แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
ครั้งที่ ๙๔๒
สาระสำคัญ
ไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ (ปัญญาที่รู้ จึงละการยึดถือ) สัง.สคา.นามสูตร - ชื่อ ย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง
พระโสดาบันบุคคลไม่มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริง อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระโสดาบันไม่ได้เห็นผิดว่าโลภะเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่รู้ชัดในความเกิดขึ้นและความดับไปของโลภะว่า เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
พระโสดาบันยังต้องศึกษาสภาพธรรมอื่นซึ่งยังมีอยู่ ซึ่งยังเกิด ซึ่งยังปรากฏกับท่านตามความเป็นจริง จนกว่าจะละคลายกิเลส และรู้แจ้งอริยสัจธรรมบรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล และเวลาที่ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ฟังเรื่องของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ผู้ที่เป็นกัลยาณปุถุชน ฟัง และศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่จึงจะเป็นประโยชน์จริงๆ
สำหรับการศึกษาธรรม ต้องเข้าใจประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจะ ไม่เกื้อกูลและไม่เป็นประโยชน์ ถ้าฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามปกติในขณะนี้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นการปฏิบัติก็ผิด เป็นบุรุษเปล่า เป็น โมฆบุรุษ ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการศึกษาธรรม
ถ. ตามที่ได้ศึกษามา เรื่องสติสังวรพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเห็นแล้ว ไม่ให้ติด ไม่ให้ถือในนิมิต ในอนุพยัญชนะ ถ้าไปถือเอามินิตอนุพยัญชนะแล้ว อกุศลมากมายจะเกิดขึ้น หมายความว่า เห็นตึกก็ไม่ให้รู้ว่าเป็นตึก อย่างนั้นใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่แน่นอน นอกจากว่าท่านผู้นั้นจะเข้าใจผิดและหลอกตัวเอง เวลาที่เห็นตึกก็ทำเป็นไม่รู้ว่าเป็นตึก นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา นั่นเป็นการพยายามหลอกตัวเอง เป็นตัวตนที่พยายามหลอกตัวเอง ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดว่า ที่ไม่ใช่ตึกเพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้น เป็นลักษณะของจริงชนิดหนึ่งซึ่งสามารถที่จะปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น
ถ. ที่ว่าไม่ให้ถือเอานิมิตอนุพยัญชนะ
สุ. พระผู้มีพระภาคสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ที่จะบอกใครว่า ไม่ให้ถือใน นิมิตและอนุพยัญชนะ แต่ผู้ฟังจะต้องเข้าใจถึงเหตุว่า อบรมเจริญอย่างไรจึงจะไม่ถือในนิมิตและอนุพยัญชนะได้
ที่ไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะเป็นปัญญา ไม่ใช่เป็นตัวตนที่พยายามจะหลอกตัวเอง แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ชัด และจะเข้าใจในอรรถที่ทรงแสดงว่า ไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ใช่ตัวตนที่ไม่ถือ แต่เป็นปัญญาที่อบรมเจริญ และค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะละการติดในนิมิตอนุพยัญชนะในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา และทวารอื่นโดยนัยเดียวกัน แต่ต้องค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เป็นไป เพราะปัญญาเริ่มรู้ขึ้น อย่าเอาปัญญาไปทิ้งที่อื่น มิฉะนั้นจะมีตัวตนที่สามารถจะทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องอบรมเจริญปัญญาอะไรเลย เวลาที่ได้ยินได้ฟังคำว่า ไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ ก็สามารถจะมีตัวตนที่จะไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถที่จะกระทำได้
แต่อย่าลืมว่า ที่จะไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ จึงละการยึดถือ แต่ไม่ใช่เป็นตัวตนที่พยายามจะไม่ยึดถือและหลอกตัวเองว่า ไม่ใช่ตึก ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ
ต้องไตร่ตรองด้วยปัญญา การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะไม่เป็นบุรุษเปล่า
ถ. ผู้ศึกษาโดยพยัญชนะก็ว่าไปตามนั้น แต่ปัญญาของตัวเองก็ยังไม่ถึงสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ เช่น การเห็น เห็นทีไรเป็นสัตว์บุคคลทุกที ที่ว่าไม่ถือในนิมิตอนุพยัญชนะ ก็ถือทุกที ถ้าปัญญาของผู้ศึกษายังไม่พอ
