยปกติ คือ โดยสภาวะของตนนั้นเอง ชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ

    เพราะฉะนั้น ก็มีที่มา ๒ อย่าง ซึ่งในอรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎก คือ อรรถกถาปรมัตถทีปนี ปัญจปกรณัฏฐกถา ภาค ๒ ซึ่งเป็นอรรถกถาของ ปัฏฐานปกรณ์ เป็นคัมภีร์ที่ ๗ ของพระอภิธรรม แปลโดย พระศรีรัตนโมลี (ชัยวัฒน์ ปัญญาสิริ) เปรียญธรรม ๙ หน้า ๒๕ มีข้อความว่า

    ส่วนปกตูปนิสสัย มีอธิบายดังต่อไปนี้ อุปนิสัยที่บุคคลทำไว้ก่อน ชื่อว่า ปกตูปนิสสัย ที่ชื่อว่า ปกต (สิ่งที่เคยทำมาแล้ว) ได้แก่ ธรรมที่มีศรัทธาและศีล เป็นต้น ที่บุคคลให้สำเร็จแล้วในสันดานของตน หรือฤดูและโภชนะเป็นต้น ที่บุคคลเข้าไปเสพแล้ว

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ปกตูปนิสสยะ มาจากคำว่า ปกต และ อุปนิสสยะ ตามข้อความในอรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎกโดยตรง คือ ใน อรรถกถาปัญจปกรณ์ ภาค ๒ ซึ่งเป็นอรรถกถาของปัฏฐานปกรณ์ ซึ่งเป็นอรรถกถาในสมัยของท่านพระพุทธโฆษาจารย์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อย่างหนึ่ง อุปนิสัยโดยปกตินั่นเอง ชื่อว่าปกตูปนิสสยะ อธิบายว่า เป็นปัจจัยที่ไม่ปนกับอารัมมณปัจจัยและอนันตรปัจจัย

    นี่เป็นข้อความโดยตรงจากอรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎก นอกจากนั้นในหนังสืออภิธรรมที่ใช้เป็นคู่มือศึกษาคัมภีร์ปัฏฐาน ภาค ๑ โดยพระสุมนต์ นันทิโก หน้า ๑๐๘ มีข้อความเรื่องปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งมีข้อความว่า

    วจนัตถะ คือ อรรถ หรือความหมายของคำ มีดังนี้

    สุฏฺฐุ กริยิตฺถาติ ปกโต

    เหตุธรรมที่ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ชื่อว่าปกต

    ปกโต อุปนิสสโยติ = ปกตูปนิสสโย

    เหตุธรรมอันเป็นที่อาศัย มีกำลังแรงกล้าที่ได้ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ชื่อว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย

    หน้า ๑๐๙ มีข้อความว่า

    อาจารย์บางท่านได้ให้ความหมายของปกตูปนิสสยปัจจัยไว้ว่า ธรรมที่เป็นปกติ เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เช่น แสงสว่าง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่การเห็น โดยแยกศัพท์ไว้ดังนี้

    ปกตูปนิสสยปัจจัย = ปกติ + อุปนิสสยะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เดิมในอรรถกถาของพระอภิธรรมปิฎก แยกความหมายของปกตูปนิสสยะว่า มาจากคำว่า ปกต และอุปนิสสยะ แต่อาจารย์ บางท่านแยกว่า มาจาก ปกติ กับอุปนิสสยะ

    เพราะฉะนั้น ขอเรียนให้ท่านผู้รู้ภาษาบาลีได้พิจารณาว่า คำนี้สมควรที่จะมาจากคำใด แต่ถ้าตามอรรถกถาสมัยท่านพระพุทธโฆษาจารย์ คือ อรรถกถาปัญจปกรณ์ ท่านแสดงว่า มาจากคำว่า ปกต + อุปนิสสยะ

    สำหรับการบรรยายที่ได้ผ่านมาแล้วโดยตลอด ถ้ามีคำใดที่เป็นคำภาษาบาลีที่ผิดพลาดบกพร่อง ก็ต้องขออภัยท่านผู้ฟังด้วย เพราะว่าดิฉันเองไม่มีความรู้ในภาษาบาลี และสำหรับข้อความบางตอน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาษาบาลี แต่อาจจะมีความ พลั้งพลาด ผิดพลาดได้ ก็ต้องขอให้ท่านผู้ฟังได้กรุณาตรวจสอบกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ถ้าข้อความใดถูกต้องตรงกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็ให้ถือเอาข้อความนั้นเป็นความถูก

    สำหรับความบกพร่องคลาดเคลื่อน ซึ่งได้รับฟังเองทางวิทยุก็มี เช่น เวลาที่อธิบายความหมายของคำว่า กัปหนึ่งนานเท่าไร มีข้อความตอนหนึ่งที่ดิฉันพูดผิด โดยใช้คำว่า ภูเขาสิเนรุ ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่ได้เอ่ยชื่อภูเขาว่าเป็นภูเขาสิเนรุ เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกโดยตรง

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปัพพตสูตร ข้อ ๔๒๙ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอแล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ

    ภิกษุทูลถามว่า

    ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อาจอุปมาได้ ภิกษุ

    แล้วจึงตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุ เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมา แล้วปัดภูเขานั้น๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้นพึงถึงการหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล

    บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ... ฯลฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๕

    เป็นข้อความเรื่องภูเขา แต่ไม่ได้ใช้คำว่า ภูเขาสิเนรุ เพราะฉะนั้น ก็ขออภัยในความผิดพลาดด้วย สำหรับเรื่องของภูเขาสิเนรุที่พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบนั้น ไม่ได้ทรงเปรียบเทียบในเรื่องของกัป แต่ทรงเปรียบเทียบประโยชน์ของการบรรลุธรรม เป็นพระอริยเจ้าในพระศาสนา กับการบรรลุคุณวิเศษอื่นภายนอกศาสนา ซึ่งมีข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๓๓๑ ปัพพตูปมสูตร ที่ ๓ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงวางก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนไว้ที่ขุนเขาสิเนรุ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้ กับขุนเขาสิเนรุ ไหนจะมากกว่ากัน

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุนี้แหละมากกว่า ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้มีประมาณน้อย ก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อนที่บุรุษวางไว้ เมื่อเทียบเข้ากับขุนเขาสิเนรุ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล การบรรลุคุณวิเศษแห่งอัญญเดียรถีย์สมณพราหมณ์ และปริพาชก เมื่อเทียบกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคแห่งบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่๑๐๐,๐๐๐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ มีอธิคมใหญ่อย่างนี้ มีอภิญญาใหญ่อย่างนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๑

    จบ อภิสมยวรรคที่ ๑๐

    เป็นข้อความสั้นๆ แต่เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีที่จะให้ท่านผู้ฟังเห็นว่า การบรรลุมรรคผลไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เป็นสิ่งที่ยาก แต่คุณประโยชน์ของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นมากมายเหลือเกิน เมื่อเทียบกับการบรรลุคุณวิเศษแห่งอัญญเดียรถีย์ สมณพราหมณ์ และปริพาชก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๙๓๑ – ๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564