แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 946


    ครั้งที่ ๙๔๖

    สาระสำคัญ

    ขุท.มหา.ปสูรสุตตนิทเทส - อธิบายเรื่องจิต อถ.ธัมมสังคณี.อธิบายจิต


    สุ. โดยธรรมดามักจะระลึกเป็นคำก่อน เพราะว่าทุกคนชินกับความคิด เวลาที่บอกว่าระลึกได้ หมายความว่า กำลังคิดอย่างหนึ่งอย่างใดออก เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังระลึกรู้ โดยมากจะมีการคิดถึงคำซึ่งเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน

    อย่างเช่น ทางตาที่กำลังเห็น ปกติก็หลงลืมสติ แต่เพราะได้ยินได้ฟังว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏแล้วในขณะนี้ ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้ปรากฏ กำลังปรากฏอยู่ และเป็นเพียงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น นี่คือลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา การได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ทำให้เกิดการนึกถึงคำว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะกำลังเห็น ก็อดที่จะเกิดนึกขึ้นมาไม่ได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งความคิดได้

    แต่ก็ต้องรู้ว่า ในขณะที่คิดเป็นขณะที่จิตกำลังรู้คำ ไม่ใช่เป็นการสังเกต สำเหนียก รู้จริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็รู้ว่า ไม่ใช่ในขณะที่กำลังนึกถึงรูปร่างสัณฐานด้วยความรู้สึกว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของ ต้องแยก กับการที่เคยเข้าใจว่า เห็นคน เห็นวัตถุสิ่งของ เป็นการเพิ่มการนึกถึง ระลึกได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาจริงๆ ลักษณะนี้จริงไหม สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเป็นสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ แต่ก็ช่างหลงลืมบ่อยๆ มักจะต้องเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานยังไม่มั่นคง ยังไม่เป็นพละ เพราะปัญญายังไม่ได้รู้ชัดจริงๆ เพียงแต่สติเริ่มจะระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาวันละนิดวันละหน่อย หรือว่าหลายวัน หลายอาทิตย์ หลายเดือนก็ได้ แล้วแต่ แต่ว่าไม่ขาดการฟัง เพราะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เพียงได้ยินได้ฟังครั้งเดียว แต่ว่าได้ยินได้ฟังเรื่องของสมมติบัญญัติมากมาย เพราะฉะนั้น จิตย่อมจะคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ มากกว่าที่จะระลึกได้และพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น

    . รู้สึกว่า จะไม่พ้นการนึกคิด

    สุ. ก็ต้องทราบว่า ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่กำลังน้อมไปที่จะรู้จริงๆ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องอบรมเจริญนานเป็นกัปๆ และกัปหนึ่งอย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า ไม่สามารถที่จะนับเป็นร้อยปี พันปี แสนปีได้

    บางท่านที่อยากจะรู้แจ้งสภาพธรรมเร็วๆ ไม่ทราบว่าท่านจะเอากิเลสทั้งหมดที่สะสมมาไปทิ้งที่ไหน ซึ่งมีอยู่กับจิต ติดอยู่ในจิต สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ เมื่อเห็นและก็หลงลืมเป็นอกุศล ดับไป เป็นปัจจัยให้อกุศลจิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ความไม่รู้ก็ยังคงมีสะสมอยู่ ถ้ามีความพอใจยินดีในสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปหยิบ ไปจับความยินดีพอใจนั้นโยนทิ้งไป เพราะไม่ใช่วัตถุ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เป็นนามธรรม และลักษณะของนามธรรมก็ไม่สามารถที่จะไปแสวงหา ไปค้นคว้าได้จากที่อื่น นอกจากในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ที่จะต้องฟังแล้วฟังอีก และเห็นคุณประโยชน์จริงๆ ว่า ถ้าตราบใดที่สติยังไม่สามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมว่า ต่างกับลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่มีหนทางอื่นที่ปัญญาจะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ต้องฟัง และอบรมความเข้าใจ เพื่อเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานและปัญญาเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจในทฤษฎีว่า การที่เราเห็นอะไรเป็นโลก เป็นตัวตน เกิดจากการที่เราเอาสิ่งที่เกิดตามทวารต่างๆ เหล่านั้นมาปะติดปะต่อกัน ซึ่งรวดเร็วยิ่งกว่าหนังหลายสิบเท่า เมื่อมาประกอบกันเป็นเรื่องเป็นราว ก็จะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้เราดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ผมเพียงเข้าใจอย่างนั้น ผมเข้าใจในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ยังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น อย่าไปทำอย่างอื่น เพราะอย่างอื่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่จะต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และการที่จะรู้ในลักษณะที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่โดยขั้นฟัง หรือไม่ใช่เพียงรู้เรื่อง หรือรู้ชื่อ แต่รู้ลักษณะจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ และลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่สามารถรู้อารมณ์อะไรได้เลย