สุ. ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็ยังต้องเป็นอย่างนั้น จึงจะรู้ความต่างกันว่า เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ต่างกับเวลาที่ปัญญาไม่เกิดอย่างไร
เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องธรรมหรือปรมัตถธรรมเพื่อประโยชน์ คือ การพิจารณาปรมัตถธรรมหรือธรรมที่ปรากฏรอบตัว ที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น และสติจะได้เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะได้ไม่ลืม และสติจะได้ระลึกถึงความจริงว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตา เท่านั้นเอง จนกว่าสติจะระลึกถึงเนืองๆ บ่อยๆ ส่วนการที่สภาพธรรมจะปรากฏโดยลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น วันหนึ่งต้องปรากฏแน่นอนเมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น
ส่วนการที่จะละการติด การยึดถือในนิมิตอนุพยัญชนะ ต้องในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้อง จึงจะเข้าใจในอรรถว่า การไม่ติด เพราะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น
ถ. ทางตา ทางหู ทางจมูก ส่วนใหญ่สติเกิดแล้ว ก็เป็นเรื่องเป็นราวกันทั้งนั้น สภาพธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เป็นเรื่องเป็นราว เห็นทีไร โดยการศึกษารู้ว่า ขณะที่เห็นนี้ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ รูปารมณ์นั้นคือสีเท่านั้น
สุ. เพราะฉะนั้น สติระลึก
ถ. สีก็ไม่เคยปรากฏ
สุ. รู้เรื่องของจักขุวิญญาณดี รู้เรื่องของรูปารมณ์ดี สามารถที่จะกล่าวเรื่องการเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณและรูปารมณ์ได้ แต่ว่าสติไม่ได้ระลึกสักทีหนึ่งในขณะที่กำลังเห็น
ถ. ถึงระลึกก็ไม่ปรากฏ
สุ. ถ้าระลึกแล้วปรากฏทันที ทุกคนในที่นี้ก็เป็นพระอรหันต์
ถ. เมื่อไม่ปรากฏ ปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไร
สุ. ระลึกอีก เนืองๆ บ่อยๆ อนุสติ คือ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นผู้ที่มีปกติ อย่าลืมคำว่า ปกติ ระลึกเนืองๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ปัญญานั้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะ สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงกับปัญญาที่ได้อบรมเจริญแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญ และได้ยินได้ฟัง ทรงจำกันมา สืบทอดกันมาจากอาจารย์ต่างๆ ก็จะต้องรู้ว่า อาจารย์ทั้งหลายที่สืบทอดธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ทรงแสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัด
ถ. ทางกายจะรู้ง่ายกว่า มีปรมัตถธรรมปรากฏบ้าง เย็นกระทบ เย็นก็ยังปรากฏ
สุ. สีในขณะนี้ไม่ปรากฏหรือ
ถ. สีขณะนี้ไม่ปรากฏ
สุ. ไม่ปรากฏได้อย่างไร
ถ. ปรากฏทีไร เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นตัวตนไปหมด แต่สีไม่เคยปรากฏเลย
เห็นทีไรเป็นรถยนต์ เห็นทีไรเป็นหน้าต่าง เห็นทีไรเป็นพัดลม ไม่เคยเห็นสี
สุ. ลืมแล้วว่า ต้องปรากฏเสียก่อน สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องปรากฏเสียก่อน จึงจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร
ถ. รู้โดยการศึกษา รู้โดยการฟังมา แต่ว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปัญญารู้ ยังไม่เคยปรากฏ
สุ. เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ใช่บุรุษเปล่า คือ เริ่มระลึกรู้ทางตาว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะรู้ชัด มีประการเดียว เริ่มระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะรู้ชัด ท่านผู้ฟังซาบซึ้งในคำอุปมาที่ว่า จับด้ามมีดจนกว่าจะสึก ใช่ไหม เพียงชั่วขณะที่จับครั้งแรก ไม่ปรากฏว่าด้ามมีดสึก ปีหนึ่งก็ยังไม่สึก จับทุกวันก็ยังไม่สึก แต่เวลาที่ด้ามมีดสึกแล้วทราบว่ามีเหตุ คือ การจับซึ่งทำให้ด้ามมีดสึก และด้ามมีดไม่ใช่ขณะอื่น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จับหรือยัง สติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือยัง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นด้ามมีดทั้งหมด ที่กำลังรอให้สติระลึก เพื่อที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นแล้วบุรุษเปล่าทั้งหลายก็จะพูดว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ไม่ประจักษ์ในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ นามสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๗๘ – ๑๗๙
