แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 945


    ครั้งที่ ๙๔๕

    สาระสำคัญ

    สัง.สคาถ.จิตตสูตร


    สุ. ทางตามีการเห็น ทางหูมีการได้ยิน ทางจมูกมีการได้กลิ่น ทางลิ้นมีการลิ้มรส ทางกายมีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ลมหายใจปรากฏทางกาย กระทบช่องจมูก เหมือนกับขณะนี้ เย็นหรือร้อนปรากฏที่กาย กระทบกายปสาทส่วนอื่น เช่น อาจจะเป็นที่แขน ที่หลัง ที่เท้า ก็เป็นเพียงสภาพของลมที่กระทบสัมผัสกับกายปสาท และขณะนี้ที่ไม่ใช่ลมหายใจ ต่างกับขณะที่จิตรู้ลมหายใจอย่างไรจึงกล่าวว่า ขณะที่รู้ลมหายใจสงบ และขณะที่ลมกำลังกระทบสัมผัสกายปสาทส่วนอื่น เช่น หลัง เท้า มือ แขน เป็นต้น ต่างกันอย่างไรที่จะรู้ว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบ

    ผู้ฟัง ต่างกันตรงที่ว่า มีการใส่ใจ กับไม่มีการใส่ใจ

    สุ. มีการจดจ้อง ใช่ไหม ที่จะให้ตั้งมั่นอยู่ที่นั่น

    ผู้ฟัง บางครั้งก็จดจ้อง บางครั้งก็ไม่ได้จดจ้อง

    สุ. ถ้าไม่จดจ้อง จะไม่รู้ลักษณะของลมที่ปรากฏ ต้องเทียบเคียง ลมหายใจเป็นเพียงรูปที่กระทบสัมผัสกายปสาท และปรากฏในลักษณะที่เย็น หรือว่าร้อน หรือในลักษณะที่เบา หรือว่าแรง เช่นเดียวกับลมอื่นที่กระทบสัมผัสกายปสาทส่วนต่างๆ ของกาย แต่ทำไมจึงกล่าวว่า เวลาที่มีลมหายใจปรากฏแล้วสงบ แต่เวลาที่ลมอื่นกระทบส่วนอื่นของกาย สงบ หรือไม่สงบ

    ผู้ฟัง ถ้ามีการใส่ใจพิจารณาก็สงบ ถ้าไม่มีการใส่ใจพิจารณาก็ไม่สงบ

    สุ. ใส่ใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ใส่ใจ พิจารณา แล้วแต่ บางทีอาจจะพิจารณาเย็นบ้าง ร้อนบ้าง เบาบ้าง แรงบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องที่ลมหายใจก็ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง แต่ส่วนใหญ่

    สุ. แต่ส่วนใหญ่เสมอๆ โดยที่ปราศจากเหตุผล หรือความเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้น ลมหายใจต่างกับลมส่วนอื่น เพราะว่าลมหายใจเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานหนึ่งในอารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐

    สุ. ลมอื่นไม่เป็นอารมณ์หรือ

    ผู้ฟัง ลมอื่นไม่ใช่อารมณ์ของกัมมัฏฐาน

    สุ. ธาตุววัฏฐานได้แก่อะไร จตุธาตุววัฏฐาน

    ผู้ฟัง นั่นพิจารณาโดยความเป็นธาตุ

    สุ. ใช่ ลมก็คือธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามีชื่อลมหายใจติดอยู่ที่ช่องจมูก โดยลักษณะจริงๆ แล้ว ลมก็เป็นเพียงสภาพที่สามารถกระทบสัมผัสกายปสาทได้

    เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งพอใจจนกว่าจะรู้ลักษณะของจิตที่สงบจริงๆ ว่า ต้องเป็นกุศลจิตเท่านั้นจึงจะสงบ ถ้าไม่ใช่กุศลจิต ไม่สงบ ขณะที่กำลังเห็น นั่งเฉยๆ และเห็น ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม มีอกุศลจิตเกิดแล้วโดยไม่รู้ ฉันใด เวลาที่ลมกระทบกายปสาทส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นที่ช่องจมูก หรือที่แขน ที่มือ ที่เท้า ปกติก็มี อกุศลจิตเกิดแล้ว จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งคิดว่า เมื่อกระทบที่ช่องจมูก และชื่อลมหายใจ ขณะนั้นจิตจะสงบเพราะชื่อลมหายใจ อย่าคิดว่าอย่างนั้น สภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น อย่าลืม ถ้าไม่ใช่กุศลจิต ไม่สงบ ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของ กุศลจิตและอกุศลจิตจริงๆ ความสงบจึงจะเพิ่มขึ้นได้ และตามเหตุตามปัจจัยด้วย

    ผู้ฟัง ท่านผู้ฟังเมื่อครู่นี้พูดว่า การทำกุศล ไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาก็ดีด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง แต่เท่าที่ผมรู้มา สมถะมีวันเสื่อม และเสื่อมอย่างง่ายที่สุด แม้ว่ากว่าจะเจริญสำเร็จแทบตาย แต่เสื่อมชั่วพริบตาเดียว ส่วนมรรคผลสำเร็จแล้วไม่มีวันเสื่อม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผมจะทำบุญกุศลอะไร ส่วนมากตั้งจิตอธิษฐานเอาปัญญาทางวิปัสสนาทางเดียวเท่านั้น

    และเรื่องสมาธิ ถ้าหากสมาธิกับความสงบแยกกันไม่ออก เจริญให้ตายก็แค่นั้น ไม่มีความหมาย ไม่เข้าใจเบื้องต้นของการปฏิบัติ อย่างผมเมื่อก่อนเคยเจริญ อานาปานสติ คือ ลมหายใจ เพียงต้องการให้จิตสงบอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้นเอง ภายหลังได้ฟังอาจารย์อธิบายก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับ กุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ และที่เราต้องการความสงบที่ลมหายใจนั้น เกิดจาก อกุศลจิต ไม่รู้จักความสงบของจิต ผิดพลาดมากที่สุด

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็ทราบว่า ถ้าไม่ใช่กุศลจิต ก็ไม่สงบ ต้องเริ่มรู้ลักษณะที่ต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิตก่อน ขณะที่อกุศลจิตกำลังเป็นไปถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ ย่อมได้ยินแต่ชื่ออกุศล แต่ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงว่า อกุศลมีลักษณะอย่างไรที่กำลังเป็นอกุศล

    ที่กล่าวว่า กำลังนั่งเฉยๆ และก็เห็น ก็มีอกุศลจิตเกิดแล้ว ท่านผู้ฟังพอจะเห็นลักษณะของอกุศลจิตนั้นไหมว่า เป็นอกุศลจิตอะไร ปัญญาจะต้องมี และค่อยๆ เจริญขึ้น

    พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง และทรงแสดงลักษณะของ สภาพธรรมทั้งปวงให้บุคคลอื่นได้ฟัง ได้พิจารณา ได้อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นเพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทำให้เกิดปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า เรียนไปเท่าไรก็ยังไม่รู้ๆ แต่เมื่อได้ฟังแล้ว สามารถที่จะพิจารณา ศึกษา และเข้าใจเพิ่มขึ้น ถูกต้องขึ้น ชัดเจนขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อครู่นี้ที่กำลังเห็น และเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด อกุศลย่อมเกิด พอที่จะทราบไหมว่า เป็นอกุศลอะไร เรื่องคิดมีมากสำหรับให้พิจารณาและค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น พอจะทราบไหมว่า อกุศลอะไรเกิดแล้ว

    ลักษณะมี แต่ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ ก็เป็นเรื่องอีก เป็นเรื่องของอกุศลทั้งหลาย โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อิสสาบ้าง มัจฉริยะบ้าง ต่างๆ นานา แต่ว่า สภาพธรรมมีจริงๆ เกิดชั่วขณะตามเหตุตามปัจจัยและดับไป รวดเร็วเหลือเกิน นี่เป็นเหตุที่จะต้องอบรมเจริญสติที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะจริงๆ

    ทราบหรือยัง อะไร ลักษณะนั้นเห็นไหม ปรากฏไหม ลักษณะของโลภะปรากฏไหม ไม่ เพราะฉะนั้น ลักษณะอะไร ถ้าความพอใจ ต้องเป็นลักษณะของโลภะที่ปรากฏ แต่ว่าในขณะนั้น ลักษณะของโลภะปรากฏเป็นความพอใจไหม หรือว่าลักษณะของสภาพธรรมอะไรปรากฏ ความไม่รู้ โมหะ อวิชชา แม้ว่าเป็นอกุศลก็ผ่านไปโดยความไม่รู้ เพราะว่าอวิชชาไม่สามารถจะรู้ลักษณะของอวิชชาได้

    ขณะใดที่ไม่รู้ ลักษณะของความไม่รู้มี ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่รู้ ใช่ไหม กำลังเห็น ไม่รู้ว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นอะไร หรือว่าใครรู้ ชั่วขณะจิตที่เห็นดับไปแล้ว อกุศลเกิดแล้วถ้ากุศลไม่เกิด การนึกถึงทานยังไม่เกิด สติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของการเห็น หรือว่าสภาพธรรมอื่นที่มี ที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น หลังจากที่การเห็นดับไปแล้ว เป็นสภาพไม่รู้ในขณะนั้น ซึ่งเป็นโมหมูลจิต ถ้าลักษณะของโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตไม่ปรากฏ ย่อมเป็นลักษณะของความไม่รู้ จริงไหม

    หรือท่านผู้ใดรู้หลังจากเห็น ถ้าอย่างนั้นเป็นลักษณะของกุศลจิต สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงและพิสูจน์ได้ แต่ต้องฟังจนเข้าใจชัด เมื่อเข้าใจชัดแล้วอย่าทำ แต่ให้รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะถ้าจะทำ สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดและปรากฏในขณะนั้น ถ้าคิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สติสามารถที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพคิด เป็นจิตที่กำลังรู้คำ เพราะว่าเมื่อเกิดมามีชีวิตแล้วจะมีจิตเกิดขึ้นพร้อมเจตสิก ซึ่งจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ ทุกขณะไป ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อันธวรรคที่ ๗ จิตตสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๘๐ และ ข้อ ๑๘๑ มีข้อความว่า

    เทวดาทูลถามว่า

    โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต ฯ

    แสดงให้เห็นถึงธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และไม่เพียงแต่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังคิดนึกต่างๆ นานาที่แสนวิจิตร เพราะฉะนั้น โลกของแต่ละคนก็เป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคน

    จิตของบางคนสะสมกุศลไว้มาก ไม่ว่าจะเห็นบุคคลใดซึ่งมากไปด้วย อกุศลธรรม แต่จิตของบุคคลนั้นก็ยังสามารถที่จะเกิดเมตตา หรือกรุณา หรืออุเบกขาได้ ในขณะที่คนอื่น อีกโลกหนึ่งของเขา เป็นโลกของความชิงชัง หรือว่าความไม่ แช่มชื่น หรือว่าความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น แต่ละคนอยู่ในโลกของตัวเองแต่ละโลก ทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง

    ดูเหมือนว่าอยู่ร่วมโลก หรือว่าโลกเดียวกัน แต่ถ้าทราบตามความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม มีปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็จริง แต่ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่เพราะจิตรู้สิ่งที่ปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โลกของแต่ละคน ก็เป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคน

    โลกไหนจะดี โลกที่สะสมกุศลมากๆ พร้อมที่จะเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือโลกที่ชิงชัง โกรธแค้น ขุ่นเคือง ซึ่งแม้ว่าจะเห็นบุคคลเดียวกัน จะรู้เรื่องบุคคลเดียวกัน โลกของแต่ละคนก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคนที่สะสมมาต่างๆ กัน