    กำลังอยู่ในโลกที่กำลังปรากฏทางตา ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นมีสภาพรู้ และมีสิ่งที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นอยู่ในโลกที่กำลังมีเสียงปรากฏ ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอื่นปรากฏนอกจากเสียงและสภาพที่กำลังรู้เสียงเท่านั้น

    ท่านผู้ฟังคงจะได้รับฟังเรื่องของจิตแล้ว แต่จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้ยาก ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องของจิตโดยประการต่างๆ มาแล้วเพียงใด ลักษณะของจิตซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะระลึกรู้จนกระทั่งประจักษ์ลักษณะสภาพของจิตตามความเป็นจริง เพราะว่าสภาพของจิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้นไม่ปรากฏเหมือน สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา

    สภาพของจิตนั้นเป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ เป็นสิ่งที่มีจริง และกำลังรู้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะสภาพธรรมของจิตไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ผู้ที่ศึกษาและผู้ฟังธรรมได้พิจารณาไตร่ตรอง จนกว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งในความเป็นอนัตตา ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ ข้อ ๓๑๙ มีคำอธิบายเรื่องจิต ข้อความมีว่า

    ชื่อว่า ใจ ในคำว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ ความว่า ใจ คือ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่เกิดแต่ผัสสะ เป็นต้นนั้น

    พระผู้มีพระภาคทรงใช้พยัญชนะหลายคำ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งทุกคนมี แต่เนื่องจากว่าเป็นอาการรู้ หรือธาตุรู้ ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า เพียงลักษณะที่เป็นธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ทุกคนคงจะเข้าใจความหมายบางประการของจิตที่ว่า ใจ ซึ่งทุกคนมี แต่ก็เพียงแต่ทราบว่ามี ซึ่งเมื่อไม่พิจารณาก็ย่อมไม่ทราบว่า เมื่อไรและขณะไหนที่เป็นจิต

    อัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย จิตตนิทเทส มีข้อความว่า

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร

    ธาตุรู้มีมาก ไม่ใช่มีอย่างเดียว ถ้ามีเพียงอย่างเดียวก็ง่ายที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นจิต แต่เพราะจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่วิจิตร ซึ่งสามารถที่จะพิจารณาได้ว่า ความวิจิตรของจิตนั้นปรากฏเวลาที่มีการคิดนึกต่างๆ ไม่ว่าใครจะทำอะไรในวันหนึ่งๆ ขอให้ดูว่า เป็นไปตามความวิจิตรของจิต

    วันนี้ทำอะไรมาบ้างแล้ว และต่อไป เย็นนี้ ค่ำนี้จะทำอะไร ถ้าไม่มีจิตทำไม่ได้ ที่ทุกคนมีการกระทำในวันหนึ่งๆ ต่างๆ กัน ตามวิถีชีวิตของแต่ละคน การกระทำทั้งหมดนั้น เป็นไปตามความวิจิตรของจิตของแต่ละคน ที่เป็นเหตุให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจาต่างๆ กัน

    และจิตเป็นสภาพที่คิด ความคิดมีมากเหลือเกิน ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น ความคิดหรือทิฏฐิ เช่น ความคิดเห็นของแต่ละคนก็ต่างๆ กันไป แม้ในบรรดาผู้ที่สนใจในธรรม ผู้ที่ศึกษาธรรม ก็มีการคิดพิจารณาในเรื่องของธรรมแตกต่างกัน มีความเห็นต่างๆ กัน ในขั้นของการประพฤติปฏิบัติก็ต่างกันตามความคิด แม้แต่ในเรื่องของธรรม และในเรื่องของโลกซึ่งมีความเป็นไปต่างๆ ในกลุ่มของบุคคลแต่ละกลุ่ม ของแต่ละประเทศ เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกแต่ละขณะ ตามความวิจิตรของความคิดของแต่ละบุคคล โลกวันนี้เป็นอย่างนี้ตามความคิดของแต่ละคนในยุคนี้สมัยนี้ และต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ก็เกิดขึ้นตามความคิดซึ่งวิจิตรต่างๆ นั่นเอง

    ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า จิตเป็นธรรมชาติที่วิจิตร ทางตาก็เป็นจิตที่เห็นอย่างหนึ่ง ต่างกับทางหูซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นจิตที่ได้ยิน ต่างกับขณะที่คิดนึก และแม้ความคิดนึก ก็ต่างกันทั้งทางโลกและทางธรรม

    ที่ชื่อว่า มโน เพราะรู้อารมณ์

    คำว่า อารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เมื่อมีลักษณะที่รู้ หรือสภาพรู้เกิดขึ้น สิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้นชื่อว่า อารมณ์

    เพราะฉะนั้น ความหมายของอารมณ์ ก็ต่างกับที่เคยเข้าใจกัน ที่คิดว่า คนนั้นอารมณ์ดี หรือว่าวันนี้อารมณ์เสีย อารมณ์ไม่ดี เพราะความหมายที่แท้จริงของคำว่า อารัมมณะ หมายความถึงสิ่งใดก็ตามซึ่งจิตกำลังรู้ในขณะใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น