มีข้อความว่า
เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไรย่อมไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ
ตามที่ท่านผู้ฟังสงสัยว่า เห็นทีไรเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชื่อ ย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือชื่อ ฯ
ท่านผู้ฟังบอกว่า เห็นทีไรเป็นคน เป็นพัดลม เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งต่างๆ ชื่อหรือเปล่า มองไม่เห็นปรมัตถธรรมเลย ไม่เห็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะว่าอยู่ในโลกของชื่อ จนคิดว่าชื่อจริง คิดว่าโลกของชื่อเป็นโลกจริงๆ แต่ชื่อยังไม่ใช่เป็นแต่ชื่อเปล่าๆ ยังมีความหมาย ยังมีเรื่องราวของชื่อ ซึ่งเป็นที่เกาะเกี่ยว เป็นที่ยึดมั่น เป็นที่ปิดบังไม่ให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ถ้าพูดชื่อหนึ่งขึ้นมาเฉยๆ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับท่านผู้ฟังเลย ก็เป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงคำ แต่ว่าบางชื่อ ท่านมีเรื่องราวของชื่อนั้นมากมาย เพียงแต่นึกถึงชื่อนั้น และนึกถึงเรื่องราวของชื่อนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ หรือเป็นปัจจัยให้เกิดความห่วงใย ความกังวล หรือว่าความฝัน ความหวังต่างๆ ก็ได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะแยกโลกของสมมติบัญญัติออกจากโลกของปรมัตถธรรมได้ และถ้ายังไม่เข้าใจว่า ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่ต้องใช้ชื่ออะไรเลย เวลาที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง ก็มีชื่อติดอยู่ที่สภาพปรมัตถธรรม ทุกอัน เช่น พอเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นปรมัตถธรรมแท้ๆ ท่านก็มีชื่อเข้าไปติดกับปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ โดยนึกถึงเรื่อง นึกถึงรูปร่าง นึกถึงสัณฐาน โดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้น ถ้าจิตไม่คิด เรื่องทั้งหลาย ชื่อทั้งหลายจะไม่ปรากฏเลย
ไม่คิดเลย จะไม่มีโลก จะไม่มีสมมติบัญญัติ จะไม่มีเรื่องราวต่างๆ ซึ่งท่านเข้าใจว่าจริง แต่แท้ที่จริงแล้ว บัญญัติธรรมซึ่งสมมติ เป็นการนึกถึงปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ แต่เพราะไม่เข้าใจ ชื่อจึงปิดบังและครอบงำปรมัตถธรรมไม่สามารถที่จะเห็นตามความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งต่างๆ นั้น ไม่มีเลย มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏและหมดไปเท่านั้นเอง
ต้องเข้าใจความคิด ว่าขณะใดที่มีความคิดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นโลกของบัญญัติ สมมติถึงสภาพของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่เห็นว่าเป็นคน ขณะนั้นคือการคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินและได้ฟังเป็นเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นการคิดถึงความหมายของคำที่เกิดจากการได้ยินเสียงสูง เสียงต่ำต่างๆ ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวต่างๆ ขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องแยกให้ออก ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้าขณะใดที่มีความคิดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการคิดถึงเรื่องราว ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของ ปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ถ. โดยตำรา ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้การเห็น ระลึกรู้ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น หรือว่าขณะที่มโนวิญญาณรับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ
สุ. ขณะนี้เห็น ใช่ไหม และอย่างไรต่อ
ถ. ถ้ามีการเห็น แสดงว่า ต้องมีการกระทบกันระหว่างจักขุวิญญาณกับรูป และอารมณ์จะส่งต่อไปทางใจ ขณะที่สติระลึก ระลึกขณะที่เป็นจักขุวิญญาณ คือ สตินั้นเกิดพร้อมจักขุวิญญาณ หรือว่าสติเกิดหลังจากที่มโนวิญญาณรู้รูป