    สิ่งที่ปรากฏทางตา มี ทำให้ดูเหมือนว่า อยู่ร่วมกันในโลกนี้มากมายหลายคน แล้วแต่กาละและเทศะ แต่ถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ที่เกิดขึ้นเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ชั่วขณะนั้นซึ่งเป็นเพียงการเห็น เป็นเฉพาะโลกของการเห็นที่ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะในขณะนั้นเพียงเห็น ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานและเรื่องราวใดๆ ของสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ทั้งหมดที่เข้าใจว่าเป็นโลก ซึ่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน มากมายหลายคน หลายวัตถุสิ่งของต่างๆ ในโลก เป็นโลกของความคิดนึกถึงสิ่งที่เห็นที่กำลังปรากฏ แต่ว่าในขณะที่เห็นนั้นเป็นโลกหนึ่ง คือ โลกของสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ใช่โลกของความคิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งแต่ละคนมีจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวๆ สืบต่อกันไปทีละขณะจนปรากฏเหมือนกับว่า เป็นโลกที่กว้างใหญ่และประกอบด้วยผู้คนสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ถ้าจะเข้าใจโลกจริงๆ ให้รู้ว่า ปรากฏเพียงแต่ละอย่าง และแต่ละขณะจิตเท่านั้นเอง แต่เพราะการเกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นโลกที่ไม่แตกสลาย เป็นโลกที่ปรากฏเสมือนยั่งยืน และประกอบด้วยสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งของมากมายหลายอย่าง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว โลก คือ การเกิดขึ้นของจิต ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียงชั่วขณะเดียวและดับไปแต่ละขณะเท่านั้นเอง

    . ผมมีโอกาสศึกษาร่ำเรียนวิชาทางโลกมาหลายสาขา และเมื่อศึกษาให้ลึกซึ้งแล้วก็พอที่จะสอนให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ผมคิดว่า วิชาพระธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องยากจริงๆ ผมได้ฟังอาจารย์บรรยายมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๖ หรือ ๐๗ ซึ่งก็ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ผมรู้สึกว่า แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ปัญญาผมเกิดน้อยเหลือเกิน จะว่าไม่เกิดเลยก็ไม่เชิง แต่รู้สึกว่า ผมเข้าใจน้อยเต็มที เพราะผมจะสอนให้คนอื่นเข้าใจผมก็สอนไม่ได้เต็มปากเต็มคำ สอนไปแล้วก็ไม่มั่นใจด้วยว่า ถ้าเขาเกิดซักถามถึงแก่น ผมตอบเขาไม่ได้แน่ๆ ผมยอมรับว่า ผมไม่รู้จริง

    แม้แต่คำว่า สติ ผมก็ยังรู้สึกว่า เรามีสติจริงหรือเปล่า เรียนถามอาจารย์ว่า คำว่า สติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เมื่อสภาพธรรมปรากฏ เมื่อมีอารมณ์ปรากฏขึ้นทาง ทวารใดทวารหนึ่ง สติจะเกิดหรือไม่เกิดนั้น เราพิจารณาดูว่า ถ้าเรามีการพิจารณาหรือสังเกตสิ่งที่ปรากฏ อย่างนั้นถือว่ามีสติ แต่ถ้าเราไม่มีการพิจารณา ไม่มีการสังเกต อย่างนั้นก็ไม่ใช่สติ แต่ผมสงสัยว่า การที่เรามีสติ และมีการสังเกต มีการพิจารณา มีการสำเหนียกนี้ โดยปราศจากการคิดนึกไตร่ตรอง จะเป็นไปได้หรือเปล่า

    สุ. เป็นไปได้ แต่ช้า และวันหนึ่งจะรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังพิจารณา สังเกต โดยไม่ใช่คิดนึกนั้น เป็นไปได้

    . หมายความว่า ในการสังเกต ในพิจารณานั้น เราก็มักจะเลยมาถึงการคิดนึก ใช่ไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙๔๑ – ๙๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564