    เสียง มีจริงไหม ถ้ามีการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง วัตถุที่แข็งกระทบกันเป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีสภาพที่รู้เสียง แม้ว่าเสียงนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ การกระทบกันของวัตถุที่แข็ง แต่เสียงนั้นไม่เป็นอารมณ์ เพราะจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ที่มีแล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ขณะใดที่จิตไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ชื่อว่า อารัมมณะ ไม่เป็นอารมณ์ของจิต

    เพราะฉะนั้น คำว่า อารมณ์ หมายความถึงสิ่งซึ่งจิตกำลังรู้ในขณะนั้น ซึ่งการศึกษาเรื่องของจิต หรือว่าการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ จะเป็นการศึกษาปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ ทั้งจิต เจตสิก และรูป ส่วนนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของนิพพานธาตุได้ ถ้าปัญญายังไม่เจริญจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน

    จะเห็นได้ว่า โดยนัยของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติศัพท์ว่า ปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็น จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต มีลักษณะเฉพาะของนามธรรมนั้นๆ เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจของตนต่างๆ กันไป

    สำหรับเจตสิกปรมัตถ์ มีทั้งหมด ๕๒ ประเภท และในการอบรมเจริญปัญญาจะรู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ด้วย เพราะในชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริงมีการเห็นซึ่งเป็นจิต และสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจชัดในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งจิต เจตสิก และรูป ส่วนนิพพานนั้น เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ควรที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูปก่อน

    สำหรับคำว่า อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม หรือคำ บัญญัติสมมติต่างๆ ขณะใดที่จิตกำลังรู้ ขณะนั้นเป็นอารมณ์ ถ้าขณะใด ถึงแม้ว่าจะมีเสียงเกิดขึ้น แต่จิตไม่ได้รู้เสียงนั้น ไม่ได้ยินเสียงนั้น ขณะนั้นเสียงนั้นไม่ใช่อารมณ์

    และเพื่อที่จะให้เข้าใจชัดในลักษณะของจิต ก็ได้ทรงใช้คำบัญญัติหลายคำ เช่น

    ที่ชื่อว่า หทัย เพราะความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน

    คงจะเข้าใจได้ว่า จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ภายนอก ซึ่งความหมายของภายในในที่นี้ คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นภายนอก สิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นเป็นภายนอก เพราะเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้

    การศึกษาเรื่องของจิต เป็นการที่จะพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ทั้งภายในและภายนอก ถ้าไม่เคยคิดว่าจิตอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะสามารถ รู้ลักษณะของจิตได้ไหม รู้ว่าจิตมีจริง แต่ไม่ทราบว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถพิจารณาลักษณะของจิตว่า เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้อาการรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อเข้าใจว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน เพราะความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน ในขณะที่เห็น จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก สีสันวัณณะกำลังปรากฏภายนอก จิตเป็นสภาวธรรมที่อยู่ภายใน คือ กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะไปหาจิตที่ไหน เมื่อหาจิตไม่พบ ก็ไม่สามารถพิจารณาจนกระทั่งรู้ชัดว่า นั่นคือลักษณะของจิต

    ที่กล่าวว่า ทุกคนมีจิต ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏปรากฏภายนอก ส่วนที่เห็น คือ ที่กำลังรู้นั้นเป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น สำหรับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะใดที่เห็นและระลึกได้ ไม่หลงลืมที่จะพิจารณาน้อมรู้ในขณะนี้ว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงเป็นภายนอก หรือภายใน

    เสียงปรากฏ บางคนก็กล่าวว่า เสียงรถยนต์ เสียงพัดลม เสียงอะไรต่างๆ และนึกถึงทิศทางของเสียงนั้นๆ ด้วยว่า เสียงนั้นมาจากทางซ้ายหรือทางขวา อยู่ข้างล่างหรือข้างบน นั่นเป็นการนึกถึงเสียงที่ปรากฏ แต่ในขณะที่ได้ยินเสียง สติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า มีสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียงที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเป็นสภาวธรรมที่มีอยู่ภายในจึงยากที่จะพิจารณารู้ว่า เวลาที่มีการได้ยินเสียงในขณะนี้ที่เสียงปรากฏ ไม่ทันนึกถึงว่าเป็นเสียงอะไร เพียงแต่เสียงปรากฏนิดเดียว เสียงนั้นปรากฏกับจิตที่รู้เสียงหรือได้ยินเสียง ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏและหมดไปทันที รวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือ ทางกาย หรือทางใจ

    เมื่อรู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน ขณะไหน สติปัฏฐานก็สามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องลักษณะของจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙๔๑ – ๙๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564