สุ. สติเกิดพร้อมจักขุวิญญาณไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะศึกษาต่อไปให้ทราบว่า เพื่อให้การปฏิบัติถูกต้องตรงยิ่งขึ้น เพราะเพียงแต่พูดว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อารมณ์ได้เลย เพียงเท่านี้กิเลสก็ไม่หมด ปัญญาก็ไม่รู้ชัด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่า นามธรรมประเภทนี้คือจิต นามธรรมประเภทนั้นๆ คือ สภาพธรรมที่เกิดกับจิตเป็นเจตสิก ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน และเพื่อความรู้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้เข้าใจในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ทรงแสดงเรื่องของสภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้นโดยละเอียดว่า ในขณะที่จิตประเภทนั้นเกิดขึ้น มีนามธรรมที่เป็นเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยจำนวนเท่าไร
ถ. สติจะเกิดขึ้นเมื่อรู้อารมณ์ คือ รูปนั้นทางใจแล้ว
สุ. เพียงคำสั้นๆ ที่ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีการดับไปเป็นธรรมดา ก็ยังสามารถประจักษ์ความเกิดดับได้ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางหนึ่งทางใด ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญปัญญามาพอ แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่อบรมเจริญปัญญามาพอ การฟังเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจชัดขึ้น ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ย่อมอุปการะเกื้อกูลที่จะให้เวลาที่สติเกิด ก็สามารถที่จะน้อมรู้ถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ที่อาศัย เหตุปัจจัยเกิดขึ้น และดับไปได้ทันที หรือว่าในวันหนึ่งก็ได้
ถ. ถ้ารู้ขณะนั้นเมื่อไร หมายความว่า เห็นปั๊บรู้ว่าเป็นสภาพเห็นทันทีเลย แสดงว่าขณะนั้นบรรลุมรรคผลแล้วใช่ไหม
สุ. ยัง ปัญญาจะต้องรู้ชัดขึ้นอีกๆ ตามลำดับขั้น ประจักษ์ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมละเอียดขึ้น
ถ. ที่ว่าขณะที่เจริญสติปัฏฐาน แสดงว่า ขณะที่กำลังเห็นสติเกิดขึ้นระลึกรู้
สุ. มีใครมีสติบ้าง กำลังเห็น มีใครระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็นบ้าง ผู้อื่นไม่ทราบ แต่ตัวเองทราบได้ใช่ไหมว่า สติเกิดหรือเปล่า
ถ. เกิด แต่ไม่เคยรู้
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน และทำไมจึงว่าเกิด ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน แต่คิดเอง เพราะตำราบอกว่า ในขณะที่เห็น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็น ก็เข้าใจว่า ขณะที่ได้ยินอย่างนี้ มีสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เห็น แต่ไม่ได้เลย ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด จะต้องรู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดสติเกิด
ถ. ที่ว่ากัลยาณปุถุชนเป็นผู้ศึกษาธรรม คือ เขาเป็นผู้เจริญสติปัฏฐาน
สุ. คือ ผู้ที่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ถูกต้อง เพียงการศึกษาปริยัติธรรม ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยอภิธัมมัตถสังหคะ ๙ ปริจเฉท แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสติ และเข้าใจผิดในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็ไม่ใช่กัลยาณปุถุชน ถ้าเข้าใจผิดจะเป็นกัลยาณปุถุชนไม่ได้
โมฆบุรุษ บุรุษเปล่ามีมาก ถ้าเข้าใจผิด ต้องเป็นบุรุษเปล่าแน่นอน เมื่อเหตุ ไม่ถูกจะบรรลุผลที่ถูกต้องได้อย่างไร นับวันก็จะเหินห่าง และทำให้เข้าใจผิดยิ่งขึ้น ประพฤติปฏิบัติผิดยิ่งขึ้น
ถ. แสดงว่า ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบัน พอเห็นก็ต้องรู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นเพียงการเห็น
สุ. รู้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ และจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏถูกต้อง ลักษณะใดเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีการรู้ถูกต้อง จะมีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อละ ไม่ใช่เพื่อต้องการอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่เพื่อหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดและจะให้ปัญญาเกิดขึ้น นั่นเป็นความหวัง ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙๔๑ – ๙๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 949
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